• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สัญญาณเตือนภัยไข้เลือดออก

สัญญาณเตือนภัยไข้เลือดออก

๑. เหตุเกิดที่กรุงเทพฯ

๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๐ น้องเอ สาวน้อยน่ารัก นักศึกษาวัย ๑๘ ปี เสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออก ๒ สัปดาห์ต่อมา คุณน้อยหญิงสาวอายุ ๓๕ ปี กำลังสำคัญของครอบครัวและหน่วยงาน เสียชีวิตด้วย ไข้เลือดออก อาการคล้ายกับน้องเอ บ้านน้องเอ อยู่บางแค กรุงเทพฯ บ้านคุณน้อย อยู่บางบ่อ สมุทรปราการ พี่สาวน้องเอเป็นไข้เลือดออกต้องไปอยู่โรงพยาบาลเพิ่งทุเลา เด็กข้างบ้านคุณน้อยก็เป็นไข้เลือดออก น้องเอและคุณน้อย มีระยะเวลาตั้งแต่เริ่มอาการป่วยจนถึงแก่กรรมราว ๑๐ วัน ก่อนหน้านั้นแข็งแรงดี อาการเริ่มด้วยไข้สูงมาก กินยาพาราเซตามอล ไข้ลดลงเป็นระยะ เป็นไข้อยู่ ๓ วัน ดูเหมือนจะดีขึ้น ไข้ลดแล้วกลับมีไข้สูงอีก อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน กินอาหารไม่ได้ ในวันที่ ๕ หลังเริ่มป่วย มีอาการกระสับการะส่าย ท้องอืด ถ่ายเหลวมีเลือดออกในอุจจาระ ตับและไตไม่ทำงาน ผู้ป่วยช็อก เลือดออกในช่องท้อง ต้องผ่าตัดด่วน แม้จะให้ยา ให้เลือด ให้พลาสม่าสด ให้เกล็ดเลือด ให้การรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้

หญิงสาวทั้ง ๒ คนเสียชีวิตในโรงพยาบาลใหญ่ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ทั้งที่ได้รับการดูแลรักษาสุดความสามารถ ก่อความโศกเศร้าอาดูรต่อครอบครัวและญาติมิตร นอกจาก ๒ รายนี้แล้ว ยังมีผู้ป่วยไข้เลือดออกรุนแรงเช่นนี้ที่โรงพยาบาลอื่นอีกหรือไม่? โรคอะไรจะรุนแรงขนาดนี้! แล้วจะมีรายอื่นตามมาอีกไหม? ทีมแพทย์ พยาบาลจะเตรียมการตั้งรับอย่างไร? ถ้าพวกเราทุกคนช่วยกันเต็มที่จะป้องกันภัยไข้เลือดออกได้ทันเวลาหรือไม่?

สัญญาณเตือนภัย...ไข้เลือดออกเริ่มขึ้นแล้ว เพิ่งจะเดือนมิถุนายนต้นกรกฎาคม ยังไม่ถึงวันเข้าพรรษา ฝนยังไม่ลงหนัก ก็พบผู้ป่วยไข้เลือดออกหนาตา แล้วอีก ๒-๓ เดือนข้างหน้า เมื่อฝนตก...น้ำขัง...ยุงไข่ ประชากรยุงลายเพิ่มมากขึ้น อะไรจะตามมา...
 
๒. โรคไข้เลือดออก
ชื่อโรคไข้เลือดออก บ่งบอกอาการสำคัญ คือไข้สูงกับเลือดออก อาการเฉียบพลันในผู้ที่แข็งแรงดีมาก่อน พบผื่นหรือจุดเลือดออกหรือจ้ำเขียวที่ผิวหนัง เลือดกำเดาออก อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระปัสสาวะมีเลือดปน มีเลือดซึมจากตำแหน่งรอยเข็มฉีดยาหรือเจาะเลือด หรือตามเยื่อเมือก เลือดออกที่อวัยวะภายใน ผู้ป่วยเสียชีวิตจากอาการช็อกและเสียเลือด

ไข้เลือดออกที่มีการระบาดพบผู้ป่วยหลายรายในเวลาใกล้เคียงกัน มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส เชื้อไวรัสสาเหตุไข้เลือดออกมีมากมายหลายชนิด แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคของโลก อาจแบ่งได้เป็น ๓ กลุ่ม

กลุ่มแรก พบเชื้อในคนหรือลิงบางชนิด และมียุงเป็นพาหะนำเชื้อ ตัวอย่างเช่น ไข้เหลือง (Yellow fever) และไข้เดงกี่ (Dengue fever) ผู้ป่วยบางรายติดเชื้อเดงกี่มีอาการไข้เลือดออกรุนแรงเรียกว่า ไข้เลือดออกเดงกี่ (Degue hemorrhagic fever)

กลุ่มที่ ๒ พบเชื้อในสัตว์แทะประเภทหนู คนได้รับเชื้อจากหนูทางการหายใจ หรือสัมผัสกับหนูที่ติดเชื้อ ตัวอย่างเช่น ไข้เลือดออกฮันทัน (Haantan hemorrhagic fever) เชื้อไวรัสตัวนี้แยกได้ครั้งแรกจากหนูบริเวณแม่น้ำฮันทัน ซึ่งเป็นเส้นขนานแบ่งประเทศเกาหลีเหนือและใต้ เป็นสาเหตุที่ทำให้ทหารอเมริกันป่วยตายจำนวนมากในสงครามเกสหลีด้วยโรคไข้เลือดออกที่มีอาการทางไตร่วมด้วย ไข้เลือดออกจากไวรัสกลุ่มนี้กำลังได้รับความสนใจมาก เนื่องจากพบได้ในหลายประเทศ และติดต่อได้ทางการหายใจ

กลุ่มที่ ๓ เข้าใจว่า น่าจะมีการติดเชื้อในลิงบางชนิด และติดต่อมายังคนโดยถูกลิงกัด หรือสัมผัสเลือดและซากศพลิง ตัวอย่างเช่น ไข้เลือดออกมาร์บูร์ก (Marburg hemorrhagic fever) ซึ่งเชื้อมีลักษณะคล้ายคลึงกับเชื้อไวรัสอีโบล่า (Eblola virus) ซึ่งเป็นสาเหตุของไข้เลือดออกรุนแรงที่พบในแอฟริกา

 
๓. ไข้เลือดออกที่พบในประเทศไทย
โรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่เข้าใจว่าเริ่มพบผู้ป่วยในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๒
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่แยกเชื้อต้นเหตุไม่ได้จึงเรียกว่า ไข้เลือดออกไทย (Thai hemorrhagic fever) โรคไข้เลือดออกระบาดชัดเจนพบครั้งแรกในประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗ แพทย์ฟิลิปปินส์เรียกไข้เลือดออกฟิลิปปินส์ (Philippine hemorrhagic fever) นับแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๑ มีการระบาดของไข้เลือดออกเดงกี่ในประเทศไทยทุกปีจำนวนผู้ป่วยมากบ้าง น้อยบ้าง อันตรายสูงมากถึงร้อยละ ๑๐ เมื่อแรกพบ ต่อมาแพทย์สามารถวินิจฉัยและให้การรักษาได้เหมาะสม อัตราการตายลดลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ ๑ ไข้เลือดออกเดงกี่นี้พบได้หลายประเทศในแถบเอเชีย เช่น ฟิลิปปินส์ ไทย บังกลาเทศ เมียนมาร์ (พม่า) อินโดนีเซีย ศรีลังกา เวียดนาม มัลดีฟ จีน อินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซีย หมู่เกาะแปซิฟิก ขณะนี้เริ่มพบในทวีปอเมริกา ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยนักเรียน แต่ก็พบได้ในวัยรุ่น ผู้ใหญ่ และเด็กเล็ก

 
๔. อาการโรคไข้เลือดออกเดงกี่
การติดเชื้อไข้เลือดออกเดงกี่แสดงอาการโรค ๒ แบบ คือ

ไข้เดงกี่ อาการไม่รุนแรง ระยะฟักตัว ๔-๖ วัน หลังจากถูกยุงที่มีเชื้อกัดเริ่มด้วยไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อตามตัว ผื่นขึ้น มักพบในผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อเดงกี่ครั้งแรก ส่วนใหญ่หายในเวลา ๑-๒ สัปดาห์ ในประเทศที่มีเชื้อชุกชุมพบการติดเชื้อครั้งแรกตั้งแต่เด็ก มักไม่พบผู้ป่วยไข้เดงกี่ แต่พบไข้เลือดออก

ไข้เลือดออกเดงกี่ เชื้อไวรัสเดงกี่แบ่งเป็น ๔ ชนิด คือ เชื้อเดงกี่ทัยป์ ๑, ๒, ๓, และ ๔ เมื่อติดเชื้อทัยป์ใดทัยป์หนึ่ง จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อทัยป์เดิมเกิดขึ้นไม่ติดเชื้อทัยป์เดิมอีก แต่จะติดเชื้อทัยป์อื่นได้ ผู้ที่ติดเชื้อเดงกี่ครั้งที่สองมักแสดงอาการรุนแรง มีเลือดออก และช็อก อาการไข้เลือดออกเดงกี่ เริ่มด้วยอาการฟักตัว ๔-๖ วัน และมีไข้สูง อาการคล้ายกับไข้เดงกี่ มักมีไข้อยู่ ๓-๔ วัน แล้วไข้เริ่มลดลง ในวันที่ ๒ ถึงวันที่ ๗ หลังจากไข้เริ่มลด เป็นระยะที่ต้องระวัง เพราะเป็นระยะที่ผู้ป่วยช็อกและมีเลือดออก อาการที่พบร่วม คือ คลื่นไส้อาเจียน กินอาหารไม่ได้ ปวดท้อง เจ็บชายโครงขวาเนื่องจากตับโต พบจุดเลือดออกหรือจ้ำเขียว อาจพบเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ
 
สัญญาณอันตรายของไข้เลือดออกเดงกี่

๑. ไข้สูงมาก เกิน ๓๘.๕ องศาเซลเซียส จำเป็นต้องพบแพทย์ ห้ามกินยาลดไข้พาราเซตามอลเอง เกินกว่า ๑ ครั้งใน ๔ ชั่วโมง จำเป็นต้องกินให้ห่างกันไม่ต่ำกว่า ๔-๖ ชั่วโมง เนื่องจากพาราเซตามอล มีพิษต่อตับ และห้ามกินแอสไพรินเพราะจะทำให้เลือดออกง่าย หากอาการไข้ไม่ดีขึ้นให้พบแพทย์และบอกแพทย์ถึงยาและเวลาที่กิน

๒. คลื่นไส้อาเจียนมาก ควรพยายามให้จิบน้ำผลไม้หรือเครื่องดื่มน้ำข้าวต้ม น้ำเกลือแร่ ถ้ากินไม่ได้ ต้องรีบไปพบแพทย์

๓. ปวดท้อง ท้องอืด เจ็บภายในช่องท้อง

๔. เลือดออก อาจเป็นเลือดกำเดา จ้ำเลือด ประจำเดือนออกมากผิดปกติ ถ่ายเหลวดำ อาเจียนเป็นเลือด

๕. การป้องกันและควบคุม ขณะนี้วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ยังอยู่ในระยะค้นคว้าทดลองวิธีควบคุมไข้เลือดออกที่ได้ผล คือ

  • ช่วยกันรณรงค์ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่พบรอบบ้าน โรงเรียน และสถานที่อื่นๆ กำจัดน้ำขังที่พบในจานรองกระถางต้นไม้ ยางรถยนต์ กระป๋อง กะลา หมั่นคว่ำภาชนะขังน้ำฝนให้น้ำแห้ง เปลี่ยนน้ำขาตู้กับข้าว และแจกันปลูกต้นไม้ประเภทพลูด่าง เปลี่ยนน้ำในภาชนะที่ขังไว้ใช้ ปิดฝาโอ่งไม่ให้ยุงวางไข่ ทำลายลูกน้ำและยุง
  • ระมัดระวังไม่ให้ถูกยุงกัด ยุงลายเป็นยุงที่ออกกินเวลากลางวัน ต้องป้องกันเด็กเล็กที่นอนกลางวัน อย่าให้นอนที่มืดอับถูกยุงกัด ควรให้นอนในห้องมุ้งลวดหรือมีมุ้งครอบ
  • ระมัดระวังไม่ให้ยุงกัดผู้ป่วยที่มีไข้ เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อต่อไป

ปี พ.ศ.๒๕๔๐ นี้ ประเทศไทยบอบช้ำและสูญเสียทางเศรษฐกิจมากพออยู่แล้ว เป็นหน้าที่ของเราทุกคนต้องช่วยกันป้องกันไข้เลือดออกก่อนที่จะพบความสูญเสียของบุคคลผู้เป็นที่รักตามมาซ้ำเติม เนื่องจากภัยไข้เลือดออกที่ป้องกันได้

ข้อมูลสื่อ

220-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 220
สิงหาคม 2540
โรคน่ารู้
รศ.พญ.จันทพงษ์ วะสี