• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาแก้ท้องเดิน หัวใจอยู่ที่การทดแทนน้ำและเกลือแร่

ยาแก้ท้องเดิน หัวใจอยู่ที่การทดแทนน้ำและเกลือแร่

 

"คุณหมอคะ สมัยก่อนเวลาท้องเดินมักจะต้องกินยาซัลฟากัวนิดีน ปัจจุบันทำไมหมอจึงเลิกใช้ยานี้แล้วล่ะคะ?"


"ลูกมีอาการท้องเดิน เพื่อนบ้านแนะนำให้กินน้ำอัดลมใส่เกลือ จะดีไหมครับ?"

 

ท้องเดิน (ท้องเสีย ท้องร่วง อุจจาระร่วง) แม้ว่าจะเป็นเรื่องหญ้าปากคอกที่ทุกคนคุ้นเคย แต่ก็มีแง่มุมที่ควรตระหนักในการดูแลรักษาตนเองอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการใช้ยา ในสมัย ๒๐-๓๐ ปีมาแล้ว ยาซัลฟากัวนิดีน เป็นยาสามัญประจำบ้านที่ใช้รักษาอาการท้องเดิน เพราเป็นยาฆ่าเชื้อ เชื่อว่าจะช่วยฆ่าเชื้อที่เป็นต้นเหตุของโรค ต่อมาก็หันมาใช้ยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ๆ (เช่น เตตราไซคลีน เพนิซิลลิน ซัลฟาตัวใหม่) แทน

ปัจจุบันพบว่า ยาซัลฟากัวนิดีนและยาปฏิชีวนะชนิดต่างๆ ไม่ใช่ยาที่จำเป็นต้องใช้กับผู้ที่มีอาการท้องเดินทุกรายหรือทุกครั้งไป เนื่องเพราะส่วนมากจะมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส (จากสารพิษหรือสารที่เชื้อโรคปล่อยออกมาปนเปื้อนอาหาร) ซึ่งยาซัลฟาและยาปฏิชีวนะไม่มีประโยชน์ในการรักษาสาเหตุเหล่านี้ วงการแพทย์แนะนำว่า มีโรคอยู่เพียง ๓ ชนิดเท่านั้นที่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ได้แก่ โรคบิดชิเกลลา โรคบิดอะมีบา และอหิวาต์ (โรคบิดจะมีอาการถ่ายกะปริดกะปรอยเป็นมูกหรือมูกปนเลือด ส่วนโรคอหิวาต์ในปัจจุบันจะมีอาการแบบท้องเดินทั่วๆไป หรืออาหารเป็นพิษ พบในท้องถิ่นที่มีการระบาดในฤดูร้อน แพทย์จะวินิจฉัยโดยการนำอุจจาระไปตรวจหรือเพาะเชื้อ)

คุณผู้อ่านอาจสงสัยว่า ในสมัยก่อนการใช้ยาซัลฟากัวนิดีน ทำไมจึงได้ผลในการรักษาอาการท้องเดิน คำตอบก็คือ อาการท้องเดินส่วนมากจะเป็นไม่รุนแรงและหายได้เองตามธรรมชาติ จะกินยาหรือไม่กินยาอะไรก็หายได้เอง อีกประการหนึ่งก็คือ ผลทางด้านจิตใจ (กำลังใจ) ที่ภาษาหมอเรียกว่า "ผลยาหลอก" (placebo effect) กล่าวคือ ถ้าคนไข้เชื่อว่าเป็นยา (ที่รักษาโรคได้ ทั้งๆที่ไม่ใช่) ร่างกายก็เกิดกลไกในการบำบัดรักษาตนเองขึ้นมาได้ ทำให้โรคบรรเทาได้ส่วนหนึ่ง บางคนที่เคยใช้ยาหอมกินแก้ท้องเดินได้ผลก็ด้วยเหตุผลแบบเดียวกันนี้เอง ในปัจจุบันมียาสำเร็จรูปทั้งชนิดเม็ดและชนิดน้ำอยู่มากมายหลายยี่ห้อ ซึ่งคนไข้จำนวนไม่น้อยซื้อกินเองเวลามีอาการท้องเดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาเม็ดหรือแคปซูลที่เข้าสารอนุพันธ์ฝิ่น ที่จะบรรเทาอาการท้องเดินและปวดท้องได้ชะงัด แต่วงการแพทย์ก็แนะนำว่าไม่ควรใช้เพราะมีผลข้างเคียงและข้อควรระวังหลายประการ

การที่คนไข้ใช้ยาเหล่านี้ได้ผล ก็ด้วยเหตุผลแบบเดียวกับที่กล่าวข้างต้น แต่ถ้าเกิดโชคร้ายมีอาการแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงของยาขึ้นมา ก็อาจจะไม่คุ้มกับประโยชน์ที่พึงจะได้ การที่ไม่แนะนำให้ใช้ยาแก้ท้องเดินใดๆเลยนี้ก็เพราะปัจจุบันวงการแพทย์มีความรู้ชัดเจนเกี่ยวกับโรคนี้ว่า อันตรายของโรคท้องเดินนั้นเกี่ยวกับการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ไปกับการถ่ายท้อง ถ้าถ่ายรุนแรงก็เสียน้ำกับเกลือแร่จนทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย เป็นลม หรือตายได้ โดยเฉพาะกับเด็กเล็กและผู้สูงอายุ

การแก้ไขให้ตรงจุดก็คือ ให้คนไข้ได้รับน้ำกับเกลือแร่ทดแทนให้พอเพียงกับส่วนที่สูญเสียไป ข้อนี้ฟังดูง่ายๆ แต่กว่าวงการแพทย์จะมีข้อสรุปออกมาก็ใช้เวลาหลายสิบปีทีเดียว การใช้สารละลายน้ำตาลเกลือแร่รักษาท้องเดิน นับว่าเป็นการค้นพบเทคโนโลยีง่ายๆแต่ยิ่งใหญ่ ถือเป็นการปฏิวัติการรักษาอาการท้องเดินของโลกเลยทีเดียว
สรุปก็คือ เมื่อมีอาการท้องเดินก็ให้กินสารละลายน้ำตาลเกลือทดแทนให้พอเพียง จะใช้ในรูปแบบใดก็ได้ แต่ขอให้มี น้ำ น้ำตาล กับเกลือ ในสัดส่วนที่พอเหมาะ แต่ถ้าหากมีอาการรุนแรง อาเจียน ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ไม่ได้ หรือมีอาการถ่ายเป็นมูก หรือมูกปนเลือด ก็ควรรีบปรึกษาหมอ บางครั้งจำเป็นต้องให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดแทน

 

ข้อควรรู้ : ยาแก้ท้องเดิน

  • ยาที่จำเป็น

๑. สารละลายน้ำตาลเกลือแร่ เพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่ร่างกายสูญเสียไปจากอาการท้องเดิน (ถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง ซึ่งมีเกลือแร่ออกมาด้วย) ยิ่งทดแทนได้เพียงพอเท่าไหร่ก็ยิ่งปลอดภัยขึ้นเท่านั้น โดยสังเกตพบว่า ปากคอหายแห้ง มีปัสสาวะออกมาและใส และหน้าตาแจ่มใส

สารละลายน้ำตาลเกลือแร่ มีวิธีเตรียมได้หลายอย่าง เช่น

  • การใช้ยาซองสำเร็จรูป ได้แก่ ผงน้ำตาลเกลือแร่ขององค์การเภสัชกรรม โดยใช้ยานี้ ๑ ซอง ผสมในน้ำสุกที่เย็นแล้ว หรือน้ำที่สะอาด ๗๕๐ มิลลิลิตร (๑ ขวดน้ำปลากลม หรือ ๓ แก้ว) ให้ดื่มกินต่างน้ำบ่อยๆ หรือทุกครั้งที่ถ่าย ครั้งละ ครึ่ง ถึง ๑ แก้ว ยานี้เมื่อผสมเสร็จแล้วควรใช้ภายใน ๒๔ ชั่วโมง หากเกิน ๒๔ ชั่วโมง ยาอาจจะบูดไม่ควรใช้
     
  • การเตรียมขึ้นใช้เอง สูตรใดสูตรหนึ่ง ดังนี้
    • ใช้น้ำตาล ๒ ช้อนโต้ะ เกลือป่น ครึ่ง ช้อนยา ผสมในน้ำสุก ๗๕๐ มิลลิลิตร
    • น้ำข้าว ๗๕๐ มิลลิลิตร  ผสมเกลือป่นครึ่งช้อนยา
    • น้ำอัดลม เทใส่แก้วปล่อยให้ฟองระเหยหมด หรือน้ำหวาน ๗๕๐ มิลลิลิตร ผสมเกลือป่นครึ่งช้อนยา

๒. ยาลดไข้ - พาราเซตามอล ใช้บรรเทาอาการไข้ (ตัวร้อน) ถ้ามีไข้ร่วมด้วย
 

  • ยาที่ไม่จำเป็น

๑. ยาแก้ท้องเดินสำเร็จรูป ทั้งชนิดเม็ดและชนิดน้ำ ที่มีอยู่มากมายหลายยี่ห้อ ไม่มีประโยชน์ในการรักษาอาการท้องเดิน

๒. ยาเม็ดซัลฟากัวนิดีน ยานี้นิยมใช้กันในสมัยก่อน เป็นยากลุ่มซัลฟา ช่วยฆ่าเชื้อโรค ปัจจุบันพบว่า ไม่มีประโยชน์ในการรักาาอาการท้องเดิน

๓. ยาปฏิชีวนะ ไม่จำเป็นต้องให้ทุกรายที่มีอาการท้องเดิน เนื่องเพราะอาการท้องเดินส่วนใหญ่เกิดจากอาหารเป็นพิษและการติดเชื้อไวรัส

ยาปฏิชีวนะจะมีประโยชน์เฉพาะในรายที่เป็นบิด และอหิวาต์เท่านั้น ในกรณีนี้ควรปรึกษาและเรียนรู้วิธีใช้ยากลุ่มนี้จากแพทย์และเภสัชกรเสียก่อน

ข้อมูลสื่อ

242-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 242
มิถุนายน 2542
พูดจาภาษายา
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ