• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ภาวะเจ็บป่วยในระหว่างตั้งครรภ์

ภาวะเจ็บป่วยในระหว่างตั้งครรภ์
 

การติดเชื้อสเตรปกลุ่ม บี

“ฉันอ่านพบในหนังสือพิมพ์ว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อสเตรปกลุ่ม บี ทารกในครรภ์จะมีอันตรายถึงชีวิตทำให้ฉันกังวลมากกลัวว่าจะได้รับเชื้อนี้บ้าง”

การติดเชื้อสเตรปกลุ่มบีในหญิงตั้งครรภ์มีอันตรายแก่ทารกในครรภ์มากและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แต่เป็นสิ่งที่พบได้น้อยมาก เนื่องจากการดูแลทางการแพทย์ปัจจุบันได้ให้ความระมัดระวังในเรื่องนี้มาก
ตามปกติการติดเชื้อนี้จะอยู่ในช่องคลอด ซึ่งตรวจพบได้โดยการเพาะเชื้อมูกในช่องคลอด และการติดเชื้อสู่ทารกในครรภ์ก็จะเกิดโดยกระบวนการคลอด และการตั้งครรภ์ของถุงน้ำคร่ำ การให้ยาปฎิชีวนะที่มากเพียงพอก่อนคลอดจะทำให้ไม่มีการติดเชื้อของทารก ดังนั้นปัญหาการติดเชื้อสเตรปกลุ่มบีนี้จึงไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลในทางการแพทย์ปัจจุบัน
 

หัด

“ฉันมีอาชีพเป็นครูสอนเด็กเล็กๆ มีเด็กในชั้นเรียนเป็นหัด ฉันจำเป็นที่จะต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดบ้างไหมคะ”

การฉีดวัคซีนป้องกันหัดในหญิงตั้งครรภ์เป็นเรื่องต้องห้ามอย่างเด็ดขาด เพราะตามทฤษฎีวัคซีนนี้ เป็นวัคซีนที่ใช้เชื้อโรคกระตุ้นการสร้างภูมิต้านทานในร่างกาย จึงเป็นเหมือนร่างกายได้รับเชื้อโรคโดยตรงซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อทารกได้เช่นกัน

การติดเชื้อหัดในขณะตั้งครรภ์ มักจะไม่รุนแรง เนื่องจากส่วนมากเราจะได้รับวัคซีนป้องกันหัดมาตั้งแต่วัยเด็ก และเชื้อโวรัสที่ทำให้เกิดโรคหัด จะมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์น้อยมากไม่เหมือนหัดเยอรมัน ผลกระทบที่พบ คือ อาจจะทำให้มีการแท้บุตรได้ง่าย หรือการคลอดก่อนกำหนด แต่ไม่พบว่ามีทารกพิการ เนื่องจากการติดเชื้อหัด และถ้ามีการติดเชื้อในระยะใกล้คลอดที่อาจจะทำให้ทารกในครรภ์เกิดภาวะติดเชื้อไวรัสในเลือด ซึ่งแพทย์มักจะให้แกรมม่ากลอบูลินแก่ทารกแรกเกิดทันทีเพื่อลดความรุนแรงของการติดเชื้อ
 

การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเป็นภาวะติดเชื้อที่พบได้บ่อยมาก ร้อยละ ๑๐ ของหญิงตั้งครรภ์จะมีการติดเชื้อ ๑ ครั้ง และผู้ที่มีการติดเชื้อแล้วมักจะมีการติดเชื้อซ้ำอีก ๑ ใน ๓ ของผู้ติดเชื้อ อาการที่พบบ่อย คือ กระเพาะปัสสาวะอักเสบมักจะไม่มีอาการแสดง และตรวจได้โดยการตรวจปัสสาวะในการตรวจเมื่อฝากครรภ์ และบางคนจะมีอาการปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะบ่อย ปวดท้องน้อย และทันทีที่ตรวจพบความผิดปกติหรือมีอาการ จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาให้หายโดยเร็ว เพื่อป้องกันการเป็นซ้ำและการลุกลามของโรค การรักษาต้องกินยาจนครบถ้วน ไม่ควรหยุดกินยาแม้ว่าอาการจะดีขึ้นหรือไม่มีอาการ

จากรายงาน พบว่า ร้อยละ ๒๐ – ๔๐ ของการติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะที่ไม่ได้รับการรักษา จะนำไปสู่ภาวการณ์ติเชื้อของกรวยไตทำให้เกิดกรวยไตอักเสบ ที่มีอันตรายต่อมารดาและทารกในครรภ์ ภาวะกรวยไตอักเสบในไตรมาสที่สาม จะทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด อาการของโรคมักจะทำให้มีไข้สูง หนาวสั่น ปัสสาวะแสบขัด หรือปัสสาวะสีแดงเป็นเลือด ปวดหลังมาก ทันทีที่คุณมีอาการควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วแพทย์มักจะรับไว้รักษาในโรงพยาบาล ให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำร่วมกับน้ำ
การป้องกันภาวการณ์ติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะนั้นเป็นสิ่งจำเป็น และเมื่อมีอาการเริ่มต้นเล็กน้อย ควรปฏิบัติดังนี้

๑. ดื่มน้ำสะอาดมากๆ งดการดื่มน้ำชา กาแฟ และน้ำผลไม้รสเปรี้ยว

๒. พยายามถ่ายปัสสาวะบ่อยๆ ไม่กลั้นปัสสาวะโดยไม่จำเป็น และถ่ายปัสสาวะทุกครั้งควรถ่ายให้หมดจนรู้สึกกระเพาะปัสสาวะว่างจริงๆ

๓. สวมใส่กางเกงในที่ผ้าผ้าย เพื่อการระบายอากาศที่ดี

๔. ทำความสะอาดอวัยวะเพศภายนอกที่ถูกวิธี โดยชำระด้วยน้ำทุกครั้งที่ถ่ายปัสสาวะและเช็คจากบนลงล่าง

๕. ระหว่างที่ได้ยาปฏิชีวนะควรกินโยเกิรต์ เพื่อช่วยให้แบคทีเรียในทางเดินอาหารอยู่ในภาวะสมดุล

๖. กินอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อทำให้ร่างกายแข็งแรงมีภูมิต้านทานโรคที่ดี
 

ตับอักเสบ

"ฉันทำงานในสถานเลี้ยงเด็กกลางวัน และมีเด็กคนหนึ่งป่วยเป็นตับอักเสบเอ ถ้าฉันติดเชื้อจากเด็กคนนั้น จะมีอันตรายกับการตั้งครรภ์ไหมคะ”

โรคตับอักเสบเอเป็นโรคที่พบได้มากในเด็กอายุต่ำกว่า ๕ ปี และมักจะมีอาการไม่รุนแรงมาก โรคนี้ไม่ปรากฏว่าสามารถผ่านเข้าสู่ทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นจึงจะไม่มีผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ ตราบเท่าที่คุณยังไม่มีอาการเจ็บป่วยด้วยตัวของคุณเอง การติดเชื้อตับอักเสบเอ จะติดต่อได้ทางอุจจาระ ดังนั้นการล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารและทุกครั้งดูแลการขับถ่ายของเด็ก จะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ดี

“สามีฉันป่วยเป็นโรคตับอักเสบบี ทั้ง ๆ ที่เขามิได้เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคประการใด โรคนี้จะติดต่อได้จากการสัมผัสไหมคะ”

๑ ใน ๓ ของผู้ป่วยโรคตับอักเสบ บี เป็นกลุ่มที่ไม่มีภาวะเสี่ยงแต่อย่างใด โรคนี้พบได้มากในกลุ่มอายุ ๑๙-๓๙ ปี และเป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ได้ โรคนี้ที่ติดต่อได้โดยการใช้ของใช้บางอย่างร่วมกัน และการมีเพศสัมพันธ์ โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการให้วัคซีน โดยเฉพาะในบ้านที่มีผู้ป่วย สมาชิกในบ้านทุกคนควรได้รับวัคซีนป้องกันโรค หญิงตั้งครรภ์ทุกคนควรได้รับการเจาะเลือดตรวจสอบภาวะการติดเชื้อตับอักเสบ บี เพื่อที่จะได้ให้วัคซีนแก่สมาชิกในบ้านโดยเฉพาะสามี และเตรียมการให้วัคซีนและแกรมมากรอบูลินในทารกแรกเกิด

ในกรณีที่หญิงตั้งครรภ์ป่วยด้วยโรคตับอักเสบบี การรักษาที่สำคัญ คือ การพักผ่อนและกินอาหารที่มีประโยชน์ งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด โดยทั่วไปแล้วร้อยละ ๙๕ ของผู้ป่วยจะฟื้นคืนสภาพดังเดิมมีเพียงร้อยละ ๕ ที่จะกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรังหรือมีอาการรุนแรงมากขึ้น ทารกที่คลอดในขณะที่มารดามีอาการของโรค ควรได้รับการอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดและระวังการปนเปื้อนเลือด ควรให้วัคซีนตับอักเสบ บี และแกรมมากลอบูลิน ภายใน ๑๒ ชั่วโมงแรกเกิด แยกทารกจากมารดา ให้วัคซีนซ้ำในทารกเมื่ออายุ ๑ เดือน และ ๖ เดือน และตรวจสอบการสร้างภูมิต้านทานในทารกเมื่ออายุ ๑๒ และ ๑๕ เดือน นอกจากโรคตับอักเสบ บี ภาวะตับอักเสบอื่นๆ คือ ตับอักเสบ ซี และ ตับอักเสบ อี ซึ่งเรียกรวมกันว่าตับอักเสบชนิดที่ไม่ใช่เอ และไม่ใช่บี ปัจจุบันยังไม่มีความรู้ที่ชัดเจนว่าโรคนี้ติดต่อกันหรือไม่ทางใด และถ่ายทอดจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ได้หรือไม่
 

คางทูม

“เพื่อนร่วมงานของฉันคนหนึ่งเป็นคางทูม และฉันจำไม่ได้ว่าฉันเคยเป็นคางทูมมาก่อนหรือไม่ ฉันจะติดโรคนี้ไหมและมีอันตรายต่อการตั้งครรภ์หรือไม่”

ปัญหาโรคคางทูมในขณะตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่พบได้น้อยมาก เนื่องจากเด็กส่วนมากจะได้รับวัคซีนป้องกันโรคนี้แล้วทุกคน และถ้าบังเอิญคุณไม่ได้รับวัคซีน การติดโรคก็เกิดได้ยาก แต่โรคนี้มีผลโดยตรงต่อกล้ามเนื้อมดลูก ทำให้เกิดการแท้งได้ง่ายหรือการคลอดก่อนกำหนด คุณควรสังเกตความผิดปกติที่เป็นอาการของโรค เช่น ปวดกราม มีไข้ เบื่ออาหาร ก่อนที่จะมีต่อมน้ำลายโต การรายงานแพทย์เมื่อเริ่มมีอาการและได้การรักษาที่เหมาะสมจะลดความรุนแรงของโรคได้

ข้อมูลสื่อ

218-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 218
มิถุนายน 2540