• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาหารกับการเกิดโรค

อาหารกับการเกิดโรค
 

“อาหารคือชีวิต ชีวิตทุก ๆชีวิตย่อมเจริญเติบโตวิวัฒนาการขึ้นได้ และถึงจุดอวสานคือหมดสภาพไปก็เพราะอาหารการแพทย์ไทยรับสัจธรรมจากพระพุทธศาสนาบ่งชี้ถึงอาหารเป็นหลักสำคัญของชีวิต”

เมื่อพูดถึงอาหาร เราๆท่านๆมักนึกถึง ข้าว กับข้าว ก๋วยเตี๋ยว หรือของกินต่างๆ แต่ในทางการแพทย์ไทยนั้นถือตามแนวพุทธว่า สิ่งที่เข้ามาสัมผัส หู ตา จมูก ลิ้น กายและใจ นั้นล้วนเป็นอาหารของชีวิตทั้งสิ้น ปัจจุบันความเจ็บป่วยทางจิตใจนั้นมีความหมาย เราจะเห็นว่ามีการฆ่ากันตาย ฆ่าตัวตาย ฆาตกรรมต่างๆ ล้วนเกิดจากมีความผิดปกติทางจิตใจทั้งสิ้น ผู้รู้ทั้งหลายจึงบอกต่อๆมาว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” หลักพุทธศาสนาในคัมภีร์ธรรมบทได้กล่าวไว้ว่า “ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นนาย ใจเป็นผู้นำ การคิด การพูด การกระทำ ย่อมสำเร็จมาจากใจ อุปมาเหมือนล้อแห่งเกวียนย่อมหมุนไปตามรอยเท้าของโคเสมอ”

ชีวิตมีความจริงอยู่ ๒ ประการ คือ รูปธรรมกับนามธรรม รูปธรรมกับนามธรรมจะต้องอยู่อาศัยกันร่ำไป รูปธรรมของชีวิตจะปรากฏอยู่บนพื้นผิวโลกได้ ต้องอาศัยนามธรรมเป็นองค์รู้ ถ้าขาดองค์รู้ก็ย่อมมีได้เพียงธรรมชาติคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อาหารมีความสำคัญทั้งรูปธรรมและนามธรรม หากจะให้จัดอันดับต้องถือว่า อาหารใจสำคัญเป็นอันดับแรก ส่วนอาหารกายจัดเป็นอันดับรอง เพราะชีวิตที่ประสบกับ “ความเสื่อม” หรือ “ความเจริญ” ย่อมขึ้นอยู่กับอาหารใจทั้งหมด ใจที่ว่านี้ หมายถึง ความคิด ความรู้ด้วย เพราะคนมีความรู้ความคิดที่ถูกต้องย่อมสามารถเลือกอาหารที่ดีให้แก่กายได้ การแพทย์ไทยจึงมองว่าโรคที่น่ากลัวคือ “โรคทางใจ” และปัจจุบันอาหารที่ขาดมากที่สุด คือ “อาหารใจ”

การวินิจฉัยโรคตามหลักการแพทย์ไทยนั้น ต้องทบทวนองค์ประกอบในการวินิจฉัยเริ่มจาก “อาหาร” พิจารณาอาหารตามที่อาการบ่งชี้ ใช้หลักอาหาร ๔ ประการ ดังที่กล่าวมาแล้วในฉบับที่แล้วแต่ค้นหาโยงใยไปตามที่ตั้งแรกเกิดที่เรียกว่า “สมุฏฐาน” เริ่มจาก
 
กองธาตุ ๔

กองธาตุดิน (ปถวีธาตุ) ๒๐ ส่วน กองธาตุน้ำ (อาโปธาตุ) ๑๒ ส่วน กองธาตุลม (วาโยธาตุ) ๖ ส่วน กองธาตุไฟ (เตโชธาตุ) ๔ ส่วน และมีกองอากาศธาตุอีก ๑๐ ส่วน ประมวลรวม ๔๒ ประการ

กองดินฟ้าอากาศ (อุตุ) โดยเฉลี่ยออกเป็นฤดู ๓ (สี่เดือน) ฤดู ๔ (สามเดือน) ฤดู ๖ (สองเดือน) และความเปลี่ยนทางอาหาร

กองอายุ (วัย) วัยย่อมปรากฏในการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ กำหนดวัยทารกและเด็ก วัยหนุ่มสาว วัยเจริญเต็มที่ วัยทำงานและวัยผู้สูงอายุ

กองเวลา (กาล) กำหนดเวลาตามจักรราศี คือ การโคจรของสุริยจักรวาล นับเวลาชั่วโมงต่อชั่วโมงในภาคกลางวันและภาคกลางคืนสลับกันไป ตามมูลเหตุที่เกิดขึ้น

กองที่อยู่อาศัย (ภูมิประเทศ) พิจารณาที่สูง ที่พื้นราบ น้ำจืด น้ำเค็มและป่าหรือกรวดทราย อาการต่างๆ ย่อมเกิดขึ้นตามภูมิประเทศ

องค์ประกอบที่เป็นเหตุให้เกิดโรค สมุฏฐานเป็นที่ตั้งแรกเกิดของโรค แต่องค์ประกอบอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดโรคขึ้นได้ย่อมเป็นเหตุให้ต้องวินิจฉัย เช่น อิริยาบถการเคลื่อนไหว ออกกำลังกายมากเกินไปหรือน้อยเกินไป อากาศหนาว อุ่น ร้อน และมลพิษมวลสารในอากาศ การทนอดต่อการดื่มกินอาหารไม่เป็นเวลา
อดทนต่อการพักผ่อนไม่สม่ำเสมอพอเพียงไหม เมื่อถึงเวลาถ่ายเทของเสียออกจากร่างกายก็อดกลั้นอุจจาระหรือปัสสาวะ ไม่ได้ขับถ่ายไปตามธรรมชาติที่ควรจะเป็นการปฏิบัติภารกิจประจำวันจนเกินกำลังที่ความต้านทานจะสู้ได้ เมื่อประสบอารมณ์ที่ก่อให้เกิดความเสียใจคับแค้นเคืองใจมากๆ หรืออาจจะไม่รู้จักยับยั้งชั่งคิดปล่อยไปตามจริตนิสัยเดิมของตน

อาการทั้งหมดที่กล่าวมาคือ องค์ประกอบให้พิจารณาโดยรอบคอบละเอียดเพราะไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ก่อให้เกิดโรคได้ การรู้จักยับยั้งชั่งคิดเท่ากับการรู้จักพิจารณาอาหารนั่นเอง ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าการแพทย์ไทยนั้นไม่ได้มองแต่เพียงว่าคนไข้เป็นเครื่องจักร เสียตรงไหนก็ซ่อมตรงนั้นอย่างเดียว แต่คนไข้มีชีวิต สังคม และจิตใจที่ทำให้เกิดโรคด้วย

ข้อมูลสื่อ

219-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 219
กรกฎาคม 2540
แพทย์แผนไทย