• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโคลนนิงก์

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโคลนนิงก์


“โคลนิงก์” คืออะไร

“โคลนิงก์ (cloning)” เป็นศัพท์วิทยาศาสตร์ (อ่านว่า โคลน-นิ่ง) หมายถึง การทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตที่มีองค์ประกอบทางพันธุกรรมเหมือนกันจะเรียกว่า “การคัดลอก” หรือ “การถอดแบบ” พันธุกรรม ก็ได้


โคลนิงก์ที่เกิดตามธรรมชาติมีหรือไม่
แฝดไข่ใบเดียวกันเป็นตัวอย่างหนึ่งของโคลนิงก์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เพราะมีต้นกำเนิดมาจากไข่ที่ปฏิสนธิแล้วใบเดียวกัน
เมื่อไข่จากแม่ปฏิสนธิกับเชื้ออสุจิจากพ่อแล้วแบ่งตัวเป็นหลายเซลล์ ถ้าแต่ละเซลล์แยกออกจากกันและเจริญไปเป็นตัวอ่อนแต่ละตัว ก็จะได้แฝดไข่ใบเดียวกัน ซึ่งอาจเป็นแฝดสองหรือมากกว่าสองก็ได้ แฝดไข่ใบเดียวกันมีส่วนประกอบทางพันธุกรรมเหมือนกัน จึงมีลักษณะต่าง ๆ เหมือนกัน ถ้าจะต่างกันไปบ้างก็เพราะอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม เช่น เลือดไปเลี้ยงขณะอยู่ในครรภ์แม่ อาหารและการเลี้ยงดูหลังคลอด เป็นต้น
 



นักวิทยาศาสตร์สามารถทำให้เกิดโคลนิงก์ได้หรือไม่
นักวิทยาศาสตร์สามารถทำโคลนิงก์สัตว์ เช่น วัว แกะ หมู ได้สำเร็จมานานนับสิบปีแล้ว วิธีโคลนิงก์ที่ทำกันแต่เดิมเลียนแบบธรรมชาติ โดยการปฏิสนธิเซลล์สืบพันธุ์จากพ่อและแม่นอกร่างกาย แล้วเพาะเลี้ยงระยะสั้นจนแบ่งตัวเป็นหลายเซลล์ แยกเอาแต่ละเซลล์ไปถ่ายฝากไว้ในมดลูกของแม่แต่ละตัว ให้เจริญเติบโตในครรภ์จนกระทั่งครบกำหนดและตกลูกออกมา จะได้สัตว์หลายตัวที่มีต้นกำเนิดมาจากตัวอ่อนตัวเดียวกัน เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ชาวสก็อต ชื่อเอียน วิลมุต (lan Wilmut) กับคณะ รายงานความสำเร็จของโคลนิงก์แกะวิธีใหม่ โดยใช้เซลล์ร่างกายแทนเซลล์สืบพันธุ์ เขาตั้งชื่อแกะที่ได้จากวิธีนี้ว่า “ดอลลีย์ (Dolly)”


การทำโคลนิงก์มีประโยชน์อย่างไร
การทำโคลนิงก์ก็มีประโยชน์เพื่อแพร่พันธุ์สัตว์ เช่น สัตว์พันธุ์ดีในทางเกษตรกรรม สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์หรือเป็นพันธุ์ที่หายาก หรือสัตว์ที่มีลักษณะพิเศษทางพันธุกรรม (เช่น สามารถสร้างโปรตีนมนุษย์ที่ใช้รักษาโรคเลือดออกผิดปกติ เป็นต้น) นอกจากนี้ ยังใช้เพาะสัตว์ทดลองจำนวนมากที่มีลักษณะพันธุกรรมเหมือนกัน เพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกลไกการเกิดโรคพันธุกรรม และบทบาทของพันธุกรรมกับปัจจัยแวดล้อมในการเกิดโรค


เหตุใดข่าวโคลนิงก์ “ดอลลีย์” จึงได้รับความสนใจและกล่าวขวัญกันอย่างมาก
ผลสำเร็จของโคลนิงก์ “ดอลลีย์” แสดงถึงการค้นพบทางวิทยาศาสตร์อย่างใหม่ เป็นการสร้างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโดยอาศัยเซลล์ร่างกายจากพ่อหรือแม่เพียงฝ่ายเดียว ไม่ต้องอาศัยการปฏิสนธิของเซลล์สืบพันธุ์ซึ่งต้องมาจากทั้งพ่อและแม่ ดังที่เกิดตามธรรมชาติหรือโดยโคลนิงก์วิธีเดิม ความสำเร็จนี้ทำให้เกิดความหวั่นเกรงว่าจะนำไปสู่โคลนิงก์มนุษย์ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบทาง-ด้านสังคม จริยธรรม และกฎหมายอย่างมากตามมา ขณะนี้โคลนิงก์มนุษย์ถูกต่อต้านทั้งถูกประณามโดยองค์กรหลายแห่งจากหลายประเทศทั่วโลก



ความก้าวหน้าของวิทยาการโคลนิงก์จะเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์อย่างไร
ความก้าวหน้าของวิทยาการโคลนิงก์ มีประโยชน์ทั้งในด้านความรู้พื้นฐานและในการนำมาประยุกต์ใช้เพื่อรักษาโรค การทำโคลนิงก์มนุษย์ (หรือสัตว์ที่ลักษณะพันธุกรรมคล้ายมนุษย์) จะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอวัยวะสำหรับใช้ปลูกถ่ายให้ผู้ป่วย เช่น ไขกระดูก และไต ความรู้ว่าเหตุใดเซลล์ร่างกายจึงสามารถกลับไปทำหน้าที่เป็นเซลล์ระยะตัวอ่อน และเจริญจำแนกชนิดต่อไปได้อีก อาจนำไปสู่วิธีการรักษาโรคบางระบบ เช่น ระบบประสาท ทำให้เซลล์ที่เสื่อมหน้าที่หรือถูกทำลายไปแล้ว กลับมาทำงานได้อีก


ผลเสียหรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโคลนิงก์มีอะไรบ้าง
การทำให้เกิดมนุษย์ด้วยวิธีโคลนิงก์ จะทำให้ความหมายของการเป็นพ่อแม่ลูกและสถาบันครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป ทั้งเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการนับถือศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และอาจก่อให้เกิดความสับสนจากการที่มีมนุษย์ที่เหมือน ๆ กันหลายคนในสังคมบางศาสนาถือว่าโคลนิงก์ก็เป็นการละเมิดคำสอนและความเชื่อทางศาสนาอีกด้วย ขณะนี้วิธีโคลนิงก์ยังไม่มีประสิทธิภาพนัก และยังไม่ทราบว่าปลอดภัยเพียงใด เด็กที่เกิดมาโดยวิธีนี้อาจมีความพิการหรือเป็นโรค หรือมีความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือมีอายุสั้นกว่าธรรมดาก็ได้

หากนำโคลนิงก์มาใช้เพื่อคัดเลือกพันธุ์มนุษย์ การคัดลอกแบบจากคนที่ถือกันว่ามีคุณสมบัติดี อาจจะได้ผลออกมาไม่ดีเหมือนที่คาด เพราะนอกจากพันธุกรรมแล้ว สิ่งแวดล้อมก็มีส่วนหล่อหลอมลักษณะของสิ่งมีชีวิตด้วย ยิ่งกว่านั้น ลักษณะที่ถือกันว่าดีในสมัยหนึ่งหรือสิ่งแวดล้อมหนึ่ง อาจเป็นลักษณะที่ไม่ดีหรือไม่เหมาะสมสำหรับอีกสมัยหนึ่งหรือในสิ่งแวดล้อมอื่นก็ได้ อนึ่ง ถ้าทำโคลนิงก์มนุษย์กันอย่างกว้างขวางได้มนุษย์ที่มีองค์ประกอบทางพันธุกรรมเหมือนกันจำนวนมาก ๆ ก็จะทำให้ขาดความหลากหลายทางพันธุกรรม (genetic diversity) และอาจสูญพันธุ์ได้หากสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป เช่น เกิดโรคระบาดจากการติดเชื้อบางชนิด


บทส่งท้าย
การนำความรู้และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มาใช้ จำเป็นต้องคำนึงถึงผลดีผลเสียที่อาจเกิดขึ้น นักวิทยาศาสตร์และสังคมมีหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกัน ที่จะตรวจสอบและวางมาตรการอันเหมาะ-สม เพื่อนำวิทยาศาสตร์มาใช้ให้บังเกิดประโยชน์สุขต่อสังคมโดยทั่วหน้า


เอกสาร

๑. Wilmut I, Schnieke AE, McWhir J, Kind AJ, Campbell KHS. Viable offspring derived from fetaland adult mammalian cells. Nature ๑๙๙๗ ; ๓๘๕ : ๘๑๐-๓.

๒. Campbell KHS, McWhir J, Ritchie WA, Wilmut I. Sheep cloned by nuclear transfer from a cultured cell line Nature ๑๙๙๖ ; ๓๘๐ : ๖๔-๖.

๓. Kahn A. Clone mammals… clone man? Nature ๑๙๙๗ ; ๓๘๖ : ๑๑๙.

๔. WHO Director-General condemns human cloning. WHO press release (WHO/๒๐), ๑๑ Mar ๑๙๙๗

๕. Elmer-Dewitt P. Cloning : where do we draw the line? Time, Nov ๘, ๑๙๙๓, pages ๓๑-๖.

๖. A special report cloning. Time, Mar ๑๐, ๑๙๙๗, pages ๓๐-๔๒.

๗. Begley S. Little lamb, who made thee? Newsweek, Mar ๑๐, ๑๙๙๗, pages ๔๓-๙.

๘. Today the sheep... Newsweek, Mar ๑๐, ๑๙๙๗, page ๕๐.

ข้อมูลสื่อ

217-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 217
พฤษภาคม 2540
บทความพิเศษ