• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แพทย์แผนจีนในชีวิตประจำวัน (ตอนที่ ๑) มนุษย์กับธรรมชาติเป็นหนึ่งเดียว

แพทย์แผนจีนในชีวิตประจำวัน (ตอนที่ ๑) มนุษย์กับธรรมชาติเป็นหนึ่งเดียว


จุดเด่นและหลักการสำคัญของแพทย์แผนจีนข้อหนึ่งได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ (สิ่งแวดล้อมรอบตัว) หรือที่เรียกว่า ความสัมพันธ์ฟ้า-ดิน-และมนุษย์ หลักการนี้ถือว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของโลกธรรมชาติมนุษย์ต้องพึ่งพาธรรมชาติไม่โดยทางตรงก็ทางอ้อม การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงใดๆ ของโลกธรรมชาติจะมีผลกระทบต่อมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปัจจุบัน มนุษย์ได้กระทำการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็วต่อโลกธรรมชาติโดยอาศัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น การพัฒนาของภาคอุตสาหกรรม(ผลตามมาคือ การเกิดมลพิษ) การใช้สารเคมีทางการเกษตร เพื่อเพิ่มผลผลิตการตลาด (ผลตามมาคือการปนเปื้อนของสารพิษในอาหาร พืช ผัก) การขยายตัวของชุมชนไปเป็นเมืองมากขึ้น (ผลตามมาคือชีวิตแบบคนเมือง ความรีบเร่ง การแข่งขันความเครียด ตลอดจนวิถีการดำเนินชีวิต การทำลายป่าธรรมชาติอย่างขนานใหญ่นำมาซึ่งการแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ) สรุปแล้วมนุษย์ได้รับผลกระทบทางด้านอาหาร สิ่งแวดล้อม อารมณ์ การเปลี่ยนแปลงที่ไร้กฎเกณฑ์ของอากาศตลอดจน วิถีชีวิตที่ผิดแปลกออกไป ซึ่งจะมีผลต่อชีวิตและสุขภาพตลอดจนการเกิดโรคภัยไข้เจ็บ


ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เราคุ้นเคย เช่น ฤดูกาล กลางวันกลางคืน ข้างขึ้นข้างแรม ในอดีตฤดูกาลมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของมนุษย์อย่างมาก เพราะเกี่ยวข้องกับการเพาะปลูก การกินอาหาร การระวังรักษาสุขภาพให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของอากาศ หรือธรรมชาติรอบตัว มนุษย์เรียนรู้หลักการปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวัน การตื่น การทำงาน การกินอาหาร การพักผ่อนที่เหมาะสม ซึ่งหลักการปฏิบัติตัวเพื่อความสมดุล เป็นภูมิปัญญาที่ได้รับการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ถ่ายทอดสืบต่อกันมานับพัน ๆ ปี ปัจจุบันได้มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนเหตุผลดังกล่าวในเนื้อหาของ “เวลาชีวิต” หรือ “นาฬิกาชีวิต” (Biological clock)

มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของโลกธรรมชาติ อยู่ภายใต้อิทธิพลของดวงดาว การเคลื่อนไหวของดวงดาว เช่น พระอาทิตย์ พระจันทร์ โลก ฯลฯ จะส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์มากมาย เช่น

  • โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ทำให้เกิดฤดูกาล
  • ดวงจันทร์หมุนรอบโลกทำให้เกิดข้างขึ้นข้างแรม
  • โลกหมุนรอบตัวเองทำให้เกิดกลางวันและกลางคืน

การเคลื่อนไหวของดวงดาว ทำให้เกิดสภาพการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ความร้อนความเย็น ลมความชื้น ความแห้ง (ทฤษฎีแพทย์จีนกล่าวถึงสาเหตุของการเกิดโรคจากภายนอกคือ ร้อน เย็น ไฟ ชื้น แห้ง ลม) การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ดังกล่าวจะกระทบต่อการปรับตัวทางสรีระของร่างกาย ถ้าการเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป และภาวะของร่างกายอยู่ในสภาพที่สามารถตอบสนองได้ดีต่อการเปลี่ยนแปลงได้ ก็จะไม่เกิดโรค (พยาธิสภาพ) แต่ถ้าการเปลี่ยนแปลงของโลกธรรมชาติเร็ว รุนแรงหรือตัวร่างกายเองมีภาวะที่ไม่อาจตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสมก็จะทำให้เกิดโรค


ในชีวิตจริงเราจะพบมีผู้ป่วยจำนวนมากในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เช่นในขณะที่อากาศร้อนอบอ้าวเกิดมีฝนตก หรืออากาศหนาวเกิดเปลี่ยนเป็นร้อนขึ้นมาอย่างรวดเร็ว การแพทย์จีนได้สรุปกฎเกณฑ์ของฤดูกาลที่สัมพันธ์กับปัจจัยของการเกิดโรค เช่น

  • ฤดูใบไม้ผลิ อากาศจะอบอุ่น มีลมพัดมาก
  • ฤดูร้อน อากาศร้อนเหมือนมีไฟ ปลายฤดูร้อนจะมีความชุ่มชื้น มีฝน เสมือนมีความชื้น
  • ฤดูใบไม้ร่วง อากาศเริ่มเย็น มีความแห้ง
  • และในฤดูหนาว อากาศหนาวเย็น คุณสมบัติความเย็นเป็นหลัก

ในทุกฤดูกาลอาจมีสภาพอากาศที่ร่วมกันอยู่ได้ เช่น อาจจะมีร้อน-ชื้น หนาว-แห้ง ลม-หนาว ฯลฯ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อสรีระสภาพของร่างกาย

ร่างกายจะมีกลไกในการปรับตัวเพื่อตอบสนองกับสภาพแวดล้อมเพื่อให้มีการอยู่รอดคือการปรับสมดุล ถ้าคนที่ร่างกายยังไม่เสียสมดุลมากก็ยังสามารถปรับสภาพแวดล้อมภายในร่างกายได้ ก็ไม่เกิดโรค ตัวอย่างเช่น ในฤดูใบไม้ผลิถึงฤดูร้อน อากาศจะอบอุ่นและค่อยๆ ร้อนขึ้น ร่างกายตอบสนองโดยการที่มีชีพจรลอยและแรง คลำได้ง่าย การไหลเวียนเลือดไปบริเวณผิวหนังจะมากเพื่อปรับอุณหภูมิภายในร่างกายให้อยู่ในระดับปกติ รูขุมขนจะเปิดกว้างเหงื่อจะออกมากเพื่อระบายความร้อนออกสู่ภายนอก ปัสสาวะน้อย มีสีเข้ม ในขณะที่ฤดูใบไม้ร่วงถึงฤดูหนาว อากาศจะแห้งและเย็นแล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นหนาว ในทฤษฎีแพทย์จีนกล่าวว่า ร่างกายตอบสนองโดยการที่ชีพจรจะอยู่ลึกและลักษณะเบา คลำได้ยาก การไหลเวียนเลือดช้า เลือดมาที่ผิวหนังน้อย รูขุมขนปิดแคบป้องกันการสูญเสียความร้อน เหงื่อก็จะออกน้อย ปัสสาวะมาก สีใส

สังคมเมืองปัจจุบันมีการแปรปรวนของสภาพแวดล้อมรอบตัวอย่างมาก นอกจากฤดูกาลที่ไม่ค่อยจะมีลักษณะแน่นอนแล้วสภาพแวดล้อมของอากาศในตัวเมืองที่มีการใช้เครื่องปรับอากาศทำความเย็นอย่างมาก มีการใช้พลังงานจากเครื่องจักร เครื่องยนต์ สภาพตึกรามบ้านช่องที่มีต้นไม้น้อยลงไปทุกที ทำให้อากาศมีลักษณะอบอ้าว แห้งร้อน ขาดความชุ่มชื้น การแปรเปลี่ยนสภาพจากห้องทำงาน หรือสำนักงานห้างสรรพสินค้าที่เย็นสู่อากาศภายนอกที่ร้อนอบอ้าว บนท้องถนน บนรถเมล์ ฯลฯ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว รุนแรงต่อร่างกาย ทำให้ง่ายต่อการเกิดโรคอย่างมาก

ขณะเดียวกันสภาวะของร่างกายหรือกลไกในการปรับตัวเพื่อความสมดุลของคนในปัจจุบันมีแนวโน้มจะลดลง เนื่องจากปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การดำเนินชีวิตที่ผิดแปลกห่างไกลธรรมชาติ หลักการมีสุขภาพดีขั้นพื้นฐาน คือ การเสริมสร้างกลไกปรับสมดุลโดยเรียนรู้ธรรมชาติของร่างกายและเรียนรู้ลักษณะโลกธรรมชาติรอบตัว สร้างเสริมความเป็นหนึ่งเดียวของร่างกายกับโลกธรรมชาติ

ข้อมูลสื่อ

217-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 217
พฤษภาคม 2540
แพทย์แผนจีน