• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สวนครัวภาคปฏิบัติกิจกรรมที่มีแต่กำไร

สวนครัวภาคปฏิบัติกิจกรรมที่มีแต่กำไร

 
คอลัมน์ “ต้นไม้ใบหญ้า” ได้นำเสนอเรื่องเกี่ยวกับสวนครัวติดต่อกันมา ๒ ฉบับแล้ว ตอนนี้เป็นครั้งที่ ๓ และคงเป็นตอนสุดท้ายในช่วงนี้ เพื่อกลับไปนำเสนอผักพื้นบ้านชนิดต่างๆ ต่อไป เหตุที่ต้องนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับสวนครัวอีกตอนหนึ่งก็เพราะเห็นว่าทั้ง ๒ ตอนที่ผ่านมาเป็นเรื่องราวในทางทฤษฎีที่คงนำไปใช้ประโยชน์ได้น้อย น่าจะเพิ่มด้านการปฏิบัติเพื่อให้เรื่องสวนครัวมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านที่คิดจะลงมือทำสวนครัวอย่างจริงจัง

 
คู่มือการปลูกผักสวนครัว

ในอดีตเมื่อคนไทยส่วนใหญ่ยังมีสังคมที่เป็นชุมชนอยู่นั้น ความรู้หรือวิธีการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ รวมทั้งการทำสวนครัว อาจหาได้จากชุมชนโดยการสอบถามหรือการสังเกตแล้วทำตาม ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ภายในชุมชนที่สืบเนื่องมายาวนาน จนกระทั่งระบบการศึกษาในช่วงหลังยุคพัฒนาได้ดึงการเรียนรู้ส่วนใหญ่ไปจากชุมชน ทำให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยมีบทบาทหลัก ประกอบกับสังคมเปลี่ยนจากชุมชนเป็นปัจเจกชนมากขึ้น การเรียนรู้ระหว่างกันในชุมชนจึงน้อยลงไปด้วย เมื่อต้องการความรู้หรือวิธีการปฏิบัติเรื่องใดก็ต้องเข้าศึกษาในสถาบัน หรือจากผู้เชี่ยวชาญชำนาญการ ฯลฯ ทั้งภาคราชการและเอกชน สภาพดังกล่าวนี้เห็นได้ชัดเจนในเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ หาดใหญ่ โคราช ฯลฯ ในขณะที่ภาคชนบทยังคงมีกระบวนการเรียนรู้จากชุมชนอยู่มาก แม้แนวโน้มจะค่อยๆน้อยลงตามลำดับก็ตาม

ในกรณีการทำสวนครัว ชาวชนบทคงไม่ต้องอาศัยคำแนะนำจากคอลัมน์ “ต้นไม้ใบหญ้า” นี้ แต่คงจะหาได้จากเพื่อนบ้านมากกว่า บทความตอนนี้จึงพุ่งเป้าไปสู่ผู้อ่านที่อยู่ในเขตเมืองเป็นสำคัญ วิธีที่เหมาะสมสำหรับชาวเมืองที่ลงมือปลูกผักทำสวนครัว ก็คือ เข้ารับการฝึกอบรม หรือลงมือทดลองทำ โดยมีผู้ชำนาญคอยให้คำแนะนำตรวจสอบ จนกระทั่งได้รับคำรับรองว่าผ่านหลักสูตรแล้วก็จะนำกลับไปปฏิบัติด้วยตนเองได้ ซึ่งวิธีดังกล่าวนี้ปัจจุบันผู้อ่านที่อยู่ในกรุงเทพฯ อาจจะเข้าร่วมกับโครงการ “ครอบครัวเดียวกัน” ของบริษัทบางจาก (มหาชน) ที่มีกิจกรรม “สวนครัวบางจาก” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้เทคนิคการทำสวนครัวปลอดสารพิษเพื่อการบริโภคในครอบครัวจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ครอบครัวผู้ สนใจปลูกพืชผักสวนครัวไว้บริโภคเองในบ้าน โดยจัดกิจกรรมขึ้นเป็นประจำที่โรงกลั่นของบริษัทฯ ให้การอบรมทั้งภาคบรรยายและลงมือปฏิบัติจริงในแปลงผักปลอดสารพิษ ผู้อ่านที่สนใจติดต่อกับบริษัท บางจากฯ ได้ที่ โทรศัพท์ ๓๐๑–๒๗๔๗–๕๑ ผู้เขียนมิได้มีส่วนร่วมกับโครงการนี้ แต่เชื่อว่าผู้อ่านที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับประโยชน์คุ้มค่าเป็นแน่

สำหรับผู้อ่านที่ไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวได้ ก็อาจหาหนังสือเกี่ยวกับการปลูกผักสวนครัวที่ทำออกมาในรูป “คู่มือ” เป็นเครื่องมือช่วยการปฏิบัติ โดยบริษัทบางจากฯ ได้ตีพิมพ์คู่มือแนะนำการปลูกและบริโภคผักสวนครัวเพื่อสุขภาพของครอบครัวออกเผยแพร่ เมื่อไม่นานมานี้ ชื่อหนังสือ “ฉลาดกิน ฉลาดปลูก สวนครัวสุขภาพ” เป็นคู่มือการปลูกผักสวนครัวในบริเวณบ้านที่เหมาะสมสำหรับผู้อยู่ในเขตเมืองโดยเฉพาะ หนังสือเล่มนี้มีขนาดกะทัดรัด หนา ๔๘ หน้า มีภาพประกอบสี่สีทุกหน้า นับเป็นคู่มือการทำสวนครัวที่ดีมาก สำหรับยุคนี้ ผู้อ่านที่สนใจอาจโทรศัพท์ไปถามที่เบอร์โทรศัพท์ที่ให้ไว้ข้างบนนั้นเช่นเดียวกัน

ในส่วนภาคราชการนั้น คู่มือฉบับแรกที่ตีพิมพ์เผยแพร่แก่ประชาชน ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ จะยุติลง คือ “คำแนะนำของกรมเกษตรและการประมง เรื่อง สวนครัว” เขียนโดย หลวงอิงศรีกิสการ (นายอินทรี จันทรสถิต) มีเนื้อหาค่อนข้างละเอียดและครอบคลุมทั้งชาวเมืองและชาวชนบท นับเป็นคู่มือการทำสวนครัวที่ดีมากและยังไม่ล้าสมัย แม้เวลาจะล่วงเลยมากกว่า ๖๐ ปีแล้วก็ตาม

น่าเสียดายที่คู่มือสวนครัวฉบับแรกนี้ไม่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่มาเป็นเวลานานมากแล้ว ปัจจุบันภาคราชการที่รับผิดชอบด้านการเผยแพร่ การทำสวนครัว คือ กรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งเคยตีพิมพ์คำแนะนำที่ ๑๐๔ เรื่อง สวนหลังบ้านออกเผยแพร่ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ แต่หนังสือเล่มนั้นรวมเอาสวนผลไม้หลังบ้านและสวนครัวเอาไว้ด้วยกัน และมีเนื้อหาน้อยมาก นำมาใช้ปฏิบัติไม่ค่อยได้ แต่ทราบว่ากรมส่งเสริมการเกษตรได้ตีพิมพ์คำแนะนำการปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษขึ้นมาใหม่ มีเนื้อหาเฉพาะการทำสวนครัว และมีรายละเอียดภาคปฏิบัติมากพอสมควร ผู้อ่านสนใจอาจขอได้ที่กรมส่งเสริมการเกษตร หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดทุกแห่ง


เล็กๆ น้อยๆ สำหรับผู้ลงมือทำสวนครัว

ก่อนลงมือทำสวนครัว เราควรตั้งจุดหมายให้ชัดเจนเสียก่อน ถ้าเราต้องการอะไรจากกิจกรรมนี้ กิจกรรมนี้มีความหมายต่อครอบครัวของเราอย่างไรบ้าง ที่นำเครื่องนี้มาพิจารณาก็เพราะเห็นว่ากิจกรรมสวนครัวนั้น มีคุณค่าและความหมายมากกว่าเพียงได้ผลิตผลบริโภคเท่านั้น แต่หมายถึงการปรับเปลี่ยนทัศนคติสิ่งแวดล้อม และชีวิตประจำวันของครอบครัวเลยทีเดียว

เมื่อเราเริ่มทำสวนครัว หมายถึง เราได้นำเอา “สวน” เข้ามาอยู่ในบ้านของเราแล้วและสวนนี้เป็นระบบนิเวศระบบหนึ่งของสิ่งมีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับดิน น้ำ อุณหภูมิ แสงสว่าง ตั้งแต่พืช จุลินทรีย์ สัตว์ แมลง ฯลฯ และมนุษย์ในฐานะผู้จัดการสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวอยู่ตลอดเวลาที่ทำสวนครัว สิ่งที่เรายังไม่รู้จักก็จะได้รู้จักคุ้นเคยและจำเป็นต้องทำความเข้าใจถึงธรรมชาติของสิ่งที่เกี่ยวข้องทุกอย่างแล้วจัดการให้เหมาะสมถูกต้องสม่ำเสมอ จึงจะประสบความสำเร็จในการทำสวนครัว สมมติว่า เมื่อเราปลูกพืชผักต่างๆ แล้ว พืชผักส่วนใหญ่ไม่เจริญเติบโต หรือตายจากไป แสดงว่าเราล้มเหลว ขาดทุน ได้ผลไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่ลงทุนไป ใช่หรือไม่

หากสังเกตหัวข้อเรื่องที่ว่า “สวนครัวภาคปฏิบัติ : กิจกรรมที่มีแต่กำไร” ผู้อ่านอาจจะนึกค้านว่า ถ้าปลูกผักไม่ได้ผลแล้วจะถือว่า “มีแต่กำไร” ได้อย่างไร ผู้เขียนมิได้ตีความคำ “กำไร” ว่าหมายถึง เฉพาะผลิตผล หรือเงินทองเท่านั้น แต่หมายรวมถึงสิ่งที่มีคุณค่าอื่นๆ แม้จะจับต้องไม่ได้ เช่น ความเพลิดเพลิน ความสุข ความรู้ ความเข้าใจ ความสัมพันธ์เอาใจใส่และความร่วมมือ ฯลฯ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนจากกิจกรรมสวนครัวที่นำมาปฏิบัติในครอบครัวของท่าน นอกจากนี้ยังจะเกิดความภูมิใจและรู้สึกในความเป็นไท หรือเป็นอิสระจากระบบตลาดที่ชาวเมืองต้องพึ่งพิงอยู่เกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ในปัจจุบัน การเริ่มผลิตอาหารได้เอง หรือทำอะไรได้เองแม้เพียงเล็กน้อย จะเป็นจุดเปลี่ยนของวิถีชีวิตในอนาคตที่จำเป็นต้องลดการพึ่งพาภายนอกลงให้ได้ จึงจะมีชีวิตที่มั่นคง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และจิตใจ

ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทวีปอเมริกาเหนือ หรือยุโรปตะวันตก ต่างก็มีกิจกรรมพึ่งตัวเองมากยิ่งขึ้น ทั้งด้านปัจจัย ๔ เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค นอกจากนี้ยังสร้างสังคมขึ้นใหม่ที่เป็นชุมชนขึ้นอีกครั้ง ทิศทางดังกล่าวน่าจะเป็นทางออกจากวิกฤติของโลกปัจจุบัน และวิกฤติทางเศรษฐกิจของประเทศไทยรู้ตัวแล้วว่า ทิศทางการดำเนินชีวิตของชาวไทยส่วนใหญ่ในช่วงที่ผ่านมานั้นผิดพลาด จำเป็นต้องเปลี่ยนทางเดินเสียแต่บัดนี้ จึงจะออกจากวิกฤติการณ์ไปได้ การทำสวนครัวในบ้านก็เป็นก้าวแรกที่จะพาเราออกไปจากทิศทางเดิม มุ่งหน้าไปสู่วิถีชีวิตที่ถูกต้องและอิสระในอนาคต

ข้อมูลสื่อ

228-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 228
เมษายน 2541
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร