• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตะลิงปลิง : ผักผลพื้นบ้านจากถิ่นใต้

ช่วงปลายเดือนมกราคมต่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ผู้เขียนมีภารกิจต้องเดินทางไปประเทศอินโดนีเซียเป็นเวลา ๒ สัปดาห์ ในฐานะตัวแทนจากประเทศไทยในคณะค้นหาความจริง (FACT-FINDING TEAM) เกี่ยวกับสภาพความขาดแคลนอาหารในประเทศอินโดนีเซีย

เนื่องจากข้อมูลที่ได้รับจากสื่อมวลชนชนิดต่างๆ (เช่น หนังสือพมพฺ โทรทัศน์ ฯลฯ) กับข้อมูลที่ได้รับตรงๆจากองค์กรที่ทำงานอยู่ในประเทศนั้นค่อนข้างขัดแย้งกัน กล่าวคือ สื่อมวลชนรายงานว่าสถานการณ์ด้านอาหารในประเทศอินโดนีเซียเลวร้ายมาก ประชาชนกว่าหนึ่งร้อยล้านคนขาดแคลนอาหาร ส่วนใหญ่มีอหารกินเพียงวันละมื้อเดียวเท่านั้น แต่ข้อมูลตรงจากคนทำงานในประเทศนั้นกลับบอกว่าสถานการณ์ไม่เลวร้ายอย่างที่เป็นข่าว การขาดแคลนจริงๆ คือการขาดแคลนข่าวที่ผลิตได้ต่ำกว่าความต้องการมากถึงราว ๕ ล้านตัน (ปี ๒๕๔๑) แต่อาหารอื่นๆที่ทดแทนข้าวได้ก็มี เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง มันเทศ ฯลฯ เป็นต้น

องค์กรพัฒนาเอกชนจากประเทศแถบเอเชียอาคเนย์ เช่น ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว ฯลฯ ได้ร่วมกันจัดคณะค้นหาความจริง เดินทางไปเก็บข้อมูลด้านอาหารที่ประเทศอินโดนีเซียโดยตรง เพื่อรายงานสถานการณ์ที่เป็นจริงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ โดยเฉพาะประเทศและองค์กรระหว่างประเทศที่กำลังให้ความช่วยเหลือด้านอาหารแก่อินโดนีเซียอยู่ในปัจจุบัน พร้อมกับเสนอแนะทางแก้ปัญหาที่ตรงกับปัญหาและมีประสิทธิภาพมากกว่าที่กำลังดำเนินอยู่ด้วย
๒ สัปดาห์ในอินโดนีเซีย ผู้เขียนเดินทางไปหลายแห่ง แต่คงไม่มีโอกาสนำมาเล่าหรือรายงานในคอลัมน์นี้ได้ นอกจากส่วนที่เกี่ยวข้องกับ "ต้นไม้ใบหญ้า" อันเป็นชื่อของคอลัมน์ โดยเฉพาะเกี่ยวกับผักพื้นบ้านที่กำลังนำเสนอติดต่อกันมาหลายสิบตอนแล้ว

ต้นไม้และผักพื้นบ้านในเมื่องหลวงเกาะชวา
สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนประทับใจในเมื่องหลวงของเกาะชวา (Java) อันได้แก่ กรุงจาการ์ตา (Jakarta) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศด้วย ก็คือต้นไม้ที่ปลูกแทบทุกหนแห่งจนร่มรื่นทั้งในบริเวณอาคารบ้านเรือนและที่สาธารณะ เช่น ทางเท้าและเกาะกลางถนน เป็นต้น แม้ประชากรในกรุงจาการ์ตาจะมากกว่ากรุงเทพฯ ของเราหลายล้านคน แต่เขากลับมีพื้นที่ปลูกต้นไม้มากกว่ากรุงเทพฯ หลายเท่า นี่แสดงถึงลักษณะนิสัยรักต้นไม้ของชาวเมืองหลวงของอินโดนีเซียที่ยังไม่ถูกทำลายด้วยความเจริญทางวัตถุเหมือนชาวกรุงเทพฯ
ที่น่าแปลกใจก็คือ นอกจากต้นมะฮอกกานีที่ชาวดัชท์นำมาปลูกหลายร้อยปีแล้ว ต้นไม้ที่ปลูกตามบ้านเรือนและถนนหนทางต่างก็เป็นต้นไม้พื้นบ้านแทบทั้งสิ้น แม้แต่ทองหลางน้ำก็พบอยู่ทั่วไปในเกาะกลางถนน ผิดกับกรุงเทพฯ ที่นิยมต้นไม้ต่างประเทศที่เพิ่งนำเข้าไม่นาน เช่น ชมพูพันธุ์ทิพย์ (ตาเบบูย่า) ปาล์มขวด และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น

ตะลิงปลิง : ชื่อที่ไม่เกี่ยวกับลิงและปลิง

                                       
                                        
พืชผักพื้นบ้านชนิดหนึ่งที่ผู้เขียนพบในกรุงจาการ์ตาก็คือ ตะลิงปลิง ซึ่งพบในระหว่างการเยี่ยมชมสลัม (ชุมชนแออัด) โดยพบในบริเวณบ้านที่พอจะมีพื้นดินอยู่บ้าง เจ้าของบ้านก็จะพยายามปลูกต้นไม้แทรกตามซอกเล็กซอกน้อย ตะลิงปลิงคงเป็นผักยอดนิยมอย่างหนึ่งของชาวสลัมจาการ์ตา เพราะเห็นอยู่หลายต้นและหลายบ้าน ชาวจาการ์ตาเรียกตะลิงปลิงว่าบลิมบิง เห็นได้ชัดว่าเป็นชื่อเดียวกัน แต่ชาวไทยคงเรียกตามชาวอินโดนีเซีย แต่ปรับให้เข้ากับลิ้นคนไทยกลายเป็นตะลิงปลิงไป (เช่นเดียวกับดูเรียนกลายเป็นทุเรียน)
เมื่อคำบลิมมิงเป็นต้นกำเนิดของชื่อตะลิงปลิง เราคงไม่ต้องค้นหาให้เสียเวลาว่าต้นไม้ชนิดนี้มีอะไรเกี่ยวข้องกับลิงหรือปลิงบ้างไหม

ตะลิงปลิงมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Averrhoa bilimbi Linn. เป็นพืชในวงศ์ Averrhoaceae เช่นเดียวกับมะเฟืองที่อยู่ในสกุลเดียวกันด้วย ดังนั้นลักษณะทั่วไปของตะลิงปลิงจึงคล้ายคลึงกับมะเฟืองมาก คือเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ สูงประมาณ ๕-๑๖ เมตร มีกิ่งก้านสาขามาก กิ่งอ่อนและก้านใบอ่อนมีขนอ่อนสีน้ำตาลปกคลุม แต่กิ่งแก่ผิวเรียบ ใต้ใบมีขนบางๆ ใบเป็นใบประกอบคล้ายขนนก มักรวมเป็นกลุ่มอยู่บริเวณปลายกิ่ง ใบแก่จะร่วงหล่นเกิดรอยแผลบนกิ่งก้านและลำต้น ก้านใบแต่ละก้านมีใบย่อยก้านละ ๑๑ ถึง ๓๗ ใบ ดอกออกตลอดปี ลักษณะเป็นช่อตามลำต้น กลีบดอกสีม่วงแดง มีกลิ่นหอม ผลติดเป็นช่อรูปทรงกระบอกรี มีร่องตื้นๆตามยาวรวม ๕ ร่อง ผลยาวประมาณ ๘ เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางราว ๒ เซติเมตร ผลิผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่ออกสีเขียวปนเหลืองใส ผิวบางผลฉ่ำน้ำ รสเปรี้ยวจัด เมล็ดแบน ไม่มีเปลือก

ตะลิงปลิงในฐานะผัก
ส่วนที่นำมาใช้เป็นอาหาร คือส่วนผล เนื่องจากมีรสเปรี้ยว
ผลสดของตะลิงปลิงนั้นใช้ใส่ผักยำ แกงส้ม หรือแกงเผ็ด เพื่อให้รสเปรี้ยว เช่นเดียวกับมะนาวหรือส้มมะขาม แต่ตะลิงปลิงจะใกล้เคียงกับมะดันมากกว่า รสเปรี้ยวของตะลิงปลิงทำให้ได้น้ำพริกและอาหารตำรับต่างๆที่มีรสชาติแตกต่างจากรสเปรี้ยวอื่นๆ

ประโยชน์อื่นๆของตะลิงปลิง
ในด้านอาหาร  ใช้กินเล่นเป็นผลไม้ก็ได้ เหมาะสำหรับผู้ชอบรสเปรี้ยว ใช้ทำน้ำผลไม้ ไวน์ แยม ดอง เชื่อม แช่อิ่ม กวน ฯลฯ เช่นเดียวกับมะดัน

ด้านสมุนไพร

เนื่องจากมีรสเปรี้ยวจึงใช้แก้ไอ ขับเสมหะ บำรุงเลือด นอกจากนี้ยังใช้แก้ไขข้ออักเสบ แก้คางทูม ริดสีดวงทวาร สว่นใบสดใช้ตำคั้นน้ำทางแก้คัน
น้ำในผลตะลิงปลิงมีฤทธิ์เป็นกรด ใช้ทำความสะอาดผ้าลินิน และล้างมือแทนสบู่ได้ดี
ตะลิงปลิงเป็นผักยืนต้นชนิดหนึ่งที่น่าปลูกไว้ในบริเวณบ้าน เพราะปลูกง่าย ใบงดงาม ดอกหอม และที่สำคัญคือ มีผลดกตลอดปี สมกับที่เป็นขวัยใจชาวกรุงจาการ์ตา ตั้งแต่เศรษฐีจนถึงถิ่นสลัม

ข้อมูลสื่อ

239-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 239
มีนาคม 2542
ต้นไม้ใบหญ้า