• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สวนครัว การพึ่งตัวเองด้านอาหารอย่างยั่งยืน

สวนครัว การพึ่งตัวเองด้านอาหารอย่างยั่งยืน

 
คอลัมน์ “ต้นไม้ใบหญ้า” ฉบับที่แล้วได้นำเสนอเรื่อง “สวนครัว”ไปครั้งหนึ่งแล้ว โดยโยงกับประเด็นวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยในยุคไอเอ็มเอฟ และความมั่นคงทางอาหาร ในตอนนี้จะเสนอเรื่องเกี่ยวกับสวนครัวต่อจากฉบับที่แล้ว โดยจะเน้นด้านการพึ่งตนเองด้านอาหารอย่างชัดเจนซึ่งรวมทั้งในยามปกติด้วย มิใช่ทำกันเฉพาะยามวิกฤติเท่านั้น เนื่องจากอาหารเป็นความต้องการพื้นฐานหรือปัจจัยในการดำรงชีวิตของมนุษย์ที่สำคัญยิ่งอันดับแรกที่ต้องได้รับอย่างเพียงพอและเป็นไป อย่างสม่ำเสมอ จะขาดแคลนมิได้เลย มิฉะนั้นคุณภาพชีวิตจะไม่อาจอยู่ในระดับที่ดีได้ ตามจุดหมายของการพัฒนาประเทศและสังคม


ประโยชน์ของสวนครัว

เอกสารคำแนะนำของกรมเกษตรและการประมง พ.ศ.๒๔๘๐ เรื่อง “สวนครัว” เขียนโดย หลวงอิงคศรีกสิการ (อินทรีย์ จันทรสถิต) บรรยายเกี่ยวกับประโยชน์ของสวนครัวเอาไว้ ดังนี้

นอกจากประโยชน์ขึ้นแรก คือ ได้ผักสดและสะอาดสำหรับทำครัวแล้ว สวนครัวยังให้ประโยชน์อื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น

“ ๑. ให้ความพอใจและเพลิดเพลิน

๒. ได้ออกกำลัง มีอนามัยดี

๓. มีงานให้เด็กทำ หัดเด็กให้ไม่สำรวย

๔. หัดให้เกิดความรักต่อสิ่งต่างๆ ของธรรมชาติ

๕. ออมทรัพย์ ...”

ในเอกสารคำแนะนำที่ ๑๐๔ ของกรมส่งเสริมการเกษตร พ.ศ. ๒๕๑๓ เรื่องสวนหลังบ้าน เขียนโดย นายวิเชียร ไกรแกล้ว เกษตรจังหวัดนนทบุรี เขียนถึงคำว่า สวนหลังบ้านว่า “มิได้หมายถึงการทำสวนครัวหรือการทำสวนผลไม้แต่อย่างใด อย่างหนึ่งโดยเฉพาะ หากแต่มีคามหมายรวมกันทั้งหมดทุกอย่างเลยทีเดียว” และกล่าวถึงประโยชน์ของสวนหลังบ้าน ดังนี้

“๑. ใช้ที่ดินให้เป็นประโยชน์

๒. มีพืชผักที่จำเป็นต้องใช้ในการทำครัวตลอด ไม่ต้องซื้อหาจากตลาด

๓. มีผลไม้บริโภคตามฤดูกาล

๔. ลดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เพราะได้บริโภคพืชผักที่สดสะอาดและคุณภาพดีเสมอ

๕. ให้ทุกคนมีสุขภาพดี เพราะได้ออกแรงพอเหมาะเป็นประจำ

๖. ช่วยลดค่าครองชีพในครอบครัว ประหยัดรายจ่าย

๗. ฝึกหัดเด็กๆ ในครอบครัว ให้รู้จักทำงานและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

๘. ทำให้บ้านและบริเวณเกิดความร่มเย็นน่าอยู่อาศัยยิ่งขึ้น

๙. เพิ่มรายได้ให้ครอบครัว

๑๐. เป็นการช่วยพัฒนาท้องถิ่น”

จากตัวอย่างที่ยกมาจากเอกสาร ๒ แหล่ง ๒ ยุคข้างบนนี้จะเห็นได้ว่าสวนครัว, สวนหลังบ้าน หรือสวนประจำบ้าน (Home Garden) ในประเทศ มีประโยชน์มากมายนอกเหนือจากด้านอาหาร จึงไม่น่าแปลกใจ ที่กิจการรมสวนครัวสามารถสืบประวัติย้อนไปได้ถึงยุคอาณาจักรกรีก เมื่อหลายพันปีก่อน และนิยมสืบเนื่องทั่วโลกมาจนถึงยุคปัจจุบัน แม้ในบางยุคสมัยจะลดน้อยลงบ้างจากปัจจัยบางประการ (เช่น ในยุคการปฏิวัติเขียว เมื่อประมาณ ๑๐ ปีที่ผ่านมา) แต่สวนครัวก็กลับมาได้รับความนิยมอีกในยุคปัจจุบัน เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกาประมาณว่าครอบครัวที่ปลูกสวนครัวมีไม่น้อยกว่า ๓๓ ล้านครอบครัว มากกว่ากลุ่มที่ใช้เวลาว่างในการตกปลา โยนโบว์ลิ่ง หรือเล่นเทนนิส เสียอีก

ในประเทศยากจนทั้งหลาย ก็ประมาณว่ามีครอบครัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๓๕ ที่ปลูกสวนครัวอยู่ทั่วโลก มีงานวิจัยที่ละเอียดลึกซึ้งเกี่ยวกับสวนครัวบนเกาะชาวประเทศอินโดนีเซีย พบว่า เป็นระบบการเกษตรที่ละเอียดอ่อน สลับซับซ้อนอย่างน่ามหัศจรรย์ มีการจัดการด้านนิเวศวิทยาอย่างสมดุล และมีประสิทธิภาพในการผลิตอาหารสูงมาก ชาวอินโดนีเซียเรียกสวนครัวว่า “ร้านอาหารที่มีชีวิต” และ “ร้านขายยาที่มีชีวิต” เพราะในสวนครัวให้ทั้งอาหารและยาสมุนไพรไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับสวนครัว หรือสวนหลังบ้านของคนไทยนั่นเอง

สำหรับประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตเมือง สวนครัวซึ่งเดิมอยู่ในบริเวณบ้านได้ปรับตัวกลายเป็นสวนชุมชนอยู่ในที่สาธารณะ ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา เจ้าหน้าที่ของรัฐฯ จัดหาพื้นดินในเมือง เช่น ใต้ทางด่วน ริมทางรถไฟ ชายฝั่งแม่น้ำ ฯลฯ ให้ประชาชนมาใช้ทำสวนครัวร่วมกัน หลายๆ ครอบครัวเป็นสวนชุมชน ความสัมพันธ์เชิงสังคม สนุกสนานเพลิดเพลิน และได้ประโยชน์รวมกัน

สวนชุมชนของบางเมืองได้พัฒนาไปเป็นธุรกิจด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การทำปุ๋ยหมัก การเพาะชำกล้าไม้ การแปรรูปอาหาร และการตลาด ฯลฯ เป็นรูปแบบการเกษตรในเขตเมืองที่เป็นแกนกลางของชุมชนให้ฟื้นความเป็นชุมชนมาใหม่ได้อีกครั้ง นอกจากนี้ยังปรับปรุงสภาพแวดล้อมของเขตเมืองให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

ผู้อ่านอาจคิดว่า กรุงเทพฯ คงทำอย่างสหรัฐอเมริกาไม่ได้ เพราะคงหาพื้นดินให้ชาวกรุงเทพฯ ทำสวนครัวชุมชนได้ยาก แต่จากข้อมูลในเมืองใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่น เช่น กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ พบว่ามีพื้นดินว่างที่เหมาะสำหรับทำสวนชุมชนได้ถึงกว่า ๑๐๐,๐๐๐ แปลง เลยทีเดียว หรือในแคนาดาก็อาจหาพื้นดินให้ทำสวนไดถึงราว ๓๐ ตารางเมตรต่อคน ในเมืองที่มีประชากรหนาแน่นที่สุด จึงเชื่อได้ว่าหากกรุงเทพมหานคร หาพื้นดินให้ชาวกรุงเทพฯทำสวนแล้ว ก็จะมีพื้นดินมากพอกับความต้องการอย่างแน่นอน แต่นอกจากพื้นดินแล้ว กรุงเทพมหานครจะต้องจัดหาระบบน้ำและสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่จำเป็นให้ด้วยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อเป็นเครื่องจูงใจและเป็นหลักประกัน นอกจากนี้ยังต้องจัดหาเจ้าหน้าที่ด้านเกษตรคอยให้คำแนะนำปรึกษาและตั้งกองทุนสนับสนุน (ถ้าจำเป็น) เพราะผลประโยชน์ที่จะได้รับนั้นมีมากมายดังกล่าวข้างต้น จึงควรปรับเข้าเป็นนโยบายของกรุงเทพมหานครหรือของรัฐบาล เพื่อกระจายกิจกรรมสวนครัวไปสู่เมืองต่างๆ ทั่วประเทศไทยให้เกิดขึ้นจริง เช่นเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายในปัจจุบัน


ฟื้นกระแสสวนครัวเพื่อสุขภาพและสังคม

แม้การทำสวนครัวจะเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง สมควรส่งเสริมให้แพร่หลายในประเทศไทยแต่การทำให้เกิดกิจกรรมสวนครัวได้อย่างจริงจังกว้างขวางทั่วประเทศได้ เช่นเดียวกับช่วงหลังสงคราม โลกครั้งที่ ๒ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย และต้องอาศัยจังหวะเวลาที่เหมาะสมช่วยอีกด้วย เช่น ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้น แต่ก็ยังไม่พอต้องมีนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐฯ ที่ชัดเจน เช่น การออกพระราชบัญญัติสวนครัวฯ พ.ศ. ๒๔๘๒ มาสนับสนุน

ปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไม่น้อยไปกว่าช่วงหลังสงคราวโลกครั้งที่ ๒ นับเป็นปัจจัยภายนอกที่เหมาะสมสำหรับการส่งเสริมการทำสวนครัวอย่างยิ่ง แต่ยังขาดการผลักดันอย่างจริงจังจากปัจจัยภายในประเทศ การรอให้ภาครัฐบาลเป็นผู้ริเริ่มผลักดันเป็นกฎหมายบังคับให้ทำสวนครัว คงไม่เหมาะสมกับยุคสมัยประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน น่าจะเป็นการผลักดันจากภาคประชาชนขึ้นไปยังรัฐบาลมากกว่า ดังตัวอย่างการผลักดันนโยบายเกษตรกรรมยั่งยืนเข้าแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ โดยประชาชนและยังผลักดันเข้าแผนปฏิบัติการฯ ของกระทรวงเกษตรฯได้อีกครั้ง จำนวน ๒๕ ล้านไร่ โดยแบ่งเป็นโครงการของประชาชนเอง ประมาณ ๔๒,๐๐๐ ไร่ เรียกว่าโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อย งบประมาณ ๙๕๐ ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลคงอนุมัติงบประมาณให้เกษตรนำมาบริหารจัดการเองในเร็วๆ นี้ เป็นต้น

โครงการส่งเสริมการทำสวนครัวก็น่าจะได้รับการผลักดันจากประชาชนทั้งในชนบทและในเมือง ให้รัฐบาลมีนโยบายและแผนงานตลอดจนงบประมาณสนับสนุนอย่างจริงจัง เช่นเดียวกับโครงการนำร่องฯ เพราะนอกจากจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาชนแต่ละครอบครัวในโครงการแล้ว ยังมีผลดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของไทยโดยรวมด้วย

ข้อมูลสื่อ

227-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 227
มีนาคม 2541
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร