เอดส์จากแม่สู่ลูก
ปลายปีปี ๒๕๓๙ ทั่วโลกมีคนติดเชื้อเอดส์และยังมีชีวิตอยู่ประมาณ ๒๒.๖ ล้านคน จำนวนนี้จะเป็นเด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี ถึง ๑ ล้านคน กว่าร้อยละ ๙๐ ของเด็กเหล่านี้ติดเอดส์จากแม่ ดังนั้น จำนวนเด็กที่ติดเอดส์จะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่ามีการติดเอดส์ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ หรือผู้หญิงที่จะเป็นแม่มากน้อยเพียงใด สถานการณ์ติดเอดส์ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศและแต่ละชุมชน เช่น หญิงผิวดำจนๆในเมืองใหญ่ๆของสหรัฐอเมริกา บางเมืองอาจติดเชื้อเอดส์สูงถึงร้อยละ ๒ ในประเทศแถบแอฟริกาตอนใต้ อัตราการติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์สูงถึงร้อยละ ๓๐-๔๐ ในประเทศไทยเอง ตัวเลขเฉลี่ยทั้งประเทศประมาณร้อยละ ๒ ในขณะที่จัดหวัดภาคเหนือตอนบนอาจสูงถึงร้อยละ ๕-๖ เพียงร้อยละ ๑๕-๔๐ ของเด็กที่คลอดออกมาจะมีโอกาสติดเชื้อเอดส์จากแม่ ทั้งนี้ขึ้นกับระดับภูมิต้านทางของแม่ระหว่างตั้งครรภ์ วิธีการคลอด โอกาสที่ทารกจะสัมผัสกับเลือด หรือสิ่งคัดหลั่งจากแม่ระหว่างคลอด และวิธีการให้นมบุตร เป็นต้น โอกาสที่ทารกจะได้รับเชื้อเอดส์จากแม่เกิดขึ้นได้ ๓ ช่วง
ช่วงแรก คือ ช่วงที่ทารกยังอยู่ในครรภ์แม่ โดยเชื้อจากแม่สามารถผ่านทางรกเข้าสู่ลูกได้ ช่วงนี้ป้องกันได้ยาก จะป้องกันได้โดยการให้ยาต้านไวรัสเอดส์แก่แม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ยาแรงๆ แต่เนิ่นๆ เช่น ตั้งครรภ์ใหม่ๆ ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเป็นอันตรายต่อทารกที่กำลังสร้างแขนสร้างขาขึ้นหรือไม่
ช่วงที่ ๒ เป็นช่วงระหว่างการคลอด หรือ ๑-๒ สัปดาห์ก่อนคลอด เชื้อเอดส์อาจเข้าสู่ตัวลูกระหว่างการบีบรัดตัวของมดลูกตอนเจ็บท้องคลอดหรือจากการที่มีเลือดแม่ปนเปื้อนตัวเด็กขณะคลอด ช่วงนี้เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดของการติดเชื้อเอดส์ในเด็กคือเป็นสาเหตุถึงร้อยละ ๕๐-๖๐
การป้องกันในช่วงนี้อาจทำได้หลายวิธี เช่น การล้างช่องคลอดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเอดส์ก่อนเด็กคลอด วิธีการทำคลอดที่ทำให้มีการปนเปื้อนเลือดแม่น้อยที่สุด เช่น การผ่าตัดทำคลอดที่หน้าท้อง การล้างตัวเด็กให้เร็วที่สุดหลังคลอด การให้วัคซีนและเซรุ่มป้องกันเอดส์ (ถ้ามีวัคซีนและเซรุ่ม) แก่ทารกทันทีหลังคลอด คล้ายการป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ตลอดจนถึงการให้ยาต้านไวรัสเอดส์ทั้งแก่แม่ในช่วงท้ายๆ ของการตั้งครรภ์ เพื่อลดปริมาณเชื้อเอดส์ในเลือดก่อนคลอด และเพื่อให้มียาผ่านไปสู่ตัวลูกด้วย และให้ยาแก่ลูกในช่วงสั้นๆ หลังคลอด คล้ายการให้ยาป้องกันในคนที่ถูกเข็มที่เปื้อนเลือดเอดส์ดำ
ช่วงที่ ๓ การให้นมแม่ เด็กอาจติดเชื้อเอดส์จากแม่ได้โดยผ่านทางน้ำนมของแม่เข้าสู่ปากและทางเดินอาหารของลูก ช่วงนี้พบเป็นสาเหตุของการติดเอดส์ประมาณร้อยละ ๒๐ ในทารกที่เลี้ยงด้วยนมแม่ พบว่า ยิ่งดูดนมแม่นานจะยิ่งติดเอดส์มากขึ้น การป้องกันในการติดเอดส์ช่วงนี้ก็คือการใช้นมผงเลี้ยงลูกแทนนมแม่ตั้งแต่เกิด ซึ่งเป็นวิธีที่ประเทศที่พัฒนาแล้วใช้กัน รวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ลดอัตราการติดเอดส์จากแม่ลงจากเดิมที่เคยติดร้อยละ ๒๕-๓๐ ลงมาเหลือเพียงร้อยละ ๑๘-๒๐ หลังจากแนะนำให้เลิกเลี้ยงลูกด้วยนม
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการให้ยาต้านไวรัสเอดส์แก่แม่และลูกเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ วิธีที่จะลดการติดเชื้อเอดส์ในเด็กได้ จริงๆแล้วการแก้ที่ต้นเหตุ เช่น การป้องกันการติดเอดส์ในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย เช่น การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์กับชายที่ไม่ใช่สามี หรือแม้กระทั่งกับสามี หากสงสัยว่าสามีไปมีพฤติกรรมที่อาจไปติดเอดส์มา
การตรวจเอดส์ก่อนมีเพศสัมพันธ์กับคู่รักก่อนแต่งงาน ก่อนการตัดสินใจที่จะมีลูก ก็เป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันการติดเอดส์ในเด็ก ถ้าตรวจพบก็ต้องแนะนำว่าไม่ให้มีบุตร แต่ก็มีสามีภรรยาอีกจำนวนมากที่ไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อเอดส์อยู่ก่อนจนภรรยาตั้งครรภ์ขึ้นมาแล้วไปตรวจพบขณะคลอดหรือตอนไปฝากครรภ์ ดังนั้น ข้อแนะนำสำหรับหญิงที่ตั้งครรภ์ คือ ให้รีบฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ รับการตรวจเอดส์ถ้าพบว่าติดเชื้อเอดส์ ให้ปรึกษาแพทย์และสามีว่าจะวางแผนกับการตั้งครรภ์อย่างไรดี สามีภรรยาหลายคู่อาจเลือกที่จะยุติการตั้งครรภ์โดยขอให้แพทย์ทำแท้ง โดยอาจมีเหตุผลต่างๆ กัน เช่น บางคู่อาจมีลูกอยู่แล้ว บางคู่อาจไม่อยากเสี่ยงที่ลูกอาจติดเอดส์แม้จะน้อยเพียงใดก็ตาม บางคู่อาจไม่มั่นใจว่าตัวเองหรือครอบครัวจะสามารถเลี้ยงดูลูกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพได้ในเมื่อตัวเองก็ติดเอดส์อยู่ ถ้าจะตัดสินใจทำแท้งก็จะได้ปรึกษาแพทย์แต่เนิ่นๆ เพราะแพทย์จะไม่ทำแท้งถ้าท้องแก่แล้ว
อย่างไรก็ตามการตัดสินใจจะทำแท้ง ขอให้เป็นการตัดสินใจของคู่สามีภรรยาเอง หลังจากปรึกษาหารือกับแพทย์ และญาติพี่น้องหรือมิตรสหายที่ตนเองไว้ใจแล้วเท่านั้น โดยต้องรับทราบและทำความเข้าใจกับข้อมูลและทางเลือกทุกๆทางให้ดี ดูข้อดี/ข้อเสีย ของทางเลือกต่างๆ แล้วตัดสินใจเลือกทางเลือกที่คิดว่าดีที่สุดสำหรับตนและครอบครัว อย่าให้ใครลอกหรือชักจูงใจให้ทำในสิ่งที่ตนเองหรือสามีไม่ได้ต้องการจริงๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดรอยด่างหรือความเสียใจไปตลอดชีวิตเลยก็ได้
ถ้าตัดสินใจว่าจะตั้งครรภ์ต่อไป คู่สามี-ภรรยาจะต้องรับทราบว่ามีวิธีการอย่างไรบ้างที่จะลดโอกาสที่ลูกจะเกิดมิดเอดส์น้อยที่สุด เช่น การให้ยาต้านไวรัสเอดส์กับแม่และลูก การผ่าตัดทำคลอดทางหน้าท้อง และการไม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นต้น ถ้าตัดสินใจจะให้ยาต้านไวรัสเอดส์ต้องรู้ถึงข้อดีข้อเสียของการใช้ยา วิธีการใช้ยาหรือถ้าไม่มีเงินจะซื้อยาได้เอง จะไปรับยาฟรีจากหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรอะไรได้บ้าง หรือจะไปเข้าร่วมโครงการศึกษาวิจัยที่ใดได้บ้าง หรือถ้าไม่มีสตางค์จะซื้อนมผงมาเลี้ยงลูก จะไปขอรับการสงเคราะห์จากที่ใดได้บ้าง เป็นต้น
ปลายปี ๒๕๓๖ นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้รับทราบช่วงที่อาจเรียกได้ว่าเป็นข่าวที่น่ายินดีที่สุดในช่วงทศวรรษของโรคเอดส์ก็ว่าได้ เป็นข่าวของผลการศึกษาวิจัยที่ทดสอบการใช้ เอ-แซด-ที ยาต้านไวรัสเอดส์ ขนานแรกของโลก ว่าสามารถลดการถ่ายทอดเอดส์จากแม่ไปสู่ลูกลงได้ ๒ ใน ๓ เป็นผลการศึกษาวิจัยร่วมของโรงพยาบาล ๑๐ กว่าแห่งในสหรัฐอเมริกา ใช้คนไข้กว่า ๓๐๐ ราย และใช้เวลาในการศึกษาเกือบ ๓ ปี ผลการศึกษาพบว่าถ้าแม่ที่ติดเชื้อเอดส์ไม่ได้ยาอะไรเลย ลูกที่เกิดมาจะติดเอดส์ประมาณร้อยละ ๒๕ แต่ถ้าแม่ได้รับยา เอ-แซด-ที ตั้งแต่ตั้งครรภ์ได้ ๑๔ สัปดาห์เป็นต้นไป จนคลอดและใช้ เอ-แซด-ที กับลูกอีก ๖ สัปดาห์หลังคลอด ลูกที่เกิดมาจะติดเอดส์เพียงร้อยละ ๘ ลดลงได้ ๒ ใน ๓ นับเป็นการค้นพบที่ใหญ่หลวงมาก เพราะเป็นการค้นพบว่า ยาสามารถช่วยชีวิตเด็กไม่ให้ติดเอดส์ได้!
จากการติดตามเด็กที่แม่ได้รับยา เอ-แซด-ที ขณะตั้งครรภ์ และตัวเด็กเองได้รับยาช่วง ๖ สัปดาห์แรกของชีวิต ไม่พบว่าเด็กมีความผิดปกติแต่อย่างไร เด็กบางรายได้รับการติดตามจนอายุได้ ๘ ขวบแล้ว เด็กที่แม้จะได้รับ เอ-แซด-ที แล้วก็ยังติดเอดส์ ก็ไม่พบว่า โรคเอดส์จะกำเริบเร็วกว่าเด็กที่ไม่เคยได้รับยาแต่อย่างไร เชื้อในตัวเด็กหรือในตัวแม่ก็ไม่พบว่ามีการดื้อยา เอ-แซด-ที จากการที่ได้รับยานี้ช่วงสั้นๆ ในระหว่างการตั้งครรภ์ แล้วหยุดไป
จากรายงาน พบว่า มีการใช้ยา เอ-แซด-ที ในหญิงตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ พบว่า ประมาณร้อยละ ๘๐-๙๐ ของหญิงตั้งครรภ์ในประเทศเหล่านี้ ได้รับยา เอ-แซด-ที กัน ทำให้ตัวเลขเด็กที่ติดเอดส์ กับการใช้วัคซีนป้องกันโปลิโอและไวรัสตับอักเสบบีในเด็กแล้วพบว่าการให้ เอ-แซด-ที แพงกว่าไม่มากนัก ขณะนี้ในหลายๆประเทศทั่วโลก ได้เพิ่มไปให้ยา ๒ ตัวหรือ ๓ ตัวร่วมกันในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภูมิต้านทานต่ำๆ หรือมีปริมาณไวรัสเอดส์ในเลือดมากๆ โดยหวังว่าการให้ยาหลายๆตัวร่วมกันจะทำให้โอกาสลดการติดเอดส์จากแม่สู่ลูกมีมากขึ้นแม้ว่าผลข้างเคียงทั้งระยะสั้นและระยะยาวของยาต่างๆ ในเด็กจะยังไม่ทราบชัดก็ตาม
- อ่าน 29,766 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้