“คุณหมอครับ ยาที่ให้มานี้ต้องกินจนหมดทุกซองหรือเปล่าครับ?”
“คุณหมอคะ เมื่อเช้านี้ไปตรวจที่โรงพยาบาล หมอบอกว่า เป็นไข้หวัด ให้ยาพาราเซตามอลมา 10 เม็ด คลอร์เฟนิรามีน 10 เม็ด กินแล้วไม่เห็นดีขึ้น อยากให้คุณหมอฉีดยาและจัดยาให้ใหม่จะได้ไหมคะ?”
คำถามทำนองนี้ มีให้ได้ยินอยู่บ่อยๆ ในที่นี้จึงขอถือโอกาสอธิบายหลักการรักษาโรคและการใช้ยาสักนิด เมื่อพูดถึงโรค ถึงแม้ตำราแพทย์ยุคใหม่จะระบุว่ามีโรคอยู่ร่วม 3,000 ชื่อ แต่ก็ยังสามารถจัดรวมให้เป็น 3 กลุ่ม ตามแบบสมัยพุทธกาล (ดูตารางที่ 1) ได้แก่
กลุ่มที่ 1 โรคที่รักษาก็หาย ไม่รักษาก็หาย
กลุ่มที่ 2 โรคที่รักษาหาย ไม่รักษาอาจตายหรือพิการ
กลุ่มที่ 3 โรคที่รักษาก็ตายหรือพิการ ไม่รักษาก็ตายหรือพิการ
สำหรับกลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มโรคที่สามารถหายได้เองตามธรรมชาติแนวทางรักษาก็เพียงแต่ให้ยาบรรเทาอาการ เช่น แก้ไข้ แก้ปวด แก้หวัดแก้ไอ เป็นต้น พร้อมกับการปฏิบัติตัว เช่น พักผ่อน ดื่มน้ำมากๆ เช็ดตัว แล้วรอให้โรคหายเองตามจังหวะเวลาของมัน อาทิเช่น อาการตัวร้อน ในคนที่เป็นไข้หวัดมักจะหายได้เองภายใน 3 ถึง 4 วัน (ยกเว้นถ้ามีโรคแทรก ก็อาจมีไข้นานเกิน 4 วัน) หัดจะมีไข้อยู่นานประมาณ 7 วัน ไข้เลือดออกจะมีไข้นาน 7 ถึง 10 วัน คางทูมจะหายได้เองภายใน 7 ถึง 14 วัน เป็นต้น
หากไม่ทราบจังหวะเวลาการหายของโรค คนไข้อาจใจร้อน พอเห็นว่าอาการไม่ทันดีขึ้น (เช่น เป็น ไข้หวัด 1 ถึง 2 วันแล้วยังไม่หายตัวร้อน) ก็อาจจะเปลี่ยนหมอเปลี่ยนยา สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ
โรคในกลุ่มที่ 1 นี้ ถ้าหากมีอาการพอทนได้ ก็อาจไม่จำเป็นต้องกินยาก็ได้ บางครั้งอาจพบว่าหายเร็วกว่ากินยาด้วยซ้ำไป เช่น การวิจัยในต่างประเทศพบว่าคนที่เป็นไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มที่กินยาแก้ไข้ กลับ หายช้ากว่ากลุ่มที่ไม่ได้กินยา
นอกจากนี้ ยังมักพบว่ามีการใช้ยาเกินจำเป็น เช่น ให้ยาปฏิชีวนะในคนที่เป็นไข้หวัด นอกจากไม่เป็น ประโยชน์แล้ว ยังเสี่ยงต่อการรับอันตรายจากยาอีกด้วย
สำหรับกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องให้การเยียวยารักษา มิเช่นนั้นอาจเกิดโรคแทรกซ้อน พิการ หรือตายได้ เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ไส้เลื่อน และโรคนิ่ว ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ทอนซิลอักเสบ ปอดอักเสบ วัณโรค ไข้ฉี่หนู จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อ ร่วมกับการให้ยาบรรเทาอาการ โรคในกลุ่มนี้ บางครั้งอาจเป็น เรื้อรังตลอดชีวิต เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง แต่ยังถือว่าเป็นโรคที่รักษาได้ โดยการให้ยาจำเพาะโรคนั้นๆ ควบคู่กับการปฏิบัติตัวต่างๆเพื่อควบคุมมิให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่ จะตามมาในระยะยาว ช่วยให้คนใช้สามารถมีชีวิตยืนยาวและมีความสุข เฉกเช่นคนปกติทั่วไปได้
สำหรับกลุ่มที่ 3 สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่มที่หมดทางเยียวยารักษาหรือสิ้นหวัง (ก็ต้องทำใจยอมรับและเตรียมพร้อมที่จะตายอย่างประหยัดและมีศักดิ์ศรี) และกลุ่มที่เป็นรุนแรงขึ้นช้าๆ โดยไม่มีวิธีรักษาโดยตรง เพียงแต่ให้ยาบรรเทาอาการ (กลุ่มนี้สามารถมีชีวิตยืนยาว และควรเรียนรู้วิธีปรับตัวปรับใจอยู่กับโรคที่เป็นนั้นๆ อย่างไม่เป็นทุกข์) ส่วนยาที่ใช้รักษานั้น ไม่ว่าจะมีกี่หมื่นชื่อ แต่ก็สามารถจัดรวมให้เป็น 2 กลุ่ม (ดูตารางที่ 2) ได้แก่
กลุ่มที่ 1 ยาบรรเทาอาการ
กลุ่มที่ 2 ยาจำเป็น
ยาที่ใช้กันส่วนใหญ่เป็นยาบรรเทาอาการ เพื่อช่วยให้รู้สึกสบายขึ้น แต่ไม่มีผลต่อการรักษาโรคโดยตรงยากลุ่มนี้ใช้กันเป็นครั้งคราว เมื่ออาการทุเลาก็เลิกกิน หรือถ้าหากพอ ทนได้ก็ไม่จำเป็นต้องกินก็ได้
ส่วนยาจำเป็นเป็นยาที่จำเป็น ต่อการรักษาโรคให้หายขาด (เช่น ยาปฏิชีวนะที่ใช้ฆ่าเชื้อ) หรือช่วยควบคุมมิให้เกิดโรคแทรกซ้อนหรือความพิการตามมา (เช่น ยารักษาเบาหวาน ยาลดความดัน ยาลดไขมัน) ยากลุ่มนี้จำเป็นต้องกินให้ครบตามกำหนด (เช่น ยาปฏิชีวนะ ต้องกินนาน 5 ถึง 10 วัน ตามแต่ชนิดของโรค) หรือไม่ก็ต้องกินตลอดชีวิต (เช่น ยาเบาหวาน ยาลดความดัน)
เพื่อให้เข้าใจง่าย ขอยกตัวอย่าง เช่น เวลาเป็นไข้หวัดที่ไม่มีโรคแทรก (มีไข้ น้ำมูกใสๆ) หมอมักจะให้ยาแก้ไข้ แก้หวัด เพื่อบรรเทาอาการ ยาเหล่านี้กินบรรเทาอาการเป็นครั้งคราว เมื่อหายไข้ หายหวัด ก็เลิกกิน ไม่ต้องกินยาที่เหลือจนหมด บางคนทนอาการได้ จะไม่กินยาเลย ปล่อยให้หายเองก็ได้
แต่ถ้ามีโรคแทรกเกิดขึ้น เช่นเป็นหลอดลมอักเสบ (ไอมีเสมหะเหลืองหรือเขียว) ไซนัสอักเสบ (น้ำมูก เป็นหนองข้น) ก็จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะจนครบกำหนดที่หมอสั่ง
เวลาเป็นทอนซิลอักเสบ (ไข้เจ็บคอมาก ทอนซิลบวม เป็นหนอง) หมอจะให้ยาปฏิชีวนะกับยาแก้ไข้บางครั้งอาจให้ยาอมแก้เจ็บคอ ยาจำเป็นคือยาปฏิชีวนะ ต้องกินจนครบขนาด ส่วนยาแก้ไข้และยาอมแก้เจ็บ คอเป็นยาบรรเทาอาการเป็นครั้งคราว ไม่ต้องกินจนหมด หรือจะไม่กินเลยก็ได้
ดังนั้น ในการรักษาโรคและใช้ยา จึงต้องเรียนรู้ว่าโรคที่เป็นอยู่ในกลุ่มใด และยาที่ใช้รักษาเป็นยากลุ่มใด ก็จะได้ชื่อว่า “ฉลาดใช้ (ยา)” ช่วยให้ประหยัดและลดความเสี่ยงจากยา
- อ่าน 2,800 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้