• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะเร็งเต้านม ภัยคุกคามผู้หญิง

มะเร็งเต้านม ภัยคุกคามผู้หญิง

 
มะเร็งเต้านมเป็นโรคที่ผู้หญิงหวาดกลัวไม่ใช่น้อย เพราะเมื่อเป็นแล้วอาจจะต้องตัดเต้านมทิ้ง ซึ่งเต้านมเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นผู้หญิงอย่างหนึ่ง และที่สำคัญ คือ มะเร็งเต้านมสามารถคร่าชีวิตผู้หญิงได้ มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ ๒ ในมะเร็งของผู้หญิง รองจากมะเร็งปากมดลูก ในปัจจุบันมะเร็งปากมดลูกมีแนวโน้มที่จะลดลง ซึ่งหมายความว่าในอนาคตมะเร็งเต้านมอาจจะขึ้นมาครองแชมป์ก็ได้ ด้วยความสำคัญเช่นนี้ ในฉบับนี้หมอชาวบ้านจึงได้สัมภาษณ์ น.พ.กริช โพธิสุวรรณ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มาให้ความรู้ในเรื่องนี้

 
ผู้หญิงจะดูแลตนเองหรือเฝ้าระวังโรคมะเร็งเต้านม ได้อย่างไร

ผู้หญิงทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนที่มีอัตราเสี่ยงมากหรือน้อยควรรู้จักวิธีตรวจเต้านมด้วยตนเอง เพราะตนเองอาจจะเป็นคนแรกที่พบความผิดปกติได้ วิธีตรวจเต้านมด้วยตนเองนั้น ควรเริ่มตรวจตั้งแต่เมื่อเริ่มมีประจำเดือนโดยตรวจเดือนละครั้ง ระยะเวลาที่ดีที่สุด คือ ประมาณวันที่ ๑๐ หลังจากที่เริ่มมีรอบเดือน ช่วงนั้นจะเป็นช่วงที่เต้านมมีขนาดเล็กที่สุด ทำให้สามารถที่จะคลำพบสิ่งผิดปกติได้ง่ายที่สุด และวิธีตรวจนี้ต้องประกอบด้วยการดู ก็คือ การยืนอยู่หน้ากระจก ส่องกระจกดูเปรียบเทียบเต้านมทั้ง ๒ ข้างว่า ข้างใดมีอะไรผิดปกติหรือเปล่า ขนาด รูปร่าง เหมือนกันมั้ย ระดับของหัวนมอยู่ระดับเดียวกันหรือเปล่า มีความผิดปกติของหัวนมหรือไม่ เช่น หัวนมบุ๋มดึงรั้งเข้าไป มีผิวหนังของเต้านมผิดปกติ เช่น อาจจะมีรอยบุ๋ม มีบวมแดง

หลังจากดูแล้วก็คือ การคลำ (ดูตามภาพ) วิธีที่สะดวกคือ การคลำในขณะที่กำลังอาบน้ำอยู่ เพราะช่วงตอนที่กำลังถูสบู่ผิวหนังจะลื่น ฉะนั้นถ้ามีอะไรผิดปกติ มีก้อน เราจะคลำได้แน่นอนกว่าตอนที่ผิวหนังหนืดๆ

 
สาเหตุของมะเร็งเต้านม

สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดมะเร็งเต้านมยังไม่ทราบแน่ชัด ก็คงเหมือนกับสาเหตุของการเกิดมะเร็งโดยทั่วๆ ไป ทราบแต่เพียงว่ามีสาเหตุบางอย่างที่จะส่งเสริมให้มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้มากขึ้น คือ

๑. อายุ ผู้หญิงที่มีอายุมาก มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้หญิงที่มีอายุน้อย

๒. พันธุกรรม ผู้หญิงที่มีญาติพี่น้องเป็นมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะถ้าญาติหรือแม่เป็นตั้งแต่ในระยะที่อายุยังน้อยๆ ยังมีรอบเดือนอยู่แล้วเป็นมะเร็งเต้านม ลูกหรือพี่น้องของคนไข้ในกลุ่มนี้ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมค่อนข้างสูง นอกจากนี้ในปัจจุบัน ยังพบว่า มียีนบางตัวที่ก่อให้เกิดเป็นมะเร็งเต้านม เรียกว่า ยีนบีอาร์ซีเอวัน (BRCA ๑) ผู้หญิงคนใดที่มียีนนี้อยู่ในร่างกาย เมื่ออายุถึง ๕๐ ปี มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมถึงร้อยละ ๕๐ และมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมสูงถึงร้อยละ ๘๐ เมื่อมีอายุมากกว่า ๖๕ ปี

๓. ปริมาณรอบเดือน คนที่เริ่มมีรอบเดือนตั้งแต่อายุต่ำกว่า ๑๒ ปี และหมดรอบเดือนเมื่ออายุมากๆ เช่น เกิน ๕๐ ปี และในระหว่างนั้นไม่เคยมีการตั้งครรภ์หรือมีบุตรน้อย ก็มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนที่มีบุตรมาก ที่สำคัญอีกอย่าง คือ ถ้ามีบุตรคนแรกเมื่ออายุมากกว่า ๓๐ ปี ก็มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมเท่าๆ กับคนที่ไม่มีบุตร

๔. อาหาร คนที่กินอาการที่มีไขมันจากสัตว์มากๆ ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งเต้านมได้สูง เคยมีผลงานวิจัยพบว่าคนอเมริกันเป็นมะเร็งเต้านมมากที่สุด คนของเขาตายเพราะมะเร็งเต้านมเป็นอันดับ ๑ จากมะเร็งทั้งหมด เพราะกินอาหารที่มีไขมันจากสัตว์มาก ส่วนคนญี่ปุ่นจะเป็นมะเร็งเต้านมน้อยแต่เมื่อคนญี่ปุ่นย้ายไปอยู่อเมริกันภายใน ๒ ชั่วคน คนญี่ปุ่นก็มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมสูงพอๆ กับคนอเมริกัน

๕. ยา ยาที่มีฮอร์โมนเพศหญิงอยู่ก็อาจมีส่วนทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้มากขึ้น เช่น ยาคุม แต่ยาคุมในปัจจุบันมีการควบคุมขนาดฮอร์โมน ฉะนั้นโอกาสที่จะเกิดมะเร็งเต้านมค่อนข้างน้อย รวมทั้งฮอร์โมนที่ได้รับในวัยทอง โอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมก็ค่อนข้างน้อย ถ้ามีความจำเป็นต้องกินยาเหล่านี้ก็กินได้ แต่ควรมาตรวจเช็กกับแพทย์ตามกำหนดทุกครั้ง เพื่อว่าเกิดมีอาการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นจะได้วินิจฉัยได้เร็ว และหยุดยานั้นได้ก่อนที่จะเป็นมะเร็งขึ้นมา

๖. การผ่าตัดเสริมทรวงอก ในสมัยก่อนการผ่าตัดจะใช้วิธีฉีดสารซิลิโคนเข้าไปในเนื้อเต้านมโดยตรง ซึ่งเป็นสาเหตุให้เป็นมะเร็งเต้านมสูงขึ้น แต่ปัจจุบันการผ่าตัดจะใช้วิธีใส่ถุงซิลิโคนเข้าไป แล้วฉีดน้ำเกลือเข้าไปในถุงซิลิโคนนั้น ซึ่งวิธีนี้ค่อนข้างปลอดภัยไม่ทำให้เป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น ฉะนั้นคนที่อยากสวย อยากงามควรไปรับการรักษาที่ถูกต้อง

 
การเป็นมะเร็งเต้านมจะมีอาการใดๆ เตือนล่วงหน้าหรือไม่

ข้อเสียของมะเร็งเต้านม คือ ก้อนที่เป็นมะเร็งในระยะแรกมักจะไม่มีอาการเจ็บ จะเจ็บก็ต่อเมื่อมีอาการที่ค่อนข้างมากแล้ว อาการที่สำคัญที่สุดของมะเร็งเต้านม คือ การที่คลำพบก้อนในเต้านม ก้อนในเต้านมนั้นมีได้หลายชนิด บางชนิดก็เป็นมะเร็ง บางชนิดก็เป็นเพียงถุงน้ำ หรือบางชนิดก็เป็นก้อนเนื้องอกธรรมดา นอกจากอาการที่มีก้อนที่เต้านมแล้ว ก็อาจจะมีอาการของมีน้ำออกมาจากหัวนม ซึ่งน้ำที่ออกมาจากหัวนมนั้นอาจจะมีลักษณะเป็นน้ำใสๆ หรือ น้ำขาวขุ่นๆ คล้ายน้ำนม บางครั้งอาจเป็นน้ำที่มีเลือดปน หรืออาจเป็นน้ำเลือดที่ออกจากหัวนมเลย

 
จะสามารถแยกแยะก้อนที่เต้านมอย่างไรว่าใช่มะเร็งหรือไม่ กรณีใดควรไปพบแพทย์

ก้อนที่คลำเจอในช่วงก่อนมีประจำเดือน หรือช่วงมีประจำเดือน แล้วช่วงหมดประจำเดือนก้อนนี้ก็หายไป อันนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงตามระดับฮอร์โมนในร่างกายซึ่งไม่ใช่มะเร็ง สำหรับก้อนที่คำพบส่วนใหญ่จะเป็นผังผืดที่เต้านม เรียกว่า ไฟโบรซีสติก ดีซีส (fibrocystic disease) หรือ ซีสต์ (cyst) จะพบมากในช่วงอายุ ๓๐-๕๐ ปี ซึ่งสามารถวินิจฉัยได้ด้วยการทำอัลตราซาวนด์ ถ้าพบว่า เป็นถุงน้ำ ก็เพียงใช้เข็มเจาะเข้าไปแล้วดูดน้ำออกมาก้อนนั้นก็จะหายไป และโอกาสที่ซีสต์จะกลาย เป็นมะเร็งเต้านมมีน้อยมาก

 
ในทางการแพทย์มีวิธีตรวจหามะเร็งเต้านมอย่างไร

แรกสุดเมื่อมีคนไข้มาตรวจจะต้องซักประวัติคนไข้ว่ามีประวัติเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่ จากนั้นก็ตรวจร่างกาย ซึ่งบางครั้งการตรวจร่างกายพอจะบอกได้ว่าก้อนนั้นใช่หรือไม่ใช่มะเร็ง วิธีการตรวจที่นิยมทำกันมากที่สุด คือ การตรวจเอกซเรย์เต้านม ที่เรียกว่า แมมโมแกรม (memogram) เป็นการตรวจหามะเร็งตั้งแต่เริ่มแรกไม่สามารถตรวจพบได้ด้วยตนเองหรือวิธีอื่น

นอกจากนี้ก็จะมีการตรวจที่ใช้คลื่นเสียงความถี่สูง ที่เรียกว่า อัลตราซาวนด์ แต่ทั้งแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์เพียงบอกได้คร่าวๆ ว่าเจอก้อนเนื้อ วิธีที่จะบอกได้แน่นอน คือ การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา การตรวจแมมโมแกรมนั้น ตามโรงพยาบาลในจังหวัดใหญ่ๆ หรือโรงพยาบาลตามโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลศูนย์ของกระทรวงสาธารณสุข สามารถให้การตรวจได้ เสียค่าใช้จ่ายครั้งละประมาณ ๑,๕๐๐ – ๒,๐๐๐ บาท

 
มะเร็งเต้านมแบ่งออกเป็นกี่ระยะ

มี ๔ ระยะ

ระยะที่ ๑ ก้อนขนาดเล็กกว่า ๒ เซนติเมตร และยังไม่มีการกระจายของมะเร็ง

ระยะที่ ๒ ก้อนอยู่ในระหว่าง ๒-๕ เซนติเมตร และมีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือใต้รักแร้แล้ว

ระยะที่ ๓ ก้อนใหญ่กว่า ๕ เซนติเมตร

ระยะที่ ๔ คือ ระยะที่มะเร็งกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น กระดูก ปอด ตับ เป็นต้น

 
โอกาสในการรักษามะเร็งแต่ละระยะเป็นอย่างไร

หากตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ ระยะที่ ๑ โอกาสที่จะรักษาหายมีถึงประมาณร้อยละ ๘๐ และระยะที่ ๒ มีประมาณร้อยละ ๖๐ ส่วนระยะที่ ๓ และ ๔ โอกาสที่จะรักษาให้หายขาดมีค่อนข้างน้อย

 
เมื่อไหร่จึงควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหามะเร็งเต้านม

๑. เมื่อคลำพบก้อนหรือเกิดความผิดปกติกับเต้านมดังที่กล่าวถึงข้างต้น ควรพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อตรวจหามะเร็งเต้านม

๒. มะเร็งเต้านมพบมากในอายุเกิน ๔๕ ปีขึ้นไป ฉะนั้นควรเริ่มทำเอกซเรย์เต้านมหรือแมมโมแกรมเมื่ออายุเกิน ๔๐ ปี เพราะว่าบางครั้งเราสามารถพบมะเร็งเต้านมได้ในระยะที่ยังคำก้อนไม่ได้ ซึ่งแมมโมแกรมอาจเห็นก้อนขนาดเพียง ๕ มิลลิเมตร ซึ่งแพทย์ไม่มีทางคำได้ ถ้ารักษามะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะ ๕ มิลลิเมตรโอกาสที่จะหายขาดมีเกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

การทำแมมโมแกรมก็มีข้อจำกัด คือ ในคนที่อายุต่ำกว่า ๔๐ ปี เนื้อเต้านมยังมีอยู่มาก เวลาถ่ายแมมโมแกรม แล้วจะไม่เห็นอะไร ถ่ายไปก็ไม่มีประโยชน์ แมมโมแกรมจะมีประโยชน์ก็ในคนอายุ ๔๐ ปีขึ้นไป ถ้าอายุเกิน ๕๐ ปีก็ควรทำแมมโมแกรมทุกปีไปจนตลอดชีวิต สำหรับคนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีญาติเคยเป็นมะเร็งเต้านม ควรเริ่มพบแพทย์เพื่อตรวจหามะเร็งเต้านมเร็วขึ้น

 
โอกาสที่มะเร็งเต้านมจะกลับมาใหม่มีหรือไม่

ก็มีโอกาส เมื่อเป็นมะเร็งแล้วถึงจะรักษาอย่างไรก็ตามก็มีโอกาสที่จะเกิดซ้ำขึ้นมาได้ ฉะนั้นหลังจากการรักษาไปแล้ว หมอจะนัดคนไข้มาตรวจเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอตลอดชีวิตของคนไข้ เพราะบางรายอาจจะเกิดช้ำหลังจากที่รักษาไปแล้วมากกว่า ๑๐ ปีก็ได้ มะเร็งเต้านมยังเป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้ และเป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้หญิงจำนวนมาก ดังนั้น ผู้หญิงจึงควรตรวจเต้านมตัวเองอย่างสม่ำเสมอเดือนละครั้งเพราะการเจอมะเร็งเต้านมแต่เนิ่นๆ โอกาสที่จะรักษาหายสูงเกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ คงไม่มีใครที่จะป้องกันตัวเราได้ดีเท่าตัวเอง

 
วิธีคลำเต้านมด้วยตัวเอง

  • ยืนหน้ากระจก

• ปล่อยแขนข้างลำตัวตามสบาย เปรียบเทียบเต้านมทั้งสองข้างว่ามีการบิดเบี้ยวของหัวนมหรือมีสิ่งผิดปกติหรือไม่

• ประสานมือทั้งสองข้างเหนือศีรษะแล้วกลับมาอยู่ในท่าเท้าสะเอวพร้อมสำรวจหาสิ่งผิดปกติ

• ให้โค้งตัวมาข้างหน้าโดยใช้มือทั้งสองข้างวางบนเข่าหรือเก้าอี้ ในท่านี้เต้านมจะห้อยลงไปตรงๆ หากมีสิ่งผิดปกติ ก็จะเห็นได้ชัดมากขึ้น

  • ท่านอนราบ

• นอนในท่าสบายแล้วสอดหมอนหรือม้วนผ้าไว้ใต้ไหล่ซ้าย

• ยกแขนซ้ายเหนือศีรษะเพื่อให้เต้านมด้านนั้นแผ่ราบซึ่งจะทำให้คลำพบก้อนเนื้อได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะส่วนบนด้านนอก ซึ่งมีเนื้อนมหนามากที่สุด และมีการเกิดมะเร็งบ่อยที่สุด

• ให้ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางคลำทั่วทั้งเต้านมและรักแร้ ที่สำคัญคือห้ามบีบเนื้อเต้านม เพราะจะทำให้รู้สึกเหมือนเจอก้อนเนื้อ ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่

• ทำซ้ำในอีกข้างหนึ่ง


รูปแบบการคลำอาจให้รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งต่อไปนี้

• การคลำในแนวก้นหอย โดยเริ่มคลำจากส่วนบนของเต้านมไปตามแนวก้นหอยจนกระทั่งถึงฐานเต้านมบริเวณรอบรักแร้

• การคลำในแนวขึ้นลง เริ่มคลำจากใต้เต้านมถึงรักแร้แล้วขยับนิ้วทั้งสามคลำในแนวขึ้นและลงสลับกันไปเรื่อยๆ จนทั่วทั้งเต้านม

• การคลำในแนวรูปลิ่ม เริ่มคลำจากส่วนบนของเต้านมจนถึงฐานแล้วกลับขึ้นสู่ยอดอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ให้ทั่วทั้งเต้านม


วิธีคลำในขณะอาบน้ำ

• สำหรับผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดเล็ก ให้วางมือข้างเดียวกับเต้านมที่ต้องการตรวจบนศีรษะแล้วใช้มืออีกข้างคลำในทิศทางเดียวกับที่ใช้ในท่านอน

• สำหรับผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดใหญ่ ให้ใช้มือข้างนั้นประคองและตรวจคลำเต้านมจากด้านล่างส่วนมืออีกข้างหนึ่งให้ตรวจคลำจากด้านบน

ข้อมูลสื่อ

228-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 228
เมษายน 2541
บทความพิเศษ
นพ.กริช โพธิสุวรรณ