• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เมื่อคุณติ๋มใช้ยาแก้ไอผิด

เมื่อคุณติ๋มใช้ยาแก้ไอผิด

 
“คุณติ๋ม” แคชเชียร์บริษัทขายสินค้ารายใหญ่แห่งหนึ่งย่านรังสิต เพิ่งได้กลับมาทำงานเพราะต้องไปนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง หลังจากที่ไม่พบกันเลยเมื่อเดือนก่อน ผมยังจำได้ว่าคุณติ่มมีอาการไอค๊อกๆ แค๊กๆ มาปรึกษาผมว่า ใช้ยาหลายอย่างแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ยาอม ยาเม็ด หรือยาน้ำ ใครบอกดีก็ลองหมดแล้ว แต่ยังไม่หยุดไอสักที

ผมแนะนำไปว่า ปกติถ้าไม่ป่วยเป็นอะไรมาก เมื่อใช้ยาอย่างถูกต้องประมาณ ๑ สัปดาห์ อาการน่าจะดีขึ้น นี่ไม่ดีขึ้นเลยควรจะไปให้แพทย์ตรวจ หลังจากนั้นพบอีกครั้ง คุณติ๋มบอกว่ายังไม่มีเวลาไปพบแพทย์ และอาการไอเป็นปัญหาในการทำงานมาก จึงไปรับยาระงับการไออย่างแรงชนิดหนึ่งจากห้องพยาบาลของบริษัทฯ มากินนานกว่า ๒ สัปดาห์ ระหว่างที่ใช้ยาอาการไอก็น้อยลง แต่พอหยุดยาอาการกลับกำเริบอีก ตอนนี้มีไข้สูงและไอมากขึ้นกว่าเดิม

พบกันครั้งล่าสุดคุณติ๋มเล่าให้ฟังว่าได้ไปตรวจโรคที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งซึ่งบริษัททำประกันสังคมไว้ไป ๓ ครั้งพบแพทย์ไม่ซ้ำหน้ากันจึงต้องเอกซเรย์ปอดถึง ๓ ครั้งในช่วงเวลา ๗ วัน แพทย์คนสุดท้ายวินิจฉัยว่า “เสมหะคั่งค้างในปอดจนมีการติดเชื้อ” ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล ถูกให้ออกซิเจน พ่นยาละลายเสมหะ ได้ยาต้านจุลชีพทางเส้นเลือด จนมีรอยเขียวช้ำไปทั้งมือและแขนนอนรักษาตัวอยู่ ๔ วัน หมดเงินไปกว่าสองหมื่นบาท

ฟังเรื่องคุณติ๋มแล้วผมตกใจมากแค่ใช้ยาแก้ไอผิดนิดเดียวทำให้เกิดเรื่องยืดยาวถึงเพียงนี้ “ยาระงับไออย่างแรง ไม่ควรใช้กรณีไอแบบมีเสมหะเพราะจะทำให้เสมหะคั่งค้างอาการโรคจะหายช้า บางครั้งก็จะเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นมาอีก”

ผมเริ่มสนใจจึงสอบถามเรื่องอื่นๆ คุณติ๋มเลิกกับสามี เช่าหอพักอยู่คนเดียว ลูก ๒ คนอยู่กับย่าเจ็บป่วยไม่มีใครดูแล ห้องเช่าก็เป็นห้องแคบๆ การระบายอากาศไม่ค่อยดีนัก คุณติ๋มทำงานเป็นแคชเชียร์ เข้างานเป็นกะๆละ ๑๐ ชั่วโมงในห้างฯที่อากาศเย็นตลอดเพราะต้องปรับอากาศให้ลูกค้า แต่อากาศไม่มีช่องทางถ่ายเท ไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน เดินทางไปกลับด้วยรถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง เจอฝุ่นบ่อยๆทุกวัน อาหารการกินก็เป็นอาหารจานเดียวในบริษัทฯ เวลาที่จะออกกำลังกายไม่มี “สภาพแวดล้อมและการดำเนินชีวิตของพนักงานลูกจ้าง ทำให้สภาพร่างกายของคุณติ่มทรุดโทรมลง” เดิมที่เคยใช้ชีวิตอยู่ต่างจังหวัดคุณติ่มไม่เคยป่วยบ่อยๆ หรือป่วยแล้วก็จะหายเร็ว เมื่อต้องมาทำงานในเมืองใหญ่ แพ้อากาศ ไอจาม ติดเชื้อง่ายขึ้น ป่วยเรื้อรังอยู่นานๆ

“การเกิดโรคเป็นผลจากความไม่สมดุลของสภาพร่างกาย (host) สภาพแวดล้อม (environment) และตัวเชื้อโรค (agent)” เราจึงต้องพยายามรักษาสมดุลนี้ไว้ให้ดี

คราวนี้ขอกลับมาเรื่องยาแก้ไอที่เป็นต้นเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณติ๋มต้องเดือดร้อน หวังว่าเมื่อได้อ่านหมอชาวบ้านฉบับนี้แล้ว คุณคงจะไม่ต้องประสบปัญหาเช่นคุณติ๋มนะครับ

 

ข้อมูลสื่อ

227-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 227
มีนาคม 2541
ภก.นิพล ธนธัญญา