• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฟลูออไรด์?

ฟลูออไรด์?


อาการปวดของอวัยวะต่างๆในร่างกายมนุษย์ กล่าวกันว่าอาการปวดฟันจะมีอาการรุนแรงมากที่สุด คนที่มีประสบการณ์คงรู้ซึ้งในอาการปวดฟัน ฟันเมื่อผุแล้วอาจทำให้เกิดการเจ็บปวดมีการอักเสบเป็นถุงหนอง และจะเป็นจุดเริ่มต้นกระจายเชื้อโรคไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ฟันที่ผุแล้วไม่สามารถเปลี่ยนกลับมาสู่สภาพเดิมได้ แม้จะมีวิทยาการก้าวหน้าทางทันตกรรม ก็เพียงรักษาอาการให้ให้ใกล้เคียงปกติเท่านั้น แต่ไม่สามารถกลับไปเหมือนปกติได้ โรคฟันผุระยะเริ่มต้นถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะช่วยทำให้ฟันซี่นั้นมีอายุยืนยาวขึ้น แต่ในกรณีที่ฟันผุกว้างและลึก โอกาสที่ฟันซี่นั้นจะอยู่คู่กับเจ้าของลดน้อยลงตามลำดับ การบดเคี้ยวจะมีคุณภาพด้อยลง และอาจจะต้องถอนในที่สุด ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคฟันผุ จะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด
 
การป้องกัน

- รักษาความสะอาดในช่องปาก โดยการแปรงฟันให้ถูกวิธี ขจัดเศษอาหารเชื้อแบคทีเรียบนตัวฟันออกให้หมด รวมทั้งการใช้ไหมขัดฟัน

- ทำความสะอาดฟันหลังอาหาร เพื่อตัดวงจรในการสร้างกรดของแบคทีเรียในช่องปาก โดยเฉพาะน้ำตาลให้เร็วที่สุด อาจจะโดยการแปรงฟัน ใช้ไหมขัดฟัน บ้วนปาก ไม้จิ้มฟัน ยาอมบ้วนปาก ฯลฯ

- เสริมสร้างตัวฟันให้แข็งแรง ปัจจุบันมีการใช้สารเคลือบร่องฟัน และฟลูออไรด์ในปริมาณที่ถูกต้องและเหมาะสม
 
ฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุ

มนุษย์เรารู้จักฟลูออไรด์มานานกว่า ๒๐๐ ปี โดยการนำฟลูออไรด์มาใช้ให้เป็นประโยชน์นานาชนิด ทั้งวงการการแพทย์ ทันตแพทย์ อุตสาหกรรม ฯลฯ ฟลูออไรด์เป็นแร่ธาตุที่ร่างกายมนุษย์ต้องการในปริมาณเล็กน้อย แต่ฟลูออไรด์มีความสำคัญมากในช่วงระยะการเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน ได้มีการนำเอาฟลูออไรด์มาใช้ในการป้องกันโรคฟันผุ ทั้งในรูปแบบกินและใช้เฉพาะที่บนตัวฟัน ถ้าร่างกายได้รับฟลูออไรด์ในปริมาณที่พอเหมาะอย่างสม่ำเสมอ จะสามารถช่วยให้ตัวฟันแข็งแกร่งลดอัตราโรคฟันผุได้ถึงร้อยละ ๖๐-๖๕ และยังช่วยลดอัตราการเกิดโรคกระดูกพรุนของผู้สูงอายุได้อีกด้วย

ปกติมนุษย์ได้รับฟลูออไรด์จากอาหาร น้ำดื่ม และในอากาศมากน้อยแตกต่างกัน เนื้อสัตว์ พืชผักต่างๆ (เช่น กระเทียม กะหล่ำปลี ผักโขม แอปเปิ้ล องุ่น กล้วย ฯลฯ) ปลาทะเล และใบชา ปัจจุบันยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปากเกือบทุกชนิดที่วางขายในท้องตลาดจะมีปริมาณของฟลูออไรด์ไม่เกินกฎข้อบังคับของอาหารและยาอยู่ด้วย

ในแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ถ้าได้รับฟลูออไรด์ในอาหารและน้ำดื่ม ทารกในครรภ์จะได้รับฟลูออไรด์ด้วย แต่ต้องขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความเข้มข้น ส่วนที่เหลือของฟลูออไรด์หลังจากถูกเก็บไว้ในกระดูกและฟันแล้ว ร่างกายจะขับออกมาทางปัสสาวะ อุจจาระ เหงื่อ น้ำลาย และในน้ำนมเล็กน้อย เมื่อร่างกายได้รับฟลูออไรด์ ฟลูออไรด์บางส่วนจะทำปฏิกิริยากับแคลเซียมทำให้เป็นฟลูอออะพาไทต์ (fluorapatite) ทำให้ตัวฟันแข็งแรงขึ้น และยังทำให้สภาพกรดที่บริเวณตัวฟันซึ่งมีฟลูออไรด์ลดน้อยลง และยังทำให้เกิดการสร้างแร่ธาตุกลับคืนมา ทำให้ฟันมีความต้านทานโรคฟันผุได้

 
อันตรายจากฟลูออไรด์เกินขนาด

ได้มีการศึกษาวิจัยและทดลองในเรื่องอันตรายในการใช้ฟลูออไรด์ อาจเกิดได้ทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเข้มข้น ปริมาณของฟลูออไรด์ และระยะเวลาที่ได้รับ โดยเฉพาะผู้ป่วยบางรายที่มีปฏิกิริยาไวต่อสารนี้ อาการเป็นพิษของฟลูออไรด์อย่างเฉียบพลัน ทำให้เกิดการผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากกินฟลูออไรด์ภายใน ๓๐ นาที การให้ผู้ป่วยกินนมหรือไข่จะช่วยทุเลาอาการ และรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อล้างท้อง

 
อาการเป็นพิษเรื้อรังของฟลูออไรด์เกินขนาด

- ทำให้เกิดฟันตกกระ ผิวฟันจะเป็นฝาสีขาว เหลือง น้ำตาล หรือดำ ผิวเคลือบฟันไม่เรียบ ขรุขระ เป็นหลุม และในรายรุนแรงจะมีการทำลายเคลือบผิวฟันได้

- จะมีอาการในกระดูกและข้อช่วงระยะสุดท้าย ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอ เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร มีการเปลี่ยนแปลงที่กระดูกสันหลังและกลายเป็นคนพิการได้ มักพบในผู้ป่วยที่ได้รับฟลูออไรด์มากเป็นเวลานาน

- เนื่องจากฟลูออไรด์ถูกขับออกทางไตส่วนหนึ่ง ถ้ามีปริมาณของฟลูออไรด์ในร่างกายสูง อาจทำให้ไตเสื่อม และเกิดไตวายได้

การใช้ฟลูออไรด์ในการป้องกันโรคฟันผุ ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของทันตแพทย์ และผู้ป่วยปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างถูกต้อง โอกาสที่จะทำให้เกิดอันตรายเป็นไปได้น้อยมาก ยกเว้นในกรณีเกิดเหตุบังเอิญ หรือจงใจจะกินฟลูออไรด์เพื่อวัตถุประสงค์อื่น

ฟลูออไรด์ในปริมาณที่พอเหมาะจากการกินอาหาร ผัก ผลไม้ และอื่นๆ หรือจากการดิ่มน้ำที่มีฟลูออไรด์ประจำ จะทำให้อัตราโรคฟันผุลดลงร้อยละ ๖๐-๖๕ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์ รักษาความสะอาดในช่องปาก โดยการแปรงฟันด้วยขนแปรงอ่อนนุ่มให้ถูกวิธีและสะอาดหลังกินอาหารทุกครั้งด้วย ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ อมน้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์ ใช้ไหมัดฟัน ใช้เกลือผสมน้ำอุ่นอมหลังการแปรงฟัน จะช่วยได้อีกทางหนึ่ง การกินอาหารได้ครบทุกหมวดหมู่และไปพบทันตแพทย์ตรวจฟันปีละ ๒ ครั้ง คงจะช่วยให้ทุกท่านหมดห่วงต่อการเกิดโรคฟันผุและโรคในช่องปากไปได้อีกเปราะหนึ่ง

ข้อมูลสื่อ

223-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 223
พฤศจิกายน 2540
เรื่องน่ารู้
ทพ.พิทักษ์ ไชยเจริญ