• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ลิ้นพยากรณ์โรคได้อย่างไร

เวลาไปพบแพทย์แผนตะวันตก (ปัจจุบัน) หลังจากเราบอกอาการและปัญหาต่างๆ กับแพทย์ แพทย์ก็จะตรวจร่างกายด้วยวิธีการง่ายๆ ตั้งแต่ดูด้วยตา คลำ เคาะด้วยมือ แล้วใช้ฟังด้วยหูฟัง บางครั้งต้องส่งไปตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ ฯลฯ เพื่อหาสาเหตุในการวินิจฉัยโรค

วิชาแพทย์แผนตะวันออกจีนโบราณ ก็มีหลักการตรวจวินิจฉัยโรคโดยเน้นที่การใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ซึ่งมีด้วยกัน 4 วิธี
1. การมองดู : ใช้ตา
2. การฟัง-สูดดม : ใช้หูและจมูก
3. การถาม : ใช้ปาก
4. การแมะหรือการจับชีพจรและการคลำ : ใช้ผิวสัมผัส

เรียกว่าเน้นการใช้เครื่องไม้เครื่องมือตามที่ธรรมชาติให้มา เพราะฉะนั้นประสบการณ์การใช้ประสาทสัมผัสในการเสาะหาโรคภายในที่สะท้อนมาภายนอกของแพทย์แผนจีนที่ได้รับการถ่ายทอดบันทึกสืบต่อกันมา จึงมีคุณค่ายิ่ง

บางโรคที่แพทย์แผนตะวันตก ไม่อาจวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคอะไร (เนื่องจากวิธีคิดแบบแพทย์แผนปัจจุบัน ต้องตรวจพบความผิดปกติก่อน จึงถือว่าเป็นโรค) แต่ในทางแพทย์แผนจีนถือว่าเป็นภาวะเสียสมดุล ซึ่งถ้าไม่ดูแลรักษาหรือปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้การกินอยู่ อารมณ์ จิตใจ ฯลฯ จะต้องเกิดปัญหาสุขภาพ ในอนาคตอย่างแน่นอน

ในกระบวนการตรวจเพื่อการวินิจฉัยโรคแบบแพทย์แผนตะวัน-ออก-จีน มุ่งเน้นไปที่การศึกษาความขัดแย้ง การต่อสู้กันระหว่างร่างกาย กับปัจจัยก่อโรค ความรุนแรงของโรคภาวะพื้นฐานสมดุลของร่างกาย ฯลฯ จึงไม่ได้มีความหมายว่าเป็นโรคอะไร เหมือนในทัศนะแพทย์แผนตะวันตก (ปัจจุบัน) ผลสรุปของการวินิจฉัยจะลงเอยไปว่าอวัยวะภายในอะไรบ้างมีปัญหา ภาวะร่างกายเป็นยิน-หยาง เป็นพร่อง เป็นแกร่ง ลักษณะเป็นร้อนหรือเย็น โรคอยู่นอกหรือใน

การรักษาจึงเน้นที่การสร้างสมดุล โดยจะพบว่าเมื่อปรับสมดุลแล้วอาการต่างๆ หลายๆอาการจะค่อยๆทุเลาหายไปด้วยกัน
 
การตรวจที่เด่นชัดเป็นรูปธรรม และเป็นศาสตร์ที่มีคุณค่ายิ่ง มีความลึกล้ำและได้รับการกล่าวขวัญ รวมทั้งระยะหลังมีการศึกษาวิจัยในทางวิทยาศาสตร์มากที่สุดก็คือ การตรวจลิ้น และการตรวจชีพจร 

                            

ลักษณะการตรวจดูลิ้น
สำหรับรายละเอียดของการตรวจดูลิ้นนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ การดูตัวลิ้น และการดูฝ้าบนลิ้น

   

การดูตัวลิ้น
1. การแบ่งส่วนต่างๆ ของลิ้น 
- แบ่งลิ้นออกเป็น 3 ส่วน ของร่างกาย
ส่วนปลาย = ร่างกายส่วนบน (ซ่างเจียว)
ส่วนกลาง = ร่างกายส่วนกลาง (จงเจียว)
ส่วนโคน = ร่างกายส่วนล่าง (เซี่ยเจียว) 
- แบ่งลิ้นออกเป็นบริเวณของอวัยวะภายใน
ส่วนปลาย = หัวใจ ปอด
ส่วนกลาง = ม้าม และกระเพาะอาหาร
ส่วนขอบลิ้น = ตับ ถุงน้ำดี
ส่วนโคนลิ้น = ไต

2. การตรวจส่วนต่างๆ ของลิ้น 
- การมีชีวิตชีวาของลิ้นได้แก่ ลิ้นห่อเหี่ยว ลิ้นมีประกาย มีน้ำมีนวล 
- สีของตัวลิ้น ได้แก่ สีขาวซีด สีชมพู สีแดง สีแดงเข้ม สีแดงม่วง สีเขียว (น้ำเงินซีด) 
- ลักษณะของลิ้น ได้แก่ลิ้นผอมเล็ก ลิ้นบวมโต ผิวลิ้นหยาบ ผิวลิ้นนุ่ม ผิวลิ้นมีตุ่มนูนแดง ลิ้นมีร่องรอยแตก ลิ้นมีรอยหยักของฟัน ลิ้นลื่นวาว ลิ้นมีจุดเลือด จ้ำเลือด ฯลฯ 
- ลักษณะการเคลื่อนไหวได้แก่ ลิ้นแข็งทื่อ ลิ้นอ่อนแรง ลิ้นสั่น ลิ้นเฉ การเล่นลิ้น ลิ้นแลบ ลิ้นหดสั้น

การดูฝ้าบนลิ้น
1. ดูสีของฝ้า ได้แก่ สีขาว สีเหลือง สีเทา สีดำ
2. ดูลักษณะฝ้า ได้แก่ ฝ้าหนา บาง ชุ่มชื้น-แห้ง ฝ้าคราบเต้าหู้ ฝ้า เหนียว ฝ้าหลุดลอก ฝ้าลิ้นแผนที่ ฯลฯ

ดูลิ้นบอกอะไรได้บ้าง
1. บอกภาวะของพลังเจิ้งชี่ของร่างกาย (พลังพื้นฐาน รวมถึงพลังยิน-หยาง) ได้แก่ 
- ตัวลิ้นชมพู แสดงว่ามีความชุ่มชื้นพอเหมาะ เลือดลมดี 
- ตัวลิ้นขาวซีด แสดงว่าเลือด และพลังพร่อง
- ตัวลิ้นแดง ไม่มีฝ้า แสดงว่าความร้อนในร่างกายของสารน้ำถูกทำลาย

2. บอกชนิดของปัจจัยก่อโรค (เสียชี่) ได้แก่ 
- ลิ้นมีฝ้าขาวชื้นหรือฝ้าสีดำแกมเขียว แสดงว่ามีความเย็นกระทบ 
- ลิ้นมีฝ้าสีเหลือง ตัวลิ้นมีรอยแตกแห้ง แสดงว่ามีความร้อนเป็นเหตุ

3. บอกตำแหน่งความลึกตื้นของโรค ได้แก่ 
- ฝ้าบนลิ้นบาง แสดงว่าโรค อยู่ภายนอก 
- ฝ้าบนลิ้นหนา แสดงว่าโรคเข้าสู่ภายใน 
- ตัวลิ้นที่มีสีแดงเข้ม แสดงว่าความร้อนเข้าสู่ระดับเลือด

4. พยากรณ์การดำเนินโรค
ถ้าฝ้าบนลิ้นเปลี่ยนจากขาวเป็นเหลือง แล้วเป็นสีดำ แสดงว่าโรคบุกเข้าสู่ร่างกายส่วนลึก ในทางกลับกันถ้าฝ้าบนลิ้นเปลี่ยนจากแห้งกลายเป็นชุ่มชื้นมีน้ำ แสดงว่าสารน้ำที่ถูกทำลายกำลังกลับคืน ร่างกายกำลังฟื้นตัว ฯลฯ

สรุป
การดูลิ้นมีรายละเอียดมากมาย และต้องอาศัยข้อมูลจากการตรวจวิธีอื่นเสริม รวมทั้งการจับชีพจร คนปกติบางคนอาจพบความผิดปกติของลิ้นได้ หรือคนที่เป็นโรค อาจพบว่าลิ้นเปลี่ยนแปลงไม่มาก การ ได้ข้อมูลอาการและภาวะที่เป็นจริงของผู้ป่วยแต่ละรายจึงยังเป็นสิ่งสำคัญ ที่ต้องสอดรับกับการตรวจพบ แล้วจึงประมวลให้ข้อสรุปอย่างถูกต้อง

การตรวจลิ้นนั้นถึงแม้ไม่สามารถบอกว่าเป็นโรคอะไรตามทรรศนะ แพทย์แผนตะวันตก (ปัจจุบัน) แต่สามารถนำมาช่วยพิเคราะห์ภาวะสมดุลของร่างกาย คือ ภาวะร่างกาย ภาวะก่อโรค ความรุนแรงของโรค การ ดำเนินไปของโรคอย่างเป็นภาพรวม ทำให้สามารถวางแผนทั้งด้านการรักษาและป้องกันในภาวะที่เป็นโรคหรือภาวะที่ไม่มีโรค (การตรวจด้วยแพทย์แผนตะวันตก) ซึ่งสอดคล้องกับหลักการแพทย์แผนจีนที่ว่า “รักษาเมื่อยังไม่เป็นโรค” คือ รักษาให้เกิดความสมดุลนั่นเอง

ความสัมพันธ์ระหว่างลิ้นกับอวัยวะภายในและเส้นลมปราณ
1. ลิ้นเป็นทวารเปิดของหัวใจ
หัวใจเกี่ยวข้องกับการไหลเวียนเลือด เป็นหลักของอวัยวะภายใน ความผิดปกติของเลือดและพลังในร่างกายสามารถสะท้อนให้เห็นได้ที่ลิ้น
2. ฝ้าบนลิ้น มีความเกี่ยวข้องกับพลังของระบบม้ามและกระเพาะอาหารซึ่งควบคุมเกี่ยวกับการย่อยสลาย และลำเลียงอาหารไปยังส่วนต่างๆ การเปลี่ยนแปลงของฝ้าบนลิ้น จึงบ่งบอกพลังของกระเพาะอาหารและม้าม
3. เส้นลมปราณ เป็นเส้นที่เลือดและพลังไหลเวียนอยู่ทั่วร่างกาย เพื่อให้เกิดการดำรงชีวิต และเกิดการ สมดุล เส้นลมปราณเชื่อมกับอวัยวะ ภายในและเชื่อมส่วนต่างๆ ของร่างกาย แขน ขา ลำตัว ศีรษะเข้าด้วยกัน
เส้นลมปราณพื้นฐานที่สำคัญมี 12 เส้น เส้นลมปราณพิเศษที่สำคัญมี 2 เส้น จะมีเส้นที่เชื่อมโดย ตรงกับลิ้นหลายเส้นด้วยกัน เช่น 
- เส้นลมปราณ ยิน 3 เส้นของขา (ม้าม ตับ ไต ) 
- เส้นลมปราณหยาง 3 เส้นของขา (กระเพาะอาหาร ถุงน้ำดี กระเพาะปัสสาวะ ) 
- เส้นลมปราณลำไส้เล็กซานเจียวของมือ 
- เส้นลมปราณเยิ่น และตู๊กลางลำตัว
4. ลิ้นเป็นอวัยวะที่มีลักษณะจำลองส่วนต่างๆ ของร่างกายตามหลัก Holographic biology

ความผิดปกติของร่างกายที่อวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง สามารถสะท้อนให้เห็นได้บนลิ้น ในขณะเดียวกัน เรา สามารถใช้ตำแหน่งที่ผิดปกติบนลิ้น ในการรักษาโรคโดยส่งสัญญาณ เช่น การฝังเข็ม เพื่อปรับพลังไหลเวียนที่ไปยังตำแหน่งที่เกิดโรคได้

ข้อมูลสื่อ

267-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 267
กรกฎาคม 2544
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล