• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ชอบเรียกกันว่า " ยาแก้อักเสบ " มาหาซื้อกันตอนเจ็บคอหรือเป็นไข้หวัด

ยากลุ่มนี้ คือ" ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านจุลชีพ " ซึ่งใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งจะเรียกให้เข้าใจง่ายๆ คือ " ยาต้านแบคทีเรีย "

สาเหตุของโรคติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบน
โรคติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบน แบ่งเป็นหลายโรค คือ ไข้หวัด (common cold) จมูกอักเสบ (bacterial rhinitis) คอหอยอักเสบ (pharyngitis) ทอนซิลอักเสบ (tonsillitis) ฝีรอบทอนซิล (peritonsillar abscess) หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (acute otitis media) โพรงอากาศรอบจมูกอักเสบ (paranasal sinusitis) กล่องเสียงอักเสบ (acute epiglottis) ไอกรน (croup)
เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุคือ เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย (มีทั้งเป็นสาเหตุและที่เกิดแทรกซ้อนกับเชื้อไวรัส)

ปัญหาในการรักษาโรคติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบน
ปัญหาที่สำคัญคือ ต้องพิจารณาตัดสินใจว่า" ผู้ป่วยรายใดควรได้รับยาต้านแบคทีเรีย " (เป็นที่ทราบกันแล้วว่า ไม่มียาใดทำลายเชื้อไวรัสได้) เนื่องจากความลำบากในการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคนั้นๆ มีน้อย แต่จากผลการศึกษาโดยมหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๒๙-๒๕๓๐ เพื่อหาสาเหตุของการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบนในเด็กอายุน้อยกว่า ๕ ปีที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีและกลุ่มเด็กจากอาคารสงเคราะห์ดินแดง กทม. พบว่าเชื้อไวรัสเป็นสาเหตุ ถึงร้อยละ ๕๐ (ไม่จำเป็นต้องจ่ายยาต้านแบคทีเรีย) ดังนั้น หาก แพทย์ เภสัชกร และบุคลากรทางการแพทย์ไม่มีแนวทางที่ชัดเจน ในการพิจารณาว่าสมควรจะจ่าย " ยาต้านแบคทีเรีย " หรือไม่ ประกอบกับถูกกดดันจากผู้ป่วยและไม่มีเวลาที่จะสามารถอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจได้ จึงทำให้เกิดการใช้ " ยาต้านแบคทีเรีย " มากมาย จนมูลค่าการนำเข้าปีละหลายพันล้านบาทครับ

แนวทางในการวินิจฉัย
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว คณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคสาขาโรค ติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบนของกระทรวงสาธารณสุข (ร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก) จึงได้จัดทำแนวทางในทางคลินิกที่ช่วยชี้แนะว่าโรคติดเชื้อนั้นน่าจะเกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ซึ่งจะขอนำมาสรุป เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจ เป็นหัวข้อและตารางต่อไปครับ

เหตุผลของการใช้ยาต้านแบคทีเรียรักษากลุ่มอาการ " หวัดและไอ " คือ

๑. เพื่อให้โรคหายเร็วขึ้น

๒. เพื่อระงับการลุกลามของการติดเชื้อ

๓. เพื่อป้องกันการเกิดไข้รูมาติกและไตอักเสบเฉียบพลัน

อาการที่บ่งชี้ว่าผู้ป่วยควรได้รับยาต้านแบคทีเรีย คือ

๑.ไข้ ยกเว้นผู้ป่วยมีอาการแสดงอย่างอื่นซึ่งเป็นลักษณะ  ของการติดเชื้อไวรัส เช่น น้ำมูกใสๆ (common cold) ตาแดง ผื่น(โรคหัด) มีเม็ดตุ่มพองในคอ หรือมีอาการเข้าได้กับไข้หวัดใหญ่ เช่น ปวดเมื่อยตามตัว คันคอ และคัดจมูกเบื่ออาหาร) โดยเฉพาะ อย่างยิ่งในระยะที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่

๒. น้ำมูกสีเหลืองหรือเขียว ยกเว้นผู้ป่วยที่อาการดีขึ้น น้ำมูกลดปริมาณลง แต่ยังค้างอยู่ในจมูกหรือสั่งออกมาเป็นน้ำมูกข้นเหลือง หรือน้ำมูกข้นสีเหลืองเฉพาะตอนเช้า
๓.ไอมีเสมหะข้นสีเหลืองหรือสีเขียว ยกเว้นผู้ป่วยมีเสมหะเฉพาะตอนเช้า และมีลักษณะมีน้ำมูกสีเหลืองหรือเขียว หรือมีเสมหะดังกล่าวนานๆ ครั้ง แต่ส่วนใหญ่แล้วเสมหะเป็นสีขาว ทั้งนี้เพราะเสมหะข้นสีเหลืองหรือเขียวนี้พบได้ในกรณีที่มีเสมหะค้างในคอนานๆ (เช่น ตอนกลางคืน เป็นต้น)

๔. เจ็บคอ ยกเว้นเมื่อตรวจพบเม็ดตุ่มพองในคอ หรือผู้ป่วยมีน้ำมูกใสๆ ร่วมด้วย ซึ่งเป็นอาการแสดงของ การติดเชื้อไวรัสอาการเจ็บคอของเด็กในวัยเรียนโดยไม่มีหวัดร่วมด้วย หรือมีลักษณะที่บ่งชี้ว่าเป็น streptococcal pharyngitis ควรให้การรักษาด้วยยาเพนิซิลลิน หรืออีริโทรไมซิน เพื่อลดอุบัติการณ์ของไข้รูมาติกและไตอักเสบเฉียบพลัน

๕. หนองที่ทอนซิล ยกเว้นเมื่อให้การวินิจฉัยได้ว่าเป็น infectious mononucleosisรายอื่นๆ นอกจากนี้ต้องวินิจฉัย แยกโรค ระหว่างโรคคอตีบและ strep-tococcal pharyngotonsillitis

๖. ไอรุนแรง อาการไอรุนแรง อาจเกิดจากการติดเชื้อ Mycoplasma pneumoniae, Bordetella pertussis หรือ Chlamydia trachomatis ในทารก

ผู้ป่วยที่มีอาการไอรุนแรง ใน ระยะที่มีการระบาดของไมโคพลาสมา มีโอกาสเกิดจากการติดเชื้อ M.pneu-moniae ได้มาก




มาช่วยกันลดปัญหาการใช้ยาเกินความจำเป็น

หากบุคลากรทางการแพทย์มีแนวทางที่ชัดเจน เคร่งครัด ผู้ป่วยมีความรู้ความเข้าใจและให้ความร่วมมือ เราจะช่วยลดปัญหาการแพ้ยา พิษจากยา การดื้อยา และประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย รวมทั้งลดมูลค่าการเสียดุลการค้าของประเทศไทยได้มากทีเดียวครับ
 

ข้อมูลสื่อ

285-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 285
มกราคม 2546
ภก.นิพล ธนธัญญา