• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ทองกวาว:ความงามร้อนแรงแห่งฤดูการ

ทองกวาว : ความงามร้อนแรงแห่งฤดูแล้ง
เดชา ศิริภัทร/มูลนิธิข้าวขวัญ


ปีนี้เป็นปีที่ถูกคาดหมายอย่างเป็นทางการจากกรมอุตุนิยมวิทยา ว่าจะเป็นปีแห่งความแห้งแล้งและร้อนจัดมากปีหนึ่งในรอบหลายๆ ปีที่ผ่านมา ในช่วงที่อากาศร้อนที่สุดในรอบปีคือเดือนเมษายนนี้
คาดว่าอุณหภูมิอาจขึ้นสูงถึง 43 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงเทียบเท่าสถิติสูงสุดในรอบ 70 ปีเลยทีเดียว สำหรับความแห้งแล้งยังประเมินได้ไม่ชัดเจน แต่คงแห้งแล้งกว่าหลายปีที่ผ่านมาแน่นอน เพราะทางการประกาศให้เกษตรกรในเขตชลประทาน (โดยเฉพาะเขตภาคกลาง)

งดการทำนาปรังที่ใช้น้ำมาก โดยแนะนำให้ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย เช่น พืชไร่ชนิดต่างๆ แทน ความจริงฤดูแล้งในประเทศไทยเริ่มต้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ต้นไม้พื้นบ้านบางชนิด เริ่มต้นทิ้งใบตั้งแต่ตอนนั้นและออกดอกในเดือนธันวาคม เพราะต้นไม้พื้นบ้านดังกล่าวจะทิ้งใบและออกดอกมากกว่าปีก่อนๆ เช่นเดียวกับ ต้นคูนในเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม เพียงแต่ช่วงออกดอกของต้นไม้พื้นบ้านบางชนิด เกิดขึ้นก่อนต้นคูนคืออยู่ในช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคม เช่น ต้นทองกวาว ที่จะเขียนถึงในตอนนี้

ทองกวาว : ไม้ยืนต้น  
พื้นเมืองดั้งเดิมของไทย

ทองกวาวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Butea frondooa Koen. Roxb. (ชื่อพ้อง Butea monosperma Ktre) LEGUMI-NOSAE เช่นเดียวกับทองหลาง คูน แค เป็นต้น เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงราว 8-15 เมตร ลำต้นไม่ค่อย  ตั้งตรงนัก เพราะเมื่ออายุยังน้อยมีลักษณะเป็นไม้กิ่งเลื้อยแตกกิ่งก้านเรือนยอดแผ่กว้าง เปลือกหุ้มลำต้นสีเทาคล้ำ แตกเป็นร่องตื้นๆ มีใบย่อย 3 ใบบนก้านใบเดียวกันคล้ายใบทองหลาง ใบย่อยตรงกลางรูป   ไข่กลับ ปลายมนโคนสอบ อีก 2 ใบด้านข้างรูปไข่ค่อนข้างกว้างโคนเบี้ยว ใบกว้างราว 10-12 เซนติเมตร ยาวราว 15-20 เซนติเมตร ทิ้งใบช่วงฤดู แล้ง (พฤศจิกายน-มีนาคม) ออกดอกช่วงทิ้งใบ (ธันวาคม-มีนาคม)

ช่อดอก ออกตามปลายกิ่งและกิ่งก้าน ช่อยาว ราว 60-90 เซนติเมตร ดอกย่อยยาวราว 7 เซนติเมตร รูปร่างคล้ายดอกแค

มีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอก สีแสด บางต้นก็ออกไปทางแดง บางต้นก็ไปทางเหลือง เช่นเดียวกับหางนกยูงฝรั่ง ซึ่งบางต้นก็เป็นสีแดงล้วน บางต้นก็เป็นสีเหลืองล้วน แต่หาได้ยาก ส่วนใหญ่เป็นสีแสด ซึ่งเป็นส่วน ผสมของสีแดงและสีเหลืองนั่นเอง

ฝักทองกวาวรูปร่างแบน กว้างราว 1.5-3 เซนติเมตร ยาว 8-04 เซนติเมตร มีเมล็ดตรงปลายฝักเพียงฝักละ 1-2 เมล็ด เท่านั้น

ทองกวาวเป็นพืชพื้นเมืองดั้งเดิม ของไทยอีกชนิดหนึ่ง ในธรรมชาติพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ และในทุ่งนาที่น้ำท่วมถึงทุกภาค นอกจากนี้ ยังพบในอินเดีย พม่า ลาว มาเลเซีย เป็นต้น

ทองกวาวถูกเลือกให้เป็นต้นไม้ ประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งแต่ราวปี พ.ศ.2507 และเป็นต้นไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลประจำจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2542 ต้นทองกวาวจึงมีความหมายต่อศิษย์เก่าและปัจจุบันของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตลอดจนชาวจังหวัดเชียงใหม่มากเป็นพิเศษ

ชื่อเรียกทองกวาวมีมากมาย เช่น ทอง ทองต้น ทองกวาว กวาวต้น ทองธรรมชาติ ทองพรหมชาติ (ภาคกลาง) กวาว กว๋าว ก๋าว (เหนือ) จาน (อีสาน) จ้า (สุรินทร์) เป็นต้น ภาษาอังกฤษ เรียกว่า
Flame of the forest, Bastard teak Bengal Kino tree

ผู้เขียนยังจำได้ว่าเมื่อเป็นเด็กยังพบเห็นต้นทองกวาวขึ้นอยู่ตามทุ่ง นาน้ำท่วมถึงของจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าต้นทอง เมื่อมีดอก ก็เรียกกันว่าดอกต้นทอง หรือดอกทอง เมื่อโตขึ้นอีกหน่อยได้ทราบความหมายของคำว่า ดอกทองที่ใช้เป็นคำด่าว่า มีความหมายถึง "น.หญิงใจง่ายในทางประเวณี "(ใช้เป็นคำด่า) ตามคำอธิบายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานปี 2525 และทราบว่าคำนี้ใช้เป็นคำด่าที่รุนแรงมาก มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แล้ว (เช่น ในบทละครสมัยอยุธยาเรื่องมโนราห์) ก็เกิดความสงสัยว่า ดอกของต้นทองที่งดงามกลายเป็นคำด่าที่หยาบคายไปได้อย่างไร เพราะแม้แต่ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอปรัดเลย์ พ.ศ.2416 ก็ยังให้ความหมายของคำว่าดอกทองเอาไว้ เพียงความหมายเดียว คือดอกของต้นทองเท่านั้น ดังนี้ 
ดอกทอง ดอกอมฤคชาติ : เป็นชื่อแห่งดอกต้นทองนั้น ต้นโตใบกลมๆ ดอกเหมือนดอกทองหลางใบมน"หากผู้อ่านท่านใดทราบว่าดอกทองกลายเป็นคำด่าได้อย่างไรก็ขอได้โปรดเล่ามาเป็นวิทยาทานด้วย ทั้งนี้รวมถึงคำว่า ดอกกระทือ ที่ใช้เป็นคำด่าอีกเช่นเดียวกัน


ประโยชน์ของทองกวาว
ทองกวาว
มีคุณสมบัติทางสมุนไพรบันทึกไว้ในตำราแพทย์แผน ไทยหลายประการด้วยกัน เช่น

ราก : รสเมาร้อน แก้ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ ขับพยาธิ แก้ริดสีดวงทวาร

ใบ : ตำพอกแก้ฝีและสิว ถอนพิษ แก้ปวด แก้ท้องขึ้น แก้ริดสีดวง บำรุงกำลัง

ดอก : ถอนพิษไข้ ขับปัสสาวะ หยอดตาแก้ตาแดง ตาแฉะ ตามัว ปวดเคืองตา

เมล็ด : ขับไส้เดือน พยาธิ บดผสมน้ำมะนาวทาแก้ผิวหนังอักเสบ คัน และแสบร้อน ผิวหนังเป็นผื่นแดง บดเป็นผงผสมน้ำทาแก้กลาก
ยางจากต้น : เรียกว่า gum bengal หรือ butea kino ใช้ฝาดสมาน ภายนอก และกินแก้ท้องเสีย
ท้องร่วง

มีกวาวอีกชนิดหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงด้านสมุนไพรไปทั่วโลก คือ กวาวเครือ (ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Butea superba Roxb.) เป็นไม้เถาที่มีลักษณะใบและดอกคล้ายกับทองกวาวมาก กวาวเครือมี ๒ ประเภท คือกวาวเครือขาว และกวาวเครือแดง เรียกตามสีของเนื้อไม้ ส่วนที่ใช้ทำยา คือส่วนโคนต้นที่พองโตคล้ายหัวมัน เชื่อกันว่าหัวกวาวเครือมีฮอร์โมนธรรมชาติเป็นฮอร์โมนเพศที่ช่วยให้ร่างกายอ่อนเยาว์กว่าวัยและบำรุงกำลัง เป็นต้น ปัจจุบันสถาบันแพทย์ หลายแห่งกำลังวิจัยกวาวเครือกันอย่างจริงจัง
เพื่อนำมาใช้ให้เกิดผลโดยไม่มีผลข้างเคียงเป็นโทษ

สำหรับทองกวาวนั้น นอกจากดอกจะมีสีสดใสงดงามจนฝรั่งเรียกว่า เปลวเพลิงของป่าแล้วยังนำมากินเป็นผัก ได้ด้วย เปลือกทองกวาว ใช้ทำเชือกและกระดาษได้ดี เนื้อไม้นอกจากทำฟืนหรือเผาถ่านแล้ว
ยังใช้ก่อสร้างบ้านเรือนส่วนที่อยู่ในร่มได้ด้วย ใบของทองกวาวชาวพิจิตรนิยมนำมาใช้ตากมะม่วงกวน
 เพราะจะได้มะม่วงกวนที่สวยงามและกลิ่นหอมเฉพาะตัว

ปัจจุบันนิยมนำทองกวาวมาปลูกในบริเวณบ้าน สวนสาธารณะ และ 2 ข้างถนนหนทางมากขึ้น เพราะมีเรือนยอดแผ่กว้างให้ร่มเงาได้ ดี ยามทิ้งใบก็ออกดอกงดงามสะดุดตา ปลูกง่ายทนทาน นอกจากนี้ยังเป็นไม้มงคล อีกด้วย กล่าวคือชาวพุทธถือว่าอดีตพระพุทธเจ้าคือพระเมธังกรพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ใต้ร่มทองกวาว

ส่วนชาวฮินดู เชื่อว่าทองกวาวเกิดจากขนเหยี่ยวชุบน้ำโสม ใบทองกวาวใบกลางคือพระวิษณุ (นารายณ์) ใบซ้ายคือพระพรหม และใบขวาคือพระศิวะ (อิศวร)

ดังนั้นร่มเงาของทองกวาวจึงน่าจะช่วยบรรเทาความแล้งร้อนได้เป็นอย่างดี

ขอขอบคุณสำหรับภาพจาก : ไม้ต้นประดับ,คู่มือคนรักต้นไม้

ข้อมูลสื่อ

301-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 301
พฤษภาคม 2547
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร