• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เมื่อคุณมีอาการคลื่นไส้...อาเจียน

เมื่อคุณมีอาการคลื่นไส้...อาเจียน

คุณเป็นคนหนึ่งหรือเปล่าที่เวลาเห็นหรือพบอะไรที่น่าเกลียด สะอิดสะเอียน จะรู้สึกคลื่นไส้และอยากจะคายของเก่า ที่กินเข้าไปออกมา หรือที่เรารู้จักกัน  โดยทั่วไปว่ารู้สึกอยากจะ " อาเจียน " นั่นแหละ หรือเวลาที่คุณขึ้นรถ ลงเรือ ขึ้นเครื่องบิน แล้วรู้สึกหน้ามืด วิงเวียน คลื่นไส้ มึนงง หรือที่เราเรียกกันว่า " เมารถเมาเรือ " นั้น คุณพอทราบหรือไม่ว่า อาการอาเจียนหรือเมารถเมาเรือดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร มีสาเหตุอื่นอีกหรือไม่ที่ทำให้เกิดอาการอาเจียน เรามาคลายข้อสงสัยดังกล่าวกันดีไหมครับ
อาเจียนเกิดขึ้นได้อย่างไร

ปกติเมื่อเรากินอาหารเข้าไปมัน ก็จะเคลื่อนที่ไปตามทางเดินอาหารถูกย่อยและดูดซึมสารอาหารไปใช้ประโยชน์ แก่ร่างกาย บางส่วนก็จะถูกขับออก แต่ในภาวะที่เกิด "อาเจียน " อาหารที่เรากินเข้าไปนั้นแทนที่จะเคลื่อนที่ลงไปเป็นขั้นเป็นตอน กลับถูกผลักดันให้ไหลย้อนกลับจากกระเพาะอาหารสู่หลอดอาหารและขย้อนไหลออกทางปาก ซึ่งส่วนใหญ่ก่อนที่จะมีอาการอาเจียนเกิดขึ้นนั้น จะมีอาการคลื่นไส้นำมาก่อน ซึ่งจะทำให้กระเพาะอาหารเคลื่อนไหวลดลง แต่ถ้าอาการคลื่นไส้ที่รุนแรงจะพบว่ามีอาการเหงื่อออก ผิวหนังซีด ตัวเย็น น้ำลายไหล และบางครั้งอาจทำให้ชีพจรช้าลงและความดันเลือดต่ำได้
หลังจากคลื่นไส้แล้ว ก็จะมีอาการขย้อนตามมา เป็นผลจากการที่มีการหายใจเข้า-ออกถี่ๆ เป็นจังหวะ เศษอาหารเกิดการไหลย้อนกลับสู่หลอดอาหาร ผลที่ตามมาก็คือ อาเจียนยังไงเล่าครับ

อาการอาเจียนถูกควบคุมโดยศูนย์ในสมอง ๒ ศูนย์ คือ ศูนย์อาเจียน และศูนย์ซีทีแซด (CTZ) แต่ศูนย์ที่ทำหน้าที่ควบคุมและสั่งงานให้เกิดอาการอาเจียนอย่างแท้จริงคือ " ศูนย์อาเจียน " โดยเมื่อศูนย์นี้ได้รับสิ่งกระตุ้นจากภายนอก เช่น จากทางเดินอาหารและส่วนอื่นๆ ของร่างกาย จากอวัยวะที่ควบคุมการทรง ตัวภายในหูชั้นใน (ซึ่งเกี่ยวข้องกับอาการ " เมารถเมาเรือ ") และจากศูนย์ซีทีแซด ซึ่งเมื่อศูนย์อาเจียนได้รับการกระตุ้นจากสิ่งดังกล่าวข้างต้นแล้วก็จะส่งสัญญาณประสาทออกจากศูนย์ไปยังกะบังลม ทำให้กะบังลมบีบตัวส่งสัญญาณไปยังกล้ามเนื้อหน้าท้องเกิดการเกร็ง และไปยังกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร ทำให้คลายตัว ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ข้างต้นทำให้เศษอาหารถูกผลักดันออกจากปากและเกิดอาเจียนในที่สุด
 

สาเหตุอะไรที่ทำให้อาเจียน
อาเจียนมีสาเหตุการเกิดได้หลากหลาย แต่ในทางการแพทย์ได้สรุปสาเหตุหลักๆ ไว้ดังนี้

๑. ความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เช่น อาหารไม่ย่อยเรื้อรัง การอุดตัน หรือโรคมะเร็งในทางเดินอาหาร ตับอ่อนอักเสบ เป็นต้น

๒. โรคติดเชื้อเฉียบพลันในเด็ก

๓. ความผิดปกติของระบบประสาท เช่น ปวดศีรษะไมเกรน ความดันในสมองสูง (ซึ่งทำให้เกิดอาเจียนพุ่ง) ความผิดปกติของระบบการทรงตัวในหูชั้นใน (ซึ่งทำให้เกิดเมารถเมาเรือ)

๔. ยาและสารบางชนิด เช่น ยาสลบ ยารักษามะเร็ง

๕. โรคที่เกี่ยวกับการทำงานของต่อมไร้ท่อและระดับฮอร์โมน ในร่างกาย เช่น อาการแพ้ท้องในหญิงตั้งครรภ์

๖. โรคหัวใจบางชนิดหรือภาวะหัวใจล้มเหลว

๗. การได้รับการฉายรังสี หรือสาเหตุทางด้านจิตใจ
 

ยาที่ใช้แก้อาการคลื่นไส้อาเจียนมีหรือไม่
มียาหลายชนิดด้วยกันที่ใช้ในการแก้คลื่นไส้อาเจียนได้ บางชนิดก็เหมาะสำหรับเด็ก บางชนิดก็ควรใช้สำหรับหญิงตั้งครรภ์หรือในคนที่มีอาการเมารถเมาเรือ บางชนิดก็นำมาใช้เฉพาะกรณีไป เช่น คลื่นไส้อาเจียนจากการฉายรังสี หรือได้ยารักษามะเร็ง เป็นต้น ซึ่งรูปแบบของยาก็มีทั้งยากินและยาฉีด ผลข้างเคียงจากยาแต่ละอย่างก็แตกต่างกันไป ซึ่งบางครั้งต้องรักษาสาเหตุของโรคร่วมไปด้วยจึงจะหายอาเจียน เนื่องจากยามีอยู่หลายชนิดหลายยี่ห้อ ผลข้างเคียงก็แตกต่างกันไป ดังนั้น ก่อนใช้ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร


อาการอาเจียนมีประโยชน์หรือโทษอย่างไร
แทบทุกคนคงจะเคยผ่านอาการคลื่นไส้อาเจียนมาบ้างไม่มากก็น้อย และคงตระหนักแก่ตัวเองแล้วว่า การอาเจียนก็มีประโยชน์เช่นกัน กล่าวคือ เมื่อได้คายของเก่าออกไปเสียบ้าง ทำให้รู้สึกโล่งสบายท้อง สบายกายสบายใจขึ้น นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในแง่ที่เตือนให้เรารู้ว่า ตอนนี้ร่างกายของเรามีความผิดปกติอะไรเกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เรารู้ตัวและสามารถป้องกันและรักษาตนเองเสียก่อนที่จะเกิดการลุกลามของโรคนั้นๆ ขึ้น แต่ถ้าอาเจียนแบบรุนแรงไม่รู้จักหยุดหย่อนก็แย่เหมือนกัน เพราะอาจจะมีผลทำให้เกิดการฉีกขาดของกล้ามเนื้อหลอดอาหาร มีเลือดออกมาก และยังทำให้สูญเสียน้ำและเกลือแร่ออกจากร่างกาย เกิดภาวะขาดน้ำ เกิดการเปลี่ยนแปลงสมดุลของเกลือแร่ภายในร่างกายดีไม่ดีถ้าอาเจียนจนเกิดการสำลักเศษอาหารเข้าไปในหลอดลมอาจทำให้ถึงตายได้เชียวนะครับ

 

ข้อมูลสื่อ

283-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 283
พฤศจิกายน 2545
เปิดตำรายา
ภก.ธานี เมฆะสุวรรณดิษฐ์