• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาแก้ปวดข้อ: อาจมีโทษมากกว่าคุณ

“คุณแม่ไม่เคยเป็นเบาหวานมาก่อน คราวนี้ตรวจพบน้ำตาลในเลือดสูง ไม่ทราบว่าจะเกี่ยวกับยาชุดแก้ปวดข้อที่คุณแม่กินมาในระยะ ๒-๓ เดือนที่ผ่านมาหรือเปล่าครับ?” “
คุณตามีอาการถ่ายดำและหน้าตาดูซีดเซียวมา ๒-๓ วัน จะเกี่ยวกับยาแก้ปวดยอกหลังที่คุณหมอสั่งให้กินหรือเปล่าคะ?”

อาการปวดเอว ปวดหลัง ปวดหัวเข่า เป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยในคนสูงอายุ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเสื่อมของข้อต่อกระดูก ซึ่งเกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของสังขาร มักจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย หรือไม่ก็พบได้บ่อยขึ้นในคนที่อ้วน โรคนี้ในตัวมันเองจะไม่มีอันตราย ร้ายแรงแต่อย่างใด นอกจากอาการเจ็บปวดเรื้อรัง ทำให้เดินเหินไม่ถนัด

บางคนก็จะไปหาหมอ ได้ยาแก้ปวดข้อมากิน เวลามียากินก็ทุเลาไปได้ แต่พอขาดยา อาการก็กลับกำเริบอีก
บางคนก็จะไปซื้อยาชุดกินเองตามร้านขายยาตามคำแนะนำของคนขายยา หรือตามคำบอกเล่าของคนรู้จัก
บางคนรู้สึกว่ายาแผนปัจจุบันไม่ได้ผล ก็อาจหันไปกินยาลูกกลอนของหมอพระหรือหมอสมุนไพร
แต่ไม่ว่าจะใช้ยาแบบไหน ก็มักจะพบผลข้างเคียงจากยา (เรียกว่า “โรคยาทำ”) อยู่บ่อยๆ เนื่องเพราะโรคปวดข้อจากข้อเสื่อม มักจะมีอาการเรื้อรัง ต้องคอยกินยาอยู่เป็นประจำ
 
ยาแก้ปวด ที่แพทย์สั่งให้กินมักเป็นกลุ่มยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (ดูข้อความในกรอบ) ซึ่งเป็นยาที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะได้ง่าย ดังที่เกิดกับการใช้ยาแอสไพริน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ ซึ่งเยื่อบุผิวกระเพาะจะมีความอ่อนแอกว่าคนหนุ่มสาว จึงมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยากลุ่มนี้ได้มาก

อาการที่พบได้บ่อย แต่ชาวบ้านทั่วไปจะไม่ค่อยทราบว่าเป็น ความผิดปกติ ได้แก่ อาการถ่ายอุจจาระออกเป็นสีดำ (เรียกสั้นๆว่า ถ่ายดำ) เหมือนถ่านหรือเฉาก๊วย อาจเข้าใจว่า เป็นเพียงสีอุจจาระที่ออกคล้ำหรือเข้มกว่าปกติ ไม่ทราบว่าอาการถ่ายดำคืออาการแสดงของการมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร เพราะเข้าใจว่าอาการเลือดออกจะต้องมีสีแดงเสมอไป

แต่ความจริงก็คือว่า เลือดที่ออกในบริเวณกระเพาะอาหาร จะมีการคลุกเคล้ากับน้ำย่อยเป็นเวลานานกว่าจะขับถ่ายออกมา จึงไม่ใช่เลือดสด แต่เป็นเลือดเก่าจึงออกเป็นสีดำ

ดังนั้น ใครก็ตามที่กินยาแก้ปวดข้อหรือแอสไพรินควรสังเกตสีของอุจจาระที่ถ่ายทุกครั้ง ถ้าพบว่าเป็นสีดำคล้ำกว่าปกติ ก็ควรจะรีบไปหาหมอ

พบอยู่บ่อยครั้งที่คนไข้จะปล่อย ให้มีอาการถ่ายดำ(เลือดออก)อยู่หลายวัน จนหน้าตาซีดเซียว หมดแรง หรือใจหวิว ใจสั่น เป็นลม แล้วจึงค่อยหามส่งโรงพยาบาล ซึ่งบางครั้งก็อาจเกิดความยุ่งยากในการรักษาได้

ส่วนยาชุดหรือยาลูกกลอนแก้ปวดข้อ มักจะมียาสตีรอยด์ผสม หากกินติดต่อกันนานๆก็เกิดผลข้างเคียง เช่น อ้วน บวมฉุ หรืออาจกลายเป็นเบาหวาน หรือความดันเลือดสูงแทรกซ้อนได้ เห็นไหมครับว่า ยาแก้ปวดข้อ ถ้าใช้ผิดอาจมีโทษมากกว่าคุณ
 
ข้อแนะนำก็คือ เมื่อมีอาการปวดข้อ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ใจ อย่ากินยาเองอย่างพร่ำเพรื่อ
ถ้าเกิดจากข้อเสื่อม ก็ไม่จำเป็นต้องกินยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์เสมอไป ยกเว้นถ้ามีอาการอักเสบรุนแรง แพทย์อาจให้กินช่วงระยะสั้นๆ และอาจต้องให้กินยาป้องกันโรคกระเพาะควบด้วย (ซึ่งมักมีราคาแพง) หากมองตาม หลักธรรมชาติ อาการเจ็บปวดจะเป็นสัญญาณเตือนให้คนไข้หาทางพักการใช้ข้อ อย่าฝืนต่อไป หากให้ยาระงับปวดตลอดเวลา ก็ทำให้เราฝืนใช้ข้อนั้นต่อไป ทำให้ข้อเสื่อมมากขึ้นไปอีกได้
ดังนั้น ทางที่ดีควรหาทางป้องกันอย่าให้ปวดข้อ เช่น ลดน้ำหนักตัว อย่ายืนหรือเดินมาก หลีกเลี่ยงการเดินขึ้นลงบันได อย่านั่งงอเข่า คุกเข่า หรือขัดสมาธิ หาทางบริหารข้อให้แข็งแรง หากมีอาการปวดก็ให้กินยาพาราเซตามอลเป็นครั้งคราว หรือใช้ยาทานวด จงเรียนรู้วิธีอยู่กับโรคข้อเสื่อม อย่างมีความสุขและปลอดภัย

ข้อควรรู้ยาแก้ปวดข้อ
ยาแก้ปวดข้อเป็นเพียงยาบรรเทาอาการเจ็บปวดหรือการอักเสบของข้อ ผู้ที่มีอาการปวดข้อ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และให้การรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ มียาหลายกลุ่มที่ใช้แก้ปวดข้อ อาทิเช่น

๑. พาราเซตามอล
เป็นยาบรรเทาปวดที่ปลอดภัย แต่ไม่มีผลในการลดการอักเสบของข้อ เหมาะสำหรับบรรเทาอาการปวดจากข้อเสื่อม เช่น โรคปวดเข่าในผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังและไม่มีการรักษาโดยเฉพาะ
๒. สตีรอยด์ (เช่น เพร็ดนิโซโลน) เป็นยาลดการอักเสบที่มีฤทธิ์แรง แต่มีโทษเอนกอนันต์ เช่น อาจทำให้น้ำหนักขึ้น บวมฉุ กระดูกผุกร่อน เบาหวาน ความดันเลือดสูง ภูมิต้านทานอ่อนแอ ฯลฯ แพทย์จะใช้เฉพาะในรายที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น จะไม่ใช้พร่ำเพรื่อ แต่ถ้าซื้อยาชุดแก้ปวดข้อกินเองจากร้านค้ามักจะมีการผสมยาชนิดนี้ร่วมด้วย หรือแม้แต่ยาเม็ดลูกกลอน(ยาสมุนไพร) ก็อาจมีการผสมสารสตีรอยด์เช่นกัน ข้อสังเกตง่ายๆ เมื่อกินยาพวกนี้ติดต่อกันนานๆ จะมีอาการน้ำหนักขึ้น หน้าอูม สิวขึ้น

๓. ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์
ชื่อค่อน ข้างยาว เพราะเป็นการแปลมาจากภาษาอังกฤษว่า non-steroidal anti-inflammatory drug ทางแพทย์นิยมเรียกคำย่อว่า NSAID (อ่านว่า เอนเซด) ยากลุ่มนี้มีอยู่หลายชนิด เช่น ไอบูโพรเฟน (ชื่อ การค้า:บรูเฟน), อินโดเมทาซิน (ชื่อการค้า:อินโดซิด), นาโพรเซน (ชื่อการค้า:นาโพรซิน), ไพร็อกซิเแคม (ชื่อการค้า:เฟลดีน), ไดโคลฟีแนก (ชื่อการค้า: วอลทาเรน), กรดเมเฟนามิก (ชื่อการค้า:พอนสแตน) เป็นต้น แอสไพรินก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ แต่ต้องใช้ขนาดสูงกว่าปกติ จึงจะมีฤทธิ์ต้านอักเสบ
 
สรรพคุณ
(๑) แก้อาการปวดข้อ ข้ออักเสบ
(๒) ลดไข้ แก้ปวด
(๓) ป้องกันและบรรเทาอาการปวดประจำเดือน

ข้อควรระวัง
(๑) ที่สำคัญคือ ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบหรือโรคแผลที่กระเพาะอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ จะมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงแบบนี้ได้มาก บางครั้งอาจทำให้มีอาการอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระออกเป็นเลือด (ถ่ายดำ) ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะ ควรหลีกเลี่ยงการกินยากลุ่มนี้ ผู้ที่จำเป็นต้องกินยานี้ติดต่อกันนานๆ แพทย์มักจะให้ยาป้องกันโรคกระเพาะกินควบไปด้วย
(๒) อาจเกิดอาการแพ้ยา เป็นลมพิษผื่นคัน หอบหืดได้ ห้ามใช้ในผู้ที่เคยมีประวัติแพ้ยานี้ และผู้ป่วยโรคหอบหืด ลมพิษ หวัดภูมิแพ้ที่เคยมีอาการกำเริบจากการใช้ยานี้
(๓) อาจทำให้ความดันเลือดสูง
(๔) อาจทำให้ผู้ที่มีภาวะหัวใจวายเรื้อรัง เกิดอาการกำเริบได้
(๕) ไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์ มารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเอง และเด็กอายุต่ำกว่า ๒ ขวบ

ข้อมูลสื่อ

239-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 239
มีนาคม 2542
พูดจาภาษายา