• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รองเท้าส้นสูง

รองเท้าส้นสูงกับผู้หญิงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คู่กันเสมอมา บางคนถึงขนาด “ขาด” รองเท้าส้นสูงไม่ได้ เพราะกลัวไม่สวย ไม่สูง และบุคลิกไม่ดี

มีน้อยคนนักที่จะรู้ว่าภายใต้ความเคยชินกับการสวมรองเท้าส้นสูง เป็นเวลานานๆ ส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง เรื่องของรองเท้าส้นสูง ที่นำมาฝากกันในฉบับนี้ คงทำให้ผู้หญิงบาดเจ็บน้อยลง จากการมองข้ามความสำคัญเล็กๆ น้อยๆ ในการดูแลสุขภาพเท้าของตัวเอง
 
การเปลี่ยนแปลงด้านสรีระขณะสวมรองเท้าส้นสูง

1. ขณะสวมใส่รองเท้าส้นสูงทำให้เรามีรูปร่างสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันรอยเท้าจะสั้นกว่าปกติ ซึ่งตามหลักของชีวกลศาสตร์ ร่างกายจะรักษาสมดุลยากขึ้น กล้ามเนื้อฝ่าเท้าและขาจึงต้องทำงานมากกว่าเดิม เพื่อที่จะพยายามรักษาสมดุลของการทรงตัวให้ได้
2. ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของจุดรับน้ำหนักของร่างกาย นั่นคือ น้ำหนักจะตกที่ปลายเท้ามากกว่าปกติ ทำให้เกิดการเบี่ยงเบนของร่างกายไปจากเดิม กล้ามเนื้อขาและลำตัวต้องทำงานมากขึ้น ที่สำคัญบริเวณหลังจะเกิดการแอ่นมาก และเป็นสาเหตุของการปวดหลังในอนาคตได้
3. กล้ามเนื้อน่องและเอ็นร้อยหวายจะหดสั้นตลอดเวลาที่ใส่รองเท้าส้นสูง ทำให้บริเวณน่องเกิดความตึงตัว การไหลเวียนของเลือดไม่ดี
4. การเดินขณะใส่รองเท้าส้นสูง จะทำให้ความยาวของการก้าวเท้าสั้นกว่าเมื่อเดินเท้าเปล่า เนื่องจากกล้ามเนื้อน่องมีการหดตัวอยู่บ้างแล้วขณะที่ใส่รองเท้าส้นสูง ดังนั้นเมื่อกล้ามเนื้อต้องทำงานถีบปลายเท้าเพิ่มขึ้นอีก จึงเกิดแรงถีบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
5. การขึ้นบันไดขณะสวมใส่รองเท้าส้นสูง จะทำให้ร่างกายขาดความมั่นคง เพราะต้องเกร็งและระวังว่าจะสะดุดบันได กลัวหกล้ม เลยทำให้กล้ามเนื้อขาต้องทำงานมากกว่าปกติ

อันตรายจากรองเท้าส้นสูง
โดยทั่วไปรองเท้าที่จะเรียกได้ว่าเป็นรองเท้าส้นสูงนั้น จะต้องมีความสูงมากกว่า 4 นิ้วครึ่ง สำหรับรองเท้าผู้หญิง และสูงมากกว่า 3 นิ้วครึ่ง สำหรับรองเท้าผู้ชาย และเป็นเรื่องยากอยู่เหมือนกันที่จะชี้เฉพาะลงไปเลยว่ารองเท้าสูงเท่าไร จึงจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากเหตุปัจจัยของแต่ละคนแตกต่างกัน เช่นรูปร่างอ้วนหรือผอม ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเป็นอย่างไร ซึ่งคนที่มีกล้ามเนื้อแข็งแรงก็อาจจะเกิดอันตรายน้อยกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ ก็ยังขึ้นอยู่กับความเคยชินด้วยว่าใส่รองเท้าสูงมานานเท่าไร
อย่างไรก็ตาม การใส่รองเท้าส้นสูงที่มีส้นรองเท้าแหลมและสูง ย่อมเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายได้มากกว่าการสวมรองเท้าส้นทึบและเตี้ยอย่างแน่นอน และการบาดเจ็บที่มักเกิดขึ้นสำหรับผู้ที่ใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำคือ

เกิดอาการปวดเมื่อย บริเวณฝ่าเท้า นิ้วเท้า และน่อง เพราะกล้ามเนื้อที่ไม่แข็งแรงต้องทำงานมากเกินไป จึงทำให้เกิดการเมื่อยล้าได้ง่าย หรือเพราะกล้ามเนื้อบางมัดถูกยืดมากเกินไป หรือการไหลเวียนของเลือดบริเวณนั้นไม่ดี เนื่องจากกล้ามเนื้อบางมัด เช่น กล้ามเนื้อน่องหดเกร็งอยู่เป็นเวลานานๆ
เกิดการปวดบางตำแหน่ง เช่นที่นิ้วเท้า ซึ่งเกิดจากการถูกบีบ การกดทับ และการเสียดสี จากรองเท้าประเภทแฟชั่นที่อาจจะมีรูปลักษณะแปลกๆ แต่สวมใส่แล้วไม่สบายเท้า
เกิดอันตรายเนื่องจากอุบัติเหตุ เช่น เท้าแพลงเมื่อเกิดการเหยียบพลาด หกล้มทำให้กระดูกหัก หรือตกหลุม

การแก้ปัญหาเมื่อบาดเจ็บ
กรณีได้รับอุบัติเหตุ เช่น ข้อเท้าแพลง ในระยะ 1 ถึง 2 วันแรกให้ใช้น้ำแข็งประคบนาน 5 ถึง 10 นาที ทำวันละ 2 ถึง 3 ครั้ง เพื่อช่วยลดอาการปวด และพักการใช้ข้อเท้าชั่วคราวโดยการพันด้วยผ้าพันชนิดยืด ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์

กรณีปวดเมื่อยข้อเท้า เมื่อกลับถึงบ้าน ให้แช่เท้าด้วยน้ำร้อน (ที่พอทนได้) โดยให้ระดับน้ำสูงถึงครึ่งน่อง แช่นาน 10 ถึง 15 นาที พร้อมกับออกกำลังเท้าและนิ้วเท้าไปด้วย โดยการกระดกปลายเท้าขึ้น ถีบปลายเท้าลง งอนิ้วเท้า เหยียดนิ้วเท้า หันฝ่าเท้าเข้าด้านใน และหันฝ่าเท้าออกด้านนอก เพื่อเป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และถ้าเป็นไปได้ควรนวดเท้าบ่อยๆ ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง อาทิ เหยียบกะลา คลึงเท้าด้วยลูกกอล์ฟ และนวดเท้า

แม้บางคนจะทราบดีว่าการสวมรองเท้าส้นสูงเป็นความสง่าที่มาพร้อมกับความปวดเมื่อย แต่หญิงสาวเป็นจำนวนมากไม่อาจตัดใจลาจากรองเท้าส้นสูงได้อย่างเด็ดขาด

ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกัน จึงไม่ควรสวมรองเท้าส้นสูงเดินเป็นเวลานานในแต่ละวัน ควรปล่อยให้เท้าได้พักอยู่ในท่าสบายบ้าง หรือสลับกับการสวมรองเท้าที่มีความสูงน้อยลงบ้าง เพื่อช่วยให้เลือดบริเวณน่องและเท้าไหลเวียนเป็นปกติ เกิดเป็นหญิงยุคใหม่จะสวยทั้งทีก็ต้องมีความรู้ที่ถูกต้องด้วย

ข้อมูลสื่อ

267-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 267
กรกฎาคม 2544
ธารดาว ทองแก้ว