• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

นมแมว :ความหอมอย่างไทยที่น่าดมและดื่มกิน

นมแมว :ความหอมอย่างไทยที่น่าดมและดื่มกิน

ช่วงเวลา ๒ เดือนที่ผ่านมา(สิงหาคม-กันยายน) คนไทยส่วนใหญ่คงได้ยิน ได้ฟัง หรือได้อ่าน ได้ดูข่าวเกี่ยวกับนมที่แจกให้เด็กประถมดื่มในโรงเรียนหรือเรียก สั้นๆ ว่า   " นมโรงเรียน" ข่าวเกี่ยว กับนมโรงเรียนที่โด่งดังขึ้นมาช่วงนี้ นอกจากเรื่องการบูดเน่าเสีย (บาง ครั้งถึงขนาดมีหนอน) จนนักเรียน ที่ดื่มเข้าไปเกิดอาการท้องร่วง ปวด ท้องกันมากมายแล้ว ยังมีข่าวการ ทุจริตคอรัปชันในการจัดซื้อนม หรือที่เรียกว่า "กินนมเด็ก" กันอีกด้วย มีการประมาณว่า การจัดซื้อนมโรงเรียนทั่วประเทศปัจจุบันนี้ มีการทุจริตถึงวันละประมาณ ๒ ล้านบาท หรือปีละ ๗๐๐ ล้านบาทเลยทีเดียว

ด้วยความโด่งดังของข่าวเกี่ยวกับนม ผู้เขียนจึงถือโอกาสเขียนเกี่ยวกับดอกไม้หอมที่มีชื่อหรือคำว่านมอยู่ด้วย เพื่อให้เข้ากับเหตุการณ์ และชื่อนมแมวที่ผุดขึ้นมาใน ความทรงจำ เพราะดอกไม้ชนิดนี้ผูกพันกับผู้เขียนมาเนิ่นนานหลายสิบปี

เมื่อครั้งผู้เขียนเรียนอยู่ในระดับประถมศึกษานั้น ระดับประถมมีอยู่แค่ ๔ ปี คือ ป.๑ ถึง ป.๔ โรงเรียนชั้นประถมศึกษาที่ผู้เขียนเข้าเรียนนั้น เป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในบริเวณวัดของหมู่บ้าน  จึงมีชื่อขึ้นต้นว่า"โรงเรียนวัด" ยังจำได้ว่า ๒ ปีแรกอาศัยเรียนบนศาลาวัด โรงเรียนต้องหยุดในวันโกนและวันพระ เพื่อใช้ศาลาวัดประกอบพิธีทางศาสนา ต่อมาเมื่อขึ้นชั้นประถมปีที่ ๓ อาคารโรงเรียนจึงสร้างเสร็จ แต่ก็อยู่ในบริเวณวัด และใช้ชื่อโรงเรียนวัดตามเดิม

ในบริเวณวัดที่อยู่บนฝั่งแม่น้ำท่าจีน ซึ่งเป็นที่วิ่งเล่นของเด็กนักเรียนนั้น นอกจากมีต้นไม้ใหญ่แล้ว ยังมีไม้พุ่มที่เป็นไม้ดอกอีกบางชนิด เช่น เข็ม และโมก เป็นต้น ในบรรดาไม้พุ่มเหล่านี้มีอยู่ต้นหนึ่ง ซึ่งมีขนาดเล็กและมองไม่เห็นจากภายนอกว่ามีดอกอยู่หรือไม่ ต้องเข้าไปแหวกพุ่มใบออกจึงจะเห็น เด็กๆ จึงมักแวะที่พุ่มไม้นี้หลังเลิก เรียนตอนเย็น หากพบดอกที่กำลัง จะบานก็เก็บติดกลับไปบ้านเอาไว้ดมกลิ่นตอนค่ำ เพราะดอกไม้ ชนิดนั้นคือนมแมวที่ส่งกลิ่นหอมตอนค่ำนั่นเอง นมแมวจึงเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งซึ่งอยู่ในความทรงจำของผู้เขียนมานานปี

นมแมว : ไม้หอมเฉพาะถิ่นของชาวไทย
นมแมวมีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Rauwenhoffia siamensis Scheff. อยู่ในวงศ์ Annonaceae เช่นเดียวกับสายหยุด การเวก และ น้อยหน่า ลักษณะหลายอย่างจึงคล้ายคลึงกัน เช่น เป็นไม้พุ่มกิ่งเลื้อย (พะยอมและการเวกเป็นไม้ เถาเลื้อยเนื้อแข็ง) หากอยู่โดดเดี่ยว กลางแจ้งก็มีลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดย่อม สูง ๑.๕-๒.๕ เมตร กิ่งก้านและลำต้นสีน้ำตาลเข้มออก ดำ แตกกิ่งก้านสาขาค่อนข้างแน่นทึบ

ประโยชน์ของนมแมว

ประโยชน์หลักของนมแมวที่คนไทยรู้จักดีคือในฐานะไม้พุ่มและไม้ดอก เนื่องจากนมแมวเป็นไม้พุ่มขนาดย่อม มีความแข็งแรงทนทาน ปลูกง่าย อายุยืนนาน น้ำท่วมก็ไม่ตาย จึงนิยมปลูกกันมากในที่ราบลุ่มภาคกลาง ในอดีต จะพบปลูกอยู่ในบริเวณวัดและโรงเรียนแทบทุกแห่ง ตามบ้านเรือน ที่มีบริเวณปลูกต้นไม้ก็จะพบต้นนมแมวอยู่เสมอ คงเป็นเพราะนอก จากปลูกง่ายทนทานแล้ว นมแมว ยังออกดอกตลอดทั้งปี รูปทรงพุ่ม กะทัดรัด ใบเขียวตลอดปี ดกทึบ ดอกมีขนาดเล็ก พกพาติดตัวได้ง่ายและไม่ชอกช้ำเพราะมีกลีบหนาแข็ง ให้กลิ่นหอมแรงเฉพาะตัว เหมาะสำหรับห่อผ้าหรือผูกผมคล้าย ดอกจำปี

คนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันคงไม่เคยได้ดมกลิ่นดอกนมแมว จึงคงนึกไม่ออกว่าในอดีต กลิ่นดอกนมแมวเป็นกลิ่นดอกไม้ที่คนไทยคุ้นเคย และนิยมชมชอบมาก ที่สุดชนิดหนึ่ง กลิ่นของดอกนมแมวที่คนไทยในอดีตคุ้นเคยและได้ สัมผัสอยู่บ่อยๆ นั้น มิได้มาจากดอกนมแมวโดยตรงเท่านั้น หากแต่ยังมาจากขนมไทยชนิดต่างๆ ที่นิยมปรุงแต่งกลิ่นดอกนมแมวเพื่อให้น่ากินยิ่งขึ้น โดยเฉพาะขนม ที่ใส่น้ำเชื่อมหรือน้ำกะทิ เช่น ขนม จำพวกลอดช่อง เป็นต้น

ความนิยมใช้กลิ่นดอกนมแมว ปรุงแต่งกลิ่นขนมไทยในอดีตนั้น  มีมากจนเกิดผลผลิตที่เป็นน้ำหอม กลิ่นดอกนมแมวออกขายในท้องตลาด เพื่อใช้ปรุงแต่งกลิ่นขนมไทยโดยเฉพาะ มีชื่อเรียกทั่วไปว่า"น้ำนมแมว" ซึ่งหมายถึงน้ำหอมกลิ่นดอกนมแมวนั่นเอง ไม่ใช่น้ำนม ของแมวแต่อย่างใด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้ความหมายไว้ว่า "น้ำ-นมแมว น. ของเหลวชนิดหนึ่งประกอบด้วย เอทิล อะซีเทต (ethyl acetate) มีกลิ่นหอมคล้าย ดอกนมแมว ใช้ประโยชน์เป็นตัวปรุงกลิ่นขนม เป็นต้น"

ปัจจุบันนี้ไม่ทราบว่ายังมีน้ำนมแมววางขายอยู่ในตลาดบ้างหรือเปล่า แต่คาดว่าความนิยมใช้น้ำนมแมวปรุงกลิ่นอาหารคงลดน้อยลงมากกว่าในอดีตหลายเท่า เพราะคนไทยปัจจุบันหันไปนิยมกลิ่นดอกไม้จากต่างประเทศมากขึ้น เช่น กลิ่นวานิลลา (vanilla) อัน เป็นกล้วยไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งปัจจุบัน เป็นกลิ่นสังเคราะห์ขึ้นแทบทั้งสิ้น

การฟื้นฟูความนิยมในด้านต่างๆ เกี่ยวกับนมแมว ทั้งด้านปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับตามบริเวณสวนสาธารณะ สถานที่ราชการ ตามบริเวณบ้าน ฯลฯ และด้านนำกลิ่นดอกนมแมว (ที่ปรับปรุงให้ดีกว่าเดิม) มาใช้ปรุง แต่งอาหารหรือเครื่องสำอาง สำหรับ คนไทยจึงน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของวิถีไทยในปัจจุบันและอนาคต

ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ตามกิ่ง ใบเป็นรูปหอก โคนใบมน ปลายใบค่อนข้างแหลม สีเขียว ยาวประมาณ ๖-๘ เซนติเมตร
ดอกออกตามง่ามใบ อาจออก เป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อระหว่าง ๒-๔ ดอก ดอกค่อนข้างกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑.๕ เซนติเมตร เมื่อดอกบานกลีบ ดอกมีสีเหลืองนวลอมเขียวบริเวณ โคนกลีบดอก กลีบดอกหนาแข็ง มีดอกละ ๖ กลีบ แบ่งเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ ดอกบานตอนค่ำ มีกลิ่นหอมแรงตอนกลางคืน
ผลมีขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์ กลางประมาณ ๑ เซนติเมตร เมื่อสุกมีสีเหลือง รสหวานกินได้ อาจจะมีช่อละ ๑-๔ ผล

นมแมวชอบแดด แต่สามารถ ขึ้นร่วมกับต้นไม้อื่นในสภาพป่าทึบ ได้หากไม่อยู่ในร่มตลอดวัน ดอก ออกได้ตลอดปีหากได้น้ำพอ แต่ให้ดอกดกที่สุดในช่วงฤดูฝน โดย เฉพาะช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม

นมแมวเป็นต้นไม้พื้นเมืองดั้งเดิมของไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ที่ เป็นชื่อชนิดคือ Siamensis บ่งบอกว่าเป็นพืชที่พบในสยาม ซึ่งก็คือประเทศไทยปัจจุบัน
พระยาวินิจวนันดร บันทึกไว้ว่า นมแมวเป็นพืชเฉพาะถิ่นที่พบเฉพาะในป่าดิบภาคกลางและภาคใต้ของประเทศไทย ปกติพบขึ้นอยู่ตามชายป่าชื้น คนไทยนิยม นำมาปลูกในบริเวณบ้าน จึงนับได้ว่า นมแมวเป็นต้นไม้ของไทยอย่าง แท้จริง

เพราะเป็นพันธุ์พืชเฉพาะถิ่นของไทยภาคกลางและภาคใต้เท่านั้น นมแมวจึงไม่มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นๆ แม้ แต่ในภาษาไทยก็มีชื่อนมแมวเพียง ชื่อเดียว ซึ่งนับว่าหาได้ยาก เพราะ ต้นไม้ชนิดอื่นๆ นั้นปกติจะมีชื่อเรียกต่างๆ กันไปหลายชื่อ ทั้งในภาคเดียวกันและต่างภาค เช่น การเวก ก็มีชื่ออื่นอีกมาก (กระดังงาป่า กระดังงัว กระดังงาเถา นมวัว) สายหยุดก็มีชื่อหลายชื่อ (สาวหยุด เสลาเพชร กล้วยเครือ เครือเขาแกลบ) การที่นมแมวมีเพียงชื่อเดียวจึงนับเป็นกรณีพิเศษ ที่หาได้ยาก
ชื่อนมแมวคงมาจากลักษณะ บางอย่างของต้นไม้ชนิดนี้ ที่คล้าย นมของแมว ซึ่งคงเป็นดอกขณะยังตูมมีขนาดเล็ก เพราะยังมีชื่อต้นไม้ที่ชื่อคล้ายๆ กันอีก เช่น นมวัว นมควาย นมชะนี และนมช้าง ที่อยู่ในวงศ์ Annonaceae เช่นเดียวกัน มีรูปทรงดอกคล้ายกัน แต่มีดอกขนาดใหญ่กว่าดอกนม แมวทั้งสิ้น หากพืชเหล่านี้ไม่ได้ตั้งชื่อตามลักษณะรูปร่างของดอก ก็คงตั้งชื่อตามลักษณะของผลนั่นเอง
 

ข้อมูลสื่อ

282-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 282
ตุลาคม 2545
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร