• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สุขภาพในยุคโลกาภิวัตน์

สุขภาพในยุคโลกาภิวัตน์


สุขภาพ หรือสุขภาวะ ในความหมายขององค์การอนามัยโลก คือ ภาวะแห่งความสุขหรือสุขภาพทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม (physical, mental and social well being) พูดให้เข้าใจง่าย คือ “ร่างกายแข็งแรง จิตใจแจ่มใส และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข”

ในยุคโลกาภิวัตน์ ที่โลกแคบลงๆ จากการสื่อสารและการคมนาคมที่รวดเร็ว สุขภาพของประชาชนกลับเสื่อมลง โดยเฉพาะสุขภาพทางใจและสังคม ทั้งนี้เพราะการสื่อสารและการคมนาคมที่รวดเร็วนี่เองนำพาความชั่วมาสู่ได้รวดเร็วกว่าความดีงาม นั่นคือ นำพาโรคใหม่ๆ มาสู่ประเทศไทยได้เร็วกว่าความสามารถของรัฐบาลและสังคมไทยที่จะป้องกันและกำจัดโรคใหม่ๆ เหล่านั้นได้ เช่น

๑. โรคเอดส์ ไม่เคยมี (ไม่เคยรู้ว่ามี) โรคเอดส์ในประเทศไทย จนกระทั่งเมื่อ ๑๓ ปีก่อนที่คนไข้
โรคเอดส์จากประเทศสหรัฐอเมริกามาป่วยและตายในประเทศไทยตั้งแต่นั้นมา โรคเอดส์ก็ได้แพร่ระบาดไปทั่วประเทศไทยอย่างรวดเร็ว จากการส่งเสริมการท่องเที่ยว และ “เซ็กซ์ทัวร์” ที่ระบาดในช่วงนั้น ในปัจจุบัน มีคนไทยติดเชื้อโรคนี้กว่าแปดแสนคนเพราะมีผู้ที่ป่วยเป็นโรคเอดส์แล้วกว่า๕๐,๐๐๐ คน (ดูตารางที่ ๑) แม้แต่ในป่าเขาลำเนาไพร ชาวบ้านผู้ยากไร้ก็ยังได้รับเชื้อนี้จาก “ทัวร์ป่า” ต่างๆ รวมทั้งผู้ต้องขังในเรือนจำก็ยังได้รับเชื้อนี้ ดังตัวอย่างที่ไม่กี่เดือนก่อน ผู้ต้องหาปล้นธนาคารรายหนึ่งรับสารภาพว่า ตนได้รับเชื้อในเรือนจำ และอีกไม่นานตนจะต้องตาย จึงปล้นเอาเงินไปใช้หาความสุข(พร้อมกับแพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่น?) เสียก่อนตาย (แล้วก็เลยผูกคอตายในห้องขังหนีหนี้กรรมไปก่อน) ผู้ติดเชื้อกว่าแปดแสนคนนี้ จึงเป็นภาระต่อรัฐและต่อสังคมอย่างมหาศาล รัฐสามารถให้ยาเพื่อหยุดยั้งการเสื่อมโทรมของสุขภาพและเพื่อลดการเป็นพาหะแพร่เชื้อได้ไม่กี่ร้อยคน ที่เหลืออีกกว่าแปดแสนคนจึงสามารถแพร่เชื้อต่อไป ในยุคโลกาภิวัตน์ที่ข้อมูลข่าวสารประเภทปลุกเร้ากามารมณ์และกิจกรรมทางเพศได้แพร่ระบาดอย่างรุนแรงและต่อเนื่องมาตลอด



๒. โรคเสพติด บุหรี่ สุรา “ยาบ้า” “ยาอี” และอื่น ๆ ก็ได้แพร่ระบาดอย่างรุนแรงในยุคโลกาภิวัตน์ เพื่อตอบสนองต่อการแข่งขันในการประกอบอาชีพ ต่อการปลุกเร้าอารมณ์ในสถานบริการและสื่อมวลชน รวมทั้งภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ต่อความเครียดอันเกิดจากงานและการแตกแยกของครอบครัว และอื่น ๆ
ทำให้เกิดอุบัติเหตุและอาชญากรรมประเภทต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย (ดูตารางที่ ๒) สร้างความเสียหายมหาศาล ต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริสุทธิ์ นอกจากที่ยังความเสียหายต่อผู้เสพ และครอบครัวแล้ว



๓. “โรครวย-ร่าน-ร้าย”
เป็นโรคที่ทวีคูณขึ้นเรื่อย ๆในยุคโลกาภิวัตน์และนำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บนานาประการ จากการใช้ชีวิตที่ไม่เป็นธรรมชาติ แต่เป็นไปตาม “วัตถุ” ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย (“โรครวย”)

“โรครวย” นอกจากจะทำให้โรคของคนรวยเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย เช่น โรคอ้วน โรคหลอดเลือด หัวใจตีบ โรคเกาต์ โรคเบาหวาน หรืออื่นๆ แล้วยังทำให้บุคคลเหล่านี้ต้องตายลำบากหรือ “ตายโหง” (ตายผิดธรรมดาในไอซียูต่างๆ) อีกด้วย ที่สำคัญ คือ “โรครวย” ก่อให้เกิดความอยาก (“โรคร่าน”) ที่เพิ่มพูนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ว่าด้านกามารมณ์ ด้านวัตถุนิยมและด้านบริโภคนิยม (จึงต้องดื่มไวน์ขวดละเป็นหมื่นเป็นแสนบาท ต้องใช้กระเป๋าถือใบละหลายแสนบาท ต้องใส่นาฬิกาข้อมูลเรือนละเป็นล้านบาท เป็นต้น)

“โรคร่าน” ที่ไม่มีขอบเขตก่อให้เกิดความร้ายกาจทางเศรษฐกิจ (“โรคร้าย”) ที่เอาเปรียบกันอย่างรุนแรง คนรวยจึงรวยขึ้นและคนจนต้องจนลง ประเทศที่รวยแล้วยิ่งรวยขึ้น และประเทศที่จนยิ่งจนลง
ความร้ายกาจของเศรษฐกิจระบบใหม่ในยุคโลกาภิวัตน์ คือ “ระบบทุนนิยมใหม่ที่ครอบงำทั้งโลก”  (new global capitalism) ทำให้คนจนและประเทศที่ยากจนมีหนี้สินเพิ่มขึ้น หนี้สินส่วนหนึ่งเกิดจากดอกเบี้ยที่ทับถมทวีคูณขึ้นอย่างรวดเร็ว (ข้อมูลจากธนาคารโลก) ประเทศที่พัฒนาแล้วเคยกอบโกยทรัพยากรจากประเทศด้อยพัฒนา ด้วยลัทธิอาณานิคมโดยกำลังอาวุธ และลัทธิอาณานิคมแบบใหม่เป็น “ลัทธิอาณานิคมทางเศรษฐกิจ” ผ่านแกตต์หรือข้อตกลงเกี่ยวกับข้อจำกัดทางการค้าและอัตราภาษีศุลกากร (GATT : the General Agreement on Tariff and Trade) และองค์การค้าโลก (World Trade Organization หรือ WTO) ที่สร้างกฎเกณฑ์เพื่ออำนวยประโยชน์ให้แก่ประเทศที่พัฒนาแล้ว

นอกจากนั้น ประเทศที่พัฒนาแล้ว ยังขูดรีดประเทศด้อยพัฒนาผ่านทางธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) เพื่อขูดรีดดอกเบี้ยโดยระบบ ”เงินผ่อน” และระบบ “กู้ยืม” ที่ประเทศลูกหนี้ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขนานาประการ แม้แต่การยอมให้บริษัทข้ามชาติต่างๆ เข้ามากอบโกยและทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม แล้วยังบีบบังคับให้ประเทศลูกหนี้ลดหรือกดค่าใช้จ่ายในด้านสวัสดิการสำหรับประชาชน ด้านสาธารณสุข ด้านราคาวัตถุดิบในประเทศ ด้านค่าแรงงาน ด้านภาษีอากร และอื่นๆ เพื่อให้ประเทศที่พัฒนาแล้วสามารถเอาเปรียบได้มากขึ้น

ยิ่งกว่านั้น ประเทศที่พัฒนาแล้วยังใช้มาตรการต่างๆ เพื่อกีดกันสินค้าจากประเทศที่ยากจนโดยอ้างสิทธิมนุษยชน สารปนเปื้อนการทำลายสิ่งแวดล้อม การใช้แรงงานเด็กและอื่นๆ ทั้งที่ประเทศเหล่านั้น “ปากว่าตาขยิบ” ให้บริษัทข้ามชาติของตนออกไปลงทุนและลดต้นทุน การผลิตในประเทศกำลังพัฒนาด้วยการกดค่าแรงงานและใช้วิธีการผลิตที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น

ประเทศที่พัฒนาแล้วยังบริโภคอาหารและวัตถุดิบต่างๆ รวมทั้งทำลายสิ่งแวดล้อม (เช่น การเผาผลาญน้ำมันเชื้อเพลิง การทำให้เกิดสภาพ “เรือนกระจก” มาห่อหุ้มโลก การทำให้เกิด “รูโอโซน” ในบรรยากาศเหนือโลก การนำสารพิษไปทิ้งทะเลหรือทิ้งในประเทศอื่น การทดลองและใช้อาวุธมหาประลัยต่างๆ) มากกว่าประเทศที่ยากจนทั้งหมดรวมกัน ประเทศที่พัฒนาแล้วยังขายสินค้าให้แก่ประเทศที่ยากจนแบบค้ากำไรเกินควร โดยอ้าง “ทรัพย์สินทางปัญญา” ทำให้ยาและเวชภัณฑ์สำหรับการรักษาโรคและสุขภาพมีราคาสูงกว่าต้นทุนอย่างมากมาย ประเทศที่พัฒนาแล้วยังใช้วิธี “เลือกปฏิบัติ” เพื่อให้ประเทศที่อยากจนขัดแย้งและแตกแยกกัน จนอาจก่อสงครามระหว่างกัน ทำให้ต้องซื้ออาวุธราคาแพงจากประเทศที่พัฒนาแล้วไปสะสมไว้ ทำให้ประเทศที่ยากจนอยู่แล้วยากจนมากขึ้น จนไม่อาจจะพัฒนาประชาชนในด้านการศึกษา การสาธารณสุข การวิจัย และอื่นๆ เพื่อที่จะมาแข่งขันกับตนได้ ประเทศที่พัฒนาแล้วยังใช้ระบบข้อมูล ข่าวสารที่ทันสมัยกว่ามอมเมาประชาชนในประเทศที่ยากจน แม้แต่ประชาชนที่ร่ำรวยและได้รับการศึกษา ก็ไม่ได้รอดพ้นจากการถูกมอมเมาให้คลั่งไคล้ในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้ต้องเปลี่ยนคอมพิวเตอร์และเปลี่ยนรถใหม่ทุก ๒-๓ ปี เพื่อความ “ทันสมัย” ต้องเข้าไอซียู (ICU หรือ Intensive Care Unit) และ ซีซียู (CCU, Coronary or Cardiac Care Unit) เมื่อป่วยต้องใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scanner) หรือคลื่นแม่เหล็ก (Magnetic Resonance Imaging หรือ MRI) แทนเอกซเรย์ธรรมชาติ ต้องทำ “บอลลูน” (balloon angioplasty) และ “เลเซอร์” (excimer laser angioplasty) เมื่อหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นต้น



ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคในประเทศไทยจึงพุ่งทะยานขึ้นสูงกว่าและรวดเร็วกว่าค่าใช้จ่ายในด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิตและสุขภาพ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทยแต่ละคนโดยเฉลี่ยได้เพิ่มขึ้นจาก ๔๖๒ บาท ใน พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็น ๓,๐๔๘ บาท(เกือบเจ็ดเท่าตัว) ใน พ.ศ. ๒๕๓๗ หรือถ้าคิดเป็นรายจ่ายทั้งประเทศในด้านสุขภาพต่อปีแล้วจะเพิ่มจาก ๒๑,๗๐๑ ล้านบาทใน พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็น ๑๘๐,๑๒๒ ล้านบาท (กว่าแปดเท่าตัว) ใน พ.ศ.๒๕๓๗ (ดูตารางที่ ๓) และที่น่าเสียใจก็คือ รัฐบาลไทยมีส่วนช่วยเหลือประชาชนไทยในค่ารักษาพยาบาลน้อยกว่าประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียนมาก (ดูตารางที่ ๔) ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลนี้ ไม่ได้สัดส่วนกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ และไม่ได้ทำให้อายุขัยโดยเฉลี่ยของคนไทยดีกว่าคนในประเทศอื่นที่ยังด้อยกว่าและใช้เงินด้านสุขภาพน้อยกว่า (ดูตารางที่ ๔)



ประเทศศรีลังกาใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนหนึ่งคนต่อปีประมาณ ๔๖๐ บาท ขณะที่ประเทศไทยใช้ประมาณ ๑,๘๙๐ บาท แต่คนศรีลังกากลับมีอายุขัยโดยเฉลี่ยมากกว่าคนไทย ๓ ปี (๗๒ ต่อ ๖๙ ปี) ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงข่าวที่กลับมาเกรียวกราวใหม่ว่า กรุงเทพฯ มีเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์และเครื่องคลื่นแม่เหล็กมากกว่ามหานครลอนดอน (ที่ยิ่งใหญ่และร่ำรวยกว่ามาก) เพราะมันเป็นเช่นนี้มาหลายปีแล้ว(ดูรูปที่ ๒ และ ๓) จาก “โรครวย-ร่าน-ร้าย” ที่ครอบงำคนไทยบางส่วนนั่นเอง


คนไทยบางส่วนถูกทำให้เข้าใจว่าสุขภาพจะหาซื้อได้ด้วยเงินหรือด้วยเทคโนโลยี จึงใช้จ่ายเงินและใช้เทคโนโลยีจนเกินจำเป็น บางครั้งจึงเกิดพิษภัยจนถึงแก่ชีวิตหรือพิการไปตลอดชีวิต โดยที่หมอและญาติยังคิดภูมิใจว่า “ได้ตรวจรักษาให้แบบเยี่ยมที่สุดแล้ว” คล้ายกับที่สมัยก่อนพูดกันว่า “การผ่าตัดเป็นผลสำเร็จ แต่คนไข้ตาย”

ในยุคโลกาภิวัตน์ ประชาชนไทยจึงต้อง “ฟังหูไว้หู” ต้องหนักแน่น อย่าเชื่ออะไรง่าย ๆ ข่าวสารข้อมูลในปัจจุบันมีมากมายมหาศาล ถ้าข่าวสารข้อมูลใด

- ทำให้เกิดความอยาก จนต้องเจ็บตัว เสียเงิน และเสียเวลา

- ทำให้คิดว่าจะสามารถซื้อสุขภาพได้ด้วยสิ่งโฆษณา

- พาให้หลงใหลโดยไม่ได้แสดงผลดีผลเสียของสิ่งที่โฆษณาเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่มีอยู่เดิมหรือมีอยู่ตามธรรมชาติ (เช่น ไม่บอกว่าซุปไก่สกัดขวดละหลายสิบบาทนั้นดีหรือเลวกว่าไข่ใบละ ๒ บาทอย่างไร)

ให้สงสัยว่า ข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นการโฆษณาชวนเชื่อหรือโฆษณาหลอกลวงกันไว้ก่อน แล้วพึงนึกไว้เสมอว่า คนที่อายุยืนกว่าร้อยปีเกือบทั้งหมด ไม่ได้ใช้เงินซื้อสุขภาพ และมักจะไม่เคยได้ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ต่างๆ เขาเหล่านั้นอายุยืนเพราะ “การกินดีอยู่ดี” เท่านั้นเอง

“การกินดีอยู่ดี” ไม่ได้หมายความว่า กินอาหารตามภัตตาคารหรืออยู่วังคฤหาสน์ แต่หมายถึงการ”กินพอดีอยู่พอดี” หรือ”การกินให้ดีอยู่ให้ดี” ต่างหาก


การกินให้ดี คือ


๑. ต้องกินให้พอดี ไม่มากไปหรือน้อยไป กินมากไปหรือน้อยไปล้วนอันตรายต่อสุขภาพ ปริมาณที่ควรกินจึงต่างกันตามอายุ รูปร่าง การใช้กำลัง และอื่น ๆ แต่อาจจะประมาณได้ง่ายโดยกินให้พอจะหายหิวหรือเมื่อเริ่มจะอิ่มสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับคนผอม ต้องกินจนอิ่มเต็มที่ ส่วนคนอ้วนควรกินให้น้อยที่สุดโดยเฉพาะอาหารที่ทำให้อ้วนง่าย เช่น ขนมหวาน แป้ง ไขมัน เนื้อสัตว์ และให้กินผักแทน โดยเฉพาะผักที่เป็นใบไม่ใช่ผักที่เป็นหัว เช่น หัวเผือก หัวมัน ซึ่งจะทำให้อ้วนได้
 



๒. ต้องกินอาหารที่เหมาะสม เช่น เด็กเกิดใหม่ต้องกินนมแม่ (นมกระป๋อง หรือนมอื่นใด ย่อมไม่ดีเท่านมแม่ของตนเอง) เด็กโตต้องกินอาหารครบทุกหมู่ (ถ้ายังกินแต่นมเป็นหลักจะขาดสารอาหารอื่นที่จำเป็นต่อร่างกาย) ผู้ใหญ่ต้องกินผักและผลไม้มากขึ้น ผู้สูงอายุต้องกินอาหารย่อยง่าย เป็นต้น

๓. ต้องกินอาหารธรรมดา ที่เป็นธรรมชาติ อาหารปรุงแต่ง อาหารเสริม และอาหารสังเคราะห์ต่างๆ มักต้องใส่สารกันบูด สารปรุงแต่งกลิ่นรสและสี หรืออื่นๆ ซึ่งถ้ากินบ่อยๆ อาจสะสมและเกิดพิษได้หรืออย่างน้อยก็ไม่จำเป็นต่อสุขภาพ ยกเว้นคนที่กินอาหารธรรมดาไม่ได้ เพราะป่วย จึงจำเป็นต้องใช้อาหารปรุงแต่ง อาหารเสริม หรืออาหารสังเคราะห์ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น

ชาวบ้านจำนวนมากถูกทำให้เข้าใจว่า น้ำเกลือที่ให้ทางเส้นเลือดมีประโยชน์มาก เพราะไปหาหมอทีไรก็ถูกให้น้ำเกลือแล้วก็ดีขึ้น แต่ความจริงก็คือ น้ำเกลือนั้นมีแต่น้ำกับเกลือและ/หรือน้ำตาลเท่านั้น ให้ครั้งหนึ่งเสียเงินเป็นร้อยบาท แต่ได้ประโยชน์น้อยกว่าข้าวราดแกงจานละยี่สิบบาทหลายเท่า แต่สำหรับคนไข้ที่กินข้าวกินน้ำไม่ได้ การให้น้ำเกลือเข้าเส้นก็จำเป็น คนไข้ที่ขาดน้ำขาดเกลือเพราะกินไม่ได้ เมื่อได้น้ำได้เกลือทางเส้นเลือดจึงดีขึ้น

ส่วนคำถามที่ว่า ถ้าน้ำเกลือไม่ดี ทำไมเวลาไปโรงพยาบาลทีไร มักได้น้ำเกลือทุกที คนไข้คงต้องถามหมอที่รักษาว่า ไม่ให้น้ำเกลือได้ไหม เพราะยังกินข้าวกินน้ำได้ และไม่อยากนอนโรงพยาบาล หมอบางคนจะได้เลิกเอาใจคนไข้(และตนเอง)ด้วยการให้น้ำเกลือคนไข้

๔. ต้องเลิกกินและเสพติดที่ไม่จำเป็นต่าง ๆ โดยเฉพาะสิ่งที่อาจก่อโทษได้ เช่น อาหาร “ฮ่องเต้” ,อาหาร “จานด่วน”, บุหรี่, สุรา, ยาบ้า, ยาเมา เป็นต้น


การอยู่ให้ดี คือ


๑. ต้องอยู่ในสถานที่ที่สงบ สะอาด และปราศจากมลพิษ คนที่อายุยืนกว่าร้อยปีเกือบทั้งหมดจึงไม่ใช่คนกรุง คนเมือง เพราะในกรุงในเมืองมักจะวุ่นวาย สกปรก และมากด้วยมลพิษทั้งต่อร่างกายและจิตใจ โดย เฉพาะในสังคมที่เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ขาดน้ำใจและไมตรีต่อกัน เป็นต้น

๒. ต้องอยู่แบบธรรมดา และเป็นธรรมชาติ เช่น อากาศปลอดโปร่งและถ่ายเทสะดวกแสงแดดเข้าถึง ไม่ทำที่อยู่อาศัยเสียกว้างขวางใหญ่โตจนเป็นภาระ แต่ไม่คับแคบจนอึดอัด ไม่ใช้เครื่องทุ่นแรงจนไม่ต้องออกแรงเลย เป็นต้น

๓. ต้องอยู่ได้โดยไม่กลัว เช่น ไม่กลัวอดอยาก เพราะมีงานทำ และคนในชุมชนคอยช่วยเหลือดูแลกัน ไม่กลัวโจรผู้ร้ายเพราะช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนในชุมชนนั้นไม่กว้างนัก และคนรวยกับคนจนต่างช่วยเหลือกันและกัน ไม่กลัวโรคภัยไข้เจ็บเพราะช่วยกันดูแล รักษาความสะอาดของดิน น้ำ อากาศ และสิ่งแวดล้อม และมีบริการสาธารณสุขที่ดี เป็นต้น

๔. ต้องอยู่อย่างมีความสุข คือ อยู่อย่างมีสมดุลระหว่างร่างกายกับจิตใจ และระหว่างตนเองกับครอบครัวและสิ่งแวดล้อมซึ่งรวมถึงสังคมและธรรมชาติที่อยู่ร่วมกับตน เช่น ไม่ต้องการหรืออยากได้มากกว่าที่ตนจะหาได้ตามศักยภาพของตน ไม่ขัดแย้งกับตนเอง ครอบครัว หรือสังคม เป็นต้น

สุขภาพในยุคโลกาภิวัตน์ จึงไม่ใช่สุขภาพที่จะซื้อได้ขายได้ แต่ยังคงเป็นสุขภาพที่รู้จักกันมานานที่
เกิดขึ้นได้จากความสุขสงบ การดูแลตนเองให้พอเหมาะพอดี มีสมดุลระหว่างร่างกาย กับจิตใจ และระหว่างตนเองกับครอบครัวและสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า “อยู่ดีกินดี” หรือ “กินดีอยู่ดี” โดยที่ไม่มี “โรครวย-ร่าน-ร้าย” มาครอบงำนั่นเอง

ข้อมูลสื่อ

218-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 218
มิถุนายน 2540
บทความพิเศษ