• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ออกกำลังกายสู่สุขสมดุล

ออกกำลังกายสู่สุขสมดุล

 
ร่างกายมนุษย์จะสามารถทำงานได้เป็นปกติ จนมีสุขภาพดีได้นั้น ด้วยผ่านระบบการทำงานระบบต่างๆ ในร่างกาย ซึ่งสัมพันธ์เชื่อมโยงกันและมีระบบตรวจสอบซึ่งกันและกันอย่างซับซ้อน แต่อยู่ในสภาวะสมดุลที่ทางการแพทย์เรียกว่า “โฮมีโอสเตซิส” หรือจะแปลเป็นไทยในที่นี้ว่า “สุขสมดุล”

มนุษย์มีวิวัฒนาการจากสัตว์ในตระกูลเลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งมีสัญชาตญาณที่จะใช้พลังของร่างกายต่อสู้กับศัตรูเพื่อความอยู่รอด เช่น การมีสาร “อะดรีนาลิน” ที่หลั่งจากต่อมหมวกไตอันทำให้ร่างกายเกิดความตื่นตัว หัวใจเต้นแรง และสูบฉีดอย่างแรง หลอดเลือดทั่วไป ร่างกายเกิดการหดตัวทำให้เกิดความดันเลือดสูงและพร้อมต่อสู้ใน “ความเครียด” ที่มนุษย์เผชิญอยู่จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจว่าเวลาเราหนีไฟไหม้ เราจะสามารถขนของหนักๆหนีไฟได้ทั้ง ๆที่ในภาวะปกติเราไม่สามารถยกขึ้นได้ เพราะสภาวะของร่างกายถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้แรง

ในอดีตหรือมนุษย์ที่มีวิถีชีวิตที่ใช้แรงงานและอยู่กับธรรมชาติจะมีร่างกายแข็งแรงและมีสุขสมดุลแต่ในวิถีชีวิตเมืองที่มนุษย์ใช้แรงน้อยลงและใช้ความคิดมากขึ้นและทำงานด้วยการนั่งโต๊ะ สุขสมดุลที่เคยมีอยู่ก็เริ่มเสื่อมคลาย “อะดรีนาลิน” ที่มีไว้ให้ร่างกายตื่นตัวและใช้แรงต่อสู้กับอันตรายโดยผ่านการปั้มและสูบฉีดเลือดให้พอเพียงกลับเป็นต้นเหตุให้ร่างกายเกิดความเครียด เกิดความดันเลือดสูง และเกิดโรคของหัวใจ หลอดเลือดและสมองตามมามากมาย สุขสมดุลที่เคยมีจึงเสียไป และสารอะดรีนาลินที่มีไว้ให้ร่างกายเกิดความตื่นตัวเลยกลายเป็น “สารทุกข์” ทำให้เกิดความเครียด ความดันเลือดสูง โรคหัวใจและโรคของสมองตามมา หนทางที่จะกลับสู่สุขสมดุลใหม่คือการออกกำลังกายสม่ำเสมอเป็นประจำดัวยเหตุผลหลายประการ ดังต่อไปนี้

๑. เพิ่มสมรรถภาพการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด การออกกำลังกายที่พอเพียงถึงระดับหนึ่งที่เรียกว่า “การออกกำลังกายแบบแอโรบิก” จะทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นและแรงขึ้น หลอดเลือดฝอยที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อและอวัยวะต่างๆของร่างกายเปิดปลายเต็มที่ทำให้กล้ามเนื้อและอวัยวะต่างๆ ได้รับเลือดและออกซิเจนเต็มที่ ทำให้หัวใจและหลอดเลือดแข็งแรงเปรียบเสมือนรถยนต์ที่มีการติดเครื่องให้ร้อนทุกวัน ไม่จอดแช่ไว้นานๆ แล้วมาสต๊าร์ตใหม่อีกทีก็สต๊าร์ตไม่ติดก็เหมือนคนที่ไม่ออกกำลังกายย่อมเป็นโรคตามมาเปรียบประดุจกันการออกกำลังกายจึงมีคุณอนันต์และสามารถทำได้ทุกคนทุกวัย โดยออกสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวันให้ได้วันละครึ่งชั่วโมง หรือทำให้หัวใจได้เต้นในอัตราความเร็วร้อยละ ๗๐ ของการเต้นของหัวใจตามวัย (ซึ่งผู้เชี่ยวชาญโรคผู้สูงอายุ) ให้ค่าเฉลี่ยไว้ว่าให้เอา ๒๒๐-อายุ ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นจำนวนครั้งต่อนาที เช่น คนอายุ ๔๐ ปี ควรมีหัวใจเต้น ๑๘๐ ครั้งต่อนาที และควรออกกำลังกายให้หัวใจเต้นได้ร้อยละ ๗๐ เท่ากับ ๑๒๖ ครั้งต่อนาที เป็นต้น

แต่ในทางปฏิบัติยึดหลักให้ออกกำลังกายวิธีใดวิธีหนึ่งสะดวกและประหยัดอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวันอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง จนรู้สึกเหนื่อยและทำจนเป็นนิสัย ผู้มีสุขภาพแข็งแรงและดูอ่อนวัยจะออกกำลังกายเป็นประจำเสมอ เช่น ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ใช้วิธีวิ่งออกกำลังกายทุกวัน อาจารย์หมอเฉก ธนะศิริ ผู้มีอายุ ๗๐ กว่า แต่ถูกทักจากพิธีกรรายการโทรทัศน์ทักผิดว่าอายุ ๕๐ เท่านั้น ท่านเล่าว่าเริ่มออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันด้วยการว่ายน้ำตั้งแต่ อายุ ๓๐ เศษเรื่อยมา

๒. เกิดการหลั่งเอ็นดอร์ฟีนในร่างกาย การออกกำลังกายจะให้ผลเช่นเดียวกับการนั่งสมาธิ คือ ทำให้ร่างกายหลั่งสารชนิดหนึ่งเรียก “เอ็นดอร์ฟีน” ซึ่งมีฤทธิ์ตรงข้ามกับ “อะดรีนาลิน” ที่กล่าวมาแล้ว สารเอ็นดอร์ฟีนนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สารสุข” เพราะทำให้เกิดความสุข เบาเนื้อเบาตัวไปทั่วร่างกายอย่างที่ไม่มีอย่างอื่นเทียบได้ การออกกำลังกายจึงสร้างความสุขอย่างยิ่งและพาร่างกายสู่สุขสมดุลได้ใหม่และย่อมเป็นการรักษาคนที่สุดวิเศษ

ข้อมูลสื่อ

228-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 228
เมษายน 2541
รักษาคน
นพ.รวินันท์ ศิริกนกวิไล