• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แอสไพริน : เป็นมากกว่ายาแก้ปวดลดไข้

“เวลาปวดหัวตัวร้อนไปหาหมอ ทำไมหมอจึงนิยมให้ พาราเซตามอลมากิน หมอเขาเลิกใช้แอสไพรินแล้วใช่ไหมครับ?” “คุณหมอคะ ลูกตัวร้อน ดิฉันจะให้แอสไพรินแก้ตัวร้อนได้ไหมคะ?” “พ่อผมเป็นโรคหัวใจ หมอสั่งยาแอสไพรินให้มากิน ทุกวัน ทั้งๆที่พ่อไม่มีอาการปวดหัวตัวร้อน ไม่ทราบว่าหมอ ให้ยามาผิดหรือเปล่าครับ?”

แอสไพรินเป็นยาเก่าแก่ มีใช้กันมากว่า ๑๐๐ ปีแล้ว
และมีเกร็ดน่าสนใจ คือแต่เดิมทีเป็นสารที่เตรียมมาจากเปลือกต้นไม้ชนิดหนึ่ง ฝรั่งเรียกว่าต้นไวต์วิลโลว์ (white willow) มนุษย์ในยุค ๒,๐๐๐ ปีก่อนรู้จักนำเปลือกต้นไม้ชนิดนี้มาเคี้ยวกินเพื่อบรรเทาอาการปวด

ต่อมาเมื่อมีการศึกษาวิจัยจนทราบโครงสร้างของสารชนิดนี้ จึงได้หันมาสังเคราะห์ทางเคมี จนมีชื่อว่าแอสไพริน อันเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ยานี้จัดเป็นยาสามัญประจำบ้าน มานานนม และคนไทยนิยมใช้ในรูปของยาซองยี่ห้อต่างๆ

มีอยู่ยุคหนึ่งที่ยาซองเหล่านี้นิยมผสมกาเฟอีนเข้าไปด้วย ทำให้มีปัญหาการติดยาแก้ปวดสูตรนี้ในหมู่ชาวไร่ชาวนาและชาวบ้านทั่วไป เกิดปัญหาโรคกระเพาะแทรกซ้อน (บางคนถึงกับเป็นแผลทะลุ อาเจียนเป็นเลือด) จนมีการรณรงค์ให้ยกเลิกสูตรยาแอสไพรินผสมกาเฟอีน เมื่อประมาณ ๘ ปีก่อน ในปัจจุบันยาแก้ปวดลดไข้ชนิดซองยี่ห้อต่างๆ จึงมีเพียงตัวยาแอสไพรินล้วนๆ แอสไพรินมีสรรพคุณใช้แก้ไข้(ตัวร้อน) และบรรเทาอาการปวด สารพัด(ไม่ว่าปวดหัว ปวดฟัน ปวด กล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดแผล ฯลฯ)

แต่ในปัจจุบัน เราหันมานิยมใช้พาราเซตามอลแก้ปวดลดไข้แทน เหตุผลก็เพราะพบว่าแอสไพรินมีผลข้างเคียงทำให้เกิดโรคกระเพาะ ได้ง่าย เพราะมีฤทธิ์ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร ในขณะที่พาราเซตามอลมีสรรพคุณในการแก้ปวด ลดไข้ได้ดีพอๆกัน และไม่ทำให้เป็น โรคกระเพาะแทรกซ้อน

นอกจากนี้ แอสไพรินยังทำให้ เกิดอาการแพ้ยา เป็นลมพิษ ผื่นคัน หรือหอบหืดได้อีกด้วย ในขณะที่พาราเซตามอลมีโอกาสแพ้น้อยกว่ากันมาก
ในปัจจุบันนี้ เราจะเลี่ยงใช้แอสไพรินบรรเทาอาการไข้ในเด็กอายุต่ำกว่า ๑๒ ปี เนื่องเพราะพบว่า ถ้าใช้ในเด็กที่เป็นไข้หวัดใหญ่หรือไข้สุกใสอาจทำให้เกิดโรคเรย์ซินโดรม ซึ่งเป็นโรคร้ายแรงรักษายากชนิดหนึ่ง จึงแนะนำให้ใช้พาราเซตามอลสำหรับบรรเทาอาการตัวร้อน ในเด็กแทน
และที่สำคัญอีกข้อหนึ่ง ก็คือ พบว่าแอสไพรินทำให้เลือดออกง่าย เนื่องจากมีฤทธิ์ยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือด ทำให้เลือดไม่จับเป็นลิ่ม ดังนั้นจึงห้ามใช้ในคนที่เป็นโรคที่มีเลือดออกง่าย เช่น ไข้เลือดออก โรคเลือดต่างๆ

ด้วยเหตุผลประการทั้งปวงนี้ ในการบรรเทาอาการปวดหรือตัวร้อน แอสไพรินจึงหลีกทางให้พาราเซตามอลจนเกือบจะสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม ถ้าหากไม่มีข้อห้าม (ดังในกรอบ “ข้อควรรู้”) เราก็ยังสามารถใช้แอสไพรินแก้ปวดลดไข้เป็นครั้งเป็นคราวได้ แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานๆ หรือใช้เป็นประจำ
ถึงกระนั้นก็ตาม แอสไพรินก็มิได้สิ้นชื่อไปจากวงการแพทย์ แต่กลับผงาดขึ้นมาด้วยประโยชน์ และสรรพคุณอันใหม่ คือใช้ป้องกัน การเกิดภาวะลิ่มเลือด อุดตันในหลอดเลือดหัวใจ และสมอง อันเนื่องมาจากฤทธิ์ยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือด (ทำให้เลือดออกง่าย) ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนั่นแหละ
สิ่งเดียวกันนี้ ในเงื่อนไขหนึ่ง (ในภาวะที่มีเลือดออกง่าย) ถือว่าเป็นโทษ แต่ในอีกเงื่อนไขหนึ่ง(ในภาวะที่มีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด) กลับเป็นคุณ ตรงกับหลัก “ทวิลักษณ์” ของสรรพสิ่ง และหลักที่ว่า “ในเลวมีดี ในดีมีเลว” นั่นเอง

ดังนั้น ในปัจจุบันแพทย์จะนำแอสไพรินไปใช้รักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันและโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตอย่างกว้างขวาง มิใช่ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดหรืออาการตัวร้อน แต่เพื่อใช้ป้องกัน มิให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด หัวใจหรือสมองซ้ำซาก ในกรณีนี้ จะใช้แอสไพรินในขนาดต่ำ คือวัน ละครั้ง ครั้งละ ๗๕ มิลลิกรัม (เบบี้ แอสไพริน หรือแอสไพรินขนาดเด็ก ๑ เม็ด) ถึง ๓๒๕ มิลลิกรัม (แอสไพรินขนาดผู้ใหญ่ ๑ เม็ด) ซึ่งจะให้กินเป็นประจำทุกวันตลอดไป การใช้ยาแอสไพรินป้องกัน การกำเริบของโรคหัวใจ และอัมพฤกษ์ อัมพาตดังกล่าว จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ไม่ควรกินเอง เพราะอาจมีผลข้างเคียง ทำให้เกิดโรคกระเพาะหรือเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ ส่วนคนที่ปกติทั่วไป จะกินแอสไพรินเพื่อป้องกันโรคหัวใจ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาตไว้ล่วงหน้า ดีไหม?

เรื่องนี้มีการโต้แย้งกันพอสมควร เพราะพบว่าถึงแม้จะลดโอกาสของการเป็นโรคหัวใจได้ แต่ก็เกิดผลข้างเคียง(โรคกระเพาะ เลือดออกในกระเพาะ เลือดออกในสมอง) ซึ่งอาจไม่คุ้มกัน
ดังนั้นในปัจจุบัน แพทย์จึงแนะนำให้ใช้แอสไพริน เฉพาะในผู้ที่เคยมีอาการของโรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาตมาก่อน รวมทั้งผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเหล่านั้น (เช่น มีประวัติกรรมพันธุ์ของโรคนี้ หรือ เป็นเบาหวาน)
 
สรรพคุณอีกข้อหนึ่งของแอสไพริน ก็คือ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ซึ่งแพทย์นิยมนำมาใช้รักษาโรคข้ออักเสบ รวมทั้งโรคปวดข้อรูมาตอยด์(ซึ่งเป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง มักพบในผู้หญิงวัย ๒๐- ๔๐ ปี มีอาการปวดตามข้อนิ้วมือ นิ้วเท้าทุกนิ้ว พร้อมกันทั้ง ๒ ข้าง) แต่ต้องใช้ยาในขนาดสูง(ผู้ใหญ่ตกวันละ ๑๒- ๒๐ เม็ด) ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงได้ง่าย จึงควรให้แพทย์ เป็นผู้พิจารณาสั่งใช้เท่านั้น

สุดท้ายนี้มีรายงานการวิจัยชิ้นใหม่ว่า แอสไพรินอาจมีประโยชน์ในการป้องกันโรคมะเร็ง(โดยเฉพาะโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งรังไข่ และมะเร็งเต้านม) และป้องกันโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ

แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมอีกสักระยะ หนึ่ง จนกว่าจะแน่ใจก่อนที่จะนำ ไปเผยแพร่ให้มีการใช้ประโยชน์อย่างจริงจังต่อไป

เห็นไหมครับว่า แอสไพริน ยาแก้ปวดลดไข้ตัวเก่าแก่ที่แท้มีประโยชน์มากกว่าการบรรเทาอาการ ปวดหัวตัวร้อนเป็นไหนๆ

ข้อควรรู้
ยาแอสไพริน
ชื่อสามัญ แอสไพริน (aspirin)
ชื่อการค้า (ยี่ห้อ) แอสไพริน, แอสเปนต์ (Aspentา), เอนทราริน (Entrarinา), ทัมใจ, บวดหาย, บูรา, ประสะบอแรด, เอเอ็นที, ยาแก้เด็กตัวร้อนตราหัวสิงห์, ไวคุลเด็ก
ประเภทยา มีหลายขนาด เช่น ๗๕ มิลลิกรัม, ๓๐๐ มิลลิกรัม, ๓๒๕ มิลลิกรัม
สรรพคุณ
๑. ลดไข้ บรรเทาอาการตัวร้อนจากสาเหตุต่างๆ
๒. แก้ปวด บรรเทาอาการเจ็บปวดจากสาเหตุต่างๆ
๓. ป้องกันมิให้เลือดจับเป็นลิ่ม ใช้ป้องกันการกำเริบของโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน (โรคหัวใจ) และโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน (อัมพฤกษ์-อัมพาต)
๔. ใช้รักษาโรคปวดข้อรูมาตอยด์และแก้ข้ออักเสบ (ซึ่งต้องใช้ยาขนาดสูงและเป็นประจำ จึงอาจมีผลข้างเคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารได้)
ขนาดและวิธีใช้
๑. ลดไข้แก้ปวด กินเวลามีอาการ ถ้ายังมีอาการกำเริบให้กินซ้ำได้ทุก ๖ ชั่วโมง โดยใช้ขนาดดังนี้
ผู้ใหญ่ กินครั้งละ ๖๐๐-๖๕๐ มิลลิกรัม (เช่น ขนาด ๓๐๐-๓๒๕ มิลลิกรัม ครั้งละ ๒ เม็ด)
เด็ก แนะนำให้ใช้พาราเซตามอลแทน
๒. ป้องกันมิให้เลือดจับเป็นลิ่ม ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันหรืออัมพฤกษ์ อัมพาต ควรปรึกษาแพทย์ (แพทย์มักจะให้กินในขนาด ๗๕-๓๒๕ มิลลิกรัม วันละครั้ง เป็นประจำทุกวัน)
๓. ใช้รักษาโรคปวดข้อรูมาตอยด์ และแก้ข้ออักเสบ ควรปรึกษาแพทย์(มักจะให้ยาในขนาดสูงเป็นประจำ แพทย์อาจให้กินยาป้องกันโรคกระเพาะควบคู่ไปด้วย)

ข้อควรระวัง

๑. ยานี้ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร ทำให้ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน กระเพาะอาหารอักเสบ เป็นแผลที่กระเพาะอาหาร หากเป็นรุนแรงอาจถึงขั้นอาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด(ถ่ายออกเป็นสีดำ) ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคกระเพาะ ควรหลีกเลี่ยงการกินยาชนิดนี้
ห้ามกินยานี้พร้อมกับการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการระคายเคืองของกระเพาะอาหารมากยิ่งขึ้น
ควรกินยาหลังอาหารหรือพร้อมนม และควรดื่มน้ำตามมากๆ
๒. ทำให้เลือดออกง่าย เพราะยานี้จะยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือด(ทำให้เลือดไม่จับเป็นลิ่ม) จึงห้ามใช้ในผู้ที่สงสัยจะมีเลือดออกง่าย เช่น ไข้เลือดออก โรคเลือดต่างๆ
ผู้ที่กินแอสไพรินเป็นประจำ หากต้องผ่าตัด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพราะอาจมีเลือดออกมากจากแผลผ่าตัดได้
๓. อาจเกิดอาการแพ้ เป็นลมพิษ ผื่นคัน หอบหืดได้ ห้ามใช้ในผู้ที่เคยมีประวัติแพ้ยานี้ และผู้ป่วยโรคหอบหืด ลมพิษ หวัด ภูมิแพ้ ที่เคยมีอาการกำเริบจากการใช้ยานี้มาก่อน
๔. ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า ๑ ขวบ อาจทำให้เลือดออกง่าย และไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า ๑๒ ปีที่เป็นไข้หวัดใหญ่หรือไข้สุกใส อาจทำให้เกิดโรคเรย์ซินโดรม(มีอาการสมองอักเสบร่วมกับตับอักเสบ) ซึ่งเป็นโรคที่อันตรายร้ายแรงถึง ตายได้ ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ใช้แอสไพรินสำหรับแก้ปวดลดไข้ในเด็ก ทางที่ดี ควรใช้พาราเซตามอลแทน
๕. ไม่ควรใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์ในช่วง ๑-๒ สัปดาห์ ก่อนคลอด อาจทำให้คลอดยาก และตกเลือดได้ง่าย
๖. ห้ามใช้ในคนที่มีประวัติอาการซีดเหลืองจากโรคเลือดจาง จากเม็ดเลือดแดงแตก (เช่น โรคพร่องเอนไซม์ จี-๖-พีดี ซึ่งเป็นโรคกรรมพันธุ์ชนิดหนึ่งที่พบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง) เพราะจะทำให้เกิดอาการซีดเหลืองกำเริบได้
๗. หากกินครั้งละขนาดมากๆ อาจเกิดพิษต่อร่างกายเป็นอันตรายได้ ถ้าพบคนที่กินยานี้ขนาดมากๆ ควรนำส่งห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลโดยด่วน

ข้อมูลสื่อ

238-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 238
กุมภาพันธ์ 2542
พูดจาภาษายา