• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อุทกภัยไม่ยิ่งใหญ่กว่าโอฆะ

อุทกภัยไม่ยิ่งใหญ่กว่าโอฆะ
 

ธรรมชาติของโลก (โอกาศโลก) โลก คือ ธรรมชาติที่อิงอาศัยซึ่งกันและกัน ขาดสภาพของธาตุใดธาตุหนึ่งไม่ได้” ธรรมชาติของโลก (โอกาศโลก) โลก คือ ธรรมชาติที่อิงอาศัยซึ่งกันและกันและกัน ขาดสภาพของธาตุใดธาตุหนึ่งไม่ได้ ในกระบวนการของธาตุ ๔ ได้แก่ สภาพของธาตุดิน สภาพของธาตุน้ำ สภาพของธาตุไฟ และสภาพของธาตุลม อิงอาศัยเป็นปัจจัยร่วมรวมกันอยู่ได้ด้วย อากาศธาตุเป็นธาตุเชื่อมสัมพันธ์ ธาตุใดกำเริบเราเรียกธาตุนั้นว่า “ภัยหรือมหาภัย” เช่น

“อุทกภัย” หมายถึง น้ำท่วม เจิ่งนอง

“มหาวาตภัย” หมายถึง สภาพของลมรุนแรงมากที่สุด

“อัคคีภัย” หมายถึง สภาพของไฟเผาไหม้ที่ร้ายกาจ

ภัยทั้งหมดดังที่กล่าวมานี้เป็นภัยที่สัตว์โลกไม่สามารถเอาชนะได้ ข่าวประจำวันที่บอกเตือนกันและกำลังช่วยเหลือกันนั่น ก็คือ ภัยน้ำท่วมภาคใต้ที่รุนแรงมากที่สุด แม้ภาคอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แต่ไม่ถึงกับรุนแรงขั้น “มหาอุทกภัย” แม้นักวิทยาศาสตร์ พยายามที่จะหาวิธีการเอาชนะธรรมชาติให้ได้ แต่ก็ล้มแล้วล้มอีก ไม่สามารถที่จะหาแนวทางหรือสร้างพลังใดๆมาปกป้องด้วยการเอาชนะธรรมชาติได้ เป็นแต่ความอยากของมนุษย์ที่เต็มไปด้วยโอฆะเท่านั้น

มองเปรียบเทียบโลกที่เป็น “สัตว์โลก” สัตว์โลก หมายถึง สภาวะของชีวิตที่มีวิญญาณครองและเคลื่อนไหวไปมาได้ด้วยกำลังของตนเอง สัตว์โลกแต่ละชีวิตก็ประกอบไปด้วยธาตุ ๔ ปรุงแต่งเช่นกัน ค้นหาดู พบว่า เวลาธาตุน้ำกำเริบในตัวของสิ่งที่มีชีวิตและมีวิญญาณครอง อาการรุนแรงจะบังเกิดขึ้น เช่น เบื่ออาหาร น้ำตาจะไหลออกมากๆ ปวดศีรษะ และกระหายน้ำมากๆ ระยะกาลเวลาที่ธาตุน้ำกำเริบจะอยู่ในช่วงฤดูฝน คือ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนพฤศจิกายน จึงจะเปลี่ยนอาการไปอีกสภาพหนึ่งต่อไป

ภัยที่เกิดจากอุทกภัยหรือมหาอุทกภัยนอกจากทำลายทรัพย์สินสมบัติภายนอกให้ถึงความวิบัติสูญสิ้นไปแล้ว ยังจะต้องเฝ้าระวังภัยภายในที่บังเกิดขึ้นแก่ชีวิตประจำวัน เช่น ปวดท้อง โรคท้องร่วง ลมตะคริว อาเจียน ผิวหนังติดเชื้อให้บังเกิด มือเท้าหรือสภาพทั่วบริเวณร่างกายเปื่อยพุพองง่าย ต้องเฝ้าระวังถึงภัยที่เกิดจากอสรพิษ เช่น งู ตะขาบ แมลงป่องหรือสัตว์ที่มีพิษ กัดต่อยอีกด้วย

ภัยที่เกิดจากธาตุน้ำกำเริบภายในร่างกายของบุคคลจะต้องเฝ้าระวังเกี่ยวกับอาหารการดื่มกิน จำเป็นที่จะต้องหาอาหารที่มีรสร้อน รสเผ็ด และอาหารที่ปรุงเสร็จใหม่ๆ ร้อนกำลังกิน ควรงดเว้นอาหารประเภทของหมักดอง รสเปรี้ยวจัด มันจัด เพื่อให้ร่างกายเข้าสู่สภาพปกติได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น ภัยที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติก็ดี เช่น อุทกภัยในภาคใต้ที่กำลังถูกรุกรานอยู่ขณะนี้ หรือภัยที่เกิดภายในร่างกายของบุคคลก็ดี ยังถือว่าเป็นภัยที่พยายามหาแนวทางหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้บ้าง แม้จะไม่สามารถเอาชนะได้แต่พอแบ่งความทุกข์ทรมานลงได้บ้าง

ส่วนน้ำท่วมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและน่าสะพรึงกลัวมากที่สุดนั่นก็คือ “โอฆะ”

“โอฆะ” หมายถึง ห้วงน้ำ คือการเวียนว่ายตายเกิด ; กิเลสอันเป็นดุจกระแสน้ำ น้ำหลากท่วมใจสัตว์มี ๔ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา*

ยกตัวอย่างเพียงส่วนเดียวเช่น “กามโอฆะ” ห้วงน้ำคือ กามารมณ์ ห้วงน้ำประเภทนี้ถ้าท่วมทับถมบุคคลใดเข้าแล้ว จะทำลายทรัพย์สินและชีวิตของผู้นั้นอย่างสิ้นเชิง ความจริงปัญหาของอุทกภัยจึงขอย้ำว่าไม่ยิ่งใหญ่ไปกว่า “โอฆะ” เมื่อถูกอุทกภัยท่วมภายนอกแล้ว พึงเฝ้าระวังอย่าให้ “โอฆะ” ภัยท่วมวิญญาณ แม้ทรัพย์สินของท่านภายนอกจะหมดไปเพราะภัยธรรมชาติ แต่ท่านสามารถเรียกร้องแสวงหาใหม่ได้อีก ถ้าสภาพวิญญาณภายใน “โอฆะ” ห้วงน้ำที่ยิ่งใหญ่ ไม่ท่วมท่าน
_____________________________________________________________________

*พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดยพระราชวรมุณี
 

ข้อมูลสื่อ

222-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 222
ตุลาคม 2540
แพทย์แผนไทย
กีชา วิมลเมธี