• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาแก้ท้องผูก

“ถ่ายอุจจาระ 2 ถึง 3 วันครั้ง ถือว่าท้องผูกหรือไม่?” “ท้องผูกบ่อยๆ จะทำให้เป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้หรือไม่?” “กินยาถ่ายเป็นประจำ จะมีผลเสียอะไรหรือไม่?”
“หมอให้ยาผงที่เป็นใยอาหารมากินแก้ท้องผูก จะใช้เมล็ดแมงลักแทนได้หรือไม่?”

เหล่านี้เป็นคำถามที่มักจะได้ยิน ได้ฟังอยู่เป็นประจำจากผู้ที่มีปัญหาเรื่องท้องผูก
ก่อนที่จะพูดถึงโทษหรือผลเสียของอาการท้องผูก และยาที่ใช้แก้ท้องผูก ก็ต้องขอทำความเข้าใจในประเด็นที่ว่าอย่างไรจึงเรียกว่าท้องผูกเสียก่อน

คนปกติทั่วไปจะถ่ายอุจจาระทุกวัน วันละ 1 ถึง 3 ครั้ง บางคนอาจถ่าย 2 ถึง 3 วันครั้ง โดยที่อุจจาระไม่แข็งมาก และไม่รู้สึก มีความยากลำบากในการถ่าย
แต่ถ้าอยู่ๆ มีการถ่ายผิดไปจากปกติ เช่น เคยถ่ายทุกวัน แต่กลับถ่ายสัปดาห์ละ 2 ครั้งหรืออุจจาระเป็นก้อนแข็งถ่ายยาก ก็ถือว่าเกิดอาการท้องผูกขึ้นแล้ว ส่วนโทษหรือผลเสียของอาการท้องผูก ที่พบบ่อยก็คือทำให้โรคริดสีดวงทวารกำเริบ ถ่ายออกเป็นเลือดสด

อาการท้องผูก ไม่ทำให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ตามที่บางคนเข้าใจ (โดยเชื่อว่าจะมีสารพิษตกค้างในลำไส้จนก่อให้เกิดมะเร็ง) แต่อาจเป็นอาการแสดงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยอาจมีอาการท้องผูกหรือท้องผูกสลับท้องเสียเรื้อรัง หรืออาจมีอาการท้องผูกและถ่ายเป็นเลือดสด คล้ายริดสีดวงทวาร ดังนั้นผู้ที่มีอาการท้องผูกเรื้อรัง หรือถ่ายเป็นเลือดสด ควรปรึกษาแพทย์ให้แน่ใจ

ผู้ที่มีอาการท้องผูก ควรหลีกเลี่ยงการกินยาถ่ายหรือยาระบายเป็นประจำ เพราะอาจทำให้ “ลำไส้เกียจคร้าน” ไม่ยอมทำงาน คอยพึ่งพาแต่ยาถ่ายจนเป็นนิสัย

การกินยาถ่ายเป็นประจำยังอาจทำให้ขัดขวางการดูดซึมสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย รวมทั้งยาชนิดอื่นๆ ที่ใช้กินรักษาโรค (ถ้ากินร่วมกับยาถ่าย)
ยาถ่ายบางชนิด อาจออกฤทธิ์รุนแรง จนเกิดอาการถ่ายท้องรุนแรง และร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำได้

ทางที่ดี เมื่อมีอาการท้องผูกควรสำรวจดูว่าเกิดจากสาเหตุอะไร(ดูตารางที่ 1) และหาทางขจัดสาเหตุนั้นๆ เสีย ก็มักจะทำให้หายท้องผูกได้
 


แต่ถ้าปฏิบัติตัวดังกล่าวแล้วยังไม่หายท้องผูกก็แนะนำให้ใช้ยาแก้ท้องผูก (ดูตารางที่ 2) ถ้าใช้ยาหรือสารที่มีใยอาหารสูง ก็นับว่าปลอดภัยสูง สามารถใช้ได้บ่อยๆ

   

แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาระบายชนิดอื่นๆ ก็ขอแนะนำให้กินมะขามแขก หรือยาระบายแมกนีเซีย ควรกินเป็นครั้งคราว อย่ากินเป็นประจำ จนติดเป็นนิสัย

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการท้องผูก ก็อย่าชะล่าใจ ควรรีบปรึกษาหมอ
ถ้ามีอาการข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ร่วมด้วย
1. มีอาการปวดท้อง
2. ถ่ายเป็นเลือด
3. น้ำหนักลด
4. ท้องผูกนานเกิน 1 สัปดาห์
5. ดูแลตนเองนาน 2 สัปดาห์แล้วยังไม่ดีขึ้น

ข้อมูลสื่อ

268-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 268
สิงหาคม 2544
พูดจาภาษายา
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ