• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เฉียดตายจากภาวะไตวายเรื้อรัง

เฉียดตายจากภาวะไตวายเรื้อรัง  (4)
การฟอกเลือดด้วยเครื่องฟอกไต

ใบพลู


"เฉียดตายจากภาวะไตวายเรื้อรัง"ถ่ายทอดจากประสบการณ์ของผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ทยอยลงเป็นตอนๆ เพื่อเป็นอุทาหรณ์แก่ผู้ป่วยรายอื่นๆ และญาติ รวมถึงผู้อ่านที่สนใจว่าเมื่อมีอาการผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นกับร่างกายของเรา ก็ควรจะต้องดูแลเอาใจใส่อย่างต่อเนื่อง และอย่ามองข้ามอาการผิดปกติใดๆ ที่เกิดขึ้น ในฉบับที่แล้วย้ายเข้ามารักษาตัวในกรุงเทพฯ และได้รับการฟอกเลือดครั้งแรกด้วย"


7.การฟอกเลือดด้วยเครื่องฟอกไต ตอนเย็นวันนั้นได้พบกับหมอคนเดิมที่เจาะไหปลาร้า ที่ห้องผ่าตัด ท่านอธิบายให้เข้าใจถึงความจำเป็นในการทำเส้นสำหรับฟอกเลือดที่แขนข้างใดข้างหนึ่ง และต้องใช้
เส้นนี้ตลอดการฟอกเลือด จนกว่าจะได้ไตใหม่มาปลูกถ่าย หมอทำเส้นให้ที่แขนข้างซ้ายโดยใช้หลอดเลือดของตัวเอง

หลักการง่ายๆ คือนำเอาหลอดเลือดดำต่อเข้ากับหลอดเลือดแดงที่บริเวณข้อมือด้านใน เพื่อให้เลือดได้ไหลเวียนเป็นระบบระหว่างที่หมอทำอยู่รู้สึกถึงไฟช็อตที่ข้อมือหลายครั้ง จนกระทั่งเสร็จ ข้อมือถูกพันไว้อย่างดี จึงต้องระวัง เป็นพิเศษ โดยไม่ให้ไปกระแทกอะไร ไม่ใส่เครื่องประดับ ทุกชนิด และต้อง บริหารด้วยการกำมือและแบมือบ่อยๆ เพื่อให้หลอดเลือดที่เตรียมไว้แข็งแรงพอที่จะใช้ฟอกเลือดใน 2สัปดาห์ข้างหน้า ก็อาจจะสามารถใช้งานได้แล้วถ้าไม่มีปัญหาแทรกซ้อนอะไร แล้วท่อพลาสติกที่ไหปลาร้า นั้นก็จำเป็นต้องเอาออก เพราะถ้ายังฝังอยู่นานก็จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคมากยิ่งขึ้น

ช่วงนี้ล้างไตสัปดาห์ละ 2 ครั้ง กินอาหารได้มากขึ้น อาหารประเภทแป้งไม่จำกัด กินเท่าไหร่ก็ได้แต่ต้องจำกัดเนื้อสัตว์ให้น้อยลง เค็มน้อยลง ผลไม้สดกินได้นิดหน่อย ขนมหวานกินได้ตามปกติ ให้ดื่มน้ำตามที่รินไว้ในเหยือก เพื่อที่จะได้รู้ว่าดื่มน้ำมากน้อยแค่ไหน ร่างกายแข็งแรงขึ้น มาก สามารถลุกไปห้องน้ำเองได้ในบางครั้ง แต่ยังไม่มี ปัสสาวะออกมาเลย

พอครบ 2 สัปดาห์ของการทำเส้นเลือดฟอกไตที่ข้อมือและสามารถใช้งานได้แล้ว ก็จะเป็นครั้งแรกที่ฟอกเลือดที่แขน รู้สึกตื่นเต้นจังเลย เมื่อนอนลงที่เตียงฟอกเลือด มองดูคนข้างๆ แล้วกลับมามองดูที่เครื่องฟอกไตอย่างพิจารณาอีกครั้งที่หน้าตู้จะมีหน้าปัดบอกตัวเลขต่างๆ มี กระบอกสีน้ำตาลเป็นพลาสติกใสเสียบติดอยู่ ในกระบอก คล้ายๆ กับกระดาษพับซ้อนกันเป็นทางยาวลงมาอย่างดี
กระบอกนี้ก็คือตัวกรองของเสียออกจากเลือดนั่นเอง

พยาบาลทำความสะอาดแขนข้างซ้ายบริเวณที่จะใช้ เส้นเลือดนั้นอย่างดี เพื่อป้องกันการติดเชื้อ แล้วก็เริ่มฉีดยาชาเข็มเล็กมาก 2 จุดบนเส้นเลือดนี้ ห่างกันประมาณ 3 นิ้ว

เมื่อบริเวณที่ฉีดยาชามีอาการชาได้ที่แล้ว ก็จะใช้เข็มเจาะเลือดมีปีกด้านข้างหรือที่เรียกว่า butterfly เบอร์ 18 แทงเส้น เข็มแรกจะแทงตามหลอดเลือดหรือด้านบน ของเส้น เข็มที่ 2 จะแทงทวนหลอดเลือด หรือด้านล่างของหลอดเลือด ซึ่งเป็นจุดที่เลือดจะถูกนำออกจากร่างกายไปตามท่อพลาสติกเข้าสู่กระบอกกรองของเสีย โดยจะมีตัวปั๊มช่วยปั๊มเลือดออกจากร่างกายในอัตราความเร็วที่พอเหมาะ

เมื่อเลือดเข้าสู่กระบอกกรองแล้ว ก็จะมีน้ำยาช่วยในการทำความสะอาดเลือด ของเสียจากเลือดจะซึมผ่าน เยื่อบางๆ ในกระบอกกรองนี้ เข้าผสมกับน้ำยา แล้วถูกดูด ทิ้งไป เลือดที่สะอาดแล้วจะถูกส่งออกมาจากกระบอกกรองมาทางท่อพลาสติกอีกด้านหนึ่ง กลับเข้ามายังปลาย เข็มที่แทงไว้ตามกระแสเลือดนั่นเอง ระบบการกรองจะหมุนเวียนอยู่อย่างนี้ โดยใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ถ้าในระหว่างการฟอกเลือด เกิดอาการไม่สบาย เช่น หน้ามืด หายใจขัด ปวดแขน เป็นตะคริว หนาวสั่น ก็ต้องบอกพยาบาลให้ทราบทันที เพื่อจะได้แก้ไขอย่างรวดเร็ว บางคนมีอาการแพ้เครื่องขนาดอาเจียนอย่างหนัก บางคนก็ต้องใช้ยานอนหลับอย่างอ่อนๆ ช่วยให้หลับสบายไปเลย

ในขณะทำการฟอกเลือด ซึ่งต้องดูแลกันเป็น พิเศษให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล โชคดีที่ไม่เป็นอะไรเลยในระหว่างการฟอกเลือดถ้าหิวก็สามารถกินอาหารได้ ดื่มน้ำได้ การฟอกเลือดวิธีนี้จะเสียเลือดน้อยมาก และไม่จำเป็นต้องได้รับเลือดเพิ่มอีก เพราะร่างกายแข็งแรงขึ้น หลังจากกระบวนการฟอกเลือดแล้วเสร็จ เข็มเจาะเลือดทั้งสองจะถูกดึงออกทีละข้าง แล้วใช้ผ้าก๊อซกดแผลไว้ ประมาณ 5 นาทีเพื่อให้เลือดหยุดไหล ปิดด้วยปลาสเตอร์ ไว้ประมาณ 2 วัน เสร็จแล้วต้องชั่งน้ำหนักตัวว่าเหลือเท่าไหร่ เพื่อเป็นการเปรียบเทียบ ในการดึงน้ำออกจากร่างกายในครั้งต่อไป และเป็นการคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์คงที่
ทำให้เข้าใจว่า "การฟอกเลือด" หมายถึง การกำจัดของเสียที่ไตไม่สามารถทำงานได้แล้ว ร่วมด้วยการกำจัดน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย และจำเป็นต้องทำในระยะที่ไตวายแล้ว

ผลกระทบอย่างอื่นที่สำคัญคือ การขาดฮอร์โมนใน การสร้างเลือด จึงต้องใช้ยาชนิดหนึ่ง (EPREX) ฉีดเข้าที่ กล้ามเนื้อ เพื่อเป็นฮอร์โมนทดแทนในการสร้างเลือด  เลือกฉีดที่กล้ามเนื้อต้นแขน ช่วงที่กำลังเดินยาจะปวดมาก ขอให้พยาบาลช่วยเดินยาช้าๆ เพราะทำให้รู้สึกเจ็บน้อยกว่า ที่จะเดินยาตามปกติ ขนาดของยาที่ฉีดคือ 4,000 ยูนิต ต่อซีซี ผลข้างเคียงของยานี้คือ ทำให้หิวมากขึ้น ฮอร์โมน ที่ขาดไปนี้มีชื่อเรียกว่า อีริโทรพอยเอทิน (Erythropoietin) ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นไขกระดูกในร่างกายให้สร้างเลือดเพิ่มขึ้นหลังจากฟอกเลือดแล้วคอแห้งมากและหิว เวียนศีรษะนิดหน่อย ซึ่งเป็นอาการปกติ ดีที่สุดคือต้องกินอะไรนิดหน่อยแล้วก็นอนพัก วันรุ่งขึ้นจะดีขึ้น ร่างกายจะปรับ สภาพไปได้เรื่อยๆ จนชิน ทำให้การฟอกเลือดไม่น่ากลัว

แต่อยากจะให้ถึงวันฟอกเร็วๆ เพราะจะรู้สึกสบายตัว อย่างมาก น้ำหนักหายไปประมาณ 15 กิโลกรัม
เมื่อได้ชั่งน้ำหนักครั้งแรกหลังการฟอกเลือดที่แขน จากนั้นได้รับการฟอกเลือดสัปดาห์ละ 2 ครั้งกับฉีด
ยาตามด้วยทุกครั้ง พอมาถึงห้องไตเทียม ก็ต้องชั่งน้ำหนัก ก่อน ว่าน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเท่าไหร่ แล้วพยาบาลจะคำนวณว่า จะต้องดึงน้ำออกเป็นปริมาณเท่าไหร่ เพื่อให้น้ำหนักตัวใกล้เคียงกับคราวที่แล้ว กระบวนการฟอกเลือดก็เริ่มต้นอีกครั้ง และสิ้นสุดที่การชั่งน้ำหนักตัวหลังการฟอกเลือด

หลังจากอยู่ในโรงพยาบาลได้ 4 สัปดาห์ หมออนุญาตให้กลับบ้านได้ แต่ต้องมาฟอกเลือดสัปดาห์ละ 2 ครั้งพร้อมกับฉีดยาสัปดาห์ละครั้ง เพราะความเข้มข้นของเลือดอยู่ในระดับที่น่าพอใจแล้ว ต้องมาพบหมอทุกสิ้นเดือนเพื่อตรวจร่างกาย ตรวจเลือดหาระดับของเสียว่ามีมากแค่ไหน ซึ่งจะบอกได้ว่า การฟอกเลือดสัปดาห์ละ 2 ครั้งเพียงพอหรือไม่ สิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมเลยคือ การจำกัดน้ำ ให้ดื่มวันละประมาณ 1 ลิตร งดอาหารเค็มและรสจัด ผลไม้กินได้แต่น้อย ถ้ามีอาการไม่ดี ให้รีบมาพบหมอโดยเร็ว

(อ่านต่อฉบับหน้า "ประสบการณ์จากการฟอกเลือด")
 

ข้อมูลสื่อ

302-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 302
มิถุนายน 2547
ใบพลู