• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สวนครัว ความมั่นคงทางอาหารในยุคไอเอ็มเอฟ

สวนครัว ความมั่นคงทางอาหารในยุคไอเอ็มเอฟ


คอลัมน์ “ต้นไม้ใบหญ้า” ฉบับนี้คงแตกต่างจากตอนก่อนหน้าย้อนไปหลายสิบฉบับ หรือในรอบหลายๆ ปี เนื่องจากไม่ได้นำพืชชนิดต่างๆ มาเสนออย่างเคย ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย และประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ กำลังอยู่ในภาวะผันผวน และทรุดหนักจนถึงขั้นเลวร้ายในระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในรอบหลายสิบปี หรืออาจกล่าวได้ว่าตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา โดยเฉพาะประเทศที่ต้องขอความช่วยเหลือด้านการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ.) ซึ่งมีเงื่อนไขต่างๆให้ต้องปฏิบัติตามมากมาย บรรดาเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟ. นั้นอาจเรียกได้ว่าเข้มงวดและมีผลกระทบต่อประชาชนในประเทศอย่างรุนแรง เช่น การกำหนดให้เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากร้อยละ ๗ เป็นร้อยละ ๑๐ และปรับลดงบประมาณให้เกินดุล อย่างน้อยร้อยละ ๑ (ที่ประเทศต่างๆ ยังทำไม่ได้) เป็นต้น

ประเทศเพื่อนบ้านของไทยประเทศหนึ่ง คือ มาเลเซีย ก็ประสบวิกฤติทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับไทย แต่มาเลเซียไม่ยอมขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่าประเทศ (ไอเอ็มเอฟ.) แต่พยายามแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ด้วยมาตรการประหยัดด้านต่างๆ เช่น ปรับลดงบประมาณและค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ ของภาครัฐบาล อาทิ การลดเงินเดือนข้าราชการ การห้ามเดินทางไปต่างประเทศของข้าราชการ ฯลฯ และที่น่าสนใจ คือ รัฐบาลมาเลเซียมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนทำสวนครัวกันอย่างจริงจัง เพื่อลดรายจ่ายด้านอาหารลง เนื่องจากมาเลเซียต้องสั่งอาหารมาจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

สำหรับประเทศไทยเองซึ่งแม้จะผลิตอาหารได้เหลือเฟือจนสามารถส่งออกไปขายนอกประเทศได้มากมาย แต่นโยบายส่งเสริมให้ประชาชนทำสวนครัวก็มีความจำเป็นเช่นเดียวกัน เพราะประชาชนอย่างน้อยร้อยละ ๔๐ ไม่มีอาชีพเกษตรกร และแม้ผู้มีอาชีพเกษตรกรก็ มีไม่มากพอที่จะผลิตพืชผักสวนครัวบริโภคเองในครัวเรือน ดังนั้น รายจ่ายที่ต้องซื้อพืชผักสวนครัวมาบริโภคจึงเป็นเงินจำนวนมหาศาล ที่น่าจะประหยัดได้ในยุควิกฤติทางเศรษฐกิจปัจจุบัน

ในหนังสือ “คือมือนิเทศงานการช่วยเหลือประชาชน ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ” ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พิมพ์แจกจ่ายเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๔๐ มีมาตรการส่งเสริมการทำพืชผักสวนครัวเป็นการลดรายจ่ายของครอบครัว หากมีเหลือสามารถจำหน่ายเพิ่มรายได้ นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ปลูกไม้ดอก ไม้ประดับรั้วที่กินได้ และไม้ผลในครัวเรือน อันจัดเป็นกิจกรรมสวนครัวอย่างหนึ่งด้วย


บทบาทของสวนครัวในอดีต
เมื่อผู้เขียนยังเป็นเด็กอยู่ในชนบทจังหวัดสุพรรณบุรีราว ๔๐ ปีก่อน (พ.ศ.๒๕๐๐) จำได้ว่าแทบทุกบ้านต่างก็ทำสวนครัวด้วยกันทั้งสิ้น ผู้เขียนเองก็ปลูกผัก ปลูกไม้ดอก เป็นมาตั้งแต่เด็กๆ ก็เพราะต้องช่วยแม่และพี่ๆทำสวนครัวนี่เอง โดยเริ่มจากการรดน้ำ ถอนหญ้า พรวนดิน ฯลฯ ในตอนนั้นก็ไม่เคยสงสัยว่าทำไมจึงมีการปลูกผักสวนครัวกันทั่วไป ทั้งครอบครัวเกษตรกรและไม่ใช่เกษตรกร (ดังเช่นครอบครัวผู้เขียน) ต่อมาโตขึ้นจึงทราบว่า การปลูกผักสวนครัวที่นิยมทำกันแพร่หลายในช่วง พ.ศ. ๒๕๐๐ นั้น เป็นผลมาจากการส่งเสริมอย่างจริงจังของรัฐบาลไทย ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ และหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก การทำสวนครัวเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งในสมัยนั้น

จากเอกสารพบว่า รัฐบาลไทยได้สั่งดำเนินการส่งเสริมให้ประชาชนไทยได้สั่งดำเนินการส่งเสริมให้ประชาชนไทยทำสวนครัวมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๐ แต่ไม่ค่อยได้ผล จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๔๘๒ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น คือ พลตรีหลวงพิบูลสงคราม จึงบัญชาให้รื้อฟื้น โดยคณะรัฐมนตรีได้ลงมติแต่งตั้ง “คณะกรรมการส่งเสริมการทำสวนครัว และการเลี้ยงสัตว์” ขึ้น ได้จัดทำหนังสือ “คำแนะนำว่าด้วยการทำสวนครัวและการเลี้ยงสัตว์” ขึ้นเผยแพร่แจกจ่ายแก่ประชาชนทั่วไป พร้อมกับกระทรวงมหาดไทยได้ออกคำสั่งไปยังข้าหลวงประจำจังหวัด (ผู้ว่าราชการจังหวัด) ทุกจังหวัดเรื่องการปฏิวัติในยามที่ต่างประเทศมีสงคราม วันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ มีข้อความตอนหนึ่งว่า... “ข้าพเจ้าเห็นว่า อย่างน้อยก็ควรเร่งรัดกวดขันการงานเหล่านี้คือ ก. การทำสวนครัว ต้องการให้ทำได้ทั่วถึง ทุกบ้านเรือนที่พอจะทำได้ และควรจะเริ่มด้วยข้าราชการการทำเป็นตัวอย่างชักนำราษฎรได้ก็ดี พืชผล ที่กระทำขึ้นนั้น นอกจากสำหรับกินสำหรับใช้ในครัวเรือนแล้ว ถ้ารวบรวมกันให้เป็นสินค้าได้ด้วยก็ยิ่งดี”…

ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๒ กระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งอีกฉบับหนึ่งถึงข้าหลวงประจำจังหวัดทุกจังหวัด เน้นถึงความจำเป็นต้องดำเนินการด้านต่างๆ ว่า... “ความจริงเรื่องการช่วยเหลือตัวเองของชาวไทยนั้น ไม่เป็นการที่ยากหรือมีอุปสรรคขัดข้องดั่งที่ชาวชาติอื่นๆ ต้องประสบเลย ประเทศเรามีความอุดมสมบูรณ์ได้เปรียบประเทศอื่นๆ อยู่มาก...” ต่อเมื่อเราได้ติดต่อกับโลกภายนอกมากขึ้น ประกอบด้วยการคมนาคมสะดวกขึ้น สินค้าของนานาประเทศจึงได้เข้ามาสู่บ้านเมืองเราอย่างมากมาย และเมื่อชาวเรามีทางซื้อหาได้สะดวก ไม่ต้องเสียเวลาและเหนื่อยยากที่ต้องทำกันเอง ความใจง่ายก็เข้าครอบงำเป็นนิสัย คอยแต่เป็นผู้ซื้อและผู้ใช้ โดยละเลยการทำกินทำใช้เองเสียเลยทีเดียว... ถึงเวลาแล้วที่ชาวไทยเราจะ ต้องรู้สึกตัวกันเสียที...ว่าประชาชนชาวไทย และประเทศไทยจะต้องรีบทำการ เพื่อช่วยตัวเองในทุกๆทาง...ปฏิบัติ จัดทำสิ่งอันจะเป็นประโยชน์แก่คนและครอบครัว...กิจการอันเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรปฏิบัติจัดทำในขั้นต้นนี้ ข้าพเจ้าขอยกมากล่าวไว้บางเรื่อง เพื่อเป็นอุทาหรณ์ คือ

๑. สวนครัว ให้ทำกันทุกบ้านเรือน ดังได้กล่าวในหนังสือฉบับก่อนแล้ว และเรื่องนี้ก็มีคณะกรรมการที่จะได้จัดการแนะนำช่วยเหลืออีกส่วนหนึ่ง ต่อมาวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งถึงคณะกรรมการจังหวัด ทุกจังหวัด เรื่องการทำสวนครัวและการเลี้ยงสัตว์ มีเนื้อความโดยย่อว่า นโยบายของรัฐบาลเรื่องการทำสวนครัวและการเลี้ยงสัตว์นี้ให้ทำอย่างจริงจังและเกิดผลจริง ไม่เพียงการชี้แจงแนะนำส่งเสริมเท่านั้น แม้จะต้องเคี่ยวเข็ญ บังคับกันก็ต้องกระทำ ให้ราชการลงมือทำเป็นตัวอย่าง หากข้าราชการไม่ทำจะมีความผิดตามกฎหมาย ว่าไม่เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา รวมทั้งครูประชาบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พนักงานเทศบาล ฯลฯ

ในที่สุดรัฐบาลสมัยนั้นก็ได้ตราพระราชบัญญัติการทำสวนครัวและการเลี้ยงสัตว์ เพื่อประโยชน์แห่งครัวเรือน พ.ศ.๒๔๘๒ ขึ้น มีเนื้อหากำหนดให้เจ้าของบ้านที่มีที่ดินอยู่นอกเขตเทศบาล ต้องมีหน้าที่จัดทำสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ ตามชนิดที่กรมการอำเภอในเขตนั้นกำหนดไว้ หากไม่ทำตามจะถูกลงโทษปรับไม่เกิน ๑๒ บาท

จากพระราชบัญญัติ การทำสวนครัวและการเลี้ยงสัตว์ เพื่อประโยชน์แห่งครัวเรือน พ.ศ. ๒๔๘๒ นี้เองที่มีผลทำให้ประชาชนชาวไทยทำสวนครัวกันทั่วประเทศ ซึ่งคงมีผลต่อเนื่องไปจนถึง พ.ศ.๒๕๐๐ ที่ผู้เขียนเป็นเด็ก และพบว่ามีการทำสวนครัวกันทั่วไปการทำสวนครัวคงเสื่อมความนิยมลงตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๔ ซึ่งรัฐบาลประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ ๑ อันมุ่งการผลิตสินค้าส่งออก และเปลี่ยนประเทศจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรม จนกระทั่งส่งผลเป็นวิกฤติร้ายแรงทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน

บัดนี้น่าจะถึงเวลาแล้วที่ชาวไทยจะหันมาทำสวนครัว เพื่อประโยชน์แห่งครัวเรือน เป็นการช่วยตัวเองในยุคไอเอ็มเอฟ. ที่ไทยต้องเสียเอกราชทางการเงินการคลัง และพ่ายแพ้ทางเศรษฐกิจอย่างย่อยยับ แต่โชคดีที่ชาวไทยยังเข้มแข็งในภาคการเกษตร จึงหวังว่าภาคเกษตรจะเป็นฐานรองรับประเทศไทยให้รอดพ้นจากวิกฤติการณ์ครั้งนี้ไปได้ และสวนครัวก็จะทำหน้าที่เป็นชูชีพ ช่วยพยุงชาวไทยให้ผ่านพ้นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออันเจ็บปวด ยิ่งนี้ไปอย่างปลอดภัย

ข้อมูลสื่อ

226-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 226
กุมภาพันธ์ 2541
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร