• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เจาะลึกแพทย์แผนไทยกับพุทธศาสนา

เจาะลึกแพทย์แผนไทยกับพุทธศาสนา


“ก่อนอื่นผู้เขียนต้องขอเรียนท่านผู้อ่านให้ทราบว่า การแพทย์แผนไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาอย่างแยกไม่ออก หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนาก็ว่าได้ ผู้เขียนจึงจำเป็นต้องนำเสนอระบบการแพทย์แผนไทยตามนัยแห่งพระพุทธศาสนา ซึ่งรูปแบบอาจยากสักหน่อยสำหรับคนรุ่นใหม่ แต่ไม่ยากสำหรับความเข้าใจ”

มูลเดิมปฐมกาลของโลกมาจาก “ธารณธาตุ” คือ สภาพที่ทรงไว้ตามธรรมชาติเดิมที “ธาตุ” มวลสารสมดุลกันตามสภาพธรรมชาติที่ปกติ พอจะแยก “ธาตุ” ออกได้ ๕ ประเภท คือ

๑. ธาตุที่ทรงสถานะแข็งแรงถ่วง เรียกว่า “ปฐวีธาตุ” หมายถึง ธาตุดิน

๒. ธาตุที่ทรงสภาพความเหลว เชื่อมต่อ เรียกว่า “อาโปธาตุ” หมายถึง ธาตุน้ำ

๓. ธาตุที่ทรงสภาพความเคลื่อนไหว ก๊าซ เรียกว่า “วาโยธาตุ” หมายถึง ธาตุลม

๔. ธาตุที่ทรงสภาพความร้อน พลังงาน เรียกว่า “เตโชธาตุ” หมายถึง ธาตุไฟ

๕. ธาตุที่ทรงสภาพความว่าง ช่องว่าง เรียกว่า “อากาศธาตุ” หมายถึง อากาศธาตุ
 

สภาพมวลสารของธาตุทั้ง ๕ สมดุลกันตามธรรมชาติ รวมเรียกว่า “โลก” ตามนัยพระพุทธศาสนาแบ่งโลกไว้ ๓ ประการ คือ

๑. โอกาศโลก หมายถึงพื้นผิวโลก มหาสมุทร ภูเขา พฤกษชาติ ทั้งหมด

๒. สัตว์โลก หมายถึงกำเนิดของสัตว์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนพื้นผิวโลก อาศัยโอกาสโลกมีชีพอยู่ประจำ

๓. สังขารโลก หมายถึงรูปนามหรือชีวของสัตว์โลกต่างๆ ตามกรรมพันธุ์
 

โอกาศโลก โลก คือ แผ่นดิน มหาสมุทร ภูเขา แม่น้ำ พฤกษชาติ ลักษณะองค์ประกอบ คือ

ก. พื้นผิวโลกทั้งหมดมีความหนา ๒ แสน ๔ หมื่นโยชน์ (๔๐๐ เส้นเท่ากับ ๑ โยชน์)

ข. หินรองแผ่นดินมีความหนา ๔ แสน ๘ หมื่นโยชน์

ค. น้ำที่รองหินและดินมีความหนา ๙ แสน ๖ หมื่นโยชน์

ง. อากาศที่รองรับน้ำ, หิน, ดิน ความหนาไม่มีประมาณรอบ ๆ เรียกกันว่า “จักรวาล” รอบ

จักรวาลมีความกว้าง-ยาว เท่ากันคือ ๑ ล้าน ๒ แสน ๓ พัน ๔ ร้อย ๕๐ โยชน์
 

นอกจากนี้เรียกกันว่า “นอกจักรวาล” สภาพนอกจักรวาล คือ ไม่มีอากาศธาตุ เรียกว่า “สุญญากาศ”  นั่นเอง ส่วนลึกของ “มหาสมุทร” ลึกได้ ๘ หมื่น ๔ พันโยชน์ สภาพทั้งหมด คือ โอกาศโลก
 

สัตว์โลก เมื่อสภาพของโอกาสโลกปรับตัวสมดุลกันพอดีธรรมชาติที่เป็น “อาหาร” ประเภทกวฬิงการาหาร คือ อาหารที่ดื่มกินโอชารสเกิดขึ้น กำเนิดของสัตว์ต่างๆ ก็ย่อมเกิดขึ้นตามสภาพของกรรมพันธุ์ สัตว์โลกที่เกิดขึ้นบนพื้นผิวโลกก็ได้อาศัยไออุ่น กลิ่นมูลดิน พฤกษชาติเป็นอาหาร สัตว์บนพื้นผิวโลกมีมากมายกล่าวโดยย่อ ๆ คือ สัตว์บก, สัตว์น้ำ, สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ, และสัตว์อากาศ ยังแยกพันธุกรรมของสัตว์ออกไปอีกมาก โดยภาพรวมในคำว่า “สัตว์” คือ สัตว์นรก, สัตว์เปรต, สัตว์อสุรกาย, สัตว์เดียรัจฉาน, สัตว์มนุษย์, เทพกามาพจร ๖ ชั้น, พรหมรูปาวจร ๑๖ ชั้น, พรหมอรูปาวจร ๔ ชั้น มีสภาพอาศัยในภพทั้ง ๓ คือ กามภพ, รูปภพและอรูปภพนั่นเอง ส่วนโลกุตรภูมิย่อมอยู่เหนือโลกทั้งปวง
 

สังขารโลก โลก คือ เบญจขันธ์ หมายถึง สภาพของ “ธาตุ” ที่คุมตัวกันอย่างสมดุล ปรุงแต่งขึ้นเป็นรูปธรรมที่ปรากฏชัดแจ้ง ตามสำนวนทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า “เบญจขันธ์” คือ ขันธ์ ๕ แยกออกเป็น ๕ กอง คือ

ก. กองรูป มีมหาภูตรูปและอุปาทายรูป ควบคุมด้วยอาหาร

ข. กองเวทนา คือ ความรู้สึกสุข, ทุกข์, โสมนัส, อุเบกขา ควบคุมด้วยอิริยาบถ

ค. กองสัญญา คือ ความทรงจำในรูป, สี, กลิ่น, รส, ผัสสะ, อารมณ์ ควบคุมด้วยความเพียร

ง. กองสังขาร คือ ตัวปรุงทางจิตเป็นความดี, ความชั่ว, กลาง ๆ เฉย ๆ ควบคุมด้วยเจตนา

จ. กองวิญญาณ คือ ตัวรู้ รู้แจ้งทางทวารต่าง ๆ เช่น สี, กลิ่น, รส, เสียง, สัมผัส, ควบคุมด้วยสติ
 

หากจะกล่าวสรุปให้สั้นที่สุด คือ

๑. กองรูป มีมหาภูตรูปกับอุปาทายรูป (ข้อก.)

๒. กองนาม มีเวทนา, สัญญา, สังขาร, และวิญญาณ (ข้อ ข, ค, ง, และจ.)
 

ขันธ์ ๕ จะวิวัฒนาการเจริญเติบโตขึ้นหรือเสื่อมสลายไปเพราะ “อาหาร” เป็นตัวควบคุมโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และหมดไปก็เพราะ “อาหาร” ก็หมดโรคนั่นเอง พระบรมศาสดาเป็นนักวิชาการทางโภชนาการเอกของโลก พระองค์ทรงรอบรู้ใน “อาหาร” อย่างสุขุมละเอียดรอบคอบที่สุด สังคมโลกระดับพุทธบริษัทต้องยกย่องและยอมรับว่า พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถเป็นผู้ให้กำเนิดวิชาการด้านโภชนาการของโลกในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตตลอดไป

องค์รวมของ “อาหาร” จะต้องครอบคลุมไปทั้งในภาครูปธรรมและภาคนามธรรม ไม่ใช่เสริมสร้างเพียงภาคร่างกายแต่ขาดระดับจิต กระบวนการระบบนี้เป็นอาหารที่ไม่ครบสูตรสำเร็จแน่นอน ชีวิตที่สมบูรณ์ต้องเป็นชีวิตที่ประกอบด้วยภาคร่างกายและภาคจิตใจจึงจะบอกได้ว่า “ปลอดโรค” การรู้จักคุณค่าทางอาหารจึงเป็นการดำรงชีพที่ “ปลอดโรค” การดำรงชีวิตอยู่ในโอกาศโลกที่ปลอดโรค หมายถึง ชีวิตที่มีลาภอันประเสริฐสูงสุด

กระบวนการของมวลสารอาหารจึงเป็นระบบที่ถูกต้องแน่ชัดและชัดเจนเป็นวิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่ไม่มีวิทยาศาสตร์ใด ๆ มาลบล้าง หรือแปรสภาพให้ผิดเพี้ยนไปได้ มวลสารต่างๆ ที่อยู่ในปรัชญาของเคมีหรือฟิสิกส์เป็นกระบวนการที่อยู่ในเกณฑ์เพียงเอกเทศหนึ่ง ภาคีหนึ่งในส่วนของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติเท่านั้น

การแพทย์แผนไทยจึงพบว่ามูลเดิมของสาธารณสุขที่แท้จริง คือ “อาหาร ๔” เท่านั้นที่สามารถบำบัด บรรเทา ป้องกัน และรักษาโรคได้ครบถ้วนสมบูรณ์นัยแห่งพระพุทธศาสนาจึงยังรักษาสัจธรรมนี้ โดยนำเข้ามาเสริมสร้างอุดมการณ์และสืบสานต่อด้วยประโยควลีสำนวนโวหารบอกต่อๆไปว่า โรคย่อมมีมูลเดิมมาจาก “อาหาร” นั่นเอง

การรู้จักบริโภคอาหาร “โภชเนมัตตญญุตา” คือ การรู้จักชีวิตที่อยู่ด้วยการปลอดโรคแต่ถ้าขาดการสำรวมระวังในอาหารก็เท่ากับยังมีโรคอยู่นั่นเอง จงใช้สำนวนโวหารว่าที่ใดยังมีอาหาร ที่นั่นก็ยังมีโรคอยู่นั่นเอง

ข้อมูลสื่อ

217-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 217
พฤษภาคม 2540
แพทย์แผนไทย