• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

๑๖ ข้อสงสัย โรคพิษสุนัขบ้า

๑๖ ข้อสงสัย โรคพิษสุนัขบ้า
 

๑. โรคพิษสุนัขบ้า มีความเป็นมาอย่างไร
โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยก่อนคริสตกาล รูปในสมัยอียิปต์โบราณแสดงให้เห็นถึงคนถูกสุนัขกัด โรคนี้พบทั่วโลก มีชื่อเรียกต่างกันตามภาษาท้องถิ่น แต่หมายถึง โรคที่เกิดจากถูกหมาบ้ากัด

โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่พบได้ในสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดรวมทั้งค้างคาว สัตว์ที่พบว่าเป็นโรคนี้บ่อยที่สุด คือ สุนัข ทั้งสุนัขบ้า สุนัขจิ้งจอก สุนัขบ้าน รองลงมาคือ แมว แร็กคูน สกังก์ และค้างคาว
ค้างคาวที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าพบได้ทั้งในค้างคาวดูดเลือด (vampire) ซึ่งมีอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ ค้างคาวกินแมลงที่พบในอเมริกาเหนือและที่อื่นๆ ค้างคาวอาจมีการติดเชื้อและเป็นพาหะโดยไม่มีอาการป่วย สำหรับสัตว์อื่นๆ ยังถกเถียงว่า มีการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าแล้วไม่ตายหรือไม่

ปัญหาสัตว์นำโรคพิษสุนัขบ้าแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคในประเทศไทยและในเอเชีย พบว่า สุนัขเลี้ยงและสุนัขจรจัดเป็นโรคและนำเชื้อมาสู่คนบ่อยที่สุด รองลงมาคือ แมว สำหรับหนูและค้างคาว เชื่อว่านำเชื้อโรคได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าเกือบทั้งหมดให้ประวัติว่าถูกสุนัขกัด ในยุโรปสุนัขจิ้งจอกเป็นสัตว์นำโรคพิษสุนัขบ้าที่สำคัญแต่ในระยะ ๔-๕ ปีที่ผ่านมาควบคุมได้ โดยการโปรยวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าชนิดกิน ให้สุนัขจิ้งจอกกิน

ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาพบปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้น สัตว์นำโรคที่สำคัญ คือ แร็กคูน สกังก์ และค้างคาวกินแมลง การใช้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าผสมในอาหารที่ใช้เป็นเหยื่อล่อให้แร็กคูนกิน พบว่าให้ผลดี ในอเมริกาใต้ ปัญหาสัตว์นำเชื้อโรคนอกจากสุนัข แมว และสัตว์ป่าอื่นๆ ยังมีค้างคาวดูดเลือดแพร่เชื้อให้วัวควาย ทำความเสียหายแก่คอกปศุสัตว์
 

๒. โรคพิษสุนัขบ้า ติดต่ออย่างไร
การติดต่อส่วนใหญ่ติดต่อจากสัตว์ที่มีเชื้อกัด หรือเลีย หรือข่วน แล้วปล่อยเชื้อที่อยู่ในน้ำลายเข้าทางบาดแผล ในธรรมชาติการติดต่อพบจากสัตว์ไปยังสัตว์ พบบ่อยในสุนัข พบได้ในสัตว์อื่นๆ การติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจากสัตว์มายังคนเป็นการบังเอิญ ในธรรมชาติไมพบการติดต่อจากคนไปคน ในผู้ที่พยาบาลใกล้ชิดผู้ป่วย ยังไม่พบว่ามีผู้ติดเชื้อแต่อย่างไรก็ดีสามารถแยกเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าได้จากน้ำลายผู้ป่วย ผู้ที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิด มีแผลหรือรอยถลอกสัมผัสกับน้ำลายผู้ป่วยอาจติดเชื้อ การติดเชื้อจากคนไปสู่คนพบรายงานทางการแพทย์ เกิดจากการปลูกถ่ายกระจกตาที่ได้มาจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า และมีรายงานการติดต่อทางการหายใจ ในผู้ที่เข้าไปในถ้ำที่มีค้างคาวจำนวนมากและการสูดดมเชื้อไวรัสที่นำมาปั่นศึกษาวิจัยในห้องปฏิบัติการ
 

๓. ทำไมชาวบ้านเรียกว่า “โรคกลัวน้ำ”
โรคพิษสุนัขบ้ามีอีกชื่อหนึ่งว่า โรคกลัวน้ำหรือภาษาอังกฤษเรียกว่า ไฮโดรโฟเบีย (hydrophobia) เนื่องจากอาการเด่นชัดของโรคนี้ที่ต่างจากโรคอื่นๆ คือ ผู้ป่วยจะมีอาการเกร็งเจ็บปวดกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืนของเหลวทำให้ไม่กล้าดื่มน้ำ ไม่กล้ากลืนน้ำลาย แม้ว่าจะหิวน้ำ และจะแสดงอาการกลัวไม่กล้าดื่มน้ำ แต่อาจกินอาหารแข็งได้บ้าง ลักษณะอาการโรคที่สำคัญ คือ ระยะแรก จะเริ่มด้วยไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คันหรือเสียว บริเวณแผลที่เคยถูกสัตว์กัด อาการที่ชัดเจนในระยะต่อมา คือ น้ำลายและเหงื่อออกมาก กระวนกระวาย สะดุ้ง ตกใจ เมื่อมีสิ่งเร้า เช่น ลมพัด เสียงดัง มีอาการคลุ้มคลั่งสลับกับสติดีโต้ตอบได้เป็นระยะ ระยะสุดท้าย จะไม่รู้สึกตัว อาจชักหรือหมดสติ ส่วนใหญ่เสียชีวิตในเวลาไม่เกิน ๗ วันหลังจากแสดงอาการ ผู้ป่วยบางรายอาจไม่แสดงอาการดุร้ายคลุ้มคลั่งชัดเจน แต่มีอาการซึม อัมพาต และเสียชีวิต อาการโรคพิษสุนัขบ้าที่พบในคนและสัตว์มี ๒ แบบ คือ แบบดุร้าย แสดงอาการชัดเจน และแบบซึม อาการไม่ชัด และเสียชีวิตในเวลารวดเร็ว
 

๔. ทำไมโรคนี้ถึงระบาดในฤดูร้อน ในฤดูอื่นจะมีโอกาสได้รับเชื้อโรคนี้หรือไม่
โรคพิษสุนัขบ้าในคนและสัตว์ พบได้ตลอดปี แต่จะมีผู้ถูกสุนัขกัด ต้องมาฉีดวัคซีนมากในฤดูร้อน เนื่องจากเด็กปิดภาคเรียน เที่ยวเล่นและสุนัขผสมพันธุ์เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม จะคลอดลูกอ่อนราวเดือนมีนาคม-เมษายน ในหน้าผสมพันธุ์สุนัขจะกัดกันมากกว่าฤดูอื่นจึงได้รับเชื้อ เมื่อเข้าฤดูร้อนพอดีครบระยะฟักตัว จะแสดงอาการ ลูกสุนัขจะมีโอกาสเป็นพิษสุนัขบ้ามากกว่าสุนัขโต และแม่สุนัขจะหวงลูกอ่อนกัดคนมากขึ้น
 

๕. ผู้ป่วยโรคนี้จะสามารถรักษาให้หายได้หรือไม่
ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้า แสดงอาการป่วยเมื่อเชื้อไวรัสเดินทางจากบริเวณบาดแผลเข้าไปตามแขนงประสาทเข้าไปยังเซลล์ประสาท เชื้อเพิ่มจำนวนทำลายเซลล์ประสาทเมื่อแสดงอาการโรค จะไม่สามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยเสียชีวิตทุกราย ยกเว้นในรายงานผู้ป่วย ๓ ราย ที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันมาก่อน และได้รับการดูแลเต็มที่ แม้จะไม่เสียชีวิตแต่ก็พบความพิการเป็นอัมพาต
 

๖. โรคนี้สามารถป้องกันได้หรือไม่
โรคพิษสุนัขบ้าสามารถป้องกันได้ วิธีที่ได้ผลที่สุด แต่ยังทำไม่สำเร็จในขณะนี้ คือ ฉีดวัคซีนให้กับสุนัขเลี้ยงทุกปี ในผู้ที่มีโอกาสถูกสัตว์ที่เป็นโรคนี้กัด ควรฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไว้ก่อน โดยฉีดเพียง ๓ เข็ม ฉีดวัคซีนสองเข็มแรกห่างกัน ๑ เดือน และเข็มที่ ๓ เมื่อครบ ๑ ปี ถ้าถูกสัตว์สงสัยว่ามีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัด ให้ฉีดกระตุ้นซ้ำ ๑ หรือ ๒ เข็มก็เพียงพอ ไม่ต้องฉีดเซรุ่ม
 

๗. ผู้ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าแสดงอาการหลังถูกสัตว์กัดนานเท่าใด
ระยะเวลาตั้งแต่ถูกสัตว์กัดจนกระทั่งแสดงอาการโรคพิษสุนัขบ้า เรียกว่า ระยะฟักตัว เร็วที่สุด คือ ๗ วัน ช้าที่สุดไม่เกิน ๑ ปี ส่วนใหญ่แสดงอาการในเวลา ๓ สัปดาห์ ถึง ๓ เดือนหลังถูกสัตว์กัด ถ้าถูกกัดบาด แผลฉกรรจ์ บริเวณใกล้ศีรษะ ใบหน้าหรือบริเวณที่มีเส้นประสาทมาก เช่น นิ้วมือ จะมีระยะฟักตัวสั้น ถ้าถูกกัดบาดแผลไม่รุนแรง บริเวณขาหรือร่างกายส่วนล่าง จะมีระยะฟักตัวยาว
 

๘. ถ้าโดนสุนัขหรือสัตว์อื่นกัด ควรทำอย่างไรเป็นอันดับแรก
ถ้ามีบาดแผลจากการถูกสัตว์กัด ให้บีบเลือดออกให้มากที่สุด ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ฟองสบู่หรือผงซักฟอก ล้างหลายๆ ครั้งเพื่อให้น้ำลายและเชื้อที่ได้รับเข้าไปออกให้มากที่สุด แล้วใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน ถ้าแผลฉกรรจ์ หรือสงสัยว่าสัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้า รีบไปพบแพทย์เร็วที่สุดเพื่อแพทย์จะได้ทำแผลและล้างแผลอย่างเหมาะสม และฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก วัคซีนและเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในรายที่มีข้อสงสัยว่าสัตว์อาจมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า
 

๙. เคยได้ยินว่าการล้างแผลด้วยสบู่ทันทีที่ถูกสัตว์กัดจะฆ่าเชื้อนี้ได้ จริงหรือไม่
การล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีจะช่วยล้างน้ำลายและเชื้อต่าง ๆ ออกจากบาดแผลได้ แต่ฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโดยตรงคงจะมีน้อยมาก เชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าเมื่ออยู่นอกร่างกายจะตายง่าย อย่างไรก็ดี ถ้าบาดแผลลึก แผลเหวอะหวะ ไม่สามารถล้างแผลได้เอง ควรรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดเพื่อล้างแผลด้วยน้ำเกลือและยาฆ่าเชื้อ
 

๑๐. หากโดนสัตว์กัด จำเป็นต้องนำสัตว์มาตรวจหรือไม่ และหากไม่สามารถนำสัตว์นั้นมาตรวจได้ ควรทำอย่างไร
การตรวจสัตว์ จะมีประโยชน์ในการที่ทราบว่าสัตว์เป็นโรคหรือไม่ เพื่อวางแผนในการให้วัคซีนและเซรุ่มแก่ผู้ถูกกัด ถ้าสัตว์เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อนและป่วยตาย จะได้ตรวจสอบคุณภาพของวัคซีน ถ้านำสัตว์มาตรวจไม่ได้ แพทย์จะตัดสินใจให้วัคซีนโดยเร็วที่สุดในรายที่สงสัยว่าสัตว์อาจมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ถ้ามีบาดแผลฉกรรจ์จะให้เซรุ่มร่วมด้วย ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่จำเป็นเหมือนสมัยโบราณ สมัยก่อนใช้วัคซีนจากสมองสัตว์ ต้องฉีดติดต่อกัน ๑๗-๒๑ เข็ม ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นไม่ดี อาการแทรกซ้อนพบได้บ่อยและรุนแรง ถ้าไม่จำเป็น หรือสัตว์ที่กัดไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า ก็จะไม่ฉีดวัคซีนให้ ในปัจจุบันวัคซีนปลอดภัย คุณภาพดี แต่มีราคาแพง ถ้าสงสัยว่าสัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้า จะฉีดให้เร็วที่สุดทันที
 

๑๑. วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามีกี่ชนิด อะไรบ้าง
วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าของคน ขณะนี้เป็นวัคซีนบริสุทธิ์ที่ผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยงและไข่เป็ดฟัก มีคุณภาพสูงกว่าวัคซีนผลิตจากสมองสัตว์ที่เคยใช้ในสมัยก่อน วัคซีนจากสมองสัตว์เลิกใช้ในประเทศไทย ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๓๕

วัคซีนที่มีจำหน่ายขณะนี้มี ๔ ชนิด คือ

๑. วัคซีนฮิวแมน ดิพลอยด์ (human diploid rabies vaccine) ผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อปอดคน ราคาประมาณเข็มละ ๖๖๐ บาท ฉีดทั้งชุด ๕ เข็ม

๒. วัคซีนพีซีอีซี (PCEC) ผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อลูกไก่

๓. วัคซีนเวโร (vero cell rabies vaccine) ผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยงต่อเนื่องที่ชื่อว่า เซลล์เวโร มีต้นกำเนิดจากไตลิง

๔. วัคซีนบริสุทธิ์ผลิตจากตัวอ่อนไข่เป็ดฟัก (purified duck emberyo rabies vaccine)

วัคซีนทั้ง ๓ ชนิดหลังนี้ราคาประมาณเข็มละ ๒๒๐ บาท ฉีดทั้งชุด ๔ เข็ม สำหรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ฉีดในสุนัข เตรียมจากเซลล์เพาะเลี้ยง แต่มีมาตรฐานการผลิตแตกต่างจากวัคซีนที่ใช้ในคน

 

๑๒. เมื่อไหร่ควรฉีดวัคซีน หรือเมื่อไหร่ควรฉีดเซรุ่ม วัคซีนและเซรุ่มใช้แทนกันได้หรือไม่
วัคซีนและเซรุ่มใช้แทนกันไม่ได้ แต่จะให้เซรุ่มเสริมร่วมกับฉีดวัคซีนโดยฉีดวันเดียวกับวัคซีน ในผู้ที่ถูกกัดบาดแผลฉกรรจ์ ระยะฟักตัวจะสั้น วัคซีนไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้องใช้เวลา ๗-๑๔ วัน จึงจะพบแอนติบอดีที่จะคุ้มกันได้ ในกรณีเช่นนี้ จะต้องฉีดเซรุ่มซึ่งมีแอนติบอดีอยู่แล้วให้เร็วที่สุด เซรุ่มที่ใช้มี ๒ ชนิด คือ เตรียมจากเลือดม้า เรียกว่า อีริก (ERIG, Equine rabies immune globulin) และเตรียมจากเลือดคน เรียกว่า เอชริก (HRIG, Human rabies immune globulin) เตรียมโดยฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ให้ม้าหรือคนก่อนแล้วเจาะเลือดที่มีแอนติบดีมาเตรียมเซรุ่ม เพื่อนำมาใช้ในการดูแลรักษาในรายที่เคยฉีดวัคซีนมาแล้ว เมื่อฉีดวัคซีนซ้ำ จะพบแอนติบอดีได้เร็วจึงไม่จำเป็นต้องฉีดเซรุ่ม
 

๑๓. ถ้าหากเคยได้รับวัคซีนแล้วและถูกสัตว์กัดซ้ำอีก จำเป็นต้องฉีดวัคซีนหรือไม่
วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าต้องฉีดเป็นชุด ชุดละ ๕ เข็ม ในวันแรก , วันที่ ๓ , วันที ๗, วันที่ ๑๔ และวันที่ ๒๔ ถ้าถูกกัดในระหว่างฉีดวัคซีน ๕ เข็มนี้ ก็ไม่ต้องฉีดเพิ่มอีก แต่ถ้าถูกกัดภายใน ๖ เดือน หลังฉีดเข็มสุดท้าย ควรฉีดเพิ่มเร็วที่สุดหลังถูกกัดอีก ๑ เข็ม ถ้าเกิน ๖ เดือน ให้ฉีด ๒ เข็ม โดยฉีดเข็มแรกเร็วที่สุดถูกกัด และฉีดเพิ่มอีก ๑ เข็ม ในวันที ๓ หลังฉีดเข็มแรก ในกรณีที่เคยฉีดวัคซีนมาก่อนไม่ต้องฉีดเซรุ่ม
 

๑๔. ถ้าสุนัขตัวที่กัดไม่ได้เป็นโรคนี่ แต่เราไปฉีดวัคซีนจะเป็นอะไรหรือเปล่า
วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ใช้ในปัจจุบัน คุณภาพดี ปลอดภัยแม้ว่าสุนัขตัวที่กัดจะไม่เป็นโรคก็ไม่เป็นไร นอกจากต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีน นอกจากนี้ยังแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้า ดังข้อ ๖



 

๑๕. วัคซีนที่ฉีดจะคงอยู่ในร่างกายได้นานแค่ไหน
วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า เป็นวัคซีนเชื้อตาย เมื่อฉีดครบชุดแล้ว ภูมิคุ้มกันจะสูงอยู่ในระยะหลังฉีด ๒ สัปดาห์ – ๓ เดือน แล้วเริ่มลดระดับลงต้องฉีดกระตุ้นอีก ๑ – ๒ เข็ม จึงจะทำให้ภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับสูงแล้วก็จะลดลดอีก ดังนั้น ถ้าถูกกัดบ่อย ๆ ก็ต้องฉีดทุกครั้งที่ถูกกัด แต่ลดจำนวนเหลือเพียง ๑ – ๒ เข็ม และไม่ต้องฉีดเซรุ่ม
 

๑๖. วัคซีนและเซรุ่มนี้มีผลข้างเคียงอะไรหรือไม่ และมีข้อควรระวังอย่างไร
วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าชนิดบริสุทธิ์ มีผลข้างเคียงน้องมาก เช่น เจ็บบริเวณฉีด รู้สึกไม่ใคร่สบายส่วนใหญ่หายเอง ถ้าถูกสุนัขหรือสัตว์สงสัยว่าเป็นโรคนี้กัด ก็ต้องฉีดวัคซีนเร็วที่สุด ไม่มีข้อห้ามใดๆ ทั้งสิ้น สตรีตั้งครรภ์ หรือผู้ติดเชื้อเอดส์ ผู้ป่วยโรคตับแข็ง ก็ต้องฉีด โดยแพทย์ให้การดูแลเป็นพิเศษให้แน่ใจว่ามีภูมิคุ้มกันเพียงพอป้องกันโรค ส่วนเซรุ่มอาจมีอาการแพ้ได้แต่พบไม่บ่อยนัก สำหรับเซรุ่ม ชนิดที่เตรียมจากเลือดม้า แพทย์อาจจำเป็นต้องทำการทดสอบก่อนฉีดว่ามีโอกาสแพ้หรือไม่ ส่วนเซรุ่มที่เตรียมจากเลือดคนจะใช้ได้ปลอดภัย ไม่จำเป็นทดสอบก่อนฉีด ผลข้างเคียงอาจพบได้บ้าง คือ อาการไข้ หรือเจ็บบริเวณที่ฉีดเล็กน้อย ซึ่งไม่พบอันตรายและจะหายไปได้เอง

ข้อมูลสื่อ

218-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 218
มิถุนายน 2540
โรคน่ารู้