• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุน


กระดูกนับได้ว่าเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย คือ พบได้ตามร่างกายทุกแห่ง กระดูกเป็นส่วนประกอบของร่างกายที่มีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกายอย่างมาก โดยทำหน้าที่เป็นโครงร่างของร่างกาย ช่วยให้ร่างกายสามารถคงสภาพรูปร่างตามปกติได้ นอกจากนี้ กระดูกยังมีความสำคัญต่ออิริยาบถต่างๆ ของคนเรา ทำให้เราสามารถยืน เดิน นั่ง วิ่ง ตามปกติได้ หากปราศจากกระดูกหรือกระดูกมีความไม่แข็งแรงแล้วร่างกายจะไม่สามารถทำหน้าที่เหล่านี้ได้


นอกจากกระดูกจะมีความสำคัญในด้านเป็นโครงร่างของร่างกายแล้ว กระดูกยังมีความสำคัญคือเป็นแหล่งเก็บสะสมแคลเซียมที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย ปกติร่างกายของคนเราต้องการแคลเซียมเพื่อช่วยให้การทำงานของอวัยวะต่างๆ เป็นไปได้อย่างปกติ แคลเซียมที่ร่างกายต้องการนี้นอกจากได้มาจากอาหารที่กินในแต่ละวันแล้วยังเก็บสะสมไว้ในกระดูก เมื่อร่างกายต้องการใช้แคลเซียมเพิ่มขึ้น ร่างกายก็สามารถดึกแคลเซียมออกจากกระดูกมาใช้ได้ทันท่วงที เมื่อใดที่ร่างกายต้องการแคลเซียมลดน้อยลง แคลเซียมส่วนเกินก็จะสามารถเก็บไว้ในกระดูกเพื่อนำมาใช้ในคราวจำเป็นได้
 
โรคกระดูกพรุน คืออะไร?

โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่เนื้อกระดูกมีน้อยลงจนทำให้กระดูกเปราะและหักง่ายแม้ได้รับการกระทบกระเทือนเพียงเล็กน้อย สาเหตุของโรคกระดูกพรุนมีหลายอย่าง แต่ที่พบบ่อยที่สุดเกิดในสตรีวัยหมดประจำเดือนเนื่องจากขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนจากรังไข่ ปกติกระดูกของคนเรามีการเจริญเติบโตของร่างกาย และเนื้อกระดูกจะสะสมปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เกิดจนมีเนื้อกระดูกสูงสุดเมื่ออายุประมาณ ๒๐-๓๐ ปี หลังจากนั้น เนื้อกระดูกจะค่อยๆ ลดน้อยลงประมาณร้อยละ ๑ ต่อปี

ฮอร์โมนเอสโตรเจนจากรังไข่ในสตรีมีส่วนช่วยป้องกันการสึกหรอของกระดูก เมื่อสตรีหมดประจำเดือนไม่ว่าจะเป็นการหมดประจำเดือนตามธรรมชาติ หรือหมดประจำเดือนเพราะตัดรังไข่ออกทั้ง ๒ ข้างจะทำให้กระดูกมีการสึกหรอมากขึ้น อาจจะมากขึ้นร้อยละ ๕-๑๐ ต่อปีในสตรีที่หมดประจำเดือนใหม่ๆ บางราย การที่เนื้อกระดูกลดน้อยลงนี้ หากเป็นมากพอจะทำให้กระดูกเปราะจนเป็นโรคกระดกพรุน
โรคกระดูกพรุนนี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับกระดูกทั่วร่างกาย ไม่จำเพาะเจาะจงว่าเกิดขึ้นกับกระดูกเพียงบริเวณใดบริเวณหนึ่ง แต่บริเวณที่เกิดกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนบ่อย ได้แก่

๑. กระดูกสันหลังทรุดหรือหัก เกิดขึ้นได้ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการหกล้มหรือกระทบกระแทก ทั้งนี้เพราะกระดูกสันหลังจะต้องรับน้ำหนักตัวคนเราอยู่ตลอดเวลา กระดูกสันหลังทรุดหรือหักจากโรคกระดูกพรุนนี้ทำให้สตรีที่เป็นมีอาการปวดหลัง ตัวเตี้ยลง และในบางคนมีหลังโกงหรือค่อม หลายท่านคงจะเคยได้ยินผู้สูงอายุเล่าให้ฟังว่าเวลาแก่ตัวลง ท่านสังเกตเห็นว่าตัวเตี้ยลง ทั้งนี้เป็นเพราะเกิดกระดูกสันหลังทรุด จากโรคกระดูกพรุน และคงจะเคยเห็นคุณย่าหรือคุณยายหลังโกงหรือค่อมเวลาท่านอายุมาก สาเหตุส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะจากกระดูกสันหลังหักจากโรคกระดูกพรุนนั่นเอง

๒. กระดูกข้อมือหักเกิดจากการที่สตรีที่มีโรคกระดูกพรุนหกล้มแล้วเอามือยันพื้นตามสัญชาติญาณเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทบกระแทกต่อส่วนที่สำคัญของร่างกาย ในคนปกติการเอามือยันพื้นเวลาเกิดการหกล้มดังกล่าวมักจะไม่ทำให้เกิดกระดูกข้อมือหัก แต่ในสตรีที่มีโรคกระดูกพรุน เนื้อกระดูกมีน้อยและเปราะหักง่าย การหกล้มดังกล่าวจึงทำให้เกิดกระดูกหักบริเวณข้อมือได้

๓. กระดูกสะโพกหัก จากการหกล้มแล้วก้นหรือต้นขากระแทกพื้น กระดูกสะโพกหักจากโรคกระดูกพรุนนี้มีความรุนแรงกว่ากระดูกหักที่บริเวณอื่น ผู้ที่หกล้มและเกิดกระดูกสะโพกหักหากไม่รักษาจะไม่สามารถลุกขึ้นและเดินได้ตามปกติ นอกจากนี้ในผู้ที่ได้รับการรักษาแล้วก็มีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่สามารถเดินได้เหมือนเดิม ที่เหลือไม่สามารถเดินได้ หรือต้องนั่งรถเข็นไปตลอดชีวิต ก่อให้เกิดความทนทรมานอย่างมากทั้งแก่ตัวผู้ป่วยเอง และเป็นภาระแก่ผู้ใกล้ชิดในด้านการดูแลและค่าใช้จ่าย

ปัญหาโรคกระดูกพรุนเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่พัฒนาแล้วที่ประชาชนมีอายุโดยเฉลี่ยสูงมากกว่า ๗๐ ปีขึ้นไป มีการคาดคะเนกันว่า หากสตรีมีอายุยืนถึง ๙๐ ปี สตรีเหล่านี้ ๑ ใน ๓ จะเกิดกระดูกสะโพกหักจากโรคกระดูกพรุน สำหรับในประเทศไทยอายุโดยเฉลี่ยที่สตรีไทยหมดประจำเดือนคือประมาณ ๕๐ ปี และปัจจุบันสตรีไทยมีอายุขัยโดยเฉลี่ยประมาณ ๗๐ ปี ดังนั้น สตรีไทยโดยเฉลี่ยอาจจะมีชีวิตอยู่นานถึง ๒๐ ปีหรือมากกว่าหลังจากหมดประจำเดือนและขาดฮอร์โมนเพศหญิง ช่วงที่ขาดฮอร์โมนเพหญิงนี้ กระดูกจะบางลงมากขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้กระดูกหักได้ง่ายเมื่ออายุมากขึ้น
 

การป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุน

เนื้อกระดูกที่ลดน้อยลงไปแล้วจะทำให้กลับเพิ่มมาเหมือนปกติด้วยวิธีการรักษาในปัจจุบันเป็นไปได้ยากทำได้แต่เพียงชะลอไม่ให้เนื้อกระดูกลดน้อยลงไปอีกหรือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะฉะนั้นในปัจจุบันการป้องกันโรคกระดูกพรุนจึงมีความสำคัญมากกว่าการรักษาอย่างมาก การป้องกันโรคกระดูกพรุน กระทำได้ ๒ ระดับ คือ

๑. เพิ่มปริมาณเนื้อกระดูกตั้งแต่เด็ก เนื้อกระดูกในเด็กจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนสูงสุดประมาณช่วงอายุ ๒๐-๓๐ ปี มีปัจจัยหลายอย่างที่ช่วยส่งเสริมให้เนื้อกระดูกมากขึ้นในขณะที่ร่างกายเจริญเติบโต ปัจจัยส่วนใหญ่เราไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ เช่น เชื้อชาติและกรรมพันธุ์ แต่ปัจจัยบางอย่างสามารถได้รับการส่งเสริมเพื่อให้เนื้อกระดูกมากขึ้นได้ ได้แก่ การกินแคลเซียมให้เพียงพอตั้งแต่วัยเด็ก และการออกกำลังกายสม่ำเสมอ

๒. ลดอัตราการลดลงของเนื้อกระดูก ในหญิงหลังหมดประจำเดือน

วิธีการที่จะชะลอการลดลงของความหนาแน่นกระดูก ได้แก่

๒.๑ การใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนชดเชย พบว่าสามารถชะลอการลดลงของเนื้อกระดูกและป้องกันโรคกระดูกพรุนได้ นอกจากฮอร์โมนเอสโตรเจนในสตรีวัยหมดประจำเดือนจะมีผลดีต่อเนื้อกระดูกดังกล่าว ฮอร์โมนเอสโตรเจนยังมีผลดีต่อการเปลี่ยนแปลงที่ไม่พึงประสงค์บางอย่างที่เกิดขึ้นหลังจากหมดประจำเดือนได้แก่อาการร้อนวูบวาบเหงื่อออกตามตัวเป็นพักๆ ไขมันในเลือดสูงขึ้น ช่องคลอดแห้งเป็นต้น แต่การรับฮอร์โมนเอสโตรเจนชดเชยต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะสตรีบางคนอาจมีผลข้างเคียงหรือข้อห้ามทำให้ไม่สามารถรับฮอร์โมนเอสโตรเจนชดเชยได้

๒.๒ กินแคลเซียมให้เพียงพอ การกินแคลเซียมให้เพียงพอจะช่วยชะลอไม่ให้กระดูกบางลงเร็วจนเกินไป ในสตรีวัยหมดประจำเดือนควรจะได้รับแคลเซียมเป็นปริมาณแคลเซียมจริงประมาณวันละ ๑ กรัม

๒.๓ หากเกิดผลข้างเคียงขึ้นไม่เหมาะสมที่จะได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนก็มียาชนิดอื่นที่ช่วยชะลอการลดลงของเนื้อกระดูกได้

โดยสรุปแล้ว โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่มีสาเหตุหลายอย่าง แต่ที่พบบ่อยที่สุด คือ การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนในวัยสตรีหมดประจำเดือน ควรเน้นการป้องกันโรคกระดูกพรุนมากกว่ารักษา การป้องกันที่ทำได้ง่าย ไม่เสียค่าใช้จ่ายมาก ได้แก่การกินอาหารที่มีแคลเซียมให้เพียงพอและออกกำลังกายสม่ำเสมอ หากปฏิบัติตัวดังกล่าวแล้วยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร ก็ต้องพิจารณาให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนชดเชยหรือยาอื่นภายใต้การดูแลของแพทย์เมื่อหมดประจำเดือน

ข้อมูลสื่อ

221-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 221
กันยายน 2540
โรคน่ารู้
ผศ.นพ.บุญส่ง องค์พิพัฒนกุล