• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แสงสี ศาสตร์ของการดูแลสุขภาพแนวใหม่

"คุณหมอคะ ฉันปวดหัวไมเกรนบ่อยมาก บางครั้งต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ๒-๓ วัน หมอฉีดยาคลายเครียดให้อาการก็ดีขึ้น แต่พักนี้เป็นบ่อยมากค่ะ โดยเฉพาะเวลาถูกแสงแดดหรือเข้าไปในห้องประชุมที่มีพรมสีแดง อาการมักจะกำเริบง่าย ผมชอบบรรยากาศร้านอาหารร้านนั้นจังเลย มีเสียงดนตรีบรรเลงเบาๆ มีแสงไฟชมพู สีเหลือง พร้อมเสิร์ฟอาหารรสเด็ด บรรยากาศดีๆ เพิ่มรสชาติอาหารไม่เลวทีเดียว"

เป็นเวลานานก่อนยุคฮิปโปเครติส (ก่อนค.ศ. ๓๗๗-๔๕๙) พวกที่มีอาชีพรักษาผู้ป่วยรู้ว่า "สีบางเฉดทำให้ร่างกายผ่อนคลาย บางเฉดกระตุ้นและทำให้จิตใจร่าเริง บางเฉดทำให้อารมณ์ฉุนเฉียว และร่างกายเกิดความไม่สบายขึ้น”
 
ชาวอียิปต์โบราณสร้างโบสถ์ ที่ตกแต่งประดับประดาด้วยสีและ แสง สำหรับผู้ป่วยแยกห้องที่ทาสีพิเศษสำหรับพักฟื้น ทำให้ผู้ป่วยอยู่ในสภาพที่เหมาะสม และฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

ชนเผ่าอินเดียนแดงใช้แสงสี ต่างๆ ต่อสู้กับโรคเรื้อรังและบาดแผล ที่เกิดขึ้นระหว่างการล่าสัตว์ และการทำสงครามระหว่างเผ่า

คลินิกบางแห่งในประเทศอังกฤษได้ใช้สีฟ้าอ่อนทาภายในคลินิก พบว่ามีผลทางจิตวิทยาต่อการลดความเจ็บปวดของผู้ป่วยเมื่อเข้ามาอยู่ในคลินิก และยังเป็นผลดีต่อแพทย์และพนักงานด้วย
ในห้องผ่าตัดเรามักพบว่า หมอและเจ้าหน้าที่ใช้ผ้าสีเขียว เวลา ผ่าตัดมีเลือดออก นอกจากจะช่วยลดความร้อนแรงจากการกระตุ้นของ สีเลือดแล้ว ยังทำให้หมอผู้ผ่าตัดมีการผ่อนคลายทางจิตประสาท และมีสมาธิในการใช้สมอง

โรงงานอุตสาหกรรมบางแห่ง เลือกใช้เฉดสีเพื่อลดความล้าของตา ทำให้อารมณ์ดีขึ้น เพิ่มปริมาณและคุณภาพของการผลิต
คนบางคนไปให้หมอดูเลือกสี รถ, สีบ้าน, สีของรั้วบ้าน, สีของ ห้องนอน ฯลฯ เพื่อให้ถูกโฉลกกับดวงของตนเอง เพื่อให้เกิดความ ก้าวหน้า ฯลฯ
 
ตัวอย่างต่างๆที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่า แสงสีหรือเฉดสีต่างๆ มีผลต่ออารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งอาจเป็นผลของความเชื่อ หรือทางจิตวิทยา อันมีผลกระทบต่อร่างกาย โดยตรงหรือโดยอ้อม มีมาตั้งแต่สมัยโบราณนับพันๆปีจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันนี้มีการศึกษาวิจัยผล ของแสงสีทั้งทางด้านจิตวิทยา โดยการเฝ้าสังเกต การสัมภาษณ์เก็บข้อมูล และการตรวจสอบสารเคมีที่เกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนที่สุด เนื่องจากผลของแสงสีที่ขึ้นกับการรับรู้ การแปรผล ยังมีปัจจัยของปัจเจกชน, ความเชื่อ, ประสบการณ์, วัฒนธรรม และตัวแปรอื่นๆ จึงยากจะให้ข้อสรุป อย่างแจ่มชัดได้ทั้งหมด ตัวอย่าง การอธิบายของแสงต่อพฤติกรรมและ สรีระของสัตว์ เช่น

คลื่นแสงเข้าสู่ร่างกายโดยประสาทสัมผัสทางตา เดินทางสู่สมองส่วนหน้าเข้าสู่ต่อมไพเนียล ซึ่งจะหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนิน ซึ่งมีผลต่อการส่งสัญญาณให้สัตว์เปลี่ยน แปลงพฤติกรรมให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมหรือฤดูกาล ซึ่งหมายความว่าแสงสีมีผลต่อการหลั่งของ สารเมลาโทนินนั่นเอง

ในชีวิตจริงบางครั้งเราจะพบว่า สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมา อาจไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันเลย โดยเฉพาะการอธิบายด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ แต่ในมุมมองของการแพทย์ แผนจีนหรือการแพทย์ตะวันออกอาจให้คำอธิบาย และมีคำตอบที่น่าสนใจไม่น้อย

แพทย์แผนจีนได้จำแนก สรรพสิ่งในธรรมชาติ รวมทั้งร่างกายของคนเราเป็น ๕ ธาตุ (ปัญจธาตุ) ตัวอย่างเช่น
สิ่งแวดล้อมรอบตัวมนุษย์ไม่ว่า จะเป็นฤดูกาล แสงสี เสียง กลิ่น รส กลางวัน-กลางคืน ทิศทาง (เหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก) ฯลฯ ก็มีลักษณะปัญจธาตุ ที่มีผลกระทบต่อมนุษย์ทั้งร่างกายและจิตใจไม่มากก็น้อย



สิ่งแวดล้อมมีผลกระทบต่อประสาทรับความรู้สึกทั้ง ๕ คือ จมูก (ผิวหนัง) หู ตา ลิ้น ปาก แล้วมีผลกระทบโดยตรงต่ออวัยวะภายใน ทั้ง ๕ ที่ทำหน้าที่ควบคุมความ สมดุลของธาตุภายในร่างกาย กล่าว เฉพาะในเรื่องของแสงสีต่างๆที่ผ่าน ตา จะมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึก (อารมณ์ทั้ง ๗) แล้วมีผลโดยตรง ต่ออวัยวะภายใน คือ “สีขาวเข้าสู่ปอด สีดำเข้าสู่ไต สีเขียวเข้าสู่ตับ สีแดงเข้าสู่หัวใจ สี เหลืองเข้าสู่ม้าม”

 แสงสีแบ่งเป็นยิน-หยาง (สีเย็น-สีร้อน)
การศึกษาวิจัยของจิตแพทย์ พบว่า แสงสีต่างๆมีผลกระทบต่อ อารมณ์ ความรู้สึกใน ๒ ลักษณะ คือ
 ๑. ผลทางด้านยับยั้ง (สีเย็น สีที่มีภาวะยิน) ได้แก่ สีน้ำเงิน สี เขียว สีม่วง สีดำ สีขาว 
- สีน้ำเงิน ทำให้เกิดความสงบนิ่ง นิ่มนวล ขจัดอารมณ์ตึงเครียด 
- สีเขียว ทำให้เกิดภาวะผ่อนคลาย มีสุข สบาย ทำให้สดชื่นกระปรี้กระเปร่า ความคิดปลอดโปร่ง อุณหภูมิของผิวหนังจะลดต่ำลง ๑- ๒ องศาเซนติเกรด การหายใจจะ ช้าลง อัตราการเต้นของหัวใจจะ ช้าลง ๔-๘ ครั้งต่อนาที ระบบประสาทผ่อนคลาย 
- สีม่วง ทำให้เกิดการสงบนิ่ง ทำให้อารมณ์ถูกกดลง ผ่อนคลาย นอนหลับ ลดการกระตุ้นความกังวล ความฟุ้งเฟ้อ 
- สีดำ ทำให้เกิดความรู้สึกเคร่งขรึม อึมครึม น่ากลัว เก็บกด เศร้าโศก งานศพนิยมใช้ สีดำเพื่อเป็นการแสดงความเสียใจและไว้อาลัย 
- สีขาว ทำให้เกิดความรู้สึกสะอาด บริสุทธิ์ น่าเชื่อถือ แพทย์ พยาบาล นักบวช นิยมนุ่งห่มสีขาว เพื่อให้สอดคล้องกับอาชีพการงาน สีที่มีลักษณะเย็นและลักษณะ ยับยั้ง ถ้ามีมากเกินไป จะทำให้เกิด การอุดกั้น ทำให้อึดอัดแน่น ลักษณะยับยั้งที่พอเหมาะทำให้เกิดการผ่อนคลาย สงบนิ่ง ช่วยให้เกิดการพักผ่อน
 
๒. ผลทางด้านกระตุ้น (สีร้อน สีที่มีภาวะหยาง) ได้แก่ สีแดง สีส้ม สีเหลือง 
- สีแดง สีส้ม สีชมพู สีเหลือง ทำให้เกิดความสว่าง สดใส เหมือนโดนความร้อนจากแสงอาทิตย์กระตุ้น ทำให้รู้สึกอบอุ่น ร้อนแรง กระตือรือร้น สนุกสนาน มีชีวิตชีวา ร้านอาหาร สถานเริงรมย์ และคนที่เฉื่อยชา เหงาหงอย ไม่กระตือรือร้น จึงมักใช้สีเหล่านี้กระตุ้น

ขณะเดียวกันคนที่มีอารมณ์ร้อน หงุดหงิด หรือมีโรคที่มีไข้สูงหรือไข้จากความร้อนภายในร่างกาย (ซึ่งมักจะมีความรู้สึกร้อน หงุดหงิด ร้อนที่ศีรษะ ใบหน้า ตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า) ควรหลีกเลี่ยงการกระตุ้นด้วยแสงสีเหล่านี้

การประยุกต์เรื่องของแสงสีในชีวิตประจำวัน
อาศัยอิทธิพลของแสงสีต่างๆที่มีผลต่ออารมณ์ ความรู้สึกและผลกระทบต่ออวัยวะภายในมาจัดการ กับสภาพแวดล้อม เช่น ที่อยู่อาศัย ห้องนอน ห้องทำงาน อุปกรณ์ใช้สอย การตกแต่ง ผนังกำแพง ม่านหน้าต่าง แสงไฟ ชุดทำงานของพนักงานบริษัท หรืออาชีพต่างๆ รวมทั้งการจัดห้องสำหรับผู้ป่วย ฯลฯ
ตัวอย่างเช่น
๑. การใช้แสงสีที่มีลักษณะอุ่นเพื่อการกระตุ้น
แสงสีที่ใช้คือ สีแดง สีชมพู หรือสีส้ม เช่น หากนำไปใช้ในห้อง อาบน้ำจะทำให้มีการกระตุ้น มีความเบิกบาน เหมาะสำหรับผู้มี อารมณ์เศร้าโศก อึดอัดใจ ง่วงนอน สมองเฉื่อยชา มีคุณสมบัติในการ ขจัดความพร่อง ความเย็นชา
 
๒. การใช้แสงสีที่มีลักษณะเย็นเพื่อการยับยั้ง
แสงสีที่ใช้ได้แก่ สีเขียว สีน้ำเงิน สีเขียวอ่อน สีฟ้า เช่น หากนำไปใช้ในห้องอาบน้ำจะทำให้รู้สึก เย็นชื่นใจ อารมณ์สงบ เหมาะสำหรับผู้ที่มีอารมณ์หงุดหงิดง่ายๆ นอนไม่หลับ มีความกลัว ตกใจง่าย คิดมาก

๓. ใช้แสงสีเพื่อถนอมสายตา
แสงสีที่ใช้ได้แก่ สีเขียว และสีดำ เหมาะสำหรับคนที่สายตาสั้น สายตายาว และตาบอดสี

๔. ใช้แสงสีเพื่อแสดงความ สนุกสนาน รื่นเริง
แสงสีที่ใช้ได้แก่ สีแดง สีชมพู ทำให้เกิดความปีติ ดีใจ ข่มอารมณ์โกรธ และเศร้าโศก

๕. ใช้แสงสีเพื่อแสดงความ เศร้าโศก
แสงสีที่ใช้คือสีดำ บางครั้งอาจใช้สีขาวหรือเหลือง สีดำสามารถข่ม อารมณ์ปีติดีใจ เหมาะสำหรับคนที่ดีใจเกินไป และคนที่โกรธง่าย

๖. ใช้แสงสีเพื่อการคิดและใช้สมาธิ
แสงสีที่ใช้ได้แก่ สีเหลือง สีน้ำเงินอ่อน สีเขียวอ่อน สีเหล่านี้เหมาะกับภาวะการใช้สมองสำหรับขบคิด ช่วยให้มีการรวมศูนย์ของจิตใจทำให้เกิดสมาธิ

๗. ใช้แสงสีเพื่อให้เกิดความกลัว
แสงสีที่ใช้ได้แก่ สีดำ เหมาะสำหรับยับยั้งอารมณ์ที่ดีใจเกินควร เช่น คนที่หัวเราะไม่หยุด

๘. ใช้หลักสีประจำธาตุเพื่อการ บำรุงและการถ่ายเท

แสงสีแดง เข้าสู่ หัวใจ แสงสีเขียว เข้าสู่ตับ แสงสีเหลือง เข้าสู่ม้าม แสงสีขาว เข้าสู่ปอด แสงสีดำ เข้าสู่ไต ในทฤษฎีแพทย์จีนถ้าใช้แสงสี เป็นลักษณะอ่อน เป็นการบำรุงธาตุ ในกรณีที่อวัยวะนั้นๆพร่องหรือขาด หรือถ้าใช้แสงสีเป็นลักษณะสีเข้ม เป็นการถ่ายเทในกรณีที่อวัยวะนั้นๆแกร่งหรือเกิน
 
๙. ใช้แสงสีเพื่อการสลายการอุดกั้น

แสงสีที่ใช้คือ สีแดงเข้ม สีม่วงแดง สีเหลือง เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือด มนุษย์กับธรรมชาติเป็นหนึ่งเดียว สิ่งแวดล้อมรอบตัวเราล้วนมี สีสันแปรเปลี่ยนไปตามเวลา ฤดูกาล สถานที่ ตามธรรมชาติ และตามสิ่งที่มนุษย์คิดสร้างขึ้น การที่มนุษย์ เป็นส่วนหนึ่ง หรือระบบเล็กๆใน จักรภพ ย่อมได้รับผลกระทบจาก ระบบอื่นๆรอบตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แสงสีก็มีผลต่อสุขภาพด้วย ประการฉะนี้แล

ข้อมูลสื่อ

238-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 238
กุมภาพันธ์ 2542
แพทย์แผนจีน