• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กไม่กล้าแสดงออก

เด็กไม่กล้าแสดงออก


ดิฉันมีหลานชายชื่อหนึ่ง อายุ ๑๑ ปี พ่อแม่ของหนึ่งเลิกกันมาหลายปีแล้ว ต่างฝ่ายต่างไปมีครอบครัวใหม่ หนึ่งอยู่กับแม่ พ่อเลี้ยงและน้องคนใหม่ แต่ก็อยู่รวมกันในบ้านที่มีดิฉันเป็นป้า ยาย และน้า ๆด้วย บ้านเราอยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ เรื่องที่หนึ่งจะถูกพ่อเลี้ยงรังแกคงไม่มี และพ่อเลี้ยงก็สงสารหนึ่งด้วย แต่เรื่องจิตใจของหนึ่ง ดิฉันรู้ว่าเขาคงไม่อยากให้พ่อแม่เลิกกัน หนึ่งยิ่งโตก็ยิ่งเป็นเด็กไม่กล้าแสดงออก ชอบหลบตาเวลาถูกยายดุ หรือเวลายายให้ไปหาเพื่อนบ้าน หนึ่งจะมีท่าทีประหม่า ขลาด แต่ก็ไม่ใช่อาการของเด็กขี้อาย ดิฉันไม่อยากให้หนึ่งมีบุคลิกแบบนี้เลย จะแก้ไขอย่างไรคะ ดิฉันกลัวว่า ตอนนี้เขาเงียบๆ เฉยๆ แต่พอย่างเข้าวัยรุ่นแล้วเขาจะแสดงออกในทางที่ผิด
ขอให้คุณหมอช่วยแนะนำด้วยนะคะ

 
วราพร/กรุงเทพฯ
ป้าหมอรู้สึกขอบคุณคุณวราพรแทนน้องหนึ่งหลานชายที่คุณวราพร กำลังเป็นห่วง ป้าหมออยากจะบอกว่าตอนนี้หนึ่งไม่มีเจ้าของ เพราะพ่อแม่ของหนึ่งก็เลิกกันมาหลายปีแล้ว แล้วต่างฝ่ายต่างก็ไปมีครอบครัวใหม่ คุณวราพรเล่าว่าหนึ่งอยู่กับแม่ พ่อเลี้ยงและน้องคนใหม่ หนึ่งต้องเปรียบเทียบแม่ในใจ เพราะครอบครัวใหญ่มีข้อเปรียบเทียบตลอดเวลา การมีหลายๆครอบครัวมาอยู่ร่วมกัน มีญาติจำนวนมาก ญาติบางคนก็มีครอบครัว ญาติบางคนก็อาจจะเป็นโสด หนึ่งไม่รู้ว่าเป็นของใครในเมื่อแม่ก็มีพ่อใหม่แม่คงเป็นของพ่อใหม่ ป้าหมอคิดแทนหนึ่งว่าแม่ก็มีน้องใหม่ แม่ก็เป็นของน้องใหม่ แล้วน้องใหม่ก็เป็นของแม่และของพ่อใหม่ และหนึ่งจะมีใครอีก ป้าหมอเชื่อว่า หนึ่งจะไม่ถูกรังแกทางกายแน่นอน แต่ทางใจนับเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หนึ่งคงไม่ค่อยสบายใจนัก มีใครเข้าใจหนึ่งหรือเปล่า

คุณวราพรคะ คุณคงสงสารและอยากจะช่วยหนึ่ง อย่าสงสารอย่างเดียวนะคะขอให้รีบช่วยหนึ่งเลย คุณเล่าเองว่าเดี๋ยวนี้หนึ่งยิ่งโตก็เป็นเด็กไม่พูด ไม่กล้าแสดงออก หนึ่งคงขาดความรู้สึกดีๆในตัวเอง เลยทำให้ไม่กล้าแสดงออก เวลายายดุก็หลบตา เพราะหนึ่งขาดความมั่นใจในตัวเอง หนึ่งไม่กล้าชี้แจง ไม่กล้าพูดถึงเหตุผล และไม่กล้าต่อรองยาย ดีที่สุดที่หนึ่งทำได้ ก็คือ เฉยๆ แล้วหลบตายายโดยไม่รู้ว่า ตอนที่ยายดุนั้นหนึ่งผิดหรือหนึ่งถูก รวมทั้งที่คุณยายดุ เพราะคุณยายคงรักและเป็นห่วง แต่คุณยายดุมากไปหรือเปล่า เพราะท่านเป็นผู้สูงอายุมักจะเห็นโลกมามาก แต่เด็กซึ่งอายุ ๑๑ ปี คงไม่สามารถทำให้ถูกใจท่านได้ทุกอย่าง โดยเฉพาะเด็กผู้ชายต้องกระโดกกระเดก ขวางหูขวางตา

ครอบครัวไหนที่มีลูกชายและลูกสาว พ่อแม่ก็จะเห็นว่าลูกชายดูจะสร้างปัญหากว่าลูกสาวทุกครอบครัว อันนี้เป็นความปกติของเด็กผู้ชาย ถ้าลูกผู้ชายเรียบร้อย ว่าง่าย สะอาด สะอ้าน และเจ้าระเบียบ ระวังหน่อยนะคะ เพราะอาจจะเป็นผู้ชายแต่ร่างกาย แต่ความรู้สึกและจิตใจเขากำลังกลายเป็นผู้หญิงหรือเปล่า น่าสงสัยจริง ยิ่งคุณวราพรเล่าว่า เวลาคุณยายให้ไปหาเพื่อนบ้าน หนึ่งก็จะมีท่าทางประหม่า ขลาด แต่ไม่ใช่อาการของเด็กขี้อาย จริงค่ะ หนึ่งไม่ใช่เด็กขี้อาย แต่หนึ่งไม่พร้อม หนึ่งอึดอัด หนึ่งกังวล และหนึ่งก็ไม่รู้ว่าจะพูดยังไงกับเพื่อนบ้านดี ตอนนี้คุณวราพรคงเห็นใจและเข้าใจหนึ่งมากขึ้นแล้วใช่ไหมคะ งั้นเรามาเริ่มต้นแก้ไขกันดีกว่า

ป้าหมออยากจะบอกว่า หนึ่งเหมือนคนแปลกหน้าที่อยู่กับคนหลายๆคน ปฏิบัติตัวเองไม่ค่อยถูกและหนึ่งก็เป็นเด็กผู้ชาย ซึ่งต้องการภาพพจน์ของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ถ้าคุณวราพรจะช่วยหลาน ช่วยได้ค่ะ อย่าเพิ่งท้อแท้ ถึงแม้คุณจะไม่ใช่เพศชาย งั้นเรามาเริ่มกันเลยดีไหมคะ ป้าหมอต้องถามคุณวราพรก่อนว่า คุณวราพรสนิทกับหนึ่งหรือเปล่า และคุณวราพรคิดว่าหนึ่งรู้สึกอย่างไรกับคุณวราพร ถ้ายังไม่สนิท คุณวราพรในสายตาหนึ่งอาจจะเป็นคนเจ้าระเบียบหรือเปล่า หรือดุไหม คราวนี้คุณต้องไปในมาดใหม่ ขอให้เข้าหาหนึ่งด้วยท่าทีธรรมดาๆ อย่าคุยกับหนึ่ง อย่าพูดกับหนึ่งในเรื่องที่เป็นการเป็นงานไป อย่าถามหนึ่งว่าเทอมนี้ได้เกรดเท่าไร หรือเรียนวิชาเลขเป็นอย่างไร เพราะนี่คือหัวข้อที่หนึ่งคงจะไม่เต็มใจคุยอย่างยิ่ง ถ้าหนึ่งมีปัญหาเรื่องการเรียน

เรื่องที่หนึ่งจะคุยกับคุณวราพรได้อย่างสบายๆ เช่น วันนี้ป้าวราพรไปตลาด หนึ่งอยากกินอะไร ป้าจะซื้อมาฝาก ถ้าหนึ่งยังเฉยหรือปฏิเสธนั้นแปลว่าหนึ่งยังไม่พร้อม แต่คุณไม่ต้องคอย “รุก” ได้เลย ซื้ออะไรก็ได้ที่คุณคิดว่าหนึ่งอาจจะชอบมาฝาก แต่ถ้าหนึ่งไม่กินหรือกินน้อย คุณอย่าไปบ่นว่าหรืออย่าเสียความรู้สึก เพียงแต่บอกหลานว่าป้าซื้อมาก็ไม่รู้ว่าจะถูกใจหนึ่งหรือเปล่า วันหลังเราไปซื้อด้วยกัน หนึ่งจะได้ช่วยป้าเลือกด้วย นี่แหละคุณกำลังรุกเข้าไปในขั้นที่สองแล้ว คือ การเข้าหาเด็ก การคบเด็ก คุยกับเด็กเรื่องธรรมดาๆ จะทำให้เด็กรู้สึกวางใจและเป็นมิตรกับเรา อาจจะชวนถามเฉียดไปเฉียดมา เช่น หนึ่งชอบฟังเพลงอะไร หนึ่งมีเพื่อนไหม ที่โรงเรียนเด็กๆ เรียนกันกี่คน แต่ถ้าคุณเห็นว่าเรื่องไหนคุยแล้วหนึ่งหยุดชะงัก เฉย หรือเงียบ คุณวราพรถอยออกมาก่อน ต้องทำอย่างนี้สม่ำเสมอทุกๆวัน จนทำให้หนึ่งรู้สึกคุ้นเคยกับคุณวราพรมากขึ้น แล้วหนึ่งก็จะไม่รู้สึกแปลกหน้ากับคุณวราพรอีกต่อไป

แรกๆคงมีหลายอย่างที่ท่าทีหรือปฏิกิริยาของหนึ่งชวนน่าเบื่อหน่ายและน่าดุ เช่น ประหม่า ขลาด ไม่แสดงออก คุณวราพรต้องแกล้งทำเป็นไม่เห็น แต่เมื่อหนึ่งพูดอะไร ชัดถ้อยชัดคำ คุณวราพรบอกได้เลยว่าดีจังพูดอย่างนี้ดูเข้มแข็ง ป้าชอบจังเลย นี่แหละเป็นคำแนะนำเด็กว่า เด็กควรจะเป็นอย่างไร แทนที่หนึ่งจะเป็นอย่างที่คุณเห็น แล้วเด็กก็จะดีขึ้น แต่อย่างว่าแหละค่ะ ต้องทำเป็นร้อยครั้ง พันครั้ง ทำซ้ำๆ จนหนึ่งรู้สึกว่าหนึ่งเป็นคนหนึ่งที่มีคุณค่าสำหรับคุณวราพร และคุณวราพรก็สามารถบอกคนอื่นได้ ก็ให้คนอื่นพูดจาปราศรัยกับหนึ่ง ซักถามพูดคุย ซื้อของมาฝาก สนใจหนึ่ง ถ้าเราสนิทกันมากขึ้นถึงขั้นที่เรียกว่าขอดูบทเรียนหนึ่งบ้าง ข้อไหนที่หนึ่งไม่เข้าใจ ป้าวราพรจะสอนให้ ก็ยิ่งทำให้คุณใกล้ชิดอีกมากขึ้น ตอนนี้แหละ เด็กก็จะขอคำแนะนำจากคุณ เริ่มเล่าเรื่องให้ฟัง และเด็กก็ได้เรียนรู้ผิดชอบชั่วดีกับคุณทีละเล็กละน้อย และคุณวราพรก็จะเห็นว่าเขาไม่ใช่เป็นเด็กที่เงียบๆ เฉยๆ แต่เขาจะเป็นวัยรุ่นที่กล้าแสดงออก มีเหตุมีผลและน่าภูมิใจทีเดียว

ถ้าผ่านระยะนี้ไปโดยที่ทางบ้านมองข้ามหรือคิดว่าไม่สำคัญ แน่นอนคะ โอกาสที่เขาจะเข้ากลุ่มผิดและแสดงออกในทางที่ผิด เนื่องจากขาดประสบการณ์ในชีวิตก็มีมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนีโรงเรียน ลักขโมย พูดโกหก หรือมีปัญหาเรื่องอื่นๆ มากมายก่ายกองตามมา ป้าหมอเอาใจช่วยนะคะ และเป็นงานที่ท้าทายคุณวราพรเหลือเกินลองทำดูก่อนค่ะ ป้าหมอคิดว่าหนึ่งคงจะโชคดีขึ้นและคงจะมีที่ปรึกษาที่ดีคือ คุณวราพรขอให้โชคดีนะคะ

ข้อมูลสื่อ

220-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 220
สิงหาคม 2540
ป้าหมอ