• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วิ่งสู่สภาวะนิรันดร์ 7 (ต่อ) เอาจิตไว้ที่ไหนขณะวิ่ง

วิ่งสู่สภาวะนิรันดร์ 7 (ต่อ) เอาจิตไว้ที่ไหนขณะวิ่ง


ผมวิ่งมาเป็นเวลาช้านานจึงมีประสบการณ์ทั้งทางกายและทางจิต เรื่องทางกายได้เล่าไปบ้างแล้วในตอนก่อน เรามีทั้งกายและจิต คำถามก็คือ ขณะวิ่งเอาจิตไว้ที่ไหน เราอาจวางจิตไว้ได้ต่างๆ กัน แล้วแต่สภาพและความต้องการ ดังต่อไปนี้

ในภูมิประเทศที่อาจมีอันตรายมีสติเฉพาะหน้า
หากวิ่งในภูมิประเทศที่อาจมีอันตราย เช่น จากการตกหลุม ตกบ่อ เหยียบก้อนหิน สุนัข งู รถยนต์ ที่เปลี่ยว ควรมีสติระวังระไวต่อภัยอันตรายเฉพาะหน้า ในสภาพเช่นนี้ถ้าเราขาดสติเฉพาะหน้า เช่น ไปเพลินอยู่ในความคิด ก็อาจเกิดอันตรายได้ง่าย เช่น เหยียบก้อนหิน ขาแพลง ตกหลุมขาหัก ถูกหมากัด เหยียบงู รถชน ฯลฯ การมีสติเฉพาะหน้าในสภาพอย่างนี้จึงเป็นเครื่องป้องกันอันตราย

การคิด
ในภูมิประเทศที่ปลอดภัย หากต้องการคิด เช่น มีเรื่องที่ติดค้างอยู่หรือเรื่องที่ต้องเตรียมก็เอาจิตไปคิด และคิดได้อย่างเพลิดเพลิน มีประสิทธิภาพ เพราะกายใจกระปรี้กระเปร่า การคิดในเรื่องอื่นๆ ยังเป็นการเบนจิตจากการที่ไปจ้องจับอยู่ที่ความเหนื่อย ความเมื่อย และจดจ่ออยู่กับเวลาว่าวิ่งได้เท่าไรแล้ว เมื่อไรจะครบ เมื่อไรจะได้เท่านั้นเท่านี้ เมื่อจิตไปอยู่ในความคิดเรื่องอื่นๆ เสียจะทำให้เวลาและระยะทางที่วิ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว หรือเรียกว่า วิ่งได้มากขึ้น โดยไม่รู้สึกเหนื่อยหรือเจ็บปวด ที่ไม่รู้สึกเหนื่อยหรือเจ็บปวดก็เพราะจิตไม่ไปจ่ออยู่กับเรื่องนี้ แต่ไปอยู่กับเรื่องอื่น

เรื่องอื่นก็เช่นคิดวางแผนในเรื่องงานที่จะทำ หรือคิดขบปัญหาบางอย่างที่ยังคิดไม่ชัดเจน หรือคิดเนื้อหาบทความที่จะเขียน การคิดระหว่างวิ่งจะพบว่าสามารถคิดได้อย่างมหัศจรรย์ทีเดียว บางครั้งสามารถคิดพลอตบทความได้ทั้งเรื่องหรือหนังสือทั้งเล่มทีเดียว เรื่อง “วิ่งสู่สภาวะนิรันดร์” ที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้ก็เกิดจากการคิดระหว่างวิ่งนั่นเอง เพราะฉะนั้นอย่าไปเสียดายเวลาว่าวิ่งแล้วทำให้ท่านเสียโอกาสในการทำงานใช้สมอง

การเจริญสติ
การเจริญสติทำให้เกิดความสุข ปัญญาและความดี คนทุกคนควรจะฝึกเจริญสติ โดยไม่ต้องเกี่ยวกับศาสนาใดๆ ก็ได้ บุคคลควรเจริญสติได้ในทุกสภาวการณ์ ในการวิ่งก็เป็นโอกาสแห่งการเจริญสติด้วยอย่างหนึ่ง

สติ คือ การระลึกรู้
ปกติเราไม่ระลึกรู้ เช่น เราหายใจเข้าหายใจออกอยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่ระลึกรู้ว่าลมหายใจกำลังเข้า ลมหายใจกำลังออก หรือขณะเดินเราไม่ระลึกรู้ว่ากำลังก้าวเท้าขวา ที่เราไม่รู้ก็เพราะเราอยู่ในความคิดสมองของเราจะคิดอยู่ตลอดเวลา ขณะคิดก็ไม่รู้ เราจึงไม่รู้ลมหายใจเข้าออก ทั้งๆที่เราหายใจเข้าออก เราจึงไม่รู้ว่าเรากำลังก้าวเท้าซ้ายหรือก้าวเท้าขวา ทั้งๆที่เรากำลังเดินก้าวเท้าซ้ายเท้าขวาอยู่ เพราะสมองของเรากำลังคิด

การเจริญสติให้รู้ลมหายใจเข้าออกเรียกว่า อานาปานสติภาวนา

ปานะ = ลมหายใจ

อานาปานะ = ลมหายใจเข้าออก

อานาปานสติ = มีสติอยู่กับลมหายใจเข้าออก

ภาวนา = เจริญหรือทำให้เกิด

ลองฝึกให้รู้ลมหายใจเข้าออก ใหม่ๆจะรู้เพียงการหายใจครั้งหนึ่งหรือสองครั้งแล้วก็จะไม่รู้ เพราะจิตมันแว้บออกไปสู่การคิดตามความเคยชินของมัน ก็อย่าไปโกรธหรือเดือดร้อน เพียงแต่ “รู้” ว่ามันแว้บไปแล้ว เมื่อรู้แล้วก็จับมันกลับมาให้มารู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกใหม่ เมื่อฝึกไป ๆจิตก็จะรู้อยู่กับลมหายใจต่อเนื่องนานขึ้นเรื่อยๆ จิตจะสงบ สงบจากความคิด เมื่อจิตสงบจากความคิดก็มีความสุข เพราะความทุกข์เกิดขึ้นจากการคิด เมื่อจิตสงบก็เป็นกลาง รู้เห็นอะไรได้ตามความเป็นจริง จึงเกิดปัญญาได้ง่าย และเอาปัญญาไปใช้ได้ทัน

การเดินก็สามารถฝึกการเจริญสติได้เพราะเราต้องเดินอยู่เสมอ ถ้าฝึกให้รู้การก้าวย่างเหยียบของขาและเท้าแต่ละข้างก็จะระลึกรู้ได้ต่อเนื่อง เรียกว่ามีสติในการเดิน การเดินเท่าไรก็ไม่เหนื่อยหรือเบื่อ เพราะจิตไปรู้อยู่กับการเดิน และมีความสุขในการรู้ การรู้ลมหายใจเข้าออก หรือการรู้การก้าวเดินนี้เป็นสติรู้กาย ซึ่งมีอย่างอื่นๆ อีก เช่น รู้อิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอน คือ ไม่ว่ากายจะอยู่ท่าไหนหรือเคลื่อนไหวอย่างไรก็รู้

ท่านจะพูดถึงสติปัฏฐาน ๔ หรือการมีสติอยู่ในเรื่องทั้ง ๔ คือใน กาย เวทนา จิต ธรรม

เวทนา = ความรู้สึกสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์

จิต = สภาพจิต เช่น มีราคะ ไม่มีราคะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ

ธรรม = สภาพธรรมทั้งหลาย เช่น นิวรณ์ ๕ ขันธ์ ๕ อริยสัจ ๔

การมีสติในเรื่องทั้ง ๔ ก็เรียกว่ารู้ทั้งหมดทุกเรื่อง สำหรับผู้เริ่มต้นอาจรู้สึกว่ายากเกิน อาจแยกเป็น ๒ เรื่องก่อน คือ รู้กายกับรู้จิต รู้กายกล่าวไปแล้ว รู้จิต คือ การตามดูจิตว่ามันรู้สึกอย่างไร มันคิดอะไร ประการหลัง เรียกว่า ตามดูความคิด

ถ้าคิดดูตามสามัญสำนึก สมองเป็นผู้คิดมันไม่น่าจะเห็นความคิดของตัวเอง เข้าใจว่าสัตว์ไม่สามารถเห็นความคิดของตัวเอง แต่สมองมนุษย์วิจิตรพิสดารมาก จนเหมือนแยกสมองออกได้เป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนหนึ่งกำลังคิด แต่อีกส่วนหนึ่งเหมือนคนอื่นมามองความคิด ลองทดลองดูเถิดครับ สมองมันจะคิดอะไรก็ช่างไม่ต้องไปบังคับมัน แต่แบ่งจิตของเราเหมือนเป็นอีกคนหนึ่งมามองดู ให้เห็นหรือรู้ว่าจิตกำลังคิดอะไร เรียกว่า ดูความคิดของตัวเอง เมื่อจิตรู้ความคิดของตัวเอง ความคิดนั้นก็ไม่ปรุงแต่งต่อไป ถ้าจิตมันคิดไปเรื่อยๆ โดยเราไม่รู้ความคิดมันก็ปรุงแต่งเตลิดเปิดเปิงไปเรื่อยๆ บางทีคิดไปตั้งนานโดยเราไม่รู้ตัวเองเลย ถ้าเรามีสติรู้ความคิด ความคิดนั้นจะหยุดปรุงแต่ง เมื่อหยุดปรุงแต่งก็สงบ กล่าวเรื่องการเจริญสติได้เพียงสั้นๆเท่านี้ เรื่องสติมีความพิสดารมากและมีประโยชน์เหลือหลาย ขอให้สนใจศึกษาโดยพิสดารจากที่อื่น

หันกลับมาหาการวิ่งของเรา เอาละนะจะวิ่งอย่างเจริญสติ ก่อนออกวิ่ง หายใจเข้าออกลึกๆ ๒-๓ ครั้ง กำหนดรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เมื่ออกวิ่งไปแล้วก็ยังตามกำหนดลมหายใจเข้าออก รู้การเคลื่อนไหวของแขนและตามรู้ความคิดที่สมองไปพร้อมกันดูว่าสมองกำลังคิดอะไร ให้รู้ความคิด เมื่อวิ่งก็รู้ลมหายใจ รู้การเคลื่อนไหวของแขน และดูความคิดเรื่อยไป เรียกว่า มีสติรู้อยู่กับปัจจุบันทั้งของกายและของความคิด จิตจะสงบ เป็นอิสระและมีความสุขยิ่งนัก จะไม่รู้สึกปวดเมื่อยหรือเหนื่อย เพราะจิตไม่รับรู้ แต่ไปรู้อยู่กับลมหายใจ การเคลื่อนไหวของแขน และความคิดเมื่อไม่รับรู้ ความปวดเมื่อยหรือเหนื่อยก็มาทำอะไรเราไม่ได้ เมื่อไม่ปวดเมื่อยหรือเหนื่อยก็วิ่งไปได้เรื่อยๆ ระยะทาง เวลา จำนวนรอบ ก็มาบีบคั้นเราไม่ได้ เพราะเมื่อเรามีสติ ทุกๆขณะของการวิ่งก็เป็นความสุข ไม่ถูกบีบคั้นด้วยความทุกข์จากความปวดเมื่อย ความเหนื่อย การจ้องดูเวลา ระยะทาง และจำนวนรอบ เมื่อเรามีสติเราจึงหลุดพ้นจากความบีบคั้นด้วยประการทั้งปวง กาลเวลา ระยะทาง ความคิด มาทำอะไรเราไม่ได้ จึงกล่าวว่าการเจริญสติทำให้มีอิสรภาพ อิสรภาพ คือ การหลุดพ้นจากความบีบคั้น ความบีบคั้น ก็คือ ความทุกข์ ฉะนั้นอิสรภาพ ความสงบ ความสุข จึงเป็นเรื่องเดียวกัน การวิ่งอย่างเจริญสติจึงทำให้พบอิสรภาพ ความสงบและความสุข

ขณะนั้นจิตสงบ สบายและมีความสุขยิ่งนัก ดูเสมือนว่าสามารถวิ่งไปได้เรื่อยๆเป็นนิรันดร เมื่อวิ่งไป ทั้งเอนดอฟินส์ก็ออก แล้วยังบวกกับอิสรภาพ ความสงบ ความสุข ที่ได้จากการเจริญสติอีก ความสุขจะขนาดไหน! ทำให้นึกถึงว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ ทรงเสวยวิมุติสุขอยู่ใต้ต้นไม้ ๗ ต้น ต้นละ ๗ วัน วิมุติสุขคงจะเป็นความสุขท่วมท้นสุดคำพรรณนา ความสุขจากการวิ่งดังบรรยายข้างต้นอาจเรียกว่าเป็นวิมุติสุขจำลองก็ได้ แต่ที่จริงก็เป็นวิมุติสุขอย่างหนึ่ง เพราะขณะที่เจริญสติอยู่นั้น จิตบริสุทธิ์จากความโลภ ความโกรธ ความหลง จึงเป็นอิสระ แม้ “วิมุติสุข” จากการวิ่งอย่างเจริญสติจะเป็นการชั่วคราว แต่ก็เป็นความสุขที่อยู่บนพื้นฐานของธรรมะ จึงเป็นการปูพื้นฐานไปสู่วิมุติสุขถาวร

การวิ่งถ้านานถึงขนาดทำให้ร่างกายหลั่งเอนดอฟินส์ออกมากดังกล่าวแล้ว เอนดอฟินส์ทำให้เกิดความสุข ความสุขทำให้เกิดความสงบไม่กระวนกระวาย ความสงบทำให้เจริญสติเจริญสมาธิได้ง่ายขึ้น การเจริญสติเจริญสมาธิก็ทำให้ร่างกายหลั่งเอนดอฟินส์ออกมามากขึ้น จึงเกิดความสุขไปทั่วสรรพางค์กาย การวิ่งกับการเจริญสติจึงผนวกกันสร้างความสุขเป็นทวีคูณ


เมื่อจิตมีความสุข ความสงบ และความเป็นอิสระ ก็เป็นโอกาสที่จะพัฒนาจิตและพัฒนาปัญญาให้ยิ่งๆขึ้น ในที่นี้จะยกตัวอย่างเพียง ๒ ข้อ คือ


การเจริญเมตตา ในขณะที่มีสติรู้อยู่กับปัจจุบัน มีความเป็นอิสระและมีความสุขนั้นจะมีความเป็นมิตรกับสรรพสิ่ง มิตตะกับเมตตา ก็คืออันเดียวกัน มิตรภาพกับสรรพสิ่งเป็นความงามสุดพรรณนา ตามปกติจิตของปุถุชนระคนอยู่ด้วยราคะ โทสะ โมหะ จึงขาดมิตรภาพ เมื่อขาดมิตรภาพก็ไม่ได้ประสบความงามและความรู้สึกล้ำลึกกับธรรมชาติรอบตัว (อย่างน่าเสียดาย) แต่เมื่อมีสติและมีความเป็นมิตรกับสรรพสิ่ง จะประสบความงามอันล้นเหลือของธรรมชาติรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นใบไม้ ใบหญ้า หยดน้ำ มด ผีเสื้อ ดอกไม้ ก้อนเมฆ ฯลฯ ทุกสิ่งทุกอย่างมีความงามทั้งสิ้น และเกิดความรู้สึกอันเป็นทิพย์หรือเป็นสัมผัสอันล้ำลึกกับธรรมชาติรอบตัว ยิ่งเราเจริญเมตตาออกไปอย่างไพศาล ไม่มีที่สิ้นสุดเท่าไร จิตเรายิ่งมีอิสรภาพมากขึ้น ความสัมพันธ์ของเรากับคนอื่นและกับสรรพสิ่งเปลี่ยนเป็นสุขสัมพันธ์ แทนที่จะเป็นทุกข์สัมพันธ์หรือสัมพันธ์กันด้วยความบีบคั้น มิตรภาพกับสรรพสิ่งจะให้ความรู้สึกที่ร่ำรวยยิ่งนัก คือ ร่ำรวยความสุข และอยากให้คนอื่นมีความสุขอย่างนี้บ้าง ที่คนเราไปหาเงินหาทองกันมากมายก็เพราะต้องการความสุข แต่บ่อย ๆครั้งไปได้ความทุกข์ความบีบคั้นแทนการเจริญสติจะให้ความสุขที่แท้จริง และราคาถูกมาก (Happiness at Low Cost)


อินทรียสังวร ปุถุชนนั้นยากมากที่จะไม่หลุดเข้าไปสู่อกุศลเพราะจิตรับรู้อะไรเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ความปรุงแต่งมันเกิดขึ้นแปล๊บทันทีทันใดก่อนที่จะรู้ตัว เข้าไปสู่การเป็นกิเลสตัณหา หรือความเป็นอกุศล ต่อให้เป็นคนมีความรู้ฉลาดเฉลียวเป็นปราชญ์เพียงใดก็ยากที่จะไม่หลุดเข้าไปสู่อกุศล เราจึงเห็นคนเก่ง ๆ เป็นอันมากที่ปฏิบัติตามที่พูดไม่ได้ เช่น บางคนพูดเรื่องประชาธิปไตย แต่มีพฤติกรรมเป็นเผด็จการ บางคนพูดให้ละความโลภ ความโกรธ ความหลง แต่ตัวท่านก็มีพฤติกรรมที่สะท้อนอกุศลมูลเหล่านี้ ที่พูดนี้ไม่ได้ตั้งใจจะว่าใคร แต่เพื่อแสดงให้เห็นธรรมชาติของความยากของการควบคุมจิต เพราะกระแสจิตแล่นเร็วมาก เอาปัญญาไปคุมไม่ทัน เมื่อรับรู้เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปั๊บ มันหลุดเข้าไปเกิดอกุศลมูลทันที ก่อนที่จะทันรู้ตัว ฉะนั้น การศึกษาความรู้ต่างๆ นอกตัวอย่างเดียวไม่ช่วยให้สามารถควบคุมตัวเองได้ เมื่อการศึกษาเน้นแต่เรื่องนอกตัว แต่ขาดเรื่องการศึกษาเพื่อให้รู้ตัวเอง ศีลธรรมจึงเสื่อมลงๆ


วิธีที่จะสกัดอกุศล คือสกัดตรงประตูทางเข้าของการรับรู้ ประตูทางเข้าของการรับรู้ ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเรียกว่าเครื่องรับทั้ง ๖ หรืออายตนะทั้ง ๖ หรืออินทรีย์ทั้ง ๖

สังวร
คือ การระวังระไว ความสำรวม การปิดกั้น การสกัด การควบคุม 

อินทรียสังวร หมายถึง การระวังระไวตรงอินทรีย์ หรือประตู ทั้ง ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ การระวังระไวในที่นี้ไม่ได้แปลว่าปิดกั้นไม่ให้รับรู้ แต่ให้ตามรู้ทัน หรือให้รู้ตัวในที่นี้ ก็คือ การมีสตินั่นเอง

คือ เมื่อตา รับอะไรเข้ามาก็มีสติรู้ทัน

หู รับอะไรเข้ามาก็มีสติรู้ทัน

จมูก รับอะไรเข้ามาก็มีสติรู้ทัน

ลิ้น รับอะไรเข้ามาก็มีสติรู้ทัน

กาย รับอะไรเข้ามาก็มีสติรู้ทัน

ใจ รับอะไรเข้ามาก็มีสติรู้ทัน

เมื่อสติตามรู้ทัน มันก็เอาไปปรุงแต่งเป็นอกุศลไม่ได้ จึงกล่าวข้างต้น (ลองย้อนกลับไปอ่าน) ว่าสติช่วยให้เอาปัญญาไปใช้ได้ทัน

อินทรียสังวร
หรือการมีสติรู้เท่าทันการรับรู้ทางอินทรีย์ทั้ง ๖ จึงเป็นการสกัดกั้นไม่ให้ความไม่ดีเกิดขึ้นได้ อินทรียสังวรจึงเป็นเทคโนโลยีอันพิเศษ และนี่แหละเป็นการศึกษาให้รู้ตัวเอง

จินตนาการ
ขณะวิ่งไปก็มีจินตนาการไปได้ จินตนาการนี้ก็มาจากฐานความรู้ที่กล่าวมาแล้ว เช่น จินตนาการเห็นเส้นเลือดฝอยเปิดหมดทั้งตัว เลือดกำลังไหลเข้าไปในหลอดเลือดฝอยทุกซอกทุกมุมของร่างกาย เห็นอณูของออกซิเจนจำนวนมหึมาที่เข้าไปในร่างกายไปทำปฏิกิริยากับอณูของสารต่างๆ เม็ดเลือดขาวชอนไชไปหมดทั้งตัว ไปตรวจตราว่ามีอะไรแปลกปลอมเข้ามาหรือเกิดขึ้นในร่างกาย รวมทั้งเซลล์มะเร็ง เห็นอณูของสารเอนดอฟินส์ที่หลั่งออกมาทำให้จิตใจผ่อนคลาย มีความสุข มีจินตนาการเห็นว่าความเป็นไปในร่างกายทั้งหมดขณะวิ่งช่วยให้ เราแข็งแรง ป้องกันโรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคอื่นๆ ทำให้เราสุขภาพดี และอายุยืน


จินตนาการนี้มาจากความเชื่อและความรู้ แต่ใครจะปฏิเสธได้ว่าที่จินตนาการนั้นไม่จริง และไม่มีประโยชน์ กลายเป็นว่าความเป็นจริงสำหรับคนหนึ่งๆ นั้นประกอบด้วยประสบการณ์หรือการกระทำ (การวิ่ง) ความรู้ (ความรู้เรื่องต่างๆดังที่บรรยายมา) ความเชื่อ และจินตนาการอันอาจเขียนเป็นสูตรว่า

ความจริง = ประสบการณ์ + ความรู้ + ความเชื่อ + จินตนาการ

เมื่อมีความเชื่อและจินตนาการซึ่งเป็นเรื่องของแต่ละคนเข้ามาประกอบด้วย ความจริงของแต่ละคน จึงไม่จำเป็นต้องตรงกัน (ถ้ารู้อย่างนี้แล้วจะไปทะเลาะกันทำไม) ถ้าเรามีจินตนาการว่าสุขภาพดี สุขภาพของเราก็จะดี ถ้าเรามีจินตนาการว่าสุขภาพเราไม่ดี สุขภาพของเราก็จะไม่ดี ถ้ามีใครสักคน มีคนทักบ่อยๆ ว่าหน้าเซียว น่ากลัวจะเป็นโรคนั้นโรคนี้ ทักบ่อยๆเข้าคนผู้นั้นก็จะพลอยป่วยไปจริงๆ มีคนที่สงสัยว่าตัวเองจะเป็นโรคนั้นโรคนี้ (โดยไม่ได้เป็น แต่จินตนาการว่าเป็น) ก็เลยมีอาการของโรคนั้นไปจริงๆ จินตนาการมีผลต่อกายและใจมาก ดังจะได้กล่าวเพิ่มเติมอีกในตอนต่อไป รวมทั้งจินตนาการที่จะเชื่อมตัวเรากับจักรวาลอีกด้วย

ข้อมูลสื่อ

217-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 217
พฤษภาคม 2540