• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาบำรุงเซ็กซ์ : ส่วนหนึ่งของยาบำรุงหยาง

ไม่กี่เดือนมานี้มีข่าวฮือฮาเกี่ยวกับยาชะลอความแก่ ยาบำรุงสมรรถภาพทางเพศ โดยการกล่าวถึงเขากวางอ่อน ซึ่งมีฤทธิ์ กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนทางเพศ และทำให้ร่างกายแก่ตัวช้าลง กระปรี้กระเปร่า

ในทัศนะแพทย์จีนเรื่องเหล่านี้ เกี่ยวข้องกับระบบไตยิน ไตหยาง ที่ควบคุมระบบการสืบพันธุ์ การเจริญเติบโต การเสื่อมถอยของร่างกาย ซึ่งครอบคลุมถึงระบบฮอร์โมนต่างๆ เช่น ต่อมใต้สมอง ต่อมไทรอยด์ ต่อมเพศ ต่อมหมวกไต รวมถึงระบบประสาทอัตโนมัติ (autonome nervous system) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปรับตัว ของร่างกาย โดยเฉพาะอวัยวะภายใน

ยาบำรุงสมรรถภาพทางเพศหรือที่มักเรียกว่ายาบำรุงเซ็กซ์ จึงเป็นส่วนหนึ่งของยาบำรุงไต (ตามทัศนะแพทย์จีน) โดยเฉพาะความเสื่อมถอย ทรุดโทรม มักเกิดความพร่องตามมา

ไตหยาง มีการเก็บสะสมของพลังหยาง ซึ่งเป็นพื้นฐานของกลไกระบบต่างๆ ที่ได้มาแต่กำเนิด (ทางกรรมพันธุ์) ขณะที่ไตยินจะได้รับการเสริมเติมบำรุงจากอาหารการกินและการดำเนินชีวิต ซึ่งจะช่วยการปรับสมดุลกับไตหยาง และทำให้เกิดพลังหยางในระบบต่างๆของร่างกาย

พลังหยางพร่อง นอกจากสาเหตุทางกรรมพันธุ์แล้ว การเจ็บป่วยเรื้อรังยาวนาน การได้รับอาหารที่มีคุณสมบัติเย็นมากหรือนานเกิน การมีเพศสัมพันธ์ที่มากเกิน (สูญเสียสารจิงทำให้สูญเสียพลังไต) ก็นับว่ามีส่วนสำคัญ (ดูหมอชาวบ้านฉบับสิงหาคม พ.ศ. 2542)

บทความต่อไปนี้จะเสนอภาพกว้างของพลังหยางพร่อง ซึ่งจะมีอาการต่างๆหลายอย่าง การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศเป็นเพียงอาการหนึ่งของพลังหยางพร่อง

หยางพร่องหมายถึงพลังหยางไม่พอ กลไกการทำงานของร่างกายเสื่อมถอย ทำให้ระบบต่างๆในร่างกาย เกิดอาการหนาวเย็นผิดปกติ ทั้งนี้เป็นผลจากระบบกลไกการให้พลังความร้อน และพลังการคุ้มกันร่างกายเสื่อมถอยอ่อนแอ

     

อาการแสดงและการตรวจพบ
ภาวะหยางพร่องนั้นจะตรวจพบว่าการทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกายลดน้อยลง ขาดพลังความร้อน (การเผาผลาญอาหาร การลำเลียงอาหารไปยังส่วนต่างๆ ลดลง) ทำให้ทุกระบบของร่างกายมีภาวะเย็นเนื่องจากหยางพร่อง (หยางไม่พอ) โดยเฉพาะแขน-ขาเย็น ยิ่งกระทบความเย็นจะหนาวมากผิดปกติ สีหน้าขาวซีด ลิ้นซีด ชีพจรเต้นช้า และไม่มีแรง
 
อาการหยางพร่องมักมีอาการพลังพร่องร่วมด้วย เช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หายใจสั้น ไม่อยากพูด เหงื่อออกง่าย
อาการหยางพร่องพัฒนาถึงจุดหนึ่งจะมีอาการยินพร่อง ร่วมด้วยเกิดภาวะยิน-หยางพร่อง

อาการหยางพร่องแบ่งได้เป็น 5 ชนิด
1. หยางของหัวใจพร่อง
มีอาการใจสั่นง่าย หายใจสั้นเหนื่อย โดยเฉพาะเวลาเคลื่อนไหว หรือออก กำลังจะเหนื่อยมากขึ้น กลัวความหนาวเย็น มือ-เท้าเย็น สีหน้าออกดำคล้ำ (เลือดอุดกั้นเพราะความเย็น ทำให้เลือดเดินช้า) เจ็บแน่นหน้าอก ลิ้นซีดบวมสีม่วงคล้ำ ชีพจรเล็กและไม่มีแรง
2. หยางของม้ามพร่อง เบื่ออาหาร ท้องอืดแน่น ปวดท้อง อาการแน่นท้องทุเลาลงเมื่อกระทบความร้อนหรือใช้มือกด อุจจาระเหลวเป็นน้ำ ปัสสาวะมาก มีสีใสหรืออาจมีปริมาณน้อย ร่างกายซูบผอม แต่บวมตามแขน-ขา มีน้ำลายใสมากผิดปกติ ในสตรีจะมีตกขาวมากผิดปกติ ลักษณะตกขาวมักใสไม่ข้น แขน-ขาเย็น สีหน้าซีดขาวหรือซีดเหลือง ลิ้นซีดมีฝ้าขาว ชีพจรลึกช้าและไม่มีแรง
3. หยางของไตพร่อง ปวดเมื่อยเอว-หัวเข่า กลัวหนาว มือเท้าเย็น โดยเฉพาะเท้า เวียนศีรษะ หน้าตาไม่มีชีวิตชีวา สีหน้าขาวซีด(หรือออกดำคล้ำ)
ผู้ชายจะมีปัญหาเสื่อมสมรรถ-ภาพทางเพศ อวัยวะเพศไม่แข็งตัวฝันเปียก หลั่งเร็ว
ผู้หญิงจะมีภาวะไม่ตั้งครรภ์ มีตกขาวใสและปริมาณมาก ปัสสาวะใสและมาก ต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะกลางดึกหลายๆครั้ง ท้องเสียง่าย ท้องอืด อาหารย่อยยาก มีท้องเสียตอนหัวรุ่ง (ตี 4 ตี 5) มีลักษณะตัวบวมน้ำ โดยเฉพาะช่วงล่าง ผมร่วง ฟันโยก ลิ้นอ้วนสีซีด ชีพจรลึกและอ่อนแรง
4. หยางของหัวใจและไตพร่อง มีอาการใจสั่น หน้าบวม แขน-ขาบวม (โดยส่วนล่างของร่างกาย) ปัสสาวะ ไม่คล่อง กลัวหนาว แขน-ขาเย็น ใบหน้าไร้ชีวิตชีวา ชอบง่วงนอน ริมฝีปาก เล็บสีม่วงจาง ลิ้นสีม่วงจาง หรือเขียวม่วงมีฝ้าขาวลื่น ชีพจรลึกและเล็ก
5. หยางของม้ามและไตพร่องแขน-ขาเย็น ปวดเมื่อยเอวและเข่าร่างกายอ่อนเพลียไม่มีแรง ไม่อยากจะพูด (ขี้เกียจพูดเพราะพูดแล้วเหนื่อย) สีหน้าขาวซีด เบื่ออาหาร อุจจาระเหลว อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย ตอนหัวรุ่ง (ตี 4 ตี 5) ปวดท้อง(กดหรือให้ความร้อนจะรู้สึกสบาย) หน้าบวมแขน-ขาบวม ท้องแน่นอืด บางทีมีท้องมาน ลิ้นซีด ตัวลิ้นโต ฝ้าขาวลื่น ชีพจรลึกและเบา

การรักษาภาวะหยางพร่องมีหลายวิธี เช่น การฝังเข็ม รมยาสมุนไพร การกินอาหารที่เหมาะสมส่วนการใช้สมุนไพรใช้กลุ่มยาบำรุงหยางเป็นหลัก และยาขับความเย็น(ทำให้อุ่น) เป็นตัวเสริม

สมุนไพรกลุ่มยาบำรุงหยาง ได้แก่ เซียนเหมา ยิ่น-หยางฮว่า โย่วฉงโหยง ปาจี่เทียน ตู้จ้ง ปู่กู่จื่อ ทู่ซือจื่อ สว่อหยาง ซี่ต้วน ลู่โหยงหรือเขากวางอ่อน

ฉบับหน้าจะกล่าวถึงรายละเอียดของสมุนไพรจีนชนิดที่ใช้บ่อย และรู้จักกันมาก คือ
- โย่วฉงโหยง
- ปู่กู่จื่อ
- ตู้จ้ง
- ลู่โหยงหรือเขากวางอ่อน

ข้อมูลสื่อ

268-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 268
สิงหาคม 2544
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล