• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผักปลัง

                                         

ชื่อวิทยาศาสตร์ Basella rubra linn.
ชื่ออื่น ผักปลังใหญ่ (ภาคกลาง) ผักปั๋ง (ภาคเหนือ) เหลาะคุ้ย (จีนแต้จิ๋ว) ลั่วขุย (จีนกลาง)
ผักปลังเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ Basellaceae เป็นไม้เลื้อย ยาวหลายเมตร แตกกิ่งก้านสาขามากทั้งเถาฉ่ำน้ำ มีสีเขียวหรือม่วงแดงใบเดี่ยวออกสลับกัน มีก้านใบยาว ฐานใบกว้าง ตัวใบกลมรีคล้ายรูปหัวใจ ปลายใบแหลม ยาวประมาณ ๓-๑๒ เซนติเมตร ขอบใบเรียบ ดอกออกเป็นช่อจากที่ง่ามใบหรือที่ยอด ดอกขนาดเล็กมีกลีบชมพู ผลฉ่ำน้ำขนาดใหญ่กว่าเมล็ดพริกไทย เมื่อผลแก่จะเป็นสีดำ

ผักปลังในฐานะอาหาร

ผักปลังมีส่วนที่นำมาประกอบอาหารได้ทั้งยอดอ่อนและดอก โดยนำมาแกงส้ม ในภาคเหนือจะนำมาแกงใส่แหนม ในภาคอีสานจะนำยอดอ่อนมาต้มทำเป็นเครื่องจิ้มน้ำพริก
รสชาติของผักปลังจะออกหวานนิดหน่อย ผักปลังมีลักษณะเฉพาะคือจะฉ่ำน้ำและจะมียางเป็นเมือกลื่นๆ เวลากินจะรู้สึกลื่นๆ

ใบและยอดอ่อนปรุงเป็นอาหาร ให้แคลเซียม เหล็ก และวิตามินเอ บี ซี เบต้าแคโรทีน เป็นผักที่มีกากมาก ช่วยระบายในคนที่ท้องผูกเป็นประจำ
นอกจากนี้ผลของผักปลังที่สุกจะมีสีม่วงแดงสามารถนำมาใช้แต่งสีขนมเยลลี่ หรืออาหารต่างๆได้

สมุนไพร

ผักปลังเป็นผักที่ช่วยหล่อลื่นลำไส้ ขับปัสสาวะ แก้ร้อนใน ท้องผูก ปัสสาวะขัด บิด ถ่ายเป็นเลือด แก้ผื่นแดงคัน แผลสด ฝีเป็นหนอง

ตำรับยาและวิธีใช้

๑. ท้องผูก ใช้ใบสดปรุงเป็นอาหาร กินเป็นประจำ
๒. ขัดเบา ใช้ต้นสด ๖๐ กรัม ต้มน้ำดื่มต่างน้ำชา
๓. อึดอัดแน่นท้อง ใช้ใบสดหรือยอดอ่อน ๖๐ กรัม ต้มน้ำเคี่ยวให้ข้นแล้วกิน
๔. ฝีหรือแผลสด ใช้ใบสดตำพอก วันละ๑-๒ ครั้ง
๕. ผื่นแดงหรือแผลไฟไหม้ ใช้น้ำคั้นจากใบสด
 

ข้อมูลสื่อ

231-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 231
กรกฎาคม 2541
ต้นไม้ใบหญ้า
กองบรรณาธิการ