• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

คลอร์เฟน : ยาแก้หวัด แก้แพ้ ราคาถูก

“ผมเป็นโรคแพ้อากาศ เวลากินยาแก้แพ้ก็จะหายหวัด หายจาม แต่เวลาเลิกกินอาการก็กลับกำเริบอีก ถ้าจะกินยานี้เป็นประจำทุกวันจะมีอันตรายอะไรหรือไม่ครับ?” “

ได้ยินคุณหมอแนะนำว่า เวลาเด็กมีอาการตัวร้อน น้ำมูกไหล ให้กินยาพาราลดไข้เพียงอย่างเดียวก็พอ ไม่ต้องให้ยาแก้หวัด ไม่ทราบว่ามีเหตุผลอะไรหรือครับ”

ยาแก้หวัด แก้แพ้ที่ชาวบ้านนิยมใช้และราคาถูก ก็คือยาเม็ดสีเหลืองขององค์การเภสัชกรรม ยานี้มีชื่อสามัญว่า “คลอร์เฟนิรามีน” นิยมเรียกสั้นๆว่า “คลอร์เฟน”

ยานี้มีฤทธิ์แก้แพ้(ภาษาหมอเรียกว่า แอนติฮิสตามีน) ใช้รักษาอาการแพ้ได้สารพัด ได้แก่ อาการเป็นลมพิษ หรือผื่นคัน(เช่น เกิดจากการแพ้ฝุ่น ละอองเกสร ขนสัตว์ แพ้อาหาร แพ้ยา เป็นต้น) อาการเป็นหวัดจามจากการแพ้อากาศหรือฝุ่นละออง เป็นต้น

สำหรับลมพิษ ผื่นคัน มักจะ เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เมื่อกินยาแก้แพ้จนอาการทุเลาแล้ว ก็ควรเลิกกิน
ส่วนอาการหวัด จามที่เกิดจากการแพ้อากาศหรือฝุ่นละออง มักเป็นเรื้อรัง เช่น บางคนอาจมีอาการจาม น้ำมูกไหล หลังตื่นนอนทุกเช้า พอสายๆอาการก็ทุเลาไปได้เอง บางคนอาจมีอาการเวลาถูกฝุ่น เช่น ขณะปัดกวาดบ้าน หรือถูกแอร์หรือความเย็น ถ้าหากเป็นไม่มาก ก็ไม่จำเป็นต้องกินยาแก้แพ้แต่อย่างใด แต่ถ้าเป็นมากหรือเป็นนานจนรู้สึกรำคาญก็อาจกินยานี้บรรเทาได้

บางคนอาจต้องกินยานี้เป็นประจำทุกวัน ถ้ามีอาการกำเริบตอนเช้ามืด อาจกินตอนก่อนเข้านอน ๑ เม็ด เพื่อป้องกันอาการกำเริบตอนเช้า ยานี้มีผลข้างเคียงคือ ง่วงนอน(ถ้ากินตอนก่อนนอนก็ไม่มีปัญหา อะไร) โดยเฉพาะตอนแรกๆ ตอนหลังๆอาจเคยชิน จนไม่รู้สึกง่วงก็ได้ นอกจากนี้อาจทำให้รู้สึกปากคอแห้ง คอขม หรือเบื่ออาหาร
 
บางคนกินยานี้ไปนานๆ ร่างกายอาจชินยา ทำให้รักษาไม่ได้ผล อาจต้องเปลี่ยนไปใช้ยาแก้แพ้ตัวอื่นแทน

ทางที่ดี ขอแนะนำให้ผู้ที่มีอาการเป็นหวัด จามเรื้อรัง หาเวลาออกกำลังกาย(เช่น วิ่งเหยาะ เดินเร็ว ขี่จักรยาน เล่นกีฬา) อย่างน้อยวันเว้นวัน จะช่วยให้ร่างกายมีภูมิต้านทาน ช่วยให้โรคภูมิแพ้ทุเลาไปได้เอง โดยไม่ต้องใช้ยา แต่ต้องทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ หากช่วงไหนหยุดออกกำลังกาย อาการก็อาจกำเริบได้อีก ทีนี้มาพูดถึงการใช้ยาคลอร์เฟนในการลดน้ำมูกสำหรับผู้ที่เป็นไข้หวัด ซึ่งมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสหวัด มิใช่เกิดจากการแพ้ดังกล่าวข้างต้น

ก่อนอื่นก็ต้องแยกแยะให้ออกว่า หวัด(น้ำมูกไหล)แบบไหนเกิดจากการแพ้ แบบไหนเกิดจากการติดเชื้อ หวัดจากการแพ้ จะมีอาการคันคอ คันจมูก จาม น้ำมูกใสๆไหล เป็นครั้งคราว มักเป็นๆหายๆ เรื้อรัง และมักไม่มีอาการเป็นไข้ตัวร้อน

ส่วนหวัดจากการติดเชื้อ(ไข้หวัด) มักจะมีอาการตัวร้อน ครั่นเนื้อครั่นตัว ร่วมกับอาการน้ำมูกไหล เป็นนานๆครั้ง ยกเว้นเด็กเล็กอาจเป็นทุกๆ ๑-๒ เดือน ยาแก้แพ้ใช้บรรเทาโรคหวัดจากการแพ้ค่อนข้างได้ผลดี
ส่วนไข้หวัดนั้น มักเป็นอยู่เพียง ๓-๔ วัน เมื่อพักผ่อนให้เต็มที่ ก็มักจะหายไปได้เอง ยาที่จำเป็นจริงๆก็มีเพียงยาลดไข้ ส่วนยาแก้น้ำมูกไม่มีความจำเป็น เพราะน้ำมูกมักจะมีมากอยู่เพียง ๒-๓ วันแรก ก็จะแห้งหายไปเอง
 
ยกเว้นในผู้ใหญ่ที่มีน้ำมูกไหลจนน่ารำคาญหรือเสียบุคลิกภาพ (มีผลต่อการอยู่ในสังคม) ก็อนุโลมให้ใช้ยาคลอร์เฟนกิน ลดน้ำมูกในช่วง ๒-๓ วันแรก ในกรณีนี้ มิได้หวังผลในการแก้แพ้ (เพราะไม่ได้เกิดจากการแพ้ แต่ยานี้จะมีฤทธิ์ทำให้ลดการหลั่งน้ำมูก ซึ่งในขณะเดียวกันก็มีผลข้างเคียง ทำให้ปากคอแห้ง เสมหะเหนียว)

คนที่ไอมีเสมหะโครกๆ ถ้ากินยานี้ จะไอมากขึ้น เพราะทำให้เสมหะเหนียว ขับออกยาก ควรหยุดยา และดื่มน้ำมากๆ ก็จะช่วยให้อาการไอค่อยทุเลาลง
 
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แนะนำให้เด็กเล็กที่เป็นไข้หวัด กินยาคลอร์เฟนลดน้ำมูก เพราะอาจจะทำให้เสมหะข้นเหนียวขับออกยาก หรืออาจอุดกั้นทางเดินหายใจได้ เด็กบางคนกินยานี้แล้วอาจไอมากจนอาเจียนเลอะที่นอน และน้ำหนักตัวลดได้เพราะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ

ในเด็กเล็กการใช้ยาลดน้ำมูก อาจมีผลเสียมากกว่าผลดี
ข้อแนะนำก็คือ เด็กเล็กที่เป็นไข้หวัด ให้กินยาพาราเซตามอลลดไข้เพียงอย่างเดียว ถ้ามีน้ำมูกมาก ให้ใช้ไม้พันสำลีเช็ดออก หรือใช้ลูกยางดูดออก ไม่ต้องให้ยาลดน้ำมูก

ส่วนยาปฏิชีวนะ(ยาฆ่าเชื้อหรือที่ชาวบ้านเรียกว่ายาแก้อักเสบ) นั้น จะใช้ต่อเมื่อน้ำมูกข้นเหนียวหรือเขียวทั้งวัน ซึ่งจะเกิดกับเด็กบางคนในบางครั้งของการเป็นไข้หวัดเท่านั้น

ข้อควรรู้ยาคลอร์เฟนิรามีน
ชื่อสามัญ คลอร์เฟนิรามีน (chlorpheniramine)
ชื่อการค้า คลอร์เฟนิรามีน, คลอร์ไตรมีทอน, ไพริทอน, โคฮิสแตน
ประเภทยา มีชนิดเม็ดขนาด ๒-๔ มิลลิกรัมต่อเม็ด และชนิดน้ำเชื่อม ขนาด ๒-๒.๕ มิลลิกรัมต่อช้อนชา
สรรพคุณ ใช้แก้อาการแพ้ต่างๆ (เช่น ลมพิษ ผื่นคัน แพ้อากาศ แพ้อาหาร แพ้ยา) และช่วยลดน้ำมูก ขนาดและวิธีใช้
ผู้ใหญ่ ครั้งละ ๒-๔ มิลลิกรัม วันละ ๒-๔ ครั้ง หรือทุก ๖ ชั่วโมง
เด็กน้ำหนักต่ำกว่า ๘ กิโลกรัม ครั้งละ ๑/๒ ช้อนชา วันละ ๒ ครั้ง
น้ำหนัก ๘-๑๐ กิโลกรัม ครั้งละ ๑/๒ ช้อนชา วันละ ๓ ครั้ง
น้ำหนัก ๑๑-๑๖ กิโลกรัม ครั้งละ ๑/๒ ช้อนชา วันละ ๔ ครั้ง
น้ำหนัก ๑๗-๒๔ กิโลกรัม ครั้งละ ๑ ช้อนชา (หรือ ๒ มิลลิกรัม) วันละ ๓ ครั้ง
น้ำหนัก ๒๕-๓๔ กิโลกรัม ครั้งละ ๑ ช้อนชา (หรือ ๒ มิลลิกรัม) วันละ ๔ ครั้ง
มากกว่า ๓๔ กิโลกรัม ให้ขนาดเท่าผู้ใหญ่
ข้อควรระวัง
๑. อาจทำให้ง่วงนอน มึนงง คนที่ขับรถ ขับเรือ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ควรระวังในการใช้ยานี้ และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกับยานอนหลับ ยากล่อม-ประสาทหรือแอลกอฮอล์ เพราะจะเสริมฤทธิ์ทำให้ง่วงนอนมากขึ้น
๒. อาจทำให้มีอาการคอแห้ง เบื่ออาหาร ใจสั่น หงุดหงิด
๓. อาจเกิดอาการแพ้ยา มีลมพิษ ผื่นคันได้ (แต่พบได้ค่อนข้างน้อย)
๔. ในเด็กเล็ก ถ้าใช้ขนาดมากเกินไป อาจทำให้นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย หรือชักได้
๕. อาจทำให้เสมหะเหนียว ขับออกยาก จึงไม่ควรใช้ในคนที่มีอาการไอมีเสลด (เช่น หลอดลมอักเสบ โรคหืด)
หมายเหตุ
ยาแก้หวัด แก้ไอ ที่มีขายในท้องตลาด มักมียาคลอร์เฟนิรามีน ผสมกับยาแก้ไข้ แก้ปวด, ยาแก้ไอ หรือยาแก้คัดจมูก เช่น ดีคอลเจน, ทิฟฟี, คอริซิดินดี, ยาแก้หวัดแก้ไอน้ำเชื่อมยี่ห้อต่างๆ ดังนั้นก่อนใช้ยาจำพวกนี้ ควรอ่านฉลากยาให้แน่ใจว่ามีส่วนผสมของยาชนิดใดบ้าง จะได้เลือกใช้ให้เหมาะสมกับอาการที่เป็น หรือหลีกเลี่ยงการใช้ยา ที่เกินความจำเป็น

ข้อมูลสื่อ

240-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 240
เมษายน 2542
พูดจาภาษายา
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ