• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปัสสาวะบอกโรค และการขับพิษทางปัสสาวะ

ปัสสาวะบอกโรค และการขับพิษทางปัสสาวะ (ตอนจบ)


เนื่องจากน้ำเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของร่างกาย คิดเป็น ร้อยละ 60-70 ของน้ำหนักตัว ในเลือดจำนวน 100 ซีซี เป็นส่วนของน้ำเสีย 80 ซีซี หน้าที่สำคัญของน้ำคือ

1.เป็นตัวทำละลายสารต่างๆ ในร่างกาย เช่น เลือด 1 ลิตร สามารถทำละลายโปรตีน 70-80 กรัม ซึ่งรวมถึงสารฮอร์โมน เอนไซม์ แอนติบอดี (สารภูมิคุ้มกัน) สารเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือดมากกว่า 80ชนิด และกลูโคส กรดไขมัน กรดอะมิโน อิเล็กโทรไลต์ แร่ธาตุต่างๆ อีกด้วย

2.เป็นตัวส่งลำเลียงอาหาร ออกซิเจนไปยังเซลล์

3.เป็นตัวนำของเสียจากเซลล์ขับออกจากร่างกาย

4.ช่วยปรับอุณหภูมิของร่างกาย

5.ป้องกันและปกป้องอวัยวะภายใน ไม่ให้โดนกระทบกระแทกโดยตรง เช่น สมองที่ปกคลุมด้วยกะโหลก และน้ำไขสันหลังสมอง จะช่วยลดแรงกระแทกต่อสมอง

6.ทำให้เกิดความชุ่มชื้น หล่อลื่น บำรุงผิวหนัง เช่น น้ำในข้อกระดูก สารคัดหลั่งต่างๆ เช่น น้ำตา น้ำลาย ซึ่งป้องกันการเสียดสี

7.ป้องกันโรคและรักษาโรค ขณะเป็นไข้ตัวร้อน ร่างกายกระหายน้ำ และดื่มน้ำมาก เพื่อช่วยการขับเหงื่อ ลดไข้ เจือจางความเข้มข้นของสารพิษจากเชื้อโรค ทำให้การขับปัสสาวะบ่อยขึ้น ลดความหนืดของเลือด (ที่มีผลทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจ และสมองน้อยลง) ป้องกันการเกิดนิ่วทางเดินปัสสาวะ ช่วยขับปริมาณเกลือแร่ที่มากเกินไป ป้องกันโรคความดันเลือดสูง ป้องกันอาการท้องผูก เป็นต้น


พิษในร่างกายมาจากไหน

1.มาจากน้ำ

2.มาจากอากาศ

3.มาจากอาหาร

4.มาจากที่อยู่อาศัย

5.มาจากกระบวนการทำงาน ของชีวิต (การทำงานของร่างกาย)

 

การขับพิษของร่างกายขับโดย ทางไหนบ้าง

1.ทางผิวหนัง

2.ทางลมหายใจ

3.ทางอุจจาระ

4.ทางปัสสาวะ

 

วิธีขับพิษโดยศาสตร์แพทย์จีนมีวิธีอะไรบ้าง

1.การขับเหงื่อ

2.การอดอาหาร

3.การใช้อาหาร สมุนไพร เช่น น้ำส้มปรุงรสจีน ชา ผลไม้

4.การขับระบายอุจจาระ

5.การนวด กระตุ้นให้มีการขับพิษ

6.การฝึกพลังลมปราณ เพื่อการขับพิษ

7.การดื่มน้ำที่จะกล่าวต่อไป เป็นเรื่องของการขับพิษทางปัสสาวะ ซึ่งมีเนื้อหาสัมพันธ์กับน้ำเป็นสำคัญ

 

หลักการสำคัญคืออะไร

การขับพิษทางปัสสาวะโดยวิธีธรรมชาติ เป็นการนำเอาอาหารหรือยาสมุนไพรมาต้ม หรือมาพอกประคบ เพื่อกระตุ้นให้การขับถ่ายปัสสาวะมากขึ้น เพื่อให้สารพิษของเสียที่ตกค้างในร่างกายได้ขับออกมากขึ้น
 เร็วขึ้น เพื่อไม่ให้เซลล์ของร่างกายได้รับผลกระทบจากการตกค้างของสารพิษต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการทำให้การทำงานของร่างกายเสียสมดุล

 

ข้อควรระวังเกี่ยวกับการขับสารพิษทางปัสสาวะ

1.คนสูงอายุ คนที่ร่างกายอ่อนแอ ควรเสริมบำรุงร่างกายหรือออกกำลังกายอย่างเหมาะสมควบคู่ไปด้วย เพราะการออกกำลังกายจะทำให้มีการไหลเวียนเลือดมากขึ้น การขับปัสสาวะจะมากขึ้นระบบการขับปัสสาวะก็มีสมรรถภาพดีขึ้น สำหรับผู้ที่เป็นโรคไตอักเสบ บวม ตับอักเสบ มีท้องมาน ผู้ป่วยโรคหัวใจ ไม่ควรออกกำลังกายเหมือนคนปกติ ควรพักผ่อน หรืออยู่ในความ ดูแลของแพทย์

2.คนที่ใช้การขับพิษทางปัสสาวะ ต้องสนใจเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะคนสูงอายุ คนที่เป็นโรคไต เพราะขณะมีเพศสัมพันธ์ระบบประสาท อัตโนมัติชนิดกระตุ้น (ซิมพาเทติก) จะเพิ่มมากขึ้น ทำให้หลอดเลือดของไตหดตัว ปริมาณเลือดมาที่ไตลดน้อยลง มีภาวะความดันสูง ทำให้การขับปัสสาวะมีจำนวนน้อยลง ทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น

3.ช่วงที่ใช้การขับพิษทางปัสสาวะ ควรดื่มน้ำต้มสุกสะอาด ป้องกันการเสียน้ำ และกินอาหารที่ย่อยง่าย และมีคุณค่าทางอาหาร มีวิตามินมาก เช่น ฟักเขียว แตงกวา ถั่วแดง เป็นต้น ไม่ควรกินกล้วยหอม หรือผลไม้ที่มีส่วนประกอบของเกลือโซเดียมค่อนข้างมาก ห้ามกินอาหาร ที่มีโปรตีนสูง (ไข่,เนื้อ,ถั่ว)
รวมทั้งงดบุหรี่ เหล้า กาแฟ ของเผ็ดร้อน ซึ่งเป็นอาหารที่ไปเพิ่มการทำงานของ ไต ทำให้การขับพิษทางปัสสาวะลดน้อยลง

4.การขับปัสสาวะต้องขับทันทีที่ปวด ห้ามอั้นปัสสาวะ เพราะจะทำลายพลังของไตและกระเพาะปัสสาวะ
การอั้นปัสสาวะนานเกินไป ทำให้ไตอ่อนแอ เข่าและขาจะอ่อนแรง หรือเกิดอาการถ่ายปัสสาวะไม่คล่องหรือปวด มีอาการปวดเวลาถ่ายปัสสาวะ เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้

การถ่ายปัสสาวะไม่ควรใช้แรงเบ่งมากเกินไป เพราะทำให้พลังไตอ่อนแอ เกิดอาการเมื่อยเอว เข่าอ่อน ขาเย็นได้ ขณะอิ่ม ร่างกายแข็งแรงสามารถยืนถ่ายปัสสาวะได้ ถ้าร่างกายอ่อนแอหรือขณะหิวมาก ควรนั่งยองๆ ถ่ายปัสสาวะ
 
ขณะถ่ายปัสสาวะกลางคืน ควรลืมตา แหงนหน้า ไม่ควรก้มหน้า ปิดตา เพราะทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะได้ เพราะขณะปัสสาวะเกิดการเปลี่ยนแปลงของการหดตัว และขยายตัวของหลอดเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอเกิดอาการเป็นลมหมดสติได้

 

เทคนิคการดื่มน้ำเพื่อสุขภาพ

1.ปริมาณน้ำที่ต้องดื่มต่อวันคือ 2-3 ลิตร (ได้จากน้ำดื่ม 1.0-1.5 ลิตร จากอาหาร เช่น ข้าว ผัก ผลไม้ 1.0-1.5 ลิตร)  จึงจะมีปริมาณพอเพียงต่อร่างกาย อากาศร้อนจัด ปริมาณน้ำที่ดื่มต้องเพิ่มจำนวนขึ้น
คนมีอายุสูงขึ้น กลไกลการ กระหายน้ำเสื่อมลง ความรู้สึกกระหายน้ำลดลง ก็ควรสนใจการดื่ม น้ำให้เพียงพอ

2.กินผัก ผลไม้ให้มาก เพราะอุดมด้วยวิตามิน เกลือแร่ และมีส่วนประกอบของน้ำมากกว่าร้อยละ 90
(ผักมีส่วนประกอบของน้ำร้อยละ 95 ผลไม้มีส่วนประกอบของน้ำร้อยละ 90) ดังนั้น กินผักผลไม้ 500 กรัม เท่ากับดื่มน้ำ 400 ซีซี

3.ควรดื่มชา เพราะชาสามารถ ขับพิษร้อน ขับเหงื่อได้ดี โดยเฉพาะวัยกลางคนขึ้นไป หลังการดื่มชา 9 นาที ทำให้อุณหภูมิผิวหนังลดลง 1-2 องศาเซลเซียส ทำให้สบายตัว ลดร้อน การดื่มชายังช่วยการขับปัสสาวะ ลดผลแทรกซ้อนจากการฉายแสง ป้องกันและต้านมะเร็ง ลดอาการหอบ ป้องกันหลอดเลือดหัวใจตีบตัน

4.การดื่มเครื่องดื่มดับกระหาย ต้องคำนึงถึงผลกระทบระยะยาวด้วย เครื่องดื่มทั่วไปมักใช้ดื่มเพื่อดับกระหาย จะสังเกตพบว่ายิ่งดื่มยิ่งกระหาย ถ้าเป็นเครื่องดื่มที่มีปริมาณไขมันและมีแคลอรีสูง การดื่มปริมาณมาก บ่อยๆ จะเกิดโทษ เช่น ทำให้เป็นเบาหวาน หรือไขมันในเลือดสูง เกิดพิษสะสมในร่างกาย

5.ถ้ามีการเสียน้ำมาก และกระหายน้ำมาก ควรใช้เกลือผสมเล็กน้อย เพื่อทำให้ช่วยดับกระหาย แต่ไม่ควรดื่มมากเกินไป

6.ไม่ควรดื่มเบียร์ หรือกินน้ำแข็งเพื่อดับกระหาย เพราะจะเป็นอันตรายต่อระบบการย่อยอาหารในระยะยาว ร่างกายจะอ่อนแอ มีความ เย็นในร่างกายตกค้าง มีของเสียตกค้าง พลังของร่างกายจะอ่อนแอ
 
7.ไม่ควรดื่มน้ำเย็น หรือดื่มน้ำปริมาณมากหลังกินอาหาร เพราะจะไปเจือจางความเข้มข้นของน้ำย่อย ทำให้การย่อยอาหารไม่ดี เป็นโรคกระเพาะ

8.ไม่ปล่อยให้กระหายน้ำเต็ม ที่แล้วค่อยมาดื่มน้ำ มีความหมายเช่นเดียวกับปล่อยให้ดินแห้งแตกระแหงแล้วค่อยมารดน้ำซึ่งจะสายเกินแก้ เป็นอันตรายต่อร่างกาย การที่มีอาการกระหายน้ำแล้วแสดงว่า ร่างกายมีภาวะขาดน้ำ ถ้ากระหายน้ำเต็มที่แสดงว่าขาดน้ำของ ร่างกาย หรือเซลล์รุนแรง ทำให้มีของเสีย สารพิษตกค้างอยู่มาก ไม่สามารถระบายขับทิ้งได้ (ขาดน้ำไปละลายหรือนำพาสารพิษ) ทำให้ระบบร่างกายอ่อนแอของเสียตกค้าง สะสม โดยทั่วไปควรได้น้ำ 2.5 ลิตรต่อวัน (ประมาณ 8 แก้ว)

9.ดื่มน้ำมากไปก็เป็นโทษ มีความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับการแนะนำ การดื่มน้ำเพื่อสุขภาพ เช่น ดื่มครั้งเดียวปริมาณมากๆ ตอนตื่นนอน เพื่อขับล้างของเสียในร่างกาย ร่างกายคนเราเมื่อขาดน้ำ ปัสสาวะจะน้อย เมื่อน้ำเกินปัสสาวะ จะมาก โดยอาศัยการทำงานของไตเป็นตัวควบคุม คนปกติที่ไม่ขาดน้ำ ถ้าได้รับน้ำปริมาณมาก ทำให้ไตทำงานหนักขึ้น ทำให้เลือดเจือจาง แรงดันในการดูดซึมของสารอาหารสู่เซลล์น้อยลง ปริมาณน้ำในเซลล์มากขึ้น ทำให้เซลล์บวมน้ำ เกิดพิษต่อเซลล์ เกิดอาการเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้อง ถ้าเซลล์บวมน้ำมากขึ้นจะมีอาการง่วงนอน กระตุก มองไม่ชัด หัวใจเต้นช้า หายใจช้า เป็นลม เป็นต้น ดังนั้น การดื่มน้ำจึงต้องพอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยเกินไป การดื่มน้ำมากเกินเป็นเวลานาน จะทำให้เป็นผลเสียกับร่างกาย

10.ไม่ดื่มน้ำอย่างรวดเร็วจนเกินไป บางคนพอกระหายน้ำ ก็รีบดื่มน้ำให้หมดทันทีทันใด การดื่มเช่นนี้จะมีผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ ทำให้หัวใจอ่อนแรงในระยะยาว เพราะปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็วทำให้ไตควบคุมการขับน้ำไม่ได้ทันทีทันใด ก็จะมีปริมาณน้ำในหลอดเลือดมากแล้วก็ไปเพิ่มภาระการสูบฉีดของหัวใจ
 
สรุป  การขับพิษออกจากร่างกายมีหลายทาง การขับทางปัสสาวะต้องอาศัยน้ำเป็นตัวนำพาเป็นสำคัญ การดื่มน้ำปริมาณที่เพียงพอกับร่างกายในแต่ละวัน ไม่มากหรือน้อยเกินไป ไม่เย็นหรือร้อนจัดเกินไป การระบายความร้อนไม่เน้นที่ความเย็นของน้ำ แต่เน้นสรรพคุณของตัวยา อาหาร หรือน้ำต้มสุก น้ำชาเป็นสำคัญ เทคนิคการดื่มน้ำก็มีส่วนสำคัญต่อสุขภาพ การใช้ยาขับปัสสาวะขับพิษ ต้องสอดคล้องกับสภาวะของร่างกาย ด้วย เพราะจะทำให้ขาดน้ำ เซลล์แห้ง จึงต้องดื่มน้ำให้พอ บางครั้งต้องมียา ที่บำรุงควบคู่ไปด้วย โดยหลักการในคนปกติใช้เป็น อาหารสมุนไพร ในภาวะที่อากาศร้อน หรือขับพิษอ่อนๆ และดื่มน้ำให้เพียงพอ ก็จะทำให้ร่างกายสดชื่น มีสุขภาพดี ไม่ควรดื่มเป็นเครื่องดื่มที่หวานหรือมีแคลอรีสูงเป็นประจำ
 

วันนี้ คุณดื่มน้ำเพียงพอแล้วหรือยัง อย่าปล่อยให้กระหายมากเกินไป กรุณาดื่มช้าๆ ด้วย เพื่อสุขภาพของคุณเอง


ตัวอย่างยาสมุนไพรที่ใช้ขับปัสสาวะ

หนวดข้าวโพด 12 กรัม มะระ 10 กรัม ชะเอม 5 กรัม
สรรพคุณ ขับพิษร้อน ขับปัสสาวะ
 
ฟักเขียว 350 กรัม ลูกเดือย 30 กรัม
สรรพคุณ ขับพิษ ขับร้อน ขับปัสสาวะ บำรุงม้าม
 
ถั่วงอก 400 กรัม (ปรุงอาหารตามต้องการ)
 สรรพคุณ ขับพิษ ขับร้อน ขับปัสสาวะ
 
ฟักเขียว 100 กรัม ข้าวสาร 100 กรัม
ใช้ฟักเขียวล้างสะอาด หั่นเป็นก้อน ไม่ต้องปอกเปลือกต้มพร้อมข้าวสาร ทำเป็นข้าวต้ม
 สรรพคุณ ขับพิษ ขับร้อน ลดบวม ขับปัสสาวะ
 
กระเทียมหัวใหญ่,ถั่วแปบ (ตามเหมาะสม)ใส่รวมกัน ต้มให้เดือด แล้วค่อยต้มไฟอ่อนๆ จนยุ่ย
 สรรพคุณ บำรุงม้าม ขับปัสสาวะ ขับพิษ ลดบวม
 
ถั่วแดง 150 กรัม,รากหญ้าคา 30 กรัม ใส่รวมกัน น้ำ 3 ชาม ต้มเหลือ 1 ชาม
สรรพคุณ บำรุงภาวะพร่อง ขับปัสสาวะ ขับพิษ
 
เปลือกฟักเขียว 180 กรัม
เปลือกฟักเขียวล้างสะอาด 180 กรัม ใส่น้ำ 3 ชาม ให้เหลือ 1 ชาม 
สรรพคุณ ขับพิษ ขับร้อน ขับนิ่ว ขับน้ำ เหมาะสำหรับโรคไตอักเสบ ปัสสาวะไม่ออก

 

 

ข้อมูลสื่อ

302-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 302
กันยายน 2547
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล