• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การศึกษาเพื่อพัฒนาสติปัญญาและจิตสำนึกของเด็ก

การศึกษาเพื่อพัฒนาสติปัญญาและจิตสำนึกของเด็ก


ครั้งที่แล้วได้พยายามถ่ายทอดคำบรรยายของ Dr.Joseph Chilton Pearce ในหัวข้อ “Education for Higher Stages of Consciousness” คือ หัวข้อภาษาไทยข้างบนอย่างกระท่อนกระแท่น ฉบับนี้ก็ต้องรายงานต่อแบบขาดๆ แหว่งๆ เหมือนเดิม คราวนี้ไม่ใช่เพราะฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่เป็นเพราะมีวิทยุติดตามตัวเรียกบ่อย จึงต้องออกไปโทรศัพท์นอกห้องประชุมหลายช่วง ทำให้พลาดคำบรรยายของผู้อภิปรายหลายท่านหลายตอน เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้เราสมาธิสั้นเช่นนี้เอง เมื่อ ดร.เพรียส บรรยายจบมีผู้ถามท่านว่า การฝึกให้เด็กนั่งสมาธิตั้งแต่เล็กมีผลดีหรือผลเสียอย่างไร ท่านตอบว่า ควรปล่อยให้เด็กมีเวลาเป็นตัวของตัวเอง เด็กจะมีสมาธิดีมาก คนเรายิ่งโตยิ่งขาดสมาธิ เด็กๆ มีสมาธิดีกว่าผู้ใหญ่ถ้าไม่ถูกรบกวน

คำถามต่อมา คือ ถ้าให้เด็กวัย ๓ ขวบ เรียนคอมพิวเตอร์จะมีผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กหรือไม่
ดร.เพรียส ตอบว่า เคยมีการประชุมทางวิชาการเรื่องผลของคอมพิวเตอร์ต่อระบบสมอง สรุปได้ว่าเด็กควรเรียนคอมพิวเตอร์เมื่ออายุ ๑๐-๑๒ ขวบขึ้นไป ในช่วงปฐมวัยเด็กควรเรียนรู้จากคน ไม่ใช่จากเครื่อง คุณแม่ท่านหนึ่งถามว่า คุณแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้านไม่มีโอกาสดูแลลูก ไม่มีเวลาปฏิสัมพันธ์ด้านอารมณ์ ความรู้สึกกับลูก ควรทำอย่างไร

ท่านตอบว่า คุณภาพชีวิตมีผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก แต่มาตรฐานความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจไม่มีผลต่อพัฒนาการทางสมองของลูก หากแม่ให้นมลูกตั้งแต่แรกเกิด จะช่วยเปิดระบบสมองของแม่และกระตุ้นให้แม่พยายามทุกวิถีทางที่จะอยู่กับลูก เลี้ยงดูฟูมฟักลูกด้วยตนเอง ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการด้านอารมณ์ความรู้สึกและสติปัญญาของลูก คุณหมอนิตยา คชภักดี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาตเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว เป็นผู้อภิปรายแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นที่ ดร.เพรียส นำเสนอ คุณหมอนิตยาย้ำว่า เด็กที่ดูโทรทัศน์มาก จะพัฒนาด้านการพูดช้า เด็กสมัยนี้มีจำนวนไม่น้อยที่กลายเป็น “ลูกกำพร้าเทียม” เพราะพ่อแม่ลงทุนให้ลูกเฉพาะด้านวัตถุ ซึ่งเปรียบเสมือนขยะสำหรับเด็กเล็ก เด็กขาดความอบอุ่นและขาดจิตนาการ คิดไม่เป็นเพราะรับด้านเดียวจากโทรทัศน์ กลายเป็นทาสของสื่อ เด็กที่ดูโทรทัศน์มากมักมีโคเรสเตอรอลสูง เคลื่อนไหวน้อย การโต้ตอบปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นน้อย เพราะเวลาดูโทรทัศน์ ทุกคนก็ต่างคนต่างดู ไม่ต้องจำเป็นต้องสัมพันธ์กัน

นอกจากนี้ เด็กยังได้รับการกระตุ้นผิดๆ บางคนอายุเพิ่ง ๕ เดือน พ่อแม่เฝ้านับเลขให้ฟังจนเด็กพูดช้าเพราะเบื่อหน้าแม่ ไม่อยากคุยด้วย เจอหน้าแม่ทีไร แม่ก็นับเลขให้ฟังจนลูกเซ็ง คุณหมอนิตยาทักท้วงความคิดของ ดร.เพรียส ที่กล่าวว่า ปัญหาเด็กฆ่าตัวตาย ปัญหาความรุนแรงในวัยเด็ก เกิดขึ้นในอเมริกาและญี่ปุ่นเพราะการคลอดบุตรในโรงพยาบาล ทำให้แม่ลูกขาดความสัมพันธ์ด้านอารมณ์ความรู้สึกตั้งแต่แรกเกิด และคิดว่าการคลอดลูกแบบธรรมชาติดีที่สุด คุณหมอนิตยากล่าวว่า สำหรับเมืองไทยเรา การคลอดตามธรรมชาติยังมีปัญหาด้านความสะอาดและความปลอดภัย เราพยายามผลักดันให้แม่มาคลอดในโรงพยาบาลมากขึ้น จากสถิติการคลอดในโรงพยาบาลร้อยละ ๓๐ ก็พยายามผลักดันให้สูงขึ้นเป็นร้อยละ ๖๐-๗๐ และพัฒนาโรงพยาบาลให้เป็นโรงพยาบาลสายสัมพันธ์พ่อแม่ลูกหรือ Baby Friendly Hospital ซึ่งเน้นเรื่องให้แม้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่แรกคลอด เพราะสัมผัสแรกของแม่ลูกแรกคลอดนั้นสำคัญมาก

ท่านเน้นว่า สมองต้องอยู่ในหัวใจ และเด็กควรอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ หากสภาพแวดล้อมขาดป่าไม้ ขาดสัตว์ เด็กๆ ก็ไม่มีโอกาสเรียนรู้กับธรรมชาติ ท่านเล่าให้ฟังถึงเด็กอายุ ๓ ขวบ ที่บ้านหนองประทาว อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น มีคุณยายเป็นผู้เลี้ยงดู เพราะแม่ไปทำงานในโรงงานอยู่กรุงเทพฯ คุณยายพาหลานเดินไปศูนย์เด็ก ระหว่างทางเด็กเห็นผีเสื้อก็สนใจ คุณยายคุณหลานจึงหยุดดูอยู่ด้วยกัน หลานก็ช่างซักช่างถามคุณยายจ้อยๆ ความสัมพันธ์แบบนี้ คือ การเรียนรู้ของเด็ก กระบวนการศึกษาต้องเน้นปฏิสัมพันธ์ (interactive Learning) คือ ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก ครูกับลูกศิษย์ และผู้ใหญ่กับเด็ก

ต่อจากนั้น พระสันติกโร จากวัดโมกขพลาราม (นานาชาติ) ได้พูดถึงเรื่องการประสานศาสนากับวิทยาศาสตร์และสังคม ดร.เพรียสต่างกับนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ เพราะท่านหลุดจากกรอบของวัตถุนิยม คือระบบที่คิดแบบวัตถุเป็นกลาง เนื่องจาก ดร.เพรียสเคยไปอยู่อาศรมที่ประเทศอินเดีย ท่านจึงมองว่า พื้นฐานที่แท้นั้นไม่ใช่วัตถุ จิตใจมีความสำคัญมากกว่า ท่านสันติกโรกล่าวว่า electro macnetic energy ของ ดร.เพรียส คือ ลมปราณ ซึ่งคนจีนเรียกว่า ฉี้ เลือดลมเดินดีก็รู้สึกสบาย การเรียนรู้และการพัฒนาของคนเราไม่ดีขึ้นอยู่กับระบบการศึกษาที่จัดไว้ ท่านพุทธทาส กล่าวว่า เราต้องช่วยให้คนศึกษาด้วยตนเองตามแรงผลักดันที่อยู่ในตัวเอง โดยให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของเขา

ท่านสันติกโรเน้นว่า การคลอดบุตรต้องคลอดแบบให้ความสำคัญต่อมิติทุกมิติของชีวิต ไม่ใช่คำนึงถึงความปลอดภัยของร่างกายเพียงอย่างเดียว ต้องนึกถึงเรื่องจิตใจด้วยและว่า คลอดในรงพยาบาลก็มีปัญหา ตายในโรงพยาบาลก็น่ากลัว เช่น กรณีของท่านพุทธทาส หมอยึดเอาตัวท่านไปอยู่ในโรงพยาบาลเพราะหมอไม่เข้าใจเรื่องจิตวิญญาณ รู้แต่เรื่องสารเคมีในร่างกาย การอภิปรายยังไม่จบ ถึงจะขาดๆ แหว่งๆ

ข้อมูลสื่อ

219-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 219
กรกฎาคม 2540
พ่อ-แม่-ลูก