• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

นาฬิกาชีวิต : พลังชีวิต(ลมปราณ)

นาฬิกาชีวิต : พลังชีวิต(ลมปราณ)


ฉบับที่แล้วผู้เขียนได้กล่าวถึง การแพทย์จีนถือว่ากลางวันและกลางคืนมีความสัมพันธ์กับสุขภาพของมนุษย์อย่างแยกไม่ออก ครั้งนี้จึงขอกล่าวเพิ่มเติมว่า การแพทย์จีนยังมองลึกลงไปอีกว่า ช่วงเวลา ๒๔ ชั่วโมงใน ๑ วันนั้น ภายในร่างกายของมนุษย์ยังมีการไหลเวียนของพลังชีวิต (ลมปราณ) ที่ผ่านมาอวัยวะภายในของร่างกาย จีนเรียกว่า “จั้ง-ฝู่ ซึ่งประกอบด้วยอวัยวะตันและอวัยวะกลวง

อวัยวะตัน หมายถึง หัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ ปอด ม้าม ตับ ไต

อวัยวะกลวง หมายถึง กระเพาะอาหาร ถุงน้ำดี ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก กระเพาะปัสสาวะ ซานเจียว

การไหลเวียนของพลังชีวิต(ลมปราณ)ที่ผ่านแต่ละอวัยวะนั้นจะใช้เวลา ๒ ชั่วโมง ทั้งหมดมี ๑๒ อวัยวะ รวม ๒๔ ชั่วโมง คือ ๑ วัน เรียกว่า นาฬิกาของอวัยวะภายใน (organ clock) เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ ผู้เขียนขอแยกให้ท่านผู้อ่านเห็นอย่างชัดเจนของช่วงเวลากับเส้นลมปราณ ดังนี้

จากการแบ่งช่วงเวลาการไหลเวียนของเส้นลมปราณ ทำให้การแพทย์จีนนำมาใช้ในการดูแลรักษาสุขภาพ รวมทั้งการรักษาผู้ป่วยด้วย ตัวอย่างเช่น การไหลเวียนของเส้นลมปราณปอด จะมีพลังไหลเวียนเริ่มต้นที่ ๓.๐๐ น. และสูงสุดในช่วงประมาณ ๔.๐๐ น. จากนั้นจะค่อยๆ ลดลงและออกจากเส้นลมปราณปอดไปยังเส้นลมปราณ ลำไส้ใหญ่เวลา ๕.๐๐ น. การรักษาโรคของเส้นลมปราณปอดที่ให้ประสิทธิภาพสูงสุด จึงควรอยู่ระหว่างเวลา ๓.๐๐-๕.๐๐ น. ได้มีการศึกษาวิจัย พบว่า ผลของการใช้ยาดิจิทาลิสในการรักษาโรคหัวใจล้มเหลว (มีการคั่งของน้ำในปอด) การให้ยาในช่วงเวลา ๔.๐๐ น. จะให้ผลออกฤทธิ์ประมาณ ๔๐ เท่าของการให้เวลาอื่น เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงของพลังหยางและพลังยิน และการเคลื่อนไหวของพลังชีวิตของอวัยวะภายใน มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนและสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเวลา (นาฬิกาชีวิต) ร่างกายเราจึงมีกลไกการปรับตัว มีการสร้างสารคัดหลั่ง, ฮอร์โมน, การทำงานของระบบต่างๆ ฯลฯ เป็นไปตามสภาพธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไป การดำเนินชีวิตและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ จึงเป็นหลักพื้นฐานของการมีสุขภาพที่ดีและมีอายุยืนยาวปราศจากโรค

การกิน : โดยปกติทั่วไปการแพทย์จีนได้เสนอว่า ควรกินอาหารในสัดส่วนที่เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น ช่วงเช้าพลังหยางเริ่มเกิด, ร่างกายเริ่มปรับตัวทำงาน จึงต้องเตรียมพลังงานไว้ใช้ในตอนสาย ตอนเที่ยงเป็นช่วงพลังการทำงานร่างกายสูงสุด การกินจะหนักกว่ามื้ออื่นในขณะที่ตอนเย็นค่ำ ไม่ควรกินดึกเกินไปเพราะไม่ค่อยได้ใช้พลังงาน และร่างกายพักผ่อน, หลับนอน มิฉะนั้นจะทำให้ร่างกายไม่มีเวลาพักอย่างเต็มที่ ทำให้เสื่อมเร็ว

การทำงาน-การพักผ่อนให้พอเหมาะ นอนแต่หัวค่ำและตื่นนอนแต่เช้า ตื่นนอนแต่เช้า อุ่นเครื่อง (ออกกำลังกาย) เป็นการปรับสภาพร่างกายให้เพิ่มพลังหยาง เพื่อเตรียมรับกับสภาพการทำงานในช่วงกลางวัน และช่วงกลางวันควรทำงาน ช่วงกลางคืนควรพักผ่อน หลับนอน ช่วงที่พลังร่างกายแกร่งเป็นช่วงที่ควรใช้พลัง ช่วงที่ร่างกายมีสภาพพัก สรีระของร่างกายค่อนข้างสงบ ไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับทำงาน ควรจะพักผ่อน การไม่ได้นอนหลับกลางคืนหรือเที่ยวกลางคืนจึงเป็นวิถีชีวิตในการบั่นทอนสุขภาพอย่างมาก

เรื่องกิจกรรมทางเพศเป็นทั้งภาวะผ่อนคลายขณะเดียวกันก็มีการสูญเสียพลัง เพศสัมพันธ์ที่เหมาะสมช่วยให้มีการพักผ่อนและหลับสบาย แต่เพศสัมพันธ์ที่มากเกินไปทำลายสุขภาพ นอกจากจะเสียพลังแล้วยังสูญเสียสารจำเป็นซึ่งจะทำลายอวัยวะภายใน คือ ไต (ทัศนะแพทย์จีนไม่ได้หมายถึงไตในเชิงกายวิภาค แต่รวมถึงต่อมหมวกไต และระบบฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องด้วย) ทำให้เมื่อยล้า, ปวดเอว, เข่าอ่อนแรง, มึนงง, ไม่มีแรง, เสียงดังในหู, กามตายด้าน, หลั่งเร็ว หรืออาการประจำเดือนไม่ปกติในสตรี
กิจกรรมทางเพศจึงควรเสริมการพักผ่อน, หลับนอน ไม่ใช่ไปเพิ่มการสูญเสียพลังและสารจำเป็น ซึ่งจะกระทบกระเทือนสุขภาพในระยะยาว

หลักการปฏิบัติตัวให้เกิดสมดุลและเหมาะสมกับสภาพเงื่อนไขของเวลา, บุคคล, สภาพแวดล้อม และดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่มากไป, น้อยไป คือ สมดุลของชีวิตที่ทำให้มีสุขภาพที่ดีและยืนยาว

ข้อมูลสื่อ

219-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 219
กรกฎาคม 2540
แพทย์แผนจีน