• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โภชนาการต่ออนามัยช่องปาก

โภชนาการต่ออนามัยช่องปาก
 

กรรมพันธุ์ สุขภาพกาย สุขภาพจิต สิ่งแวดล้อมในการดำรงชีวิต โภชนาการ การกินอาหารถูกต้องตามหลักการโภชนศาสตร์ มีส่วนช่วยทำให้ป้องกันโรคในช่องปากได้ โภชนาการและอาหาร มักจะถูกใช้ควบคู่กัน เนื่องจากทั้ง ๒ คำ มีความเกี่ยวข้องกัน แต่จะใช้แทนกันไม่ได้


โภชนาการ หมายถึง กระบวนการที่ร่างกายได้รับสารอาหารแล้วนำไปสร้าง หรือเปลี่ยนเป็นสิ่งที่ร่างกายใช้เพื่อการดำรงชีวิต กระบวนการนี้รวมถึง การกิน การย่อยอาหาร การดูดซึมและการที่ร่างกายนำสารอาหารไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการเจริญเติบโต ซ่อมแซม และค้ำจุ้นส่วนต่างๆ ของร่างกาย

อาหาร หมายถึง สิ่งต่างๆที่กินได้และมีประโยชน์ต่อร่างกายใช้หล่อเลี้ยงให้ชีวิตดำรงอยู่ อาหารบางชนิด ทำให้เกิดผลร้ายต่อร่างกาย ในอาหารมีสารที่ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงร่างกายเรียกว่า สารอาหาร หรือที่เรารู้จักกัน คือ อาหารหลัก ๕ หมู่ แต่ในที่นี้ขอพูดถึงสารอาหารที่สำคัญ ๖ หมู่ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับอนามัยในช่องปาก

สารอาหารที่มีผลต่อโรคฟันผุและโรคปริทันต์


๑. คาร์โบไฮเดรต

การที่เราได้ทราบว่าคาร์โบไฮเดรตสามารถทำอันตรายต่อผิวเคลือบฟันได้เนื่องจากมีการศึกษากันอย่างมากมาย ตัวอย่างเช่น การตรวจฟันในชนชาติชาวทริสตัม ดา คัมต้า (Tristam da Cumta) ในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งการหารหลักของเขาประกอบด้วย ๒ อย่าง คือ มะเขือเทศ และปลา พบว่า ในคนอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี ไม่มีฟันกรามแท้ซี่แรกผุเลยแม้แต่ซี่เดียว แต่ในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เมื่อได้รับน้ำตาลเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ ๑ ปอนด์ ตรวจฟันแล้ว พบว่า มีฟันกรามผุขึ้นร้อยละ ๕๐ ได้มีการศึกษาในสถาบันการรักษาเด็กที่เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งจะต้องงดอาหารหวานอย่างเด็ดขาด พบว่า มีฟันผุน้อยกว่าเด็กปกติ นักวิจัยได้ค้นพบว่าอัตราฟันที่ผุนั้นสัมพันธ์กับการกินอาหารพวกเส้นใย และกินอาหารประจำวันที่สมดุล ความสัมพันธ์ของคาร์โบไฮเดรตกับโรคฟันผุ พบว่า

๑. น้ำตาลที่จะทำให้ฟันผุพบว่าต้องอยู่ในปากเป็นเวลานานพอสมควร

๒. จำนวนของน้ำตาลที่กินเข้าไปนั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญต่อฟันผุ

๓. อาหารประเภทแป้ง เช่น ขนมปัง ไม่ทำให้ฟันผุได้มากเท่ากับน้ำตาล

๔. รูปร่างและส่วนประกอบของน้ำตาลนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าน้ำตาลนั้นยึดเกาะกับผิวฟันได้มากก็จะทำให้ฟันผุมาก
 
๒. โปรตีน

ผลของการขาดโปรตีนกับโรคฟันผุ

ยังไม่ไม่มีการทดลองที่จะชี้บ่งถึงความสัมพันธ์ระหว่างการขาดโปรตีนกับโรคฟันผุในมนุษย์ให้เห็นได้แน่ชัด แต่มีการทดลองในสัตว์ทดลองโดยารทดลองให้เคซีน (casein) ซึ่งเป็นโปรตีนสำคัญในนม จะทำให้ฟันผุมากขึ้น ส่วนฟอสโฟโปรตีน (phosphor protein) หรือฟอสเฟตที่มีอยู่ในสารประกอบโปรตีน จะเป็นตัวป้องกันฟันผุ ในปลาซึ่งมีโปรตีนอุดมสมบูรณ์รวมทั้งยังมีฟลูออไรด์และฟอสเฟตด้วยซึ่งจะช่วยลดอัตราฟันผุได้เช่นกัน

ผลของการขาดโปรตีนกับโรคปริทันต์

เนื่องจากเยื่อบุผิวของเหงือกสามารถเกาะกับผิวรากฟันได้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับโปรตีนและไกลโคโปรตีนของน้ำเหลืองในเหงือก ในสัตว์ทดลอง พบว่า การขาดโปรตีนมีผลกับการทำงานของเซลล์อ่อนสร้างเส้นใย เซลล์อ่อนสร้างกระดูก และเซลล์อ่อนสร้างผิวเคลือบรากฟัน พบว่า มีการเสื่อมสลายของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของเหงือกและเอ็นยึดปริทันต์

๓. ไขมัน

ไขมันกับโรคฟันผุ

จากการศึกษาในชาวเอสกิโมซึ่งชีวิตประจำวันกินอาหารจำพวกไขมันมาก พบว่า คนเหลานี้มีฟันผุน้อย และจากข้อมูลที่อื่นๆ ทำให้วิเคราะห์ได้ว่า การกินอาหารที่ประกอบด้วยไขมันประมาณร้อยละ ๗๐-๘๐ จะสามารถลดอัตราการเกิดโรคฟันผุได้ เนื่องจากอาหารที่มีไขมันมากจะมีคาร์โบไฮเดรตต่ำ ซึ่งเป็นสารอาหารที่มีผลต่อฟันผุโดยตรงนั่นเอง


๔. เกลือแร่

เกลือแร่แต่ละชนิดมีหน้าที่ต่อร่างกายต่างกัน เกลือแร่เป็นส่วนประกอบของเนื้อเยื่อโปรตีน, ฮอร์โมน, เอนไซม์ ทำหน้าที่ควบคุมความเป็นกรด ด่าง สมดุลของน้ำและเร่งปฏิกิริยาของร่างกาย

แคลเซียมกับโรคฟันผุ

แคลเซียมทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง ในกระดูกและฟันมีแคลเซียมอยู่ประมาณร้อยละ ๙๙ การขาดแคลเซียมทำให้ความแข็งของกระดูกและฟันลดลง มีผลทำให้เกิดโรคกระดูกอ่อน กระดูกผุ และฟันผุได้ง่าย

ฟอสเฟตกับโรคฟันผุ

ปริมาณของฟอสเฟตปริมาณร้อยละ ๘๐ รวมตัวอยู่กับแคลเซียมในรูปของแคลเซียม ฟอสฟอรัส ฟอสฟอรัสทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง พร้อมทำหน้าที่ช่วยการดูดซึมของร่างกาย

ฟลูออไรด์

เป็นสารประกอบของธาตุฟลูออรีน พบในธรรมชาติ ดิน น้ำ อากาศ อาหาร (เช่น มะระ, ผักบุ้ง, อาหารทะเล ฯลฯ) ใบชา ฟลูออไรด์ช่วยทำให้โครงสร้างของฟันแข็งแรง มีความต้านทานต่อโรคฟันผุ และบดเคี้ยว ซ่อมแซมผิวเคลือบฟันมิให้ผุมากขึ้น ช่วยลดอาการเสียวฟันในผู้สูงอายุอีกด้วย ถ้าเพิ่มฟลูออไรด์ในอัตราส่วนที่ถูกต้องเป็นประจำตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ ๑๓ ปี จะช่วยลดอัตราโรคฟันผุได้ถึงร้อยละ ๖๐ รวมถึงการดื่มน้ำที่มีส่วนผสมของฟลูออไรต์ ๑ ในล้านส่วน ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรต์ จะทำให้ฟันมีความต้านทานต่อโรคฟันผุเพิ่มมากขึ้น


๕. วิตามิน

วิตามินเป็นสารอาหารที่ร่างกายต้องการเป็นจำนวนไม่มาก เพื่อให้ปฏิกิริยาต่าง ๆภายในร่างกายเป็นไป
ตามปกติ ร่างกายไม่สามารถสร้างวิตามินได้ หรือสร้างได้ก็ไม่พอต่อความต้องการ วิตามินบางชนิดก็มีผลต่อฟัน หากร่างกายได้รับไม่พอเพียงก็อาจเกิดปัญหาขึ้นได้

ผลของการขาดวิตามินบี ๖

มีการทดลองในสัตว์ทดลอง โดยใส่วิตามินบี ๖ ลงไปในอาหารเพิ่มขึ้นจะทำให้ฟันผุน้อยลง การขาดสารอาหารนี้จะทำให้มีวามผิดปกติเกิดขึ้นกับเยื่อบุช่องปากและเยื่อบุของเหงือก ปากจะมีการอักเสบมีรอยแผลแตกเป็นร่องที่มุมปาก ลิ้นอักเสบ ในช่องปากจะกลายเป็นสีแดง มีอาการเจ็บและรอยไหม้เของปากและลิ้น กลืนน้ำลายได้ลำบาก มีน้ำลายมากกว่าปกติ

ผลของการขาดวิตามินซี

การขาดวิตามินซีจะทำให้เกิดโรคลักปิดลักเปิด และมีโรคในช่องปากที่เกี่ยวข้องกัน คือ เหงือกจะบวมและมีเลือดออก แต่ก็มีการศึกษาพบอีกว่า อาการเหล่านี้จะไม่เป็นที่เหงือกบริเวณที่ไม่มีฟัน

ผลของการขาดวิตามินเอ

ในสัตว์ทดลองจะแสดงให้เห็นว่า การขาดวิตามินเอจะทำให้การทำงานของเซลล์อ่อนสร้างเคลือบฟันเสื่อมลง ซึ่งทำให้เกิดการสร้างฟันหน้าไม่สมบูรณ์ เนื้อฟันผิดปกติแต่จากการศึกษาในมนุษย์จะพบลักษณะเช่นนี้ได้น้อยกว่าในสัตว์ทดลอง

ผลของการขาดวิตามินดี

วิตามินดีมีหน้าที่ส่งเสริมการดูดซึมแคลเซียมจากทางเดินอาหารและมีความจำเป็นในการรักษาแคลเซียมและฟอสฟอรัสในเลือดของร่างกาย การขาดวิตามินและแคลเซียม เป็นผลทำให้การเพิ่มพูนเกลือแร่ไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดโรคกระดูกอ่อนและโรคฟันผุได้ง่าย


๖. น้ำ

น้ำเป็นสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อชีวิตมนุษย์ รองมาจากออกซิเจน น้ำเป็นตัวช่วยในการละลายอาหารต่างๆ เป็นสื่อในการช่วยย่อย ดูดซึม ไหลเวียนสารอาหาร ขับถ่ายของเสีย และควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย


สรุป

โภชนาการและสารอาหาร มีคุณอนันต์และโทษมหันต์ต่อร่างกายมนุษย์ การสร้างพฤติกรรมในการกินอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาศาสตร์ นอกจากจะทำให้ร่างกายสมบูรณ์ ปราศจากโรคซึ่งเกิดจากการกินอาหารแล้วยังช่วยในการป้องกันโรคได้อีกด้วย โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับกระดูกและฟัน สารฟลูออไรด์เป็นสาระสำคัญที่จะทำให้อัตราโรคฟันผุลดน้อยลง ทำให้มนุษย์ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานจากการปวดฟันอีกต่อไป

ข้อมูลสื่อ

222-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 222
ตุลาคม 2540
เรื่องน่ารู้
ทพ.พิทักษ์ ไชยเจริญ