• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เตรียมตัว เตรียมตา เมื่อสายตาใกล้จะเปลี่ยน

เตรียมตัว เตรียมตา เมื่อสายตาใกล้จะเปลี่ยน


วันเวลาโผยผินบินผ่านไปดุจสายลม ความจริงเวลาที่เร็วหรือช้าของวันคืนที่ผ่านไป มิได้เร็วหรือช้าเลย อยู่ที่ความรู้สึกของตัวบุคคลนั้นๆ ต่างหาก เข็มนาฬิกายังคงเดินไปแต่ละวินาทีอย่างสม่ำเสมอ หาได้เดินเร็วขึ้นตามความรู้สึก

ชีวิตที่ผ่านไปก็เช่นเดียวกัน ไม่ทันไรอายุตัวเองก็ขึ้นเลข ๓ แล้ว เผลอเดี๋ยวเดียว ( คำเมืองเหนือ ใช้คำว่า...กำเดียว ) ผ่านไปเป็น ๓๕ อะไรกันนี่ จำได้ว่าเพิ่งจะฉลองอายุ ๒ รอบไปไม่กี่ปี? ไหงแพล็บเดียวจะฉลอง ๓ รอบอีกแล้วเหรอเนี่ย?

ช่วงอายุ ๓๕-๔๐ ปี จะเรียกว่าเริ่มเข้าวัยกลางคนเข้าไปแล้ว ชักจะใจหาย จะ ๔๐ ปีแล้ว หรืออะไรๆ ในร่างกายบางอย่างมีการเปลี่ยนแปลงไปในเชิงสีรรวิทยา เพราะระยะ ๒-๓ ปีที่ผ่านมา ทำไมเวลาอ่านหนังสือหรือทำงานบนโต๊ะนานๆ มันชักจะแสบๆ ตาเมื่อยๆ กระบอกตา ปวดมึนศีรษะบริเวณหัวคิ้ว บางครั้งน้ำตาไหล ตาพร่ามัว ต้องกระพริบตาเพื่อปรับสายตาเป็นระยะๆ นี่เป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้า แบบกระซิบเบาๆ ข้างใบหูว่า...สายตาคุณกำลังจะเริ่มเปลี่ยนแปลงแล้วนะ

ถ้าอายุเข้าเกณฑ์ดังกล่าว น่าจะถนอมสายตา ไม่ควรโหมทำงานบนโต๊ะหรืออ่านหนังสือ อ่านนิยายเป็นเล่มๆ ที่พิมพ์ตัวจิ๋ว เพ่งจนตาลาย เมื่อยล้าทุกครั้งที่อ่านผ่านไปสัก ๑๐-๒๐ หน้า

 


สายตาคนมีอายุหมายความว่าอย่างไร?

คำว่า สายตาคนมีอายุ (Presbyopia) หมายถึง คนที่มีอายุเข้าวัยกลางคน คือ ประมาณใกล้ตัวเลข ๔๐ หรือ ๔๐ กว่าเล็กน้อย จำเป็นต้องสวมแว่นสายตาแล้ว แว่นตาที่ว่านี้หมายถึงแว่นตาสำหรับใส่อ่านหนังสือหรือทำงานบนโต๊ะ หรือทำงานระยะใกล้ประมาณ ๑-๒ ฟุต ห่างจากตา ทั้งนี้ถ้าไม่ใช้แว่นจะมีลักษณะเด่นเฉพาะตัวของผู้มีอายุเหล่านี้ที่สังเกตได้ง่าย คือ เวลาอ่านหนังสือต้องเหยียดหนังสือหรือตัวเลขที่จะอ่านให้ห่างออกไป

การที่เป็นเช่นนี้เพราะความชรา เอ๊ย! ความที่มีอายุเพิ่มขึ้นทำให้ภาวะเลนส์ตาแข็งตัวกว่าแต่ก่อน ไม่ยึดหยุ่นเหมือนเมื่อตอนเด็กๆ หรือหนุ่มสาว มีผลทำให้การปรับภาพที่เรามองมีกำลังลดน้อยลง (accommodation is lessened) เลนส์ตาที่ค่อนข้างแข็งหรือเริ่มจะแข็งตอนอายุใกล้เลข ๔ นี่แหละเป็นตัวกลไกสำคัญ ยิ่งนานวันผ่านไปอายุมากขึ้นก็ยิ่งแข็งมากขึ้น การปรับภาพยิ่งน้อยลงตามลำดับ (ตามตารางการปรับภาพที่แสดงให้เห็น)

 

สายตาคนมีอายุต่างกับคนสายตายาว สายตาสั้นหรือสายตาเอียงหรือไม่? อย่างไร?

สายตาคนมีอายุ (presbyopia) หมายถึง สายตาคนที่อายุเพิ่มมากขึ้นเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ หรือเข้าวัยนักบริหาร นักปกครอง แว่นตาที่ใช้เป็นแบบเลนส์นูน หรือเลนส์ที่ช่วยขยายให้ภาพโตขึ้นนั่นเอง บางคนพูดล้อเลียนว่า ขอแว่นขยายหน่อย คือ แว่นอันเดียวกันนี่แหละ

สายตายาว (hyperopia) หมายถึง คนที่จำเป็นต้องสวมแว่น ชนิดเลนส์นูนเหมือนกันแต่จะเป็นความผิดปกติในสายตา เกี่ยวกับการหักเหแสงจากวัตถุเข้าสู่ลูกตา ไม่ไปปรากฏบนจอภาพ(retina) คือ ภาพตกเลยจอรับภาพ จำเป็นต้องสวมแว่นตาเลนส์นูน (convex lens) เพื่อดึงภาพที่ตกเลยจอรับภาพไป ให้เข้ามาตกที่จอรับภาพพอดีตามภาวะของสายตาที่จะต้องใช้เลนส์กำลังพอเหมาะนั้น สามารถพบได้ตั้งแต่เด็กอายุ ๑ ขวบ จนกระทั่งหนุ่มสาว

สายตายาวในเด็กเล็กๆ แรกเกิดนี่แหละเป็นตัวการสำคัญ ที่ทำให้เกิดภาวะตาเข (accommodative esotropia)

สายตาสั้น (myopia) คือภาวะที่ภาพจากวัตถุตกหน้าจอรับภาพทำให้ต้องใช้เลนส์ชนิดเว้า (concave lens) ใส่เพื่อถ่างแสงให้ภาพไปตกพอดีที่จอรับภาพ พบได้ในคนอายุน้อยๆ หรือวัยกำลังศึกษา เริ่มต้นทำงาน

สายตาเอียง (astigmatism) เป็นภาวะที่กระจกตาดำมีความโค้งไม่เท่ากัน ในแนวใดแนวหนึ่ง การมองเห็นจะพร่า และมีอาการปวดกระบอกตามากเพื่อเพ่งมองอะไรนานๆ จำเป็นต้องใช้แว่นตาชนิดรูปทรงกระบอก (cylindrical lens) มาช่วยปรับแสงที่ผิดปกตินั้นๆ ให้สู่แนวปกติ เพื่อภาพจะได้รวมไปตกที่จอรับภาพได้ดี ค่อนข้างซับซ้อนพอสมควร พบในคนทุกอายุ พบมากในหนุ่มสาว โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา

 
อาการเริ่มต้นของคนสายตามีอายุเป็นอย่างไร ถ้าไม่แก้ไขจะมีอันตรายถึงพิการหรือไม่?

การปรับภาพคนปกติ คิดเป็นไดออปเตอร์ (diopter) หมายถึง คนอายุน้อยสายตาปรับภาพได้มาก มีกำลังสูง ยิ่งอายุมากขึ้น กำลังการปรับภาพลดน้อยลงตามลำดับ (ตามตารางข้างล่าง)

อาการเริ่มต้นของสายตาสูงอายุ จะมีอาการนำมาก่อน ก็คือ อ่านหนังสือนานๆ ทำงานเซ็นหนังสือ ดูตัวเลขบัญชีนานๆ หรือพิมพ์ดีดนานๆ รู้สึกตาพร่าเป็นพักๆ ต้องขยี้ตา หรือกระพริบตาถี่ๆ อยู่เสมอ มีอาการเมื่อยล้ากระบอกตา เหมือนง่วงนอน ตาปรือบางครั้ง รู้สึกแสบๆตา น้ำตาไหล เมื่ออ่านหนังสืออยู่นานๆ ติดต่อกันโดยไม่พักสายตา อาการเหล่านี้จะค่อยๆเพิ่ม หรือเป็นถี่ขึ้นตามวันเวลาจนเจ้าตัวรู้สึกผิดสังเกต แรกๆ ก็ไม่รู้ตัว เพราะตาตัวเองปรับภาพได้ ครั้นปรับภาพอยู่นานๆ กล้ามเนื้อตาที่มีหน้าที่ปรับภาพเมื่อยล้า จะมีอาการปวดกระบอกตา ตาพร่า น้ำตาไหล

เวลาผ่านไปนานเข้า การปรับภาพที่เคยทำอยู่ชักลดลง การมองตัวหนังสือซึ่งปกติเห็นในระยะห่าง ๑-๒ ฟุต ตอนนี้ต้องเหยียดห่างออกไปอีกเล็กน้อย เหยียดห่างออกไปเรื่อยๆ จนบางคนเหยียดจนสุดแขนจึงจะอ่านได้ ท่าอ่านหนังสือจึงเป็นท่าเฉพาะ หรือเอกลักษณ์ของคนมีสายตาสูงอายุ ถ้าไม่แก้ไขหรือรักษา จะทำให้มีอาการปวด มึนศีรษะเสมอ เป็นทุกครั้งที่ใช้สายตาระยะใกล้ บางครั้งรู้สึกคลื่นไส้อยากอาเจียน ตาพร่า น้ำตาไหล แต่ไม่ถึงกับทำให้ตาพิการถึงขี้นบอด

 
สายตากลับหมายความว่าอย่างไร?

สายตากลับเป็นภาวะที่จากเดิมสวมแว่นตามองอะไรได้ชัดไม่ว่าจะเป็นระยะไกลหรือระยะใกล้ แว่นตาชนิดนั้นจะต้องเป็นแว่นตาแบบ “สายตาสั้น” มาก่อน (เลนส์เว้า) ครั้นพออายุมากขึ้นใกล้เลข ๔ หมายถึง จะเป็นคนมีสายตา คนมีอายุ ซึ่งต้องใส่แว่นตาชนิดเลนส์นูน สวมใส่เพื่อมองอะไรระยะใกล้ๆ ๑-๒ ฟุต หรืออ่านหนังสือ เซ็นหนังสือ เป็นต้น จำเป็นต้องเอาแว่นตาออก เพื่อมองตาเปล่าจึงจะเห็นชัดหรือจับแว่นขึ้นไปเหน็บไว้บนหน้าผากอย่างที่เห็นบางคนชอบทำ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับว่าเดิมเป็นคนมีสายตาสั้นอยู่เท่าไร สมมติสั้นเพียง ๒.๐๐ ไดออปเตอร์ หรือภาษาชาวบ้านว่า สั้น ๒๐๐ ครั้นอายุประมาณ ๔๐ กว่าๆ เช่น (ประมาณ ๔๐ กว่าๆ เช่น ๔๔ ปี สมควรจะใช้แว่นตาอ่านหนังสือขนาด ๒๐๐ จึงจะชัด คนๆนี้ไม่จำเป็นต้องเอาแว่นตามาสวม เพียงเอาแว่นตาอันเดิมที่สวมอยู่ ๒๐๐ ออกเท่านั้น ก็สามารถอ่านหนังสือได้ ทำให้คล้ายกับ “สายตากลับ” คือ จากที่เคยใส่แว่นอ่านหนังสือเป็นถอดแว่นอ่านหนังสือ พฤติกรรมถอดแว่นอ่านหนังสือจะเป็นอยู่เพียงช่วงของอายุ ๑-๒ ปี ต่อไปนานๆ เข้าคนนั้นก็ต้องมีแว่นตาอีกอันสำหรับอ่านหนังสือเหมือนคนปกติ คือ แว่นชนิดเลนส์บวกนั่นเอง

คำว่า สายตากลับ จึงเป็นช่วงสั้นๆ ของการที่ไม่ต้องใช้แว่น เมื่ออ่านหนังสือ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ การลดกำลังแว่นสายตาสั้นลงมาเมื่อจะใช้สายตาระยะใกล้นั่นเอง มิใช่การที่สายตากลับคืนสู่สภาพปกติแบบคนทั่วๆไป โดยไม่ต้องใช้แว่นตาอีกเลย ไม่ว่าไกลหรือใกล้ตามที่เข้าใจกัน

 
แว่นตาคนมีอายุ ต้องเปลี่ยนทุกปีหรือทุกกี่ปี่?

พอเริ่มใช้แว่นตาอ่านหนังสือแบบคนมีอายุเมื่อใด นั่นก็ หมายถึงว่า กำลังของแว่นตาจะเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยกำลังการปรับภาพที่จะลดลงเป็นปฏิภาคตามกันไป ส่วนมากจะเริ่มต้นที่กำลังแว่นตาชนิดเลนส์นูนขนาด ๗๕ (๐.๗๕ ไดออปเตอร์) จากนั้นจะเพิ่มความหนาของแว่นตาขึ้นทุกปี หรือทุก ๒ ปี เป็น ๑๐๐,๑๒๕ หรือ ๑๕๐ แล้วแต่ลักษณะตาและภาวะการปรับภาพของคนๆนั้น ตามตารางที่ให้ไว้เป็นเครื่องบ่งชี้คร่าวๆ ทั้งนี้เรื่อยไป จนกระทั่งอายุประมาณ ๕๕ ปี ถึง ๖๐ ปี

 
คนสวมแว่นตาที่มีอายุจะเอาไปใช้สำหรับดูไกลได้หรือไม่ เพราะเหตุใด?

คนสวมแว่นตาสำหรับดูใกล้หรืออ่านหนังสือระยะห่างตาเพียง ๑-๒ ฟุต จะเงยหน้าหรือมองวัตถุไกลๆ เกิน ๒ ฟุตไม่ได้ แม้เพียงผู้ที่มานั่งสนทนาอยู่ตรงหน้าก็ต้องถอดแว่นตาออกเพื่อมองหน้าผู้นั้น มิฉะนั้นจะมึนศีรษะและเวียนศีรษะ ปวดตาทันที ยิ่งเอาไปมองอะไรไกลๆ เกินระยะ ๑ เมตรขึ้นไปจะตาพร่า มัว มองไม่เห็น มึนศีรษะ ทันที เนื่องจากไม่ใช่แว่นตาสำหรับดูไกลนั่นเอง ผู้ที่สายตาเข้าวัยสูงอายุมองไกลใช้ตาเปล่าได้สบายมากในระยะเริ่มต้น เพียงแต่จะใช้แว่นตาเฉพาะเมื่ออ่านหนังสือหรือทำงานละเอียดระยะใกล้ๆ เท่านั้น

 
ต่อจากสายตาคนมีอายุ จะเป็นต้อกระจก เท็จจริงประการใด?

จากวัยที่ขึ้นเลข ๔ จำเป็นต้องสวมแว่นตา เพื่อช่วยการมองเห็นระยะใกล้จนเป็นที่น่าพอใจ ถึงระยะหนึ่งแล้วคือไปถึงวัย ๕๕-๖๐ ปี หรือ ๖๐-๖๕ ปี จะเป็นระยะที่เข้าสู่วัยต้อกระจก “ต้อวัยชรา” (senile cataract) แว่นตาจะไม่ช่วยให้การเห็นดีขึ้นต่อไปอีกแล้ว ต้องรอให้เลนส์ตาที่เป็นต้อสุกพอสมควรค่อยผ่าตัดเอาต้อออก ตามขั้นตอนของโรคต้อกระจก บางคนอายุ ๖๐ ปีกว่า ยังไม่เป็นต้อกระจก สามารถจะใช้แว่นตาแบบเลนส์นูน ช่วยการมองเห็นชัดต่อไปได้เรื่อยๆ จนกระทั่งเป็นต้อกระจกยังมี

อย่างไรก็ตาม สายตาในคนมีอายุมิใช่เฉพาะการสวมแว่นตา เมื่ออ่านหนังสือ วันเวลาผ่านไปการมองไกลๆ ที่เคยเห็นดีจะมัวลงตามวัยด้วย ต้องใช้แว่นระยะไกลเหมือนกัน คือ แว่นตาชนิดเลนส์นูนบางๆ บางกว่าชนิดมองระยะใกล้จึงทำให้ต้องทำแว่นตาชนิด ๒ เลนส์ คือ เลนส์ไกลให้มองผ่านเลนส์ด้านบน จะอ่านหนังสือหรือทำงานให้มองผ่านเลนส์อันล่าง

ยิ่งอายุมากขึ้นไปอีกระดับ ๕๐ กว่าถึง ๕๕ อาจต้องมีแว่นตาชนิดเลนส์ ๓ ชั้น คือ มองไกลเกิน ๖ เมตร อยู่ชั้นบนสุด ต่ำกว่า ๖ เมตร มองผ่านเลนส์ชั้นกลาง เมื่ออ่านหนังสือหรือทำงานระยะใกล้ๆ มองผ่านเลนส์อันล่างสุดเรียกเลนส์ ๓ ชั้น (trifocal lens)


ข้อแนะนำ ในการดูแลสายตาคนมีอายุ

๑. ไม่ควรอ่านหนังสือ หรือทำงานระยะใกล้เกินไป หรือนั่งทำงานบนโต๊ะนานจนแสบตา น้ำตาไหล ปวดกระบอกตา

๒. ไม่ควรทำงานในที่แสงสว่างไม่พอเพียง แสงสลัวจะทำให้ตาต้องพยายามเพ่งมองเพื่อให้เห็นชัดตลอดเวลาที่ทำงานนั้นๆ ยิ่งทำงานที่ต้องใช้ความละเอียดลออมากๆ จะทำให้ออกอาการชัดเจน

๓. ไม่ควรทำงานในที่แสงเจิดจ้า สว่างมากเกินไปจนตาพร่า แสบ ปวดตา เช่น อ่านหนังสือ กลางแสงแดดจัดเป็นเวลานานๆ

๔. ไม่ควรอ่านหนังสือ หรือเพ่งทำงานในลักษณะที่มีการเคลื่อนไหว เช่น นั่งอ่านหนังสือบนรถยนต์ที่วิ่งกระเด้งกระดอน สบัดโยกไปมาตลอดเวลา บนพื้นถนนที่แสนจะขรุขระ ทุรกันดาร

๕. ถ้ารู้สึกทำงานมากนานๆ ตาพร่า มัว มองไม่ชัด บางครั้งมองวัตถุ หรือตัวหนังสือเป็นภาพซ้อน ต้องสบัดศีรษะ หรือใบหน้า หรือกระพริบตาถี่ๆ เพื่อปรับภาพให้ชัดเป็นระยะๆ อาการเช่นนี้บ่งบอกว่าสายตามีการเปลี่ยนแปลงแล้ว ควรต้องไปตรวจวัดสายตา และประกอบแว่นโดยหมอตา ถือโอกาสตรวจตา เผื่อมีโรคอื่นแทรกซ้อน

๖. อ่านหนังสือ ทำงานบนโต๊ะ นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ รู้สึกมึนศีรษะ ตาลาย ปวดกระบอกตา วิงเวียน วันเวลาผ่านไป อาการจะเป็นถี่ขึ้น และใช้สายตานานเหมือนแต่ก่อนไม่ได้ เมื่อก่อนเคยนั่งทำงาน อ่านหนังสือเป็นชั่วโมง หรือ ๒-๓ ชั่วโมง จึงจะมีอาการ ครั้นเดี๋ยวนี้แค่ครึ่งชั่วโมง หรือ ๑๕-๒๐ นาทีก็มีอาการเสียแล้ว นี้คืออาการเตือนล่วงหน้า

๗. ไม่ควรนั่งหน้าจอโทรทัศน์ใกล้กว่า ๒ เมตร จะทำให้ใช้ตาในการเพ่งมากเกินไปโดยไม่รู้ตัว นานๆจะรู้สึกตาพร่ามัว มึนศีรษะ

๘. ควรออกกำลังกาย ด้วยการเล่นกีฬากลางแจ้ง อย่างน้อยครั้งละครึ่งชั่วโมง เพื่อให้การไหลเวียนของเลือดลมภายในร่างกายเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ทำทุกวัน หรือวันเว้นวัน นอกจากจะทำให้ตาแจ่มใสยังทำให้ระบบขับถ่ายเป็นไปด้วยความสะดวก อีกทั้งจิตใจปลอดโปร่ง แจ่มใส

๙. หมั่นตรวจเช็กสายตาตนเองเป็นระยะๆ อย่างน้อยทุก ๖ เดือน หรือทุกปี ด้วยวิธีการตรวจวัดสายตาแบบง่ายๆ ดังบทความเรื่อง “การวัดสายตา” ในนิตยสารหมอชาวบ้าน ฉบับเดือนเมษายน ๒๕๓๙ ถ้าไม่แน่ใจให้ไปพบจักษุแพทย์ที่ท่านสะดวกที่สุด ตรวจวัดให้เหมาะและแม่นยำกว่า

๑๐. ดังสัจธรรมที่ว่า อะไรจะเกิดก็ต้องเกิดหยุดวันเวลาไม่ได้ ก็ไม่สามารถจะหยุดภาวะเสื่อมถอยของร่างกายไปได้ เมื่อถึงเวลาอันสมควรเหมาะเจาะสำหรับบุคคลนั้น ต้องทำใจ และยอมรับโดยดุษฎี

ทำไงได้วันเวลาที่ผ่านไปก็หมายถึงอายุเพิ่มขึ้น ไม่เคยหยุดนิ่ง ท่านไม่สวมแว่นตาวันนี้ วันข้างหน้าต้องสวมแว่นแน่นอน เป็นสัจธรรมที่ไม่เคยมีใครหลีกหนีพ้น

ข้อมูลสื่อ

226-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 226
กุมภาพันธ์ 2541
เรื่องน่ารู้
นพ.สุรพงษ์ ดวงรัตน์