• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ระบบขับถ่าย (มุจฉาปักขันทิกา)

ระบบขับถ่ายเฉพาะธาตุน้ำภายในร่างกายเพศชาย มีอวัยวะส่วนประกอบพอสรุปได้คือ
ลิงค์ (องคชาติ) ประกอบด้วยกล้ามเนื้อที่เหนียวมากแต่ยืดหดได้ ปกติธรรมดาจะนิ่ม เมื่อมีความรู้สึกทางเพศสัมพันธ์จะมีเลือดไหลเวียนมาคั่งค้างอยู่เต็มกล้ามเนื้อนี้จนรู้สึกว่าแข็งตัวมาก ภายในมีหลอดเลือดปัสสาวะอยู่ตลอดและมีรูช่องเล็กๆเปิดตอนปลาย เพื่อประโยชน์ในการขับถ่ายน้ำปัสสาวะ ที่กรองมาจากไตออกนอกร่างกาย และอีกประการหนึ่งเพื่อปล่อยตัวอสุจิออกมา

ถุงอัณฑะจะมีลูกอัณฑะอยู่ภายในถุงข้างละต่อม ลูกอัณฑะจะผลิตตัวเซลล์สืบพันธุ์ (ตัวอสุจิ) ลูกหมากหรือต่อมลูกหมากมีเยื่อหุ้มอยู่ด้านล่างของกระเพาะปัสสาวะ ตอนกึ่งกลางของต่อมลูกหมากมีหลอดปัสสาวะและหลอดอสุจิทั้ง ๒ อย่างเปิดเข้าในทางเดียวกัน เรียกว่า ท่อปัสสาวะทอดไปตามองคชาติโดยตลอด เพื่อเป็นทางออกของน้ำปัสสาวะและทางออกของน้ำอสุจิ

สาเหตุที่ปัสสาวะหยดย้อยติดขัด ถ่ายปัสสาวะไม่หมด น้ำปัสสาวะไม่พุ่ง ปกติจะพบมากที่สุดในมัชฌิมวัยขึ้นไป คืออายุ ๓๕ ปีขึ้นไปจะพบอุปสรรคในการขับถ่ายปัสสาวะมาก พบว่าเพราะลมกุจฉิสยาวาตา คือลมในช่องท้อง และลมโกฏฐาสยาวาตา คือลมในลำไส้ ลมทั้ง ๒ กองนี้ผิดปกติ ถ้ากองลมทั้ง ๒ มีสภาพหย่อนหรือพิการจะทำให้ปัสสาวะติดขัด ปัสสาวะหยดย้อยหรือปัสสาวะไม่พุ่ง แต่ถ้าลมทั้ง ๒ กองนี้กำเริบกล้าขึ้นจะทำให้ปัสสาวะพุ่งแรงและปัสสาวะมากๆหลายๆครั้ง นี่คิสาเหตุที่ปัสสาวะไม่ปกติ
นอกจากสาเหตุที่ปัสสาวะไม่ปกติจากกองลมทั้ง ๒ กองนี้เป็นเหตุแล้ว ยังมีอาการอื่นๆของระบบนี้แทรกซ้อน เช่น โรคเกี่ยวกับปัสสาวะ ตัวอย่างเช่น ทุราวสา, มุตกิต, มุตฆาต, อุปทม, นิ่ว, ต่อมลูกหมาก, ท่อปัสสาวะ, ไต ทั้งหมดนี้ทำให้ระบบปัสสาวะถูกเปลี่ยนไป ปกติจะพบมากในวัยผู้สูงอายุเท่านั้น ในปฐมวัยหรือวัยเด็ก, ทารก มีน้อยมาก เพราะวัยสูงอายุตั้งอยู่ในการควบคุมของกองลม, น้ำเหลืองและเหงื่อเป็นส่วนมาก ระบบปัสสาวะในผู้สูงอายุจึงพบว่า มักติดขัด หยดย้อย ปัสสาวะไม่หมด ปัสสาวะไม่พุ่ง พร้อมทั้งมีสีต่างๆให้ปรากฎ อาการปวดแสบร้อนจะมากขึ้น ยิ่งถ้ากินอาหารรสเผ็ดจัด ร้อนจัด ระบบปัสสาวะจึงมีอาการปวดแสบร้อนมากยิ่งขึ้น

การดูแลรักษาแบบแพทย์แผนไทย
ถ้าปัสสาวะหยดย้อย แนะนำให้ใช้สูตรยาเกล็ด ดังนี้
ขนานที่ ๑ เอาแตงกวาขนาดใหญ่ ๑ ลูก เอาสารส้มขนาดเท่าปลายนิ้วก้อยยัดใส่ในลูกแตงกวา แล้วนำไปเผาไฟอ่อนๆ จนแตงกวาสุกนิ่มทั้งลูก ต่อไปเอาเชือกผูกแตงกวาห้อยไว้ เจาะรูเล็กๆที่ข้างใต้ นำขันหรือแก้วรองรับน้ำแตงกวาที่ไหลจนหมด แล้วนำน้ำนั้นมาดื่มให้หมด ปัสสาวะจะดีขึ้นมากๆจนปกติ
ขนานที่ ๒ ใช้มีดกรีดที่ลูกมะละกอรองเอาน้ำยางประมาณ ๑ ช้อนโต๊ะ ใส่ลงในน้ำปูนใสครึ่งแก้ว คนให้เข้ากัน กินครั้งเดียวหมด
ขนานที่ ๓ รากบานไม่รู้โรยสด ประมาณ ๑ กำมือ, รากมะละกอสด ๑ กำมือ, สารส้มขนาดเท่าปลายนิ้วก้อยหรือประมาณ ๑๕ กรัม (หนัก ๑ บาท) รวมกันใส่หม้อดินใส่น้ำ ๓ แก้ว ต้มเคี่ยวให้เหลือ ๑ แก้ว หรือน้ำ ๓ ส่วนต้มเคี่ยวให้เหลือ ๑ ส่วน กินครั้งเดียวให้หมด และมื้อต่อไปต้มกินอีกประมาณ ๕-๖ ครั้ง ก็จะหายปกติ
ขนานที่ ๔ หอมแดง, รากบานไม่รู้โรย, รากคนทา, สารส้ม, หอมโทน ใช้ส่วนเท่าๆกันใส่หม้อดินต้ม กินก่อนอาหารเช้า-เย็น ประมาณครั้งละครึ่งแก้ว
ขนานที่ ๕ เอารากหมากผู้, หัวเต่าเกียด, หัวไพล, แก่นจันทน์แดง, รากหมากเมีย, ใบเทียนย้อมมือ, หัวขมิ้นอ้อย, แก่นจันทน์ขาว ใช้ส่วนเท่าๆกันใส่หม้อดินต้มเคี่ยวน้ำ ๓ ส่วน ให้คงเหลือน้ำ ๑ ส่วน กินก่อนอาหารครั้งละ ๑ ถ้วยชา วันละ ๒ ครั้งจะดีมาก
ขนานที่ ๖ ใบขี้เหล็กประมาณ ๑ กำมือ, รากไทรย้อย ๑ กำมือ, ใบขลู่ ๑ กำมือ, สารส้มขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย ใส่หม้อดินต้ม กินครั้งละครึ่งแก้ว วันละ ๒ ครั้ง ก่อนอาหารเช้า-เย็น
ยาผง (บดผง) เอาลูกสมอไทย, มหาหิงคุ์, รากเจตมูลเพลิง, สารส้ม, กำมะถันเหลือง, เทียนดำ หนักสิ่งละ ๑ บาท ดอกคำฝอยหนัก ๖ บาท รวมกันบดเป็นผง ละลายน้ำมะนาวกินครั้งละ ๑ ช้อนโต๊ะ ก่อนอาการ เช้า-เย็น
ยาผง (บดผง) เอาการบูร, เทียนดำ, ผลเอ็น อำพันทอง, หัวแห้วหมู, ขิงแห้ง หนักเท่าๆกันบดเป็นผง ละลายน้ำผึ้งกินครั้งละช้อนโต๊ะ ก่อนอาหารเช้า-เย็น ฯลฯ

อาการเกี่ยวกับระบบปัสสาวะไม่หมด ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่พุ่ง ปัสสาวะปวดแสบร้อน พบมากในผู้สูงอายุเพราะธาตุลมเปลี่ยนแปลงผิดปกตินั่นเอง

 

ข้อมูลสื่อ

230-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 230
มิถุนายน 2541
แพทย์แผนไทย
กีชา วิมลเมธี