• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฤดูกาลกับการปฏิบัติตัว เพื่อให้เกิดสมดุล

ฤดูกาลกับการปฏิบัติตัว เพื่อให้เกิดสมดุล

 
ได้กล่าวถึงธรรมชาติมีผลกระทบต่อสุขภาพคนที่จะมีสุขภาพดี ต้องเรียนรู้ธรรมชาติ และดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ คนจีนโบราณเขามีหลักในการปฏิบัติตัวให้สอดคล้องกับฤดูกาลอย่างไร? ลองติดตามดูซิครับ

ประเทศจีนนั้นโดยทั่วไปจะมีฤดูกาลอยู่ ๔ ฤดู โดยแต่ละฤดู มีระยะเวลา ๓ เดือน แต่ละฤดูมีลักษณะแปรเปลี่ยนของอากาศ คือ ฤดูใบไม้ผลิ อากาศอบอุ่น, ฤดูร้อน อากาศร้อนอบอ้าว, ฤดูใบไม้ร่วง อากาศเย็น, ฤดูหนาว อากาศหนาวเย็นยะเยือก การเปลี่ยนแปลงของอากาศมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสารในร่างกายและมีผลต่อจิตใจ การแพทย์จีนเชื่อว่าการตระเตรียมร่างกายและจิตใจให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทำให้โรคภัยไข้เจ็บไม่เบียดเบียน เช่น
 

  • ฤดูใบไม้ผลิ

มีระยะเวลา ๓ เดือน ธรรมชาติเริ่มต้นเคลื่อนไหว ต้นไม้ใบหญ้า เริ่มแตกหน่อ สรรพสิ่งเริ่มงอกงาม พลังผลักดันของธรรมชาติสูง ควรนอนหลับตั้งแต่หัวค่ำ ตื่นนอนแต่เช้า การนอนหัวค่ำเพื่อดูดซับพลังยินแก่อวัยวะภายใน ตื่นนอนแต่เช้า เดินเล่นหรือออกกำลังกาย เพื่ออาศัยพลังหยางในฤดูกาลนี้หย่อนคลายกล้ามเนื้อและผ่อนคลายจิตใจ (เมื่อถึงฤดูร้อนก็จะมีพลังไปสอดรับกับภาวะความร้อนอบอ้าว)
นอกจากนี้ ฤดูใบไม้ผลิ คนมักเป็นหวัดบ่อย ต้องระวังเรื่องเสื้อผ้า การเปลี่ยนแปลงของอากาศและการกินอาหาร มีข้อแนะนำคือ ให้ใช้นิ้วหัวแม่มือนวดบริเวณ ๒ ข้างของปีกจมูก จุดอิ๋งเซียง (วันละ ๑ ครั้ง ครั้งละ ๑๐-๑๕ นาที ทุกเช้า)
 

  • ฤดูร้อน

ในช่วง ๓ เดือนของคิมหันตฤดูเป็นฤดูกาลที่สรรพสิ่ง ต้นไม้ใบหญ้าเจริญเติบโตงอกงาม พลังหยางของธรรมชาติแกร่งมีผลต่อหัวใจ (ธาตุไฟ อันรวมกับภาวะทางจิตใจ) ข้อแนะนำ ควรนอนแต่หัวค่ำ เพื่อสะสมพลังยินให้มาก ขณะเดียวกัน ให้ตื่นเช้าเดินเล่นออกกำลังกาย เพื่อปรับร่างกายให้รับพลังหยางเป็นการอุ่นเครื่องเตรียมรับอากาศร้อน อากาศร้อนจะกระตุ้นธาตุไฟ (หัวใจ-อารมณ์) จึงต้องควบคุมจิตใจไม่ให้หงุดหงิดหรือมีโทสะง่าย มิฉะนั้นจะทำให้พลังหัวใจได้รับผลกระทบ ซึ่งจะไปแสดงผลในช่วงฤดูใบไม้ร่วงหรือฤดูหนาว ซึ่งจะทำให้ร่างกายกลัวหนาว (ทนความหนาวไม่ได้) มีไข้สูง

อากาศร้อนมักทำให้นอนหลับไม่สนิท กินอาหารได้น้อย เหงื่อออกมาก น้ำหนักตัวจะลด ร่างกายไม่มีความกระตือรือร้น อาหารที่เลือกกินควรเป็นผักและผลไม้ที่มีคุณสมบัติไปทางยิน (คุณสมบัติเย็น) ระวังการติดเชื้อทางเดินอาหาร การดื่มน้ำเย็นหรือเครื่องดื่มที่เย็นต้องระวังในคนที่มีระบบการย่อย (กระเพาะอาหาร ม้ามบกพร่อง) เพราะจะทำให้อาเจียน ปวดท้อง ให้ระวังบริเวณช่วงท้อง อย่าให้กระทบความเย็น เพราะจะมีผลต่อระบบการย่อยทำให้การย่อยเสียสมรรถภาพ การออกกำลังกายควรกระทำก่อนพระอาทิตย์ขึ้น หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่มากเกินควร หรือมีการเสียเหงื่อมาก เพราะจะเป็นการทำลายพลังภูมิคุ้มกันของร่างกาย
 

  • ฤดูใบไม้ร่วง

เป็นฤดูของการเก็บเกี่ยว อากาศในช่วงเริ่มต้นของฤดูจะมีลักษณะร้อน และค่อยๆเปลี่ยนเป็นเย็นสบาย อุณหภูมิในเวลากลางวันและกลางคืนต่างกันไม่มาก การเข้านอนและการตื่นนอน ยังยึดหลักเข้านอนแต่หัวค่ำ ตื่นนอนแต่เช้าเพื่อเก็บรับพลังยิน (ให้เกิดสมดุลจากภาวะพลังหยางที่ต้องใช้ในช่วงกลางวัน) ขณะเดียวกันให้ตื่นนอนเช้า เพื่อรับพลังหยาง ฤดูกาลนี้พลังปอดมีความสำคัญ ถ้าผิดกฎเกณฑ์ก็จะทำให้พลังปอดอ่อน ถึงฤดูหนาวจะเกิดปัญหาระบบการย่อยอาหารเสื่อมถอย อาหารไม่ย่อย อาเจียนได้ง่าย เป็นบิดท้องเสียและโรคทางเดินอาหารและลำไส้ รวมถึงระบบทางเดินหายใจด้วย
 

  • ฤดูหนาว

เป็นช่วงเก็บสะสมพืชพันธุ์ ธัญญาหารในธรรมชาติ สัตว์และพืชก็จะลดการเคลื่อนไหวสู่ความสงบ จึงเป็นช่วงของการพักและสะสมพลังงานของสรรพสิ่ง ต้องนอนพักผ่อนให้มากพอ ร่างกายต้องให้มีความอบอุ่น ระวังการเสียพลังงาน เช่น เสียเหงื่อมากเกินไป ระวังการได้รับความเย็นเกินขนาด ฤดูนี้เป็นช่วงจังหวะดีที่สุดในการบำรุงร่างกาย โดยเฉพาะพวกยาบำรุง (ยาโป้ว ซึ่งมีลักษณะร้อนเป็นส่วนใหญ่) เป็นช่วงของการสะสมพลังของร่างกายเพื่อให้มีภาวะที่สมบูรณ์ที่สุดสำหรับการเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิปีต่อไป
ฤดูหนาวมีการเปลี่ยนแปลงของอากาศที่รุนแรง ในช่วงแรกอากาศหนาวมาก (พลังยินแกร่ง) ในช่วงหลัง พลังหยางเริ่มสูงขึ้น อากาศหนาวน้อยลงจึงต้องระมัดระวังเรื่องไข้หวัด และโรคระบบทางเดินหายใจ

การแพทย์จีนให้ความสำคัญของการเกิดโรคอยู่ที่การเข้าใจภาวะของธรรมชาติ และเสนอวิธีการปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การหลับ การตื่นนอน อาหาร การนุ่งห่มเสื้อผ้า การควบคุมอารมณ์ การออกกำลังกาย ฯลฯ เพื่อให้มีการสมดุลกับการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งป้องกันและทั้งส่งเสริมร่างกายให้สอดคล้องกับฤดูกาลใหม่ที่จะตามมาด้วย

ปรัชญาการแพทย์และสุขภาพจึงเป็นปรัชญาของการดำเนินชีวิต

ข้อมูลสื่อ

220-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 220
สิงหาคม 2540
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล