• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะดัน : หนึ่งในความเปรี้ยวที่ครองใจชาวกลองยาว

บทเพลงที่ยกมาข้างบนนี้ เป็นบทหนึ่งที่วงกลองยาวของไทยนิยมขับร้องประกอบการรำกลองยาวมาเนิ่นนาน จนเชื่อว่าท่านผู้อ่านคอลัมน์ ต้นไม้ใบหญ้าส่วนใหญ่คงเคยได้ยินเพลงบทนี้มาแล้ว และอาจร้องได้อีกด้วย

น่าสังเกตว่าเพลงบทนี้เลือกเอาผลไม้ที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างกันมานำเสนอ ทั้งลักษณะผลกลม (มะนาว) ผลยาว(มะดัน) และผลสั้น (พุทรา) โดยให้มีสัมผัสคล้องจองกันระหว่างคำ(นาว-ยาว และดัน-สั้น) กลายมาเป็นบทเพลงที่ร้องง่ายและจำง่าย จึงติดปากติดหูชาวไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
หากวิเคราะห์ลงลึกไปอีกจะเห็นว่า ผลไม้ทั้ง ๓ ชนิดยังมีลักษณะร่วมกันอีกอย่างหนึ่ง คือ ความเปรี้ยว ทั้งมะนาว มะดัน และพุทรา แม้ในปัจจุบันพุทราที่วางขายในท้องตลาดจะไม่ค่อยเปรี้ยวแล้วก็ตาม แต่ในอดีตพุทราพันธุ์พื้นบ้านของไทยที่ผลเล็ก (“ลูกสั้นๆ”) นั้นมีรสเปรี้ยวทั้งสิ้น ต่อมาเมื่อมีพุทรา พันธุ์ใหม่ๆมาจากต่างประเทศ เช่น พุทราจีน(ผลยาวก้นแหลม) หรือพุทราอินเดีย(ผลยาวหรือกลมอ้วนใหญ่) รสชาติของพุทราจากต่างประเทศเหล่านี้จึงมีความหวานอย่างที่เรารู้จักในปัจจุบัน

                                                             

มะดัน : พืชแห่งที่ราบลุ่ม
เมื่อผู้เขียนยังเป็นเด็กอาศัยอยู่ ที่บ้านริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน เขตอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อ ๔๐ ปีก่อนโน้น จำได้ว่าระหว่างเดือน ตุลาคม-พฤศจิกายนจะมีน้ำจากภาค เหนือเอ่อท่วมตลิ่งและไร่นาแทบทุกปี (ดังคำกล่าวในท้องถิ่นว่า “เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำทรง”) น้ำจะเริ่มลดลงตั้งแต่เดือนธันวาคม-มกราคม(“ถึงเดือนอ้ายเดือนยี่ น้ำก็ปรี่ไหลลง”) ระหว่างที่น้ำท่วมอยู่นั้นกระแสน้ำจะพัดพาผลไม้บางชนิดมาตามผิวน้ำด้วยหลายชนิด เนื่องจากผลไม้ดังกล่าวเกิดจากต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ และออกผลแก่จัดจนร่วงหล่นลงในฤดูน้ำหลากพอดี ผลไม้ดังกล่าวนั้นมีหลายชนิด บางชนิดก็กินได้ เช่น มะกอกน้ำและมะดัน เป็นต้น ในวัยเด็กรู้สึกว่าผลไม้ที่ลอยตามน้ำมานั้นเอร็ดอร่อยเหลือเกิน ผลมะกอกน้ำจะมีมาก และหาได้ง่ายกว่าผลมะดัน นานๆครั้งจึงจะเก็บผลมะดันได้ เมื่อได้ผลมะดันก็มักจะนำไปให้ผู้ใหญ่ทำกับข้าวหรือดองเสียก่อน เพราะเปรี้ยวจัดกว่ามะกอกน้ำมาก

จนผู้เขียนโตขึ้นจึงทราบว่าทั้งมะกอกน้ำและมะดันเป็นพืชพื้นบ้านที่ขึ้นเองตามริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน ผลแก่ที่ร่วงหล่นลอยตามน้ำนั้นเป็นวิธีขยายพันธุ์ตามธรรมชาติของพืชทั้ง ๒ ชนิด เมื่อลอยไปติดอยู่ที่ใด และน้ำแห้งลงก็จะงอกขึ้นเป็นต้นใหม่ ได้ นอกจากนั้นทั้งมะกอกน้ำและมะดันยังเป็นพืชที่ชอบความชื้น ทนต่อความแฉะและน้ำท่วมขังได้เป็นเวลานาน ซึ่งคงเกิดจากการปรับตัวให้เข้ากับสภาพน้ำท่วมขังของพื้นที่ราบ เช่น ภาคกลางของประเทศไทยนั่นเอง
 
เชื่อว่าแหล่งกำเนิดดั้งเดิมของมะดันอยู่ในเขตที่ราบลุ่มของทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมประเทศไทยด้วยนั่นเอง ชาวไทยที่อยู่บริเวณภาคกลาง และลุ่มน้ำภาคใต้จึงคุ้นเคยกับมะดันมากกว่าชาวไทยที่อยู่บริเวณที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง มะดันมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Garcinia schomburgkiana Pierre. อยู่ในวงศ์ Guttiferae นับว่ามะดันเป็นญาติใกล้ชิดกับมังคุดเป็นอย่างยิ่ง เพราะอยู่ในวงศ์และสกุลเดียวกัน (สกุล Garcinia) แต่แปลกที่ผลมะดันกับมังคุดแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง รวมทั้งรสชาติด้วย (เนื้อมังคุดหวานสนิทไม่เปรี้ยวเลย ส่วนมะดันเปรี้ยวบริสุทธิ์ไม่เจือหวานเลย)

มะดันเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง ๔-๕ เมตร ใบหนาทึบเขียวเข้ม ด้านบนใบเข้มเป็นมัน ไม่มีขน เป็นใบเดี่ยวรูปไข่ปลายแหลม กว้างราว ๖ เซนติเมตร ยาวราว ๑๒ เซนติเมตร ดอกขนาดเล็กออกตามกิ่ง กลีบรองดอกสีเหลืองอมขาว กลีบดอกสีชมพู เกสรสีเหลือง ผลทรงกระบอกยาว ปลายแหลม ยาวราว ๖ เซนติเมตร ผิวบางเรียบสีเขียวฉ่ำน้ำ เป็นมันภายในมีเมล็ด ๓-๖ เมล็ด ยาวตามผล หากเมล็ดใดลีบผลด้านนั้นจะเบี้ยวงอ
บางต้นมีกิ่งเล็กๆไม่มีใบอยู่รวมกันเป็นกระจุก เรียกว่า รกมะดัน

มะดันในฐานะผัก
มะดันเป็นพืชที่ให้รสเปรี้ยว ใช้ในการปรุงรสอาหารไทยมากกว่าใช้เป็นผักโดยตรง ส่วนที่นำมาใช้ปรุงคือใบอ่อนและผล ส่วนผลมีรสเปรี้ยวจัดใช้แทนมะนาวได้ดี เช่น ตำน้ำพริกต่างๆ โดยเฉพาะน้ำพริกพริกไทยอ่อน น้ำพริกลงเรือ น้ำพริกทรงเครื่อง น้ำพริกหมูสับกากหมู เป็นต้น นอกจากนั้นก็ใส่ในแกงที่ต้องการความเปรี้ยว เช่น แกงส้ม ต่างๆ และต้มยำ
สำหรับใบอ่อนมะดันซึ่งมีรสเปรี้ยวเหมือนกันแต่น้อยกว่าผล ใช้ใส่แกงส้มได้เช่นเดียวกับผล และใช้ในการดองเปรี้ยวผัก เช่น ผักบุ้ง ผักเสี้ยน เป็นต้น
น่าสังเกตว่า อาหารไทยหลายชนิดต้องการรสเปรี้ยว ซึ่งคนไทยใช้พืชหลายชนิด เช่น มะนาว มะม่วง มะอึก มะดัน มะขาม ฯลฯ ซึ่งใช้แทนกันได้ แต่หากต้องการรสชาติเฉพาะแล้ว แต่ละชนิดจะให้ความเปรี้ยวที่แตกต่างกัน เป็นความหลากหลายที่ทำให้อาหารไทยมีความพิเศษไม่ซ้ำซากจำเจ แม้แต่ในพืชชนิดเดียวกัน เช่น มะนาว คนไทยก็ยังเลือกมะนาวพื้นบ้านที่น้ำหอมกลิ่นมะนาว และไม่ชอบมะนาวบางชนิด(เช่น มะนาวตาฮิติหรือมะนาวควาย) เพราะรสและกลิ่นไม่ดีเท่ามะนาวพื้นบ้านนั่นเอง

ประโยชน์ด้านอื่นๆของมะดัน
แพทย์แผนไทยใช้มะดันประกอบเป็นยาสมุนไพรได้หลายขนาน ในตำราสรรพคุณสมุนไพร บรรยายสรรพคุณไว้ดังนี้
รก ใบ : รสเปรี้ยว แก้กระษัย แก้ระดูเสีย ขับฟอกเลือด ระบายอ่อนๆ แก้เสมหะในลำคอ ขับปัสสาวะ
ลูก : รสเปรี้ยว แก้ไอ แก้เสมหะ แก้น้ำลายเหนียว ขับปัสสาวะ ฟอกเลือด ใช้ปรุงอาหาร
ใบ รก ลูก : ปรุงเป็นยาดองเปรี้ยวเค็ม ฟอกเสมหะ แก้ประจำเดือนพิการ แก้ไอ
ผลมะดันนำมาดองน้ำเกลือ กินแก้น้ำลายเหนียว เป็นเมือกในลำคอ

นอกจากใช้เป็นยาแล้ว ผลมะดันยังนิยมใช้เป็นของหวาน โดยนำมาดอง แช่อิ่ม หรือเชื่อม เป็นผลไม้ดองยอดนิยมชนิดหนึ่งของคนไทยในปัจจุบัน

เนื่องจากมะดันเป็นไม้ทนน้ำท่วมขังดีที่สุดชนิดหนึ่ง จึงเหมาะสำหรับปลูกในบริเวณที่อาจเกิดน้ำท่วม โดยเฉพาะภาคกลางหรือเขตกรุงเทพมหานคร เพราะตัดปัญหาถูกน้ำท่วมตายได้แน่นอน นอกจากนั้นทรงพุ่มมะดันยังงดงามใช้เป็นไม้ประดับสถานที่ได้ดี ปัจจุบันมะดันส่วนใหญ่เกิดจากการเพาะเมล็ด จึงมีความแตกต่างหลากหลายสูง บางต้นผลโตและดกกว่าปกติ บางต้นก็ออกผลปีละหลายครั้งต่างจากปกติที่มักออกผลปีละครั้งเดียว หากมีการคัดเลือกอย่างจริงจังก็จะได้พันธุ์มะดันที่มีคุณสมบัติพิเศษดียิ่งขึ้นกว่าปัจจุบัน(เช่นเดียวกับมะกอกน้ำที่พัฒนาไปก่อนแล้ว) ซึ่งจะทำให้มะดันเป็นที่นิยมปลูกกันมากขึ้น ประโยชน์แท้จริงที่คนไทยได้รับจะมีมากกว่าการนิยมปลูกไม้ผลที่มาจากต่างประเทศ ดังเช่น กระบองเพชรบางชนิดที่เรียกว่าแก้วมังกร เป็นต้น

ข้อมูลสื่อ

238-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 238
กุมภาพันธ์ 2542
ต้นไม้ใบหญ้า