• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การเวก มงคลนามแห่งความหอม และ ความไพเราะ

บ้านเกิดของผู้เขียนเป็นบ้านไม้หลังใหญ่ ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำท่าจีน หันหน้าบ้านไปทางแม่น้ำ จากประตูด้านหน้าบ้านมีระเบียงยื่นออกไป จนถึงตลิ่ง แล้วจึงมีบันไดทอดลงไปถึงสะพานไม้เชื่อมกับแพที่ลอย อยู่ในแม่น้ำ การคมนาคมทางไกลในสมัย 40 กว่าปีก่อนโน้นอาศัย ทางน้ำเป็นหลัก ท่าน้ำหรือแพหน้าบ้านจึงเป็นท่าเรือจอดรับส่งของ แทบทุกบ้านที่ปลูกเรียงรายอยู่ตาม 2 ฝั่งแม่น้ำ

ระเบียงที่ยื่นออกไปหน้าบ้านมีม้านั่งอยู่ 2 แถว เป็นสถานที่ซึ่งสมาชิกในบ้านนิยมออกมานั่งยามว่าง จากงาน โดยเฉพาะตอนเย็นที่เรียกกันว่าเป็นยาม “แดดร่มลมตก” เพราะนอกจากเป็นที่โล่ง ลมพัดเย็นสบายแล้ว ยังเป็นจุดที่มองเห็นไปได้ไกลอีกด้วย ใครจะผ่านไปมาตามแม่น้ำก็จะมองเห็นแต่ไกล

ความทรงจำจากสมัยเด็กเมื่อหลายสิบปีก่อนโน้น ถึงระเบียงหน้าบ้าน ยังจำได้ดีถึงบรรยากาศร่มรื่นและหอมสดชื่นจากด้านบนของระเบียง ที่มีโครงไม้ระแนงโปร่งและมีเถาไม้ขนาดใหญ่เลื้อยขึ้นปกคลุมหนาทึบเป็นสีเขียวเข้ม ยามเย็นไปถึงค่ำมีกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่วบริเวณ ทุกวันนี้ยามเมื่อได้ดมกลิ่นหอมดังกล่าว ครั้งใดก็จะคิดถึงบรรยากาศของระเบียงหน้าบ้านยามเย็นย่ำ และแม้จะผ่านมาหลายสิบปีแล้วก็ยังจำได้เสมอว่า กลิ่นหอมนั้นมาจากไม้เถาด้านบนระเบียงที่ชื่อการเวก
 
                                                     

การเวก : มงคลนามของหลายสิ่งในวัฒนธรรมไทย

ในวรรณคดีไทยโบราณ คำว่าการเวก หมายถึง นกในป่าหิมพานต์ซึ่งบินได้สูงและมีเสียงไพเราะยิ่งนัก ถึงขนาดไม่ว่าใคร (สัตว์ทั้งหลายรวม ทั้งมนุษย์) ได้ฟังเสียงร้องของนกการเวกแล้วจะต้องหยุดกิจกรรมทุกอย่าง เพื่อฟังเสียงนกการเวกอย่างเดียว พูดภาษาปัจจุบันก็คือ ได้ฟังเสียงนกการเวกแล้วเกิดอาการ “ลืมโลก” ไปเลยนั่นเอง คนไทยในอดีตจึงนำชื่อการเวกไปตั้งเป็นชื่อเพลง ให้ความหมายว่าเพลงนั้นเพราะดุจเสียง นกการเวก นั่นคือเพลงไทยเดิมชื่อการเวก แยกเป็นเพลงการเวกตัวผู้ เพลงการเวกตัวเมีย และการเวกใหญ่
 
สำหรับชื่อการเวกที่นำมาใช้เรียกไม้เถาดอกหอมนั้น ผู้ตั้งชื่อ คงต้องการหมายถึงกลิ่นหอมที่ทำ ให้ลืมกิจกรรมอื่นๆ เช่นเดียวกับเสียงนกการเวกนั่นเอง

การเวกเป็นพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Artabotrys siamensis Mig. อยู่ในวงศ์ Annonaceae เช่นเดียวกับสายหยุดและน้อยหน่า เป็นไม้เถา เนื้อแข็งยืนต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีหนามแข็งตามลำต้น เปลือกสีเทาอมดำค่อนข้างเรียบ

ใบขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 15 ถึง 18 เซนติเมตร กว้างประ-มาณ 5 ถึง 10 เซนติเมตร ปลายใบแหลม หน้าใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ท้องใบสีจางกว่า และมีขนบ้างตามเส้นกลางใบ ใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ยอดอ่อนมีขน

ดอกมีกลีบเรียง 2 ชั้น รวม 6 กลีบ กลีบดอกสีเขียวอ่อน เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง กลีบดอกหนา เป็นมัน ทรงกลีบแบนป่องกลาง โคนกลีบเว้าปลายค่อนข้างแหลม กลิ่นหอมแรงตั้งแต่ตอนเย็นจนถึงกลางคืน

ติดผลเป็นกลุ่ม 4 ถึง 20 ผล เปลือกสีเขียว เมื่อแก่เป็นสีเหลือง ในแต่ละผลมี 2 เมล็ด
ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของการเวก อยู่ในป่าชื้นภาคกลางและภาคใต้ของไทย นับเป็นพันธุ์ไม้ดั้งเดิมที่มีถิ่นกำเนิดในไทยอีกชนิดหนึ่ง จึงได้ชื่อว่า siamensis ซึ่งมาจากคำว่าสยาม อันเป็นชื่อเดิมของประเทศไทยนั่นเอง

การเวกมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นหลายชื่อ เช่น กระดังงัว กระดังงาป่า (ราชบุรี) กระดังงาเถา (ภาคใต้) และ หนามควายนอน (ชลบุรี) เป็นต้น
ปัจจุบันเราอาจพบเห็นการเวก ได้ในป่าธรรมชาติของไทยหลายแห่ง เท่าที่ผู้เขียนเคยสังเกตข้อแตกต่างระหว่างการเวกที่ขึ้นเองในป่ากับการเวกที่ปลูกตามบ้าน เชื่อว่าเป็นชนิดเดียวกัน แต่การเวกที่ปลูกตามบ้านคงผ่านการคัดเลือกมานับร้อยปีจึงมีดอกดกกว่า ขนาดดอกโตกว่า และกลิ่นหอมแรงกว่าการเวกป่า นอกจากนั้นยังติดผลน้อยกว่าของป่าด้วย

ประโยชน์ของการเวก
เนื่องจากการเวกเป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็งที่ทนทานมีอายุยืนนาน ออกดอกตลอดปี ไม่มีโรคแมลงรบกวน ขึ้นได้ทั่วไป ชอบกลางแจ้งแดดจัด และเลื้อยคลุมซุ้มหลังคาต่างๆได้ดี จึงนิยมปลูกให้เลื้อยขึ้นคลุมเป็นซุ้มประตู ซุ้มระเบียง ซุ้มเก้าอี้สนามหรืซุ้มทางเท้า (เช่น ตามถนนบางสายใน กรุงเทพฯ ยุคผู้ว่าฯ จำลอง ศรีเมือง)

การเวกนับเป็นพืชที่ปลูกง่ายมากที่สุดอย่างหนึ่ง เข้าอยู่ในจำพวก“ขึ้นง่ายตายยาก” นิยมปลูกจากกิ่งตอน เพราะโตเร็วและไม่กลายพันธุ์ หากใช้เมล็ดปลูกจะโตช้ากว่า และอาจกลายพันธุ์ไปบ้าง แต่การปลูกด้วยเมล็ดจะได้ปริมาณมากกว่า แข็งแรงทนทานกว่าและอาจได้พันธุ์การเวกใหม่ๆ ที่แปลกไปกว่าเดิมก็ได้

มีเคล็ดลับสำหรับการดมกลิ่นหอมจากดอกการเวกให้ได้ความหอมมากที่สุด ซึ่งเด็กๆ เมื่อ 40 กว่าปีก่อนโน้นรู้จักกันดี คือเก็บดอกการเวกที่บานเต็มที่ แต่ยังไม่เป็นสีเหลือง เก็บในตอนเย็นแล้วห่อด้วยใบการเวก ทำเป็นรูปกรวยก้นปิด เปิดเป็นรูเล็กๆ เฉพาะตรงปลายแหลมของกรวย เอานิ้วอุดตรงรูไว้นานๆ แล้วเอาไปใกล้ๆจมูก เปิดนิ้วที่อุดรูไว้ รีบจ่อปลายกรวยเข้าในรูจมูกแล้วสูดแรงๆ แล้วก็จะรู้ว่าความหอมชนิด “ลืมโลก” นั้นมีจริง

ข้อมูลสื่อ

267-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 267
กรกฎาคม 2544
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร