• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วัคซีนใหม่ จำเป็นต้องใช้หรือไม่

วัคซีนใหม่ จำเป็นต้องใช้หรือไม่


ปัจจุบันเวลาคุณไปคลอดบุตรตามโรงพยาบาล สิ่งหนึ่งที่หมอจะบอกก่อน คุณจะออกจากโรงพยาบาล คือ ให้พาลูกมาฉีดวัคซีนตามกำหนดด้วย

วัคซีน (vaccine) เป็นยาชนิดหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยเชื้อโรคที่ตายแล้ว หรือถูกทำให้มีฤทธิ์อ่อนลงจนไม่เป็นอันตราย ใช้สำหรับฉีดหรือกินเพื่อกระตุ้นให้ร่างกาย สร้างภูมิคุ้มกันโรคนั้นๆ ขึ้น วัคซีนใหม่นี้มีความสำคัญอย่างไร จำเป็นต้องพาลูกมาฉีดวัคซีนมั้ย คุณต้องฉีดวัคซีนเสริมจากที่เขากำหนดหรือไม่ คำถามเหล่านี้คงคั่งค้างอยู่ในใจของหลาย ๆ คน หมอชาวบ้านฉบับนี้จึงเชิญ ศ.น.พ. สมศักดิ์ โล่เลขา มาไขข้อข้องใจเหล่านี้

ขณะนี้ในประเทศไทยมีวัคซีนในโครงการป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุขกี่ชนิด ป้องกันโรคอะไร
ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีวัคซีนป้องกันโรคที่ให้แก่เด็กทั่วไป คือ

  • วัคซีนป้องกันวัณโรค (บี ซี จี)
  • วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน
  • วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ
  • วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ บี
  • วัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม
  • และวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ ในท้องถิ่นที่มีโรคนี้ชุกชุม

รวมเป็นวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขให้แก่เด็กทั่วไป ๑๐ ชนิด (ดูตารางประกอบ)



 

การฉีดวัคซีนมีผลข้างเคียงหรือไม่
ผลข้างเคียงที่เกิดจากการได้รับวัคซีนที่พบบ่อยๆ ก็คือ ปวดบริเวณที่ฉีดวัคซีนเป็นระยะเวลาสั้นๆ หลังฉีด บางรายมีไข้

  • วัคซีนป้องกันโรคไอกรน อาจจะทำให้เกิดไข้ได้ใน ๑-๓ วันหลังฉีด
  • วัคซีนป้องกันโรคหัดอาจทำให้เกิดไข้ในวันที่ ๕-๑๐ วันหลังฉีด
  • วัคซีนอื่นๆ นั้นไม่ค่อยทำให้เกิดไข้
  • วัคซีนป้องกันวัณโรคอาจทำให้เกิดหนองตรงตำแหน่งที่ฉีด หลังจากฉีดไปแล้วประมาณ ๑ เดือน ซึ่งหนองนี้จะเป็นๆ ยุบๆ ไปประมาณ ๑-๓ เดือน ซึ่งบางรายอาจมีต่อมน้ำเหลืองโต

เมื่อเกิดผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนควรปฏิบัติอย่างไร
ผลข้างเคียงที่เกิดจากวัคซีนส่วนใหญ่หายไปได้เองโดยไม่ต้องทำอะไร ในรายที่เป็นไข้ควรให้ยาลด ไข้เพื่อทำให้อาการไข้และปวดลดลงเป็นการรักษาตามอาการ


หากไม่มีการบันทึกประวัติ การฉีดวัคซีนซ้ำจะเป็นอันตรายหรือไม่

การฉีดวัคซีนซ้ำไม่มีอันตรายนอกจากทำให้เสียเงิน และเจ็บตัวโดยไม่จำเป็น


ขณะนี้มีวัคซีนที่ออกใหม่อะไรบ้าง ป้องกันโรคอะไรบ้าง

ในช่วงระยะเวลา ๕ ปีที่ผ่านมามีวัคซีนที่ออกใหม่หลายชนิด ได้แก่

๑. วัคซีนป้องกันโรคสุกใส

๒. วัคซีนฮิบ ป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จากเชื้อแบคทีเรียฮิบ ในเด็กเล็ก

๓. วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบเอ ใช้ป้องกันโรคตับอักเสบ (ดีซ่าน) ที่เกิดจากเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ

๔. วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

๕. วัคซีนป้องกันโรคไอกรนชนิดไม่มีเซลล์

๖. วัคซีนป้องกันไข้กาฬหลังแอ่น

๗. วัคซีนป้องกันไข้ไทฟอยด์อย่างฉีดชนิดใหม่

๘. วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรนและตับอักเสบบี ในเข็มเดียวกัน

นอกจากนี้ยังมีวัคซีนอื่นๆ อีกที่ใช้ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติ


วัคซีนใหม่เหล่านี้เตรียมอย่างไร ฉีดอย่างไร มีข้อบ่งชี้หรือข้อห้ามอย่างไร

  • วัคซีนป้องกันโรคสุกใส

วัคซีนนี้เตรียมมาจากเชื้อโรคสุกใสที่เลี้ยงจนอ่อนฤทธิ์แล้ว เป็นวัคซีนที่เชื้อยังมีชีวิต ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง เมื่อฉีดเข้าไปแล้วทำให้เสมือนเป็นโรคสุกใสโดยที่ไม่มีอาการ ต่อไปเมื่อได้รับเชื้อก็จะไม่เป็นอีก
โดยทั่วไปโรคสุกใสในเด็กไม่รุนแรง และหายได้เองโดยไม่มีโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง ความจำเป็นในการฉีดวัคซีนมีน้อย แต่ถ้าโรคสุกใสในเป็นในเด็กวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่อาการจะรุ่นแรงกว่า โรคนี้ควรปล่อยให้เป็นตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ประมาณครึ่งหนึ่งของคนไทยป่วยเป็นโรคนี้ก่อนอายุ ๑๐ ปี แต่ถ้าอายุ ๑๐ ปีแล้วยังไม่เป็นโรคสุกใสอาจจะพิจารณาฉีดวัคซีนนี้ป้องกันให้ ราคาประมาณเข็มละหนึ่งพันบาท ในเด็กอายุเกิน ๑๓ ปี หรือผู้ใหญ่ต้องฉีด ๒ เข็มห่างกัน ๑-๒ เดือน

ผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นคือมีตุ่มขึ้นบริเวณที่ฉีดหรือตามตัว แต่จะขึ้นน้อยมากไม่ถึง ๑๐ ตุ่ม ผลข้างเคียงที่สำคัญคือราคายังแพงอยู่ คนที่ฐานะเศรษฐกิจยังไม่ดี รายได้ต่ำ การฉีดวัคซีนจะไม่คุ้ม แต่คนที่มีรายได้ดีการฉีดวัคซีนจะคุ้ม เพราะการหยุดงานไป ๒ สัปดาห์ เสียรายได้มากกว่าค่าวัคซีน นอกจากนี้ถ้าเกิดต้องใช้ยารักษาเชื้อไวรัสด้วยแล้ว ราคายาจะแพงกว่าการฉีดวัคซีน

  • วัคซีนป้องกันเชื้อฮิบ

วัคซีนนี้ทำจากส่วนผิวของเชื้อแบคทีเรียฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนซ่า ชนิดบี (Hemophilus influenza type B) เรียกชื่อย่อๆ ว่า “ฮิบ” (HIB) ทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็กอายุต่ำกว่า ๔ ปี เชื้อนี้นอกจากทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบแล้วบางครั้งทำให้เกิดโรคปอดบวม ข้ออักเสบได้ ถึงแม้ว่าในยุโรป สหรัฐฯ และออสเตรเลีย จะฉีดวัคซีนนี้ให้แก่เด็กอายุ ๒-๓ เดือนทุกคน แต่ประเทศในแถบเอเชียไม่มีประเทศใดมีนโยบายฉีดวัคซีนนี้ให้แก่เด็กทุกคน เพราะอุบัติการณ์ของโรคนี้ทางแถบเอเชียพบน้อยกว่าในยุโรปและสหรัฐฯ วัคซีนยังมีราคาแพงประมาณเข็มละเจ็ดร้อยบาท ถ้าให้ในเด็กอายุ ๒ เดือน จะต้องให้อย่างน้อย ๓ เข็ม ถ้าให้ในเด็กอายุเกิด ๑๕ เดือนแล้วฉีดเพียง ๑ เข็ม ก็เพียงพอ ถ้าอายุเกิน ๒ ปีแล้วความจำเป็นที่จะต้องให้วัคซีนนี้มีน้อยมาก ยิ่งถ้าอายุเกิน ๔ ปีแล้วไม่จำเป็นต้องให้ เพราะส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อนี้แล้วตามธรรมชาติ อุบัติการณ์เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อนี้ ในประเทศไทยในเด็กที่อายุเกิน ๔ ปีพบน้อยมาก

ในประเทศไทยเด็กทั่วไปยังไม่มีความจำเป็นต้องให้วัคซีนนี้ยกเว้นเด็กที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคสูง เช่น เด็กทารกที่นำไปฝากเลี้ยงไว้ตามสถานรับเลี้ยงเด็กโอกาสที่จะติดเชื้อนี้จากเด็กเล็กด้วยกันสูง เด็กทารกที่มีพี่ไปโรงเรียนอนุบาล ซึ่งพี่อาจจะไปรับเชื้อจากที่โรงเรียนมาแจกให้น้องที่บ้าน อาการข้างเคียงของวัคซีนนี้มีแต่ไข้ และบวมปวดบริเวณที่ฉีด

  • วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบเอ

วัคซีนนี้ทำจากเชื้อไวรัสตับอักเสบเอที่ตายแล้ว ความจริงนี้วัคซีนนี้ใช้สำหรับฉีดให้กับคนที่เดินทางไปยังท้องถิ่นที่มีโรคนี้ชุกชุม เช่น ในชนบทของประเทศอินเดีย ประเทศไทยเคยมีโรคนี้ชุกชุมเมื่อประมาณ ๓๐ ปีก่อน ปัจจุบันเชื้อโรคนี้ในประเทศไทยลดน้อยลงมาก คนไทยที่มีอายุเกิน ๔๐ ปีมักจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อนี้แล้วเกือบทุกคน ในเด็กส่วนใหญ่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน

โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัสตับอักเสบเอนี้มีอาการดีซ่านแต่ไม่เรื้อรัง คนที่ป่วยเป็นโรคนี้อาจจะไปเรียนหนังสือ หรือไปทำงานไม่ได้เป็นเวลา ๑-๔ สัปดาห์ การที่จะฉีดวัคซีนนี้หรือไม่คงต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไปว่าคุ้มหรือไม่ อัตราการเกิดโรคไม่มากถ้าระวังเรื่องอนามัยส่วนบุคคล อาหาร และน้ำดื่ม วัคซีนนี้สามารถให้แก่เด็กตั้งแต่อายุ ๒ ปีขึ้นไป ทางที่ดี ก็คือ ก่อนเข้าโรงเรียน ในผู้ใหญ่อายุ ๓๐ ปีขึ้นไปควรตรวจเลือดดูก่อนว่ามีภูมิคุ้มกันแล้วหรือยัง เพราะส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันแล้วจะได้ไม่ต้องเสียเงินโดยไม่จำเป็น

  • วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

วัคซีนนี้ทำจากส่วนผิวของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ๓ ชนิด คือ ไข้หวัดใหญ่เอ (๒ ชนิด) และไข้หวัดใหญ่บี (๑ ชนิด) เชื้อที่นำมาทำวัคซีนเปลี่ยนไปทุกปีขึ้นอยู่ว่าเชื้อที่ระบาดในปัจจุบันเป็นเชื้อตัวใด วัคซีนนี้ไม่ได้ใช้ฉีดให้กับคนทุกคนแต่จะใช้เฉพาะคนที่ถ้าป่วยแล้ว อาการจะรุนแรง หรือมีโรคแทรกซ้อนมาก ได้แก่คนที่มีอายุเกิน ๖๕ ปี คนที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง คนที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว คนที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ อาการแทรกซ้อนที่สำคัญคือมีอาการไข้และปวดบวมบริเวณที่ฉีด

  • วัคซีนป้องกันไอกรนชนิดไม่มีเซลล์

วัคซีนนี้ต่างจากวัคซีนเดิมที่ใช้แบคทีเรียทั้งตัวทำให้ตายแล้วฉีดเข้าไปเป็นผลให้มีไข้สูงและปวดบวมบริเวณที่ฉีดมาก วัคซีนไม่มีเซลล์นี้ สกัดเอาเฉพาะส่วนที่สำคัญ ในการป้องกันโรคฉีดเข้าไปทำให้อาการข้างเคียง (เช่น ไข้) ลดลง แต่ราคาเพิ่มสูงกว่าของเดิมเกือบร้อยเท่า วัคซีนนี้ส่วนใหญ่อยู่ในเข็มเดียวกับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยัก

  • วัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น

ใช้ป้องกัน เชื้อโรคแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้กาฬหลังแอ่น วัคซีนที่เข้ามาใหม่ป้องกันเชื้อไข้กาฬหลังแอ่นได้ ๔ ชนิด แต่บังเอิญเชื้อที่พบบ่อยในประเทศไทย ไม่ตรงกับเชื้อทั้ง ๔ ชนิดที่อยู่ในวัคซีนนั้น

วัคซีนนี้ใช้สำหรับบุคคลที่จะเดินทางไปยังท้องถิ่นที่มีการระบาด เช่น ผู้ที่เดินทางไปแสวงบุญที่เมืองเมกกะ ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนนี้อยู่สั้นเพียง ๑-๓ ปี ไม่มีความจำเป็นสำหรับคนทั่วไป วัคซีนนี้มีประโยชน์สำหรับใช้ช่วยควบคุมการระบาดของโรคไข้กาฬหลังแอ่นโดยเชื้อที่มีอยู่ในวัคซีน ประเทศไทยไม่ใช่แหล่งที่มีการระบาดของโรคนี้

  • วัคซีนป้องกันโรคไข้ไทฟอยด์อย่างฉีดชนิดใหม่

ในปัจจุบันความจำเป็นในการฉีดวัคซีนนี้ในประเทศไทยมีน้อย เพราะอุบัติการณ์ต่ำและรักษาได้ไม่ยากนัก ใช้สำหรับคนที่จะต้องเดินทางไปยังประเทศที่มีโรคนี้ชุกชุม

ในอนาคตมีวัคซีนตัวใดบ้างที่มีแนวโน้มจะบรรจุเข้าไปในโครงการให้วัคซีนป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข วัคซีนใหม่ที่มีเหล่านี้ราคายังแพงมาก คงยังไม่เข้าในโครงการของกระทรวงในระยะเวลาอันใกล้นี้ ปัญหาทางเศรษฐกิจในประเทศในปัจจุบันทำให้เราต้องพิจารณา เรื่องความคุ้มทุนในมากขึ้น คงจะต้องเน้นในเรื่องวัคซีนที่มีอยู่ในแผนแล้วทำให้ครอบคลุมดีขึ้น วัคซีนที่จะเข้ามาใหม่ในแผนอาจจะเป็นวัคซีนรวมเอาวัคซีนหลายชนิดมารวมอยู่ในเข็มเดียวกัน เพื่อเด็กจะได้ไม่ต้องเจ็บตัวหลายครั้งและไม่ต้องมาโรงพยาบาล หรือสถานีอนามัยบ่อยๆ

 
ขณะนี้วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกพัฒนาถึงขั้นไหนแล้ว
วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยมหิดล วัคซีนที่พัฒนาได้เป็นชนิดเชื้อที่มีชีวิต ได้ทดลองในผู้ใหญ่ และเด็กแล้วว่าปลอดภัยและกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี ทางมหาวิทยาลัยมหิดลได้ทำสัญญากับบริษัทผลิตวัคซีนในประเทศฝรั่งเศส เพื่อให้ผลิตวัคซีนนี้ครั้งละมากๆ เป็นแบบอุตสาหกรรมซึ่งปัจจุบันก็ผลิตได้แล้ว และให้นำไปทดลองในคนปกติแล้วพบว่าปลอดภัยและกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เช่นกัน ระยะต่อไปจะต้องนำไปทดลองกับคนจำนวนมากเพื่อเปรียบเทียบระหว่างคนที่ได้รับวัคซีนกับคนที่ไม่ได้วัคซีน ดูว่าจะสามารถป้องกันหรือลดอุบัติการของโรคไข้เลือดออกได้จริงหรือไม่ คงต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะนำออกมาขายหรือนำมาใช้สำหรับเด็กหรือคนทั่วไปได้

 
ในอนาคตมีโรคอะไรบ้างที่อาจมีการผลิตวัคซีนป้องกันโรคขึ้นใช้ได้
วัคซีนที่มีอยู่ในระหว่างการพัฒนาและอาจนำมาใช้เร็วๆ นี้ ได้แก่วัคซีนป้องกันโรคเริม วัคซีนป้องกันการติดเชื้อสเตร็ปนิวโม ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และหูน้ำหนวกในเด็ก วัคซีนป้องกันอุจจาระร่วงจากเชื้อโรตาไวรัส วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสในเด็ก วัคซีนป้องกันโรคอหิวาห์ชนิดใหม่ วัคซีนป้องกันโรคบิด เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีความพยายามที่จะผลิตวัคซีนป้องกันโรคเอดส์ซึ่งมีทางเป็นไปได้ในอนาคต แต่อาจจะต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะทำได้

โดยทั่วไปโรคที่มีอุบัติการณ์สูง มีอัตราป่วยหรือมีอัตราตายสูง การให้วัคซีนป้องกันจะคุ้มกว่าการรักษา ถ้าวัคซีนนั้นปลอดภัย ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันอยู่นาน และราคาไม่แพง

ข้อมูลสื่อ

223-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 223
พฤศจิกายน 2540
บทความพิเศษ
ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่เลขา