• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สองนรี

สองนรี


เดี๋ยวนี้มีคนพูดถึง “โคลนิง” กันมาก และอยากให้นำมาใช้ใน “คน” เสียด้วย “โคลนิง” เท่าที่ทราบ เป็นความพยายามของนักวิทยาศาสตร์ ที่จะขยายพันธุ์สัตว์ให้มีลักษณะเหมือนกับต้นแบบทุกประการ โดยไม่ผ่านกระบวนการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ หากสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับ “คน” ได้จริง ๆ คงจะมีคนที่หน้าตาเหมือนๆ กันเต็มไปหมดแล้วจะเกิดอะไรขึ้น...


ในความคิดของข้าพเจ้า หากเราเกิดมาพร้อมกับอีกคนหนึ่ง ซึ่งรูปร่างหน้าตาเหมือนเราเกือบทุกประการ คงมีความรู้สึกแปลกพิกล บางคนอาจจะดีใจ บางคนอาจจะเฉย ๆ บางคนอาจจะเสียใจไปเลยที่สูญเสียความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง โชคดีที่ข้าพเจ้าเกิดมาตัวคนเดียวไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนเป็นหนึ่งในรูปลักษณ์อย่างนี้ ไม่ต้องเลียนแบบใคร จิตใจเป็นอิสระ ทำอะไรไม่ต้องสนใจคำนินทาว่าร้าย กระทบกระเทือนเปรียบเปรยกับอีกคนที่หน้าตาท่าทางเหมือนเรา


มีอยู่วันหนึ่งข้าพเจ้าประทับใจมาก และเกิดความคิดประหลาดขึ้นมาอย่างหนึ่ง คือ อยากจะวิเคราะห์ความเป็นไปของ “ฝาแฝด” ที่เหมือนกันอย่างกับแกะว่า ดีหรือไม่ดีอย่างไร เพราะวันนั้น ภายในเวลา ๒๔ ชั่วโมงที่รับผิดชอบอยู่เวรโรงพยาบาล ข้าพเจ้าต้องทำการผ่าตัดคลอดทารกแฝดถึง ๒ คู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่นาน ๆจะเกิดขึ้นสักทีหนึ่ง ในครรภ์แฝดธรรมชาติ ที่สำคัญคือ ทารกที่คลอด เป็น “แฝดหญิง” ทั้ง ๒ คู่เลย


“แฝดธรรมชาติ” อาจเกิดจากการปฏิสนธิของ “ไข่” ใบเดียวหรือหลายใบก็ได้ แฝดที่เกิดจาก “ไข่” หลายใบ หน้าตาจะไม่เหมือนกันทีเดียว เพียงแค่ละม้ายคล้ายกันดุจเป็นพี่น้องเท่านั้น บางคนจึงเรียกว่า “แฝดเทียม” ส่วนแฝดที่เกิดจาก “ไข่” ใบเดียว จะมีหน้าตารูปร่างเหมือนกันมาก บางทีแยกไม่ออกเลยว่า ใครเป็นใคร ถ้าไม่ใช่พ่อแม่ บางคนจึงเรียกว่า “แฝดแท้”

สำหรับฝาแฝด ๒ คู่ ในวันนั้นเป็น “แฝดแท้” แน่นอน เพราะมีเพศเดียวกัน และมีรกเพียงอันเดียว ในทางทฤษฎี “ตัวอ่อน” ที่เกิดจาก “ไข่” ใบเดียวกัน หากมีการแยกตัวของกลุ่มเซลล์ภายใน ๘ วันหลังจากปฏิสนธิจะได้ทารกแฝด ๒ คน ที่แยกเป็นอิสระต่อกันโดยสมบูรณ์ แต่ถ้ามีการแยกตัวของกลุ่มเซลล์ล่าช้ากว่านั้น จะเกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า “แฝดสยาม” คือ เด็ก ๒ คน อวัยวะบางส่วนติดกันและบางอวัยวะใช้ร่วมกัน


“แฝดแท้” ตามธรรมชาติ พบมีอุบัติการณ์เท่ากันทั่วโลก คือ ประมาณ ๑ ต่อทารกคลอด ๒๕๐ คน กรรมพันธุ์ทางแม่จะมีอิทธิพลมากกว่าทางพ่อ จากการศึกษาของ Bulmer เมื่อปี ค.ศ.๑๙๖๐ (พ.ศ.๒๕๐๓) พบว่า กรณีที่สายพันธุ์ทางแม่มีแฝด โอกาสจะเกิดซ้ำอีกเท่ากับ ๑ ใน ๒๕ ส่วนกรณีที่สายพันธุ์ทางพ่อมีแฝด โอกาสเกิดซ้ำจะลดลงเหลือ ๑ ใน ๖๐ การตั้งครรภ์แฝดขึ้นมา อย่าเพิ่งดีใจว่า จะได้ลูก ๒-๓ คนในคราวเดียวโดยไม่ต้องตั้งครรภ์บ่อย ๆ ความจริง ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์อาจมีมากมาย เช่น ไม่ได้ลูกเลยเนื่องจากแท้งหรือเสียชีวิตจากการคลอดก่อนกำหนด ทารกอาจจะพิการ มารดาอาจเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น โชคดีที่ภาวะดังกล่าวไม่เกิดขึ้นกับครรภ์ทั้งสองที่ข้าพเจ้าผ่าตัดคลอดออกมา แฝดทั้งสองคู่นี้ มีความเหมือนและแตกต่างกันที่น่าสนใจ ดังนี้
 

  • ในส่วนความแตกต่าง ได้แก่ อิทธิพลทางพันธุกรรม

แฝดคู่แรก ได้รับอิทธิพลมาจากสายพันธุ์ทางฝ่ายพ่อเนื่องจาก “มารดา” ของพ่อเป็นฝาแฝด ทางแม่ไม่พบมีใครเป็นแฝดเลย ส่วนแฝดคู่ที่สอง ได้รับอิทธิพลมาจากสายพันธุ์ทางฝ่ายแม่ เพราะ “พี่สาวของแม่” เป็นฝาแฝด ส่วนทางพ่อไม่พบมีแฝดในตระกูลเลย
 

  • ในส่วนของความเหมือน มีมากมายหลายอย่าง ได้แก่

* แม่อายุ ๒๓ ปีเท่ากัน

* ตั้งครรภ์เป็นครั้งที่ ๒ เหมือนกัน (ท้องแรกแท้งเหมือนกันด้วย)

* มาโรงพยาบาลฉุกเฉินเช่นเดียวกัน

* อายุครรภ์ ๓๕ สัปดาห์เศษเท่ากัน

* คลอดด้วยวิธีผ่าตัดเช่นกัน

* ทารกแฝดท่าเดียวกัน คือ คนแรกท่าหัว คนที่สองท่าก้น

* น้ำหนักคลอดใกล้เคียงกัน
แฝดคู่แรก หนัก ๒,๓๗๐ และ ๑,๙๗๐ กรัม
แฝดคู่ที่สอง หนัก ๒,๑๓๐ และ ๑,๙๔๐ กรัม

* ที่สำคัญ คือ เป็นทารกเพศหญิงเหมือนกัน แข็งแรงสมบูรณ์ดีทั้งหมด


ในความเหมือนที่แตกต่างของครรภ์แฝดทั้งสองนี้ ทำให้คิดถึงภาพยนตร์เรื่อง “สองนรี” ที่แฝดพี่อิจฉา ชิงดีชิงเด่นกับแฝดน้อง แต่สุดท้ายต้องมาตายด้วยโรคเอดส์เพราะแรงริษยา ช่างเป็นภาพที่น่าเวทนายิ่งนัก คนเราเกิดมารูปร่างหน้าตาเหมือนกันได้ แต่ความสามารถเป็นเรื่องที่เรียนรู้ขึ้นมาภายหลัง ดังนั้นโอกาสที่ฝาแฝด ๒ คนจะดีเด่นกว่ากัน ดุจ “สองนรี” ย่อมมีได้ แต่ไม่ว่า จะเป็นคนเด่นหรือคนด้อยย่อมต้องมีผลกระทบบ้างไม่มากก็น้อย ยิ่งถ้าหากเป็นคนที่ด้อยกว่ายิ่งจะมีผลกระทบมากจนยากจะคาดเดาถึงอนาคตได้ ข้าพเจ้าอยากจะเตือนบรรดาพ่อแม่ที่กำลังมี “ลูกแฝด” ว่า “อย่าได้ไปใส่ความกดดันให้กับลูก” ลูกทุกคนเกิดมามีค่ามหาศาล เงินทองไม่สามารถซื้อหาได้ แต่จะถูกทำลายได้ง่ายด้วยความเข้าใจผิดของพ่อแม่ พ่อแม่ของฝาแฝดควรจะให้ความรักและความอบอุ่นเสมอเท่าเทียมกัน แต่ควรจะส่งเสริมอนาคตของแต่ละคนไปตามความถนัด จงอย่าได้ไปพร่ำบ่นกรอกหูลูกว่า “ทำไมถึงไม่ดูคู่แฝดเป็นตัวอย่าง...” แรงกดดันทั้งหลาย จะเป็นตัวทำลายลูกท่านรักโดยไม่รู้ตัว

โลกยุคปัจจุบัน มีฝาแฝดเกิดขึ้นมากมายด้วยวิธีทางเทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่วนใหญ่ “แฝดประดิษฐ์”
เหล่านี้เป็น “แฝดเทียม” ที่เกิดจาก “ไข่” หลายใบ รูปร่างหน้าตาจะแตกต่างกันไปบ้าง อย่างไรก็ตามเนื่องจากเกิดมาในเวลาใกล้เคียงกันหรือจะเรียกว่า พร้อมกันก็ว่าได้ ทำให้ข้าพเจ้าคิดว่า “ฝาแฝดเหล่านี้อาจจะมีโชคชะตาไม่ต่างจาก “แฝดแท้” มากนัก หมายถึงว่าด้วยความรักและความหวังอย่างสูงของพ่อแม่จะเป็น “แรงพลัง” ที่ผลักดันให้ลูกทุกคนต้องแข่งขันกับตัวเอง ดังเช่นคนทั่วๆ ไป

ข้าพเจ้าขอวิงวอนให้พ่อแม่ “ลูกแฝด” ทุกคน มีสติขึ้นมาและตั้งต้นใหม่ ด้วยการเลี้ยงลูกให้เป็นตัวของตัวเองมากที่สุด แทนที่จะเป็น “เงาชีวิต” ของคนอีกคนหนึ่ง “ความแตกต่าง” ทำให้เกิด “ความโดดเด่น” เป็นเอกลักษณ์ “ความเหมือน” ทำให้ดูเป็น “ของธรรมดา” และสูญเสียความเป็นเอกลักษณ์ แต่ทั้ง “ความเหมือน” และ “ความแตกต่าง” หากพิจารณาดูให้ดี จะพบว่า มีค่าในตัวของมันเอง ทั้งนั้นเพียงแต่ว่า จะนำมาใช้ในเวลาใดจึงจะเหมาะสม บางเวลา เป็น “คนโดดเด่น”(แตกต่างจากคนอื่น) ทำให้เราดูดี มีค่า แต่บางเวลา เป็น “คนธรรมดา”(เหมือนๆ กับคนอื่นๆ) นี่แหละมีค่าที่สุด

ข้อมูลสื่อ

217-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 217
พฤษภาคม 2540
คัมภีร์ชีวิต