• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาถ่ายพยาธิ

ดิฉันอายุ 27 ปี ส่วนสูง 155 เซนติเมตร น้ำหนัก 38 กิโลกรัม ยังไม่ได้แต่งงาน เพื่อนที่ทำงานก็ทักว่าทำไมผอมจัง ดิฉันก็มาสำรวจตัวเองเกี่ยวกับเรื่องอาหารการกินดิฉันกินอาหารถือว่าครบ 5 หมู่ กินอาหารครบทุกมื้อ ขนมนมเนยก็กินทุกอย่าง แต่ก็ไม่อ้วน มาสำรวจเรื่องโรคประจำตัวก็ไม่ได้เป็นโรคอะไร ดิฉันจึงสงสัยว่าดิฉันจะมีพยาธิเยอะหรือเปล่า

ดิฉันจึงขอเรียนสอบถามคุณหมอเกี่ยวกับเรื่องยาถ่ายพยาธิ ดังนี้
1. จะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีพยาธิหรือไม่มี
2. ยาถ่ายพยาธิสามารถถ่ายพยาธิได้จริงหรือไม่
3. การกินยาถ่ายพยาธิบ่อยๆ มีผลข้างเคียงหรืออันตรายหรือไม่
4. เมื่อใดจึงจำเป็นต้องกินยาถ่ายพยาธิ
ขอความกรุณาคุณหมอช่วยตอบด้วยนะคะ
จริยา/สุโขทัย


อาการกินได้แต่ผอมนั้น อาจมีสาเหตุได้ต่างๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นจากโรคพยาธิเสมอไป ถ้ามีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย น้ำหนักตัวลดลงจากเดิมอย่างฮวบฮาบ เช่น ลดลงไป 2 ถึง 3 กิโลกรัม ภายใน 1 ถึง 2 สัปดาห์ อาจเกิดจากโรคคอพอกเป็นพิษ (มีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น มือสั่น เหงื่อออกมาก และอาจพบมีอาการคอพอกร่วมด้วย) วัณโรค (มีไข้และไอเรื้อรัง) หรือสาเหตุร้ายแรงอื่นๆ (เช่น เอดส์ มะเร็ง) ถ้ารูปร่างผอม แต่ยังกินได้ตามปกติ โดยที่น้ำหนักค่อนข้างคงที่ (ไม่ลดลง) และสุขภาพทั่วไปแข็งแรงดีก็มักจะไม่มีสาเหตุอะไรมาก บางคนอาจเกิดจากมีการใช้แรงกายหรือทำงานมากเกินไป เช่น ทำงานด้วยเรียนด้วย หรือขยันทำงานนอกเวลา ก็ควรหาเวลาพักผ่อนให้มากขึ้น และกินอาหารในปริมาณมากขึ้นกว่าเดิม ก็อาจช่วยให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ ส่วนปัญหาเกี่ยวกับโรคพยาธิ
ขอตอบเป็นข้อๆ ดังนี้ครับ
1.โรคพยาธิมีอยู่หลายประเภท ในกรณีข้อสงสัยของคุณเข้าใจว่าคงหมายถึงโรคพยาธิในลำไส้ ซึ่งมีอยู่หลายชนิดย่อยๆ ที่พบบ่อยและอาจทำให้น้ำหนักตัวลดลง ได้แก่ โรคพยาธิไส้เดือน กับโรคพยาธิตัวตืด (ตัวแบน)

ทั้ง 2 โรคนี้ อาจทำให้คนไข้มีอาการปวดท้อง หรืออาเจียนร่วมด้วย บางครั้งอาจเห็นถ่ายหรืออาเจียนเป็นตัวกลมๆ ยาวๆ คล้ายไส้เดือน(ถ้าเป็นพยาธิไส้เดือน) หรือถ่ายเป็นตัวแบนๆ เส้นยาวๆ คล้ายบะหมี่ (ถ้าเป็นพยาธิตัวตืด)

นอกจากนี้ ยังมีโรคพยาธิเส้นด้าย หรือเข็มหมุด (ซึ่งมักทำให้มีอาการคันก้นตอนกลางคืน พบบ่อยในเด็กเล็กและอาจติดกันหลายคนในบ้านเดียวกันได้) โรคพยาธิปากขอ (ซึ่งมักจะเกาะตัวอยู่ในลำไส้และดูดเลือดจากคนไข้ ทำให้คนไข้หน้าตาซีดเนื่องจากเลือดจางได้)
 
ถ้าพบว่ามีอาการแบบใดแบบหนึ่งดังกล่าว ก็ให้พึงสงสัยว่าอาจเป็นโรคพยาธิลำไส้ชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่ถ้าอาการไม่ชัดเจน หรือต้องการรู้ให้แน่ๆ ก็ต้องนำอุจจาระไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์จะพบไข่พยาธิซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่บอกได้ว่าเป็นพยาธิชนิดใด ดังนั้น ในกรณีของคุณ ถ้าสงสัยว่าจะเป็นโรคพยาธิลำไส้ ก็ควรนำอุจจาระไปให้หมอตรวจดู

2. และ 3. ยาถ่ายพยาธิ ก็คือยาที่ใช้ฆ่าตัวพยาธิ ในปัจจุบันมีอยู่หลายชนิด ตัวที่มีสรรพคุณฆ่าพยาธิ ได้หลายชนิด ทั้งพยาธิไส้เดือน เส้นด้าย ปากขอ ได้แก่ ยามีเบนดาโซล (ดูข้อความในกรอบ) ยานี้ถ้าใช้ตาม ขนาดที่แนะนำพบว่ามีความปลอดภัยสูง ยกเว้นบางคนอาจมีอาการปวดท้อง อาเจียน ท้องเดิน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หรือแพ้ยา (มีอาการเป็นลมพิษ ผื่นคัน)

ข้อสำคัญ หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรใช้ยานี้ เพราะมีการทดลองในสัตว์พบว่า สัตว์ที่ตั้งครรภ์เมื่อกินยานี้ทำให้ลูกพิการได้ ส่วนยาที่ใช้รักษาโรคพยาธิตัวตืด นิยมใช้ยาที่มีชื่อว่า นิโคลซาไมด์ (niclosamide) เนื่องจากมี ข้อควรระวังในการรักษาโรคพยาธิชนิดนี้มากกว่าโรคพยาธิลำไส้ชนิดอื่นๆ จึงควรขอคำแนะนำจากแพทย์ ก่อนใช้ยานี้

4. จะใช้ยาถ่ายพยาธิ ก็ต่อเมื่อ รู้แน่ว่าเป็นโรคพยาธิลำไส้ชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งอาจรู้ได้จากการเห็นตัวพยาธิที่ออกมาจากลำไส้ (เช่น อาเจียน หรือถ่ายออกมา) หรือจากการตรวจพบไข่พยาธิในอุจจาระ ไม่ควรใช้ยาถ่ายพยาธิเพียงเพราะมีอาการรูปร่างผอม ทั้งๆที่กินได้ เนื่องจากอาการแบบนี้อาจมีสาเหตุอื่นมากกว่าโรคพยาธิก็ได้ ดังนั้น ถ้าคุณยังมีความไม่สบายใจเรื่องรูปร่างผอม ก็ควรจะหาโอกาสปรึกษาหมอ เพื่อหาสาเหตุให้แน่ชัดจะดีกว่าครับ
 
ข้อควรรู้
ยาถ่ายพยาธิมีเบนดาโซล

ชื่อสามัญ : มีเบนดาโซล (mebendazole)
ชื่อการค้า : ฟูกาคาร์ (Fugacar), เบนดา (Benda), มีเบน (Meben), วอร์เมกซ์ (Wormex)
ประเภทยา : - ชนิดน้ำ 100 มิลลิกรัมต่อช้อนชา 
                      - ชนิดเม็ด100 มิลลิกรัม
สรรพคุณ : ใช้ถ่ายพยาธิไส้เดือน พยาธิเส้นด้าย พยาธิปากขอ
ขนาดและวิธีใช้ : ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ใช้ขนาดเท่ากัน ดังนี้ 
                              1. สำหรับพยาธิเส้นด้าย กิน 1 เม็ด หรือ 1 ช้อนชา ครั้งเดียว อีก 1 ถึง 2 สัปดาห์
                                   ต่อมาควรกินอีกครั้ง 
                              2. สำหรับพยาธิไส้เดือน พยาธิปากขอ กินครั้งละ 1 เม็ด หรือ 1 ช้อนชา
                                  วันละ 2 ครั้งหลังอาหารเช้าและเย็น ติดต่อกัน 3 วัน ชนิดเม็ดควรเคี้ยวให้ละเอียด
                                   ก่อนกลืน
ข้อควรระวัง : 1. ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยพบมีผลข้างเคียงอะไร นอกจากบางคน อาจมีอาการปวด-
                            ท้อง อาเจียน ท้องเดิน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ 
                        2. ห้ามใช้ในคนที่มีประวัติแพ้ยานี้ (กินแล้วมีอาการเป็นลมพิษ ผื่นคัน) และหญิงตั้งครรภ์

ข้อมูลสื่อ

266-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 266
มิถุนายน 2544
พูดจาภาษายา
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ