• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แพทย์แผนจีนในชีวิตประจำวัน (ตอนที่ ๒)

แพทย์แผนจีนในชีวิตประจำวัน (ตอนที่ ๒)


ในชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นนอน จนกระทั่งเข้านอน เราอาจยุ่งอยู่กับเรื่องใกล้ตัวจนเราไม่ได้มองว่า ธรรมชาติในโลกและจักรวาลมีส่วนสัมพันธ์กับตัวเราอย่างไร เช่นเดียวกับดวงดาว เราอาจรู้สึกว่าอยู่ไกลเกินกว่าจะเกี่ยวข้องกับเรา แต่ในแง่ของแพทย์จีนนั้นได้กล่าวว่า อิทธิพลของดวงดาวมีผลกระทบต่อสรีรสภาพและพยาธิสภาพของร่างกาย เช่น ดวงจันทร์หมุนรอบโลก ทำให้เกิดปรากฏการณ์ของน้ำขึ้น-น้ำลง อันเป็นผลของแรงดึงดูดระหว่างมวลสารของโลกและดวงจันทร์ ปรากฏการณ์น้ำขึ้นเกิดในช่วงข้างขึ้นและสูงสุดในช่วงพระจันทร์เต็มดวง ปรากฏการณ์น้ำลง เกิดในช่วงแรมและต่ำสุดในช่วงเดือนคว่ำ

เนื่องจากร่างกายของเราประกอบด้วยน้ำประมาณร้อยละ ๗๐ แรงดึงดูดของดวงจันทร์ จึงมีผลกระทบต่อน้ำในร่างกายด้วย ช่วงข้างขึ้นจนถึงพระจันทร์เต็มดวง เลือดที่อยู่ในหลอดเลือดจะเคลื่อนไหวมากไปยังส่วนบนของร่างกาย ทางแพทย์จีนกล่าวว่า อัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคและอาการบางประเภทจะสูงขึ้น เช่น โรคหัวใจ, โรคเส้นเลือดทางสมอง, การแปรปรวนทางอารมณ์, การหลับนอน เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่า ดวงจันทร์ยังมีอิทธิพลต่อต่อมเพศ (รังไข่, เจริญพันธุ์) มักอยู่ระหว่าง ๒๘ - ๓๒ วัน ประจำเดือนของหญิงส่วนใหญ่มักอยู่ในระยะเวลาใกล้เดือนเพ็ญ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) การปฎิสนธิมีโอกาสเกิดได้ง่ายในช่วงก่อนและหลังเดือนเพ็ญ การศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์พบว่าเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงของระบบต่อมคัดหลั่งและต่อมไร้ท่อ เช่น ไฮโพทาลามัส (hypothalamus), ต่อมใต้สมอง (pituitary gland), ต่อมไพเนียล (pineal gland) และต่อมเพศ (รังไข่และอัณฑะ) นั่นเอง

ในหนังสือ “ซู่เวิ่น” ของจีน กล่าวถึง “เมื่อเริ่มข้างขึ้น, เลือดลมเริ่มขับเคลื่อน มีการสร้างสารจำเป็นพลังปกป้องร่างกาย (เหว่ยชี่) เกิดการโคจร จันทร์เต็มดวง เลือดลมสมบูรณ์ เนื้อเยื่อเต่งตึง ยามข้างแรม เนื้อเยื่อเริ่มคลาย ห่อเหี่ยว, เลือดลมลดถอย, พลังปกป้องก็จร” ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางสรีระของร่างกายกับการเคลื่อนไหวของดวงจันทร์ การที่โลกหมุนรอบตัวเอง ทำให้เกิดกลางวัน กลางคืน ในทฤษฎีแพทย์จีน ถือว่า

- กลางวัน มีภาวะเป็นหยาง

- กลางคืน มีภาวะเป็นยิน

ยามเช้าพลังหยางเริ่มเกิดอากาศเริ่มอบอุ่น ช่วงเที่ยงวันพลังหยางสูงสุดอากาศร้อนจัด หลังเที่ยงวันพลังหยางเริ่มลดน้อย ขณะที่พลังยิน (ความเย็น ความมืด) เริ่มแกร่งมากขึ้น อากาศร้อนน้อยลง จนถึงช่วงเที่ยงคืน พลังยินสูงสุดในขณะที่พลังหยางอ่อนแอสุด แพทย์แผนจีนได้กล่าวว่า

๑. พลังหยาง ควบคุมการเคลื่อนไหว, การตื่น ส่วนพลังยินควบคุมการหยุดนิ่ง, การนอนหลับ ตอนเช้าพลังหยางมาก จึงควรตื่นและทำงานตอนกลางคืนพลังยินมาก ควรพักผ่อนและนอนหลับ

๒. พลังหยางเป็นพลังของร่างกายเพื่อการดำรงอยู่และต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ (เป็นภาวะภูมิต้านทานของร่างกายด้วย) มีความเข้มแข็งและเติบโตจนแข็งแกร่งในช่วงกลางวัน เมื่อสัมผัสกับพลังรุกราน หรือสิ่งก่อโรค (รวมถึงเชื้อโรค) จึงทำให้ผู้ป่วยมักมีอาการทุเลาเวลากลางวัน ส่วนเวลากลางคืนพลังหยางอ่อนแอที่สุด จึงมักพบความรุนแรงของโรค, การกำเริบของโรคในช่วงกลางคืน สถิติผู้ป่วยโรคเรื้อรังจำนวนมากจะพบการเสียชีวิตสูงสุดในช่วงกลางคืน ผลการวิจัยพบว่ากลางวันมี cyclic AMP สูง ซึ่งมีบทบาทเกี่ยวกับเมตาบอลิซึม และการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนหลายชนิด ในกลางคืนมี cyclic GMP สูง
cyclic - AMP และ cyclic - GMP เป็นสารชีวเคมีที่เกิดขึ้นในร่างกายขณะที่มีเมตาบอลิซึม (การเปลี่ยนแปลงทางเคมีที่เกี่ยวข้องกับอาหาร โดยการสร้างและใช้พลังงาน)

cyclic - AMP สูง แสดงถึง ภาวะที่ร่างกายมีการใช้พลังงานมาก เป็นภาวะถูกกระตุ้น (มีพลังหยางมาก)

cyclic - GMP สูง แสดงถึง ภาวะที่ร่างกายมีการใช้พลังงานน้อยเป็นภาวะไม่ถูกกระตุ้น (มีพลังหยางน้อย)

  • cyclic – AMP = ย่อมาจาก cyclic adenosine monophosphate
  • cyclic – GMP = ย่อมาจาก Guanosine monophosphate

เราจะเห็นว่าธรรมชาติมิได้สร้างสิ่งต่างๆ โดดๆ โดยไม่สัมพันธ์ซึ่งกัน และกัน บนท้องฟ้าที่เราเห็นไกลโพ้น ยังมีผลต่อสุขภาพร่างกายของมนุษย์ ดังนั้นที่มีคนกล่าวว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” จึงไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้เช่นกัน
 

ข้อมูลสื่อ

218-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 218
มิถุนายน 2540
แพทย์แผนจีน